ลัดเลาะเยี่ยม'เมลเบิร์น'


เพิ่มเพื่อน    


    “นครเมลเบิร์น” เมืองขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศออสเตรเลีย ค่อนข้างมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างมาก เนื่องจากมีกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ กว่า 110 กลุ่มอาศัยในมหานครแห่งนี้ ในโอกาสที่ได้เดินทางไปออสเตรเลียและเมลเบิร์นกับกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมลเบิร์น
    ที่บอกว่า ถ้าอยากรู้จักสถานที่ใดสถานที่หนึ่งให้ดี ลึกซึ้งกว่าเดินช็อปปิ้งตามห้างหรือร้านค้าต่างๆ ก็ควรไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเมืองนั้นๆ เพราะพิพิธภัณฑ์จะเป็นแหล่งรวมเรื่องราวความเป็นมาของเมือง ชีวิตผู้คนแห่งนั้นไว้อย่างดี บางคนบอกว่าน่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริงพิพิธภัณฑ์มีอะไรดีๆ และน่าทึ่งมากมาย มีเรื่องราวที่เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนซุกซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่งก็ได้
    การไปทำความรู้จักกับเมลเบิร์นเริ่มต้นจากหอศิลป์แห่งชาติของรัฐวิกตอเรีย (National Gallery of Victoria) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของออสเตรเลีย ภายในจัดแสดงผลงานศิลปะต่างๆ มากมาย และยังมีภาพวาดชิ้นเยี่ยมมากมาย เป็นผลงานจากศิลปินต่างประเทศเกือบ 16,000 ชิ้น รวมทั้งผลงานประติมากรรมเด่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการแฟชั่น สิ่งทอ การถ่ายภาพ เฟอร์นิเจอร์และประติมากรรมอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมงานศิลป์ไว้เกือบรอบด้าน  ผู้เยี่ยมเยือนสามารถจะเพลิดเพลินกับการเสพงานศิลปะ รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแต่ละช่วงยุคสมัยของออสเตรเลียควบคู่ไปด้วย
    แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ แต่เราก็ประทับใจมาก เสียดายที่ไม่มีเวลามากกว่านี้ เพราะรู้มาว่าที่นี่มีการสอนการทำงานศิลปะให้กับคนที่มาเยี่ยมชมด้วย นอกจากนี้ยังรับสมาชิกเพื่อเข้าเยี่ยมชมโดยมีอัตราค่าเข้าพิเศษ รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถมาเดี่ยวหรือมาทั้งครอบครัวก็ได้ จึงไม่แปลกที่จะเห็นชาวเมลเบิร์นพาลูกจูงหลานมาที่หอศิลป์แห่งนี้กันอย่างคึกคัก นอกจากนี้ยังมีขบวนของนักเรียนตัวเล็กตัวน้อยที่คุณครูพามาชมพิพิธภัณฑ์หอศิลป์วิกตอเรีย เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการปลูกฝังให้เด็กๆ สนใจงานศิลปะ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับชาติบ้านเมืองของตัวเองอีกด้วย

(ภายในหอสมุดแห่งรัฐวิกตอเรียที่ใหญ่โตมโหฬารมาก)


    พวกเราออกจากหอศิลปะวิกตอเรียก็มาต่อที่หอสมุดแห่งรัฐวิกตอเรีย (State Library of Victoria) ซึ่งที่นี่จัดเก็บหนังสือไว้มากกว่า 2 ล้านเล่ม รวมถึงรูปภาพ หนังสือพิมพ์ แผนที่ต้นฉบับ สื่อต่างๆ และบันทึกเอกสารของบุคคลสำคัญอีกจำนวนมาก สะท้อนถึงวัฒนธรรมของรัฐวิกตอเรียที่ผ่านมากว่า 150 ปี เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญของชาวเมลเบิร์นเลยก็ว่าได้
    อีกทั้ง ตัวอาคารยังออกแบบให้เป็นอาคารสมัยศตวรรษที่ 19 ที่มีความสวยงามมาก หากใครได้มีโอกาสมาเที่ยวที่เมลเบิร์นก็ไม่ควรพลาดที่จะแวะมาเยี่ยมชมหอสมุดแห่งนี้ เพราะเป็นหอสมุดที่อยู่ใจกลางนครเมลเบิร์นและยังเข้าชมฟรีอีกด้วย หรืออาจจะไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะร่วมสมัยออสเตรเลีย (Australian Centre for Contemporary Art) ที่ใช้สำหรับจัดนิทรรศการงานศิลปะต่างๆ ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงละครมอลต์เฮาส์ (Malthouse Theater) ซึ่งเป็นโรงละครที่เก่าแก่และยังเป็นสถานที่แสดงมรดกทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของนครเมลเบิร์นด้วย

(เด็กนักเรียนเข้าแถวเพื่อเช้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์และวิดีโอเกมของเมลเบิร์น)

    นอกจากพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะแล้วนครเมลเบิร์นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอเกม วัฒนธรรมดิจิทัลและศิลปะ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในงานภาพยนตร์โทรทัศน์และสื่อดิจิทัลทุกรูปแบบ เหมาะสมสำหรับผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัย เพราะมีทั้งมุมประวัติศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาการภาพยนตร์ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตสื่อเกี่ยวกับภาพยนตร์ วิดีโเกม ตั้งแต่ในยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบัน และชุดของนักแสดงที่ใช้ในการแสดงจริง และยังมีมุมวิดีโอเกมที่รวบรวมวิดีโอเกมตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงสมัยนี้ พร้อมทั้งมีมุมให้ผู้ที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถนั่งเล่นเกม เพื่อผ่อนคลายได้ นอกจากนี้ยังห้องฉายภาพยนตร์และห้องสาธิตการถ่ายทำหนังต่างๆ อีกด้วย เรียกได้ว่าครบทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมดิจิทัล จนได้รับการการันตีในระดับสากลว่าเป็นสื่อนวัตกรรมที่ดีเยี่ยมแห่งหนึ่งของโลกด้วย

(ห้องประชุมรัฐสภารัฐวิกตอเรีย)


    ใช่ว่านครเมลเบิร์นจะมีแค่หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ศาลาว่าการเมืองเมลเบิร์นที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ บริเวณมุมตะวันออกเฉียงเหนือของถนนสวอนส์ตันและถนนคอลลินส์ก็ไม่ควรพลาดที่จะแวะไปเยี่ยมชม ภายในมีห้องประชุมขนาดใหญ่ที่ออกแบบอย่างคลาสสิก ที่นี่ได้รับรางวัลอาคารสีเขียว อยู่ในระดับ 6 ดาว ซึ่งพิจารณาจากการสร้างที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จัดอันดับโดยสภาอาคารสีเขียวแห่งออสเตรเลีย  ภายในอาคารมีการวางต้นไม้ประดับและเน้นการใช้กระจกเพื่อลดการเปิดไฟฟ้า และยังมีดาดฟ้าที่จัดไว้เป็นมุมพักผ่อนของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ต้องขอบอกเลยว่าไม่ใช่ว่าใครจะสามารถเข้ามาที่ตึกนี้ได้ เพราะระบบรักษาความปลอดภัยที่นี่ถือว่ามีความแน่นหนามาก เช่น จะต้องใช้บัตรเจ้าหน้าที่แลกในการเข้าออกประตูทุกครั้ง

(บรรยากาศเมืองเมลเบิร์นที่นิตยสารอีโคโนมิสต์ยกย่องให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน)


    สภาพถนนหนทางที่สะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้คนไม่หนาแน่นพลุกพล่านจนดูอึดอัด สภาพปลอดโปร่งสบายๆ และมีคนหลากเชื้อชาติเดินไปมา เหมือนเป็นการบอกกล่าวต้อนรับทุกผู้คนบนโลกไม่ว่าจะมาจากแห่งไหนให้มาเยือน จึงไม่น่าแปลกใจที่นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ได้ยกให้นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นอันดับที่ 1 ในการจัดอันดับเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกประจำปี 2017 และยังได้ติดอันดับติดต่อกันมาถึง 7 ปีอีกด้วย

(วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกำลังดูผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเมือง)


    การได้มาซึมซับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ต่างๆ ของนครเมลเบิร์นก็เหมือนเป็นการตอกย้ำคำของท่านวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่บอกว่า “การโชว์วัฒนธรรมจะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน” เพราะการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ทำให้เราได้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของนครเมลเบิร์น สิ่งที่ประชาชนเมืองนี้ให้ความสนใจ และสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราเข้าใจบริบทของเมือง และรู้สึกมีความเชื่อมโยงกับประชาชนในนครเมลเบิร์นแห่งนี้ไปโดยไม่รู้ตัว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"