ไร้รูปธรรมเยียวยา ธปท.เล็งอุ้ม‘ธุรกิจ’


เพิ่มเพื่อน    

 "นายกฯ" ถก "ครม.นัดพิเศษ" หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "สมคิด" ยันออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ หาเงิน 1 ล้านล้านบาท ออกมาตรการครอบคลุมทุกมิติ ทั้งดูแลประชาชน ภาคธุรกิจ  เคาะอีกที 7 เม.ย. ขณะที่ รมว.คลังเผยทุกกระทรวงโอเคเกลี่ยงบฯ ใหม่ ไม่จำเป็นต้องกู้ทั้งหมด ส่วนแบงก์ชาติชงออก พ.ร.ก.ทำซอฟต์โลนอุ้มธุรกิจ-พยุงตราสารหนี้เอกชน ขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก-ลดเงินนำส่งของสถาบันการเงิน
    เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 เมษายน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรูปแบบการประชุมเต็มคณะ มีรัฐมนตรีเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง  
    โดยนายกฯ กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า วันนี้ทุกคนทราบดีอยู่แล้วถึงสถานการณ์บ้านเมืองของเรา  ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้ทราบว่ารัฐบาลดูแลทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นส่วนการบริหารราชการในปกติ ซึ่งต้องมีการฟื้นฟูในระยะต่อไป เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันทำความเข้าใจตรงนี้ นอกจากนั้นในเรื่องของเงินงบประมาณจะมีปัญหาอย่างไร ทันเวลาหรือไม่ สอดคล้องหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ 
    สำหรับวาระสำคัญในการพิจารณา อาทิ มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะ 3-4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพื่อให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม มาตรการด้านงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 โดยการปรับลดการใช้จ่ายงบประมาณ หรือเปลี่ยนวิธีดำเนินงาน สำหรับงบประมาณในลักษณะรายจ่ายประจำ และการกำหนดนโยบายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564-2565 และประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลางปี 2563-2566  รวมถึงการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว 
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เปิดเผยว่า การออก พ.ร.ก. 2 ฉบับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ พ.ร.ก.การกู้เงินกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาดูแลประชาชน การดูแลเยียวยาเศรษฐกิจ ให้หมุนเวียนเดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องใช้เงินทั้งจากงบประมาณเพื่อเกลี่ยจากหลายกระทรวง สัดส่วนการใช้เงินครั้งนี้ประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพี หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นการเยียวยาเศรษฐกิจเหมือนกับหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 และหากปัญหายังยืดเยื้อรัฐบาลก็พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วงต่อไป  
    "ถือเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งดูแลประชาชน ภาคธุรกิจให้สามารถประกอบธุรกิจและยืนอยู่ได้ภายใต้วิกฤตินี้ ดูแลภาคการเงินให้มีสภาพปกติ เป็นตัวซัพพอร์ตให้เกิดการหมุนเวียนธุรกิจ ท้ายที่สุดคือการดูแลประชาชน ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหายจะส่งผลกระทบถึงประชาชนไม่ว่าจนหรือรวย ดังนั้นทางการดูแลและคิดมาพอสมควรจึงออกมาตรการ และนำเสนอในหลักการวันนี้ ขณะเดียวกันคลัง และ ธปท.จะไปดูกฎเกณฑ์ เพราะอาจต้องมีบางส่วนมาจากงบ บางส่วนมาจากการกู้ยืม การเตรียมการในรายละเอียดกำลังทำ ถ้าทันจะเข้า ครม.ในวันที่ 7 เม.ย.นี้"
    ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า มาตรการเยียวยาเฟส 3 มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม รวมถึงสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนขณะนี้ได้รับประโยชน์ ร่วมกันดูแลเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากการออกมาตรการเฟส 1 และ 2 มาแล้ว จึงต้องมีแหล่งทุนมารองรับช่วยเหลือทั้งประชาชนและเอกชนเพิ่มเติมให้เพียงพอ ขณะที่ ครม.ทุกกระทรวงเห็นด้วยกับแนวทางเกลี่ยงบประมาณมาใช้ดูแลปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อหารือกับสำนักงบประมาณและ ธปท. หากสรุปร่วมกันได้แล้วจะเตรียมนำรายละเอียดการกู้เงินเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 7 เมษายนนี้ 
    รมว.การคลังยืนยันว่า วงเงินเยียวยาเศรษฐกิจสัดส่วนร้อยละ 10 ของจีดีพี ไม่ใช่เป็นการกู้เงินทั้งหมด เพราะเป็นการใช้เงินจากงบประมาณ หากเกลี่ยจากงบประมาณจำนวนมากจะทำให้กู้เงินน้อยลง และไม่ให้กระทบต่อเงินเดือนประจำ สำหรับมาตรการเฟส 3 ยังมุ่งเน้นดูแลแรงงานซึ่งเดินทางกลับต่างจังหวัด หากต้องการทำงานอยู่กับบ้าน รัฐบาลพร้อมส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างเศรษฐกิจในชนบทให้เข้มแข็ง
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบสรุปรายงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้งตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้  หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ภายใต้แผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์จำนวน 419 หน่วยงาน ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้จำนวนทั้งสิ้น 644,181.4081 ล้านบาท 
    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมเสนอมาตรการต่างๆ ให้ ครม.เห็นชอบในหลักการในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่  
    1.การออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำโครงการซอฟต์โลนพิเศษโดยตรงให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยเงินของ ธปท.เอง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสินที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์นำเสนอมาตรการชุดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้เน้นไปที่ลูกค้ารายย่อย ให้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยระยะหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็เป็นมาตรการอีกชุด แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดยังมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มจะขยายมากขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้ไปสู่เอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสินเชื่อที่เป็นสภาพคล่องใหม่เพื่อช่วยเหลือรายที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน และดูแลให้ธุรกิจก้าวข้ามสถานการณ์วิกฤติไปได้
    2.การออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำมาตรการสร้างหลังพิงให้แก่ตลาดตราสารหนี้เอกชนเพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยศึกษาจากมาตรการของธนาคารกลางหลายประเทศ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะให้อำนาจ ธปท.สามารถซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดเพื่อไปชำระตราสารเดิม เฉพาะตราสารของบริษัทที่มีคุณภาพดี โดยจะต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่เติมเต็มให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขคัดกรองว่าเป็นบริษัทที่ดี
     3.ธปท.จะมีมาตรการขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งตามกำหนดเดิมในเดือน ส.ค.63 วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดลงจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้เสนอให้ยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี  เพื่อยังคงให้คุ้มครองเงินฝากที่ 5 ล้านบาทต่อไปถึง ส.ค.64 เพื่อช่วยลดความกังวลใจของประชาชน
    4.ธปท.จะให้สถาบันการเงินลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากเดิมอัตรา 0.46% จะลดเหลือ 0.23% ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดต้นทุนให้แก่สถาบันการเงิน ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยให้แก่ประชาชน
    นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ล่าสุดสำนักงบประมาณได้ประสานวัน เวลา สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 มาที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ว่าจะมีการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไปหลังเปิดสมัยประชุม อย่างไรก็ตาม หากวันนี้รัฐบาลมีมติออกพระราชกำหนดกู้เงินก็ต้องนำมาพิจารณาก่อนเป็นเรื่องแรก ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลในวันนี้ก่อน ส่วนถึงขั้นต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญพิจารณาร่างพระราชกำหนดกู้เงินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ตามกฎหมายสามารถรอจนเปิดสมัยประชุมได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"