ชำแหละ1ปีปฏิรูปตำรวจ ชี้เหลวมุ่งประโยชน์สีกากี


เพิ่มเพื่อน    

    เครือข่าย ปชช.ชำแหละ "1 ปี ปฏิรูปตำรวจ"  ล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ไร้ทิศทางการพัฒนา  ทำเพื่อผลประโยชน์คนสีกากี ออกแถลงการณ์จี้ยึด 8 แนวทางปฏิรูปของ คป.ตร. พร้อมเร่ง 6 เรื่องด่วน ยุบ บช.ภ.1-9 แยกงานสอบสวน ดึงอัยการช่วยคุมงานสอบสวน "อนุกรรมการฯ ชุดบุญสร้าง" ยอมรับทำงานขัดแย้งกับ กก.ฝ่าย ตร.ตลอด  
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 1 เม.ย. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch จัดเสวนาหัวข้อ “ตรวจการบ้าน 1 ปี ปฏิรูปตำรวจ แก้ปัญหาประชาชนได้จริงหรือไม่” หลังจากคณะปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) สรุปการทำงาน 3 ด้าน คือ ด้านบริหารบุคคล ด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจ และด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา จำนวน 18 หน้ากระดาษ เพื่อส่งมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
    นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปตำรวจตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้อะไรเลย งานด้านบริหารบุคคลไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ศูนย์รวมอำนาจยังอยู่ที่ สตช. อยู่ที่ตัว ผบ.ตร. ไม่มีการกระจายอำนาจ ถึงแม้จะมีการเขียนไว้ให้กระจายอำนาจไปยังกองบัญชาการ แต่ไม่มีการกระจายอำนาจไปยังกองบังคับการจังหวัด เพราะตามจริงแล้ว การปฏิรูปโครงสร้าง สตช.จะต้องลดลง ตำรวจมีประมาณ 220,000 นาย อยู่ที่ สตช.หรือส่วนกลางประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ก็พอ นอกจากนั้นให้ลงไปที่จังหวัดแต่ละพื้นที่
     "การปฏิรูปครั้งนี้เห็นร่องรอยตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการครึ่งหนึ่ง 15 คน ก็ส่อแววเหลวแล้ว สารพัดคณะกรรมการ สรุปก็อยู่ที่ประธานคนเดียว เพิ่มเงินสารพัดค่าตอบแทน การเพิ่มเงินเดือนผมไม่ได้ว่า แต่ต้องดูที่ผลงานด้วย ถ้าผลงานไม่มี มาขอเพิ่มไร้เหตุผล  งานต้องออกมาดีก่อนมาขอเพิ่มค่าตอบแทน พอพูดเรื่องเงินเดือน ไปเอารายงานต่างประเทศมาอ้าง แต่โครงสร้างเอาแบบไทยๆ" ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยกล่าว 
    พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ กล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปครั้งนี้ไม่เห็นมีอะไรแตกต่างไปจากเดิม ไม่เป็นโล้เป็นพาย การสอบสวนขาดการตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นอันตรายมาก คนที่มาเป็นพยานกลับจะถูกแจ้งข้อหาเอาง่ายๆ การสอบสวนพยานบุคคลมีปัญหา การสอบสวนต้องเป็นวิทยาศาสตร์มีการบันทึกภาพและเสียง เมื่อขั้นตอนการสอบสวนนี้เข้ามาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ผกก.จะลดลงครึ่งหนึ่งเลย
    "ปัญหาของตำรวจอยู่ที่ขาดการตรวจสอบทุกมิติ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้แยกงานสอบสวนออกจาก สตช. สรุปอ้างว่างานสอบสวนและสืบสวนเป็นเนื้อเดียวกันไม่สามารถแยกจากกันได้ งานสอบสวนธรรมชาติแตกต่างจากงานตำรวจ เพราะงานสอบสวนเป็นงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แต่ตำรวจเอางานรายงานตัวเป็นเรื่องใหญ่กว่า เมื่อนายมาโรงพักต้องเข้ารายงานตัว แต่งานสอบสวนเป็นเรื่องเล็ก การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการปฏิรูปเพื่อตำรวจ จะว่าอะไรขนาดคณะกรรมการคนนอกยังมีลูกหลานเป็นตำรวจที่ยังรอเวลาเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง บางคนยังเป็นที่ปรึกษา ผบ.ตร. แล้วจะปฏิรูปสำเร็จได้อย่างไร" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
    ขณะที่ ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา  กล่าวว่า หลังจากอ่านข้อสรุปจำนวน 18 หน้าของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแล้ว ทุกจุดมีช่องโหว่ตั้งแต่ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการ มีตำรวจถึง 15 คน ต่างประเทศการปฏิรูปแต่ละอย่างคนที่มาเป็นคณะกรรมการต้องมีการสัมภาษณ์ถึงทัศนคติ ไม่ใช่เลือกใครมาเป็นก็ได้ โจทย์การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้เพื่อการปฏิรูปประเทศ แต่การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการปฏิรูปเพื่อตำรวจ คนที่ได้ก็คือตำรวจ ประชาชนได้น้อยมาก 
    ด้าน ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ ยอมรับตอนหนึ่งว่า การทำงานมีการขัดแย้งกับคณะกรรมการฝ่ายตำรวจ กระบวนการยุติธรรมไทยมีจุดอ่อนผิดตั้งแต่เชิงปรัชญา วิธีคิด การใช้ โดยเฉพาะงานสอบสวน ลิดรอนสิทธิมนุษยชน คดีหนึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายไปตรวจสอบอย่างอิสระ ทั้งอัยการ กองพิสูจน์หลักฐาน ฝ่ายปกครอง หรือแม้กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ แต่บ้านเรามีเพียงตำรวจที่เห็นพยานหลักฐาน เมื่อมีพยานเห็นเหตุการณ์หลายคนหรือหลายส่วน ตำรวจก็ไม่สามารถบิดเบือนพยานหลักฐานได้ จากผิดมากเป็นผิดน้อย หรือทำให้อัยการยกฟ้องเลย การทำสำนวนเป็นไปแบบที่ตำรวจอยากให้เป็น
    "การเรียกร้องให้อัยการเข้าไปตรวจสอบก็ไม่เป็นผล ฝ่ายที่ค้านก็อ้างสารพัดปัญหา อัยการจะมีเวลาเข้าไปตรวจสอบกับตำรวจหรือ การเข้าร่วมตรวจสอบไม่ใช่ทุกคดี จะเข้าไปร่วมสอบเฉพาะคดีที่มีปัญหาเท่านั้น ก่อนจะมีการแจ้งข้อหาหรือส่งฟ้องอัยการ เพราะต่างประเทศก่อนแจ้งข้อหาอัยการต้องเข้าไปตรวจสอบก่อน ผู้ต้องหาถูกข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายหรือไม่ แต่บ้านเราเมื่อได้ตัวที่คิดว่าเป็นคนร้ายมาแจ้งข้อหาหนักไว้ก่อน เมื่อส่งอัยการ อัยการไม่ฟ้อง บางคนติดคุกฟรี สรุปกระบวนการยุติธรรมบ้านเราต้องไม่ให้มีการบิดเบือนพยานหลักฐาน" หนึ่งในคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจระบุ 
    จากนั้นเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) ออกแถลงการณ์ "ผลการตรวจการบ้าน 1 ปี" ว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชน เป็นข้อเสนอการปฏิรูปที่ผิวเผิน ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนได้ประโยชน์แต่อย่างใด คป.ตร.จึงมีความเห็นร่วมกันคือ ด้านบริหารงานบุคคล  วิธีแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่ตัดอำนาจ ก.ต.ช. โดยให้ ผบ.ตร. เสนอชื่อให้ ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกนั้น เป็นการลดทอนอำนาจของประชาชน การปฏิรูประบบบริหารงานที่แท้จริงคือการกระจายอำนาจสู่จังหวัด หรือการปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด 
    ด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ ยังไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2558 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการให้โอนตำรวจ 11 หน่วย ส่วนด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา มีแนวทางเพียงให้มีสายงานสอบสวนเช่นเดิม แต่ไม่ได้มีการกำหนดหลักประกันความเป็นอิสระในการหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากการแต่งตั้งโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ ไม่ได้แยกงานสอบสวนเป็นอิสระตามเสียงเรียกร้องของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ
    ท้ายแถลงการณ์ คป.ตร. ยืนยันแนวทางการปฏิรูป 8 ข้อ ที่เครือข่ายประชาชน 102 องค์กร เคยยื่นเรื่องให้นายกฯ และเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจน คือ 1.ยุบกองบัญชาการตำรวจภาค 1-9 เพื่อลดสายการบังคับบัญชาที่ซ้ำซ้อนสร้างปัญหาให้สถานีตำรวจ 2.โอนสำนักงานจเรตำรวจไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่อยู่ในระบบยศเช่นเดียวกับทหาร มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องร้องเรียนต่างๆ ด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง 3.แยกงานนิติวิทยาศาสตร์และงานพิสูจน์หลักฐานและงานสอบสวนออกจากตำรวจให้เป็นสายงานเฉพาะ  
    4.ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกินห้าปี คดีสำคัญหรือคดีที่มีการร้องเรียนทุกคดี  5.การสอบสวนต้องกระทำในห้องที่จัดเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี 6.ยกเลิกเงินรางวัลนำจับคดีจราจร และการสั่งปรับต้องกระทำโดยศาลเพื่อความยุติธรรมเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลก


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"