'บาซูกา'ไทยแรงพอสู้ Covid-19 ได้ไหม?


เพิ่มเพื่อน    

    จะเรียกมาตรการชุด “สู้ Covid-19” ที่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่าเป็นชุด “บาซูกา” (Bazooka) ได้หรือไม่ยัง ต้องดูว่าจะเอาเงินนี้ไปช่วยตรงจุดหรือไม่
    “บาซูกา” คืออาวุธเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาดพกพา ใช้งานอย่างแพร่หลายโดยกองทัพสหรัฐ 
    วงการทหารเรียกปืนประเภทนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "สโตฟไพพ์" (Stovepipe)  
    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันยึดบาซูกาได้หลายกระบอกในการรบกันที่ทัพแอฟริกาเหนือ ไม่ช้าไม่นานเยอรมันก็สามารถออกแบบปืนที่เป็นบาซูกาเวอร์ชั่นของตนเองด้วยการเพิ่มขนาดหัวรบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.8 ซม. 
    ช่วงสงครามใกล้ยุติ ญี่ปุ่นก็พัฒนาอาวุธคล้ายคลึงกัน 
    ต่อมาคำว่า "บาซูกา" ถูกใช้เป็นศัพท์ทั่วไป อ้างถึงอาวุธขีปนาวุธที่ยิงด้วยการประทับบ่าจากภาคพื้น รัฐบาลเห็นชอบให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 
    มาตรการสู้โควิดชุดล่าสุดจะใช้เงินทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของผลผลิตมวลรวม หรือ GDP ของประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับ “บาซูกา” ของหลายประเทศที่เพิ่งประกาศออกมาก่อนหน้านี้
    หนึ่งในร่างกฎหมายที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม ครม. คือร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
    งบประมาณ 1 ล้านล้านบาทก้อนนี้จะถูกนำไปใช้จ่ายสองส่วนคือ 6 แสนล้านบาท สำหรับรักษาและเยียวยาด้านสุขภาพของประชาชน 
    อีก 4 แสนล้านบาท สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาระบบเศรษฐกิจ โดยงบทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถปรับโอนไปมาได้
    ส่วน พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับที่ ครม.อนุมัติเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงินรวม 9 แสนล้านบาท คือร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ วงเงิน 5 แสนล้านบาท 
    และร่าง “พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน” เพื่อให้ซื้อตราสารหนี้เอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท 
    นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำว่า "ไม่ใช่กู้เงิน แต่เป็นการเพิ่มอำนาจ ธปท.ในการบริหารจัดการ"
    นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบในหลักการให้ตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนและปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณปี 2563 เพื่อโอนงบของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ราว 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท มาเป็น "งบกลาง" ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน 
    รัฐบาลบอกว่าการตรา พ.ร.ก.กู้เงินมีเป้าหมายสำคัญเพื่อหาเงินจ่ายเป็นเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" รับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน 
    ล่าสุด คุณอุตตม สาวนายน รมว.คลัง บอกว่าจะขยายเวลาในการจ่ายเงินเยียวยาออกไปเป็น 6 เดือน หรือจ่ายให้ถึงเดือนกันยายน
    กระทรวงการคลังจะทยอยโอนเงินเยียวยาให้ผู้ผ่านเกณฑ์กลุ่มแรกราว 1.6 ล้านคนช่วง 8-10 เมษายน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย, ขับแท็กซี่, ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง, มัคคุเทศก์ และขายสลากกินแบ่งรัฐบาล 
    “งบฉุกเฉินสู้ภัยโควิด” เช่นนี้เกือบทุกประเทศต้องทำ เพราะศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงจริงๆ จะใช้มาตรการธรรมดา หรือ “หนังสติ๊ก” เอาไม่อยู่แน่นอน
    แต่จะ “เอาอยู่หรือไม่” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของเงินอย่างเดียว หากแต่จะต้องอยู่ที่การนำไปใช้ถูกจุด ถูกทาง และทันการณ์
    เพราะที่ “บาซูกา” กลายเป็นอาวุธที่โด่งดังในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เพราะมีพลังทำลายสูง ไม่ใช่เพียงเพราะขนาดใหญ่โตหรือส่งเสียงดัง แต่เพราะยิงแม่น เป็นที่เกรงขามของศัตรู
    มีพลังสูงถึงขั้นที่ศัตรูต้องยอมถอย แค่ได้ยินกิตติศัพท์ของอาวุธชิ้นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ยอมยกธงขาวแล้ว
    ในระดับโลกมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าโควิด-19 เป็นภยันตรายต่อเศรษฐกิจระดับสากลอย่างรุนแรงชนิดที่ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
    ผมเพิ่งเคยเห็นผู้อำนวยการของ IMF กับ WHO แถลงข่าวไปแนวทางเดียวกันเป็นครั้งแรก เพื่อตอกย้ำถึงความรุนแรงของโรคระบาดครั้งนี้ต่อทั้งสุขอนามัยทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
    ก่อนหน้านี้เราเกือบจะไม่เคยเห็นความโยงใยระหว่างสององค์กรนี้ แต่ครั้งนี้แม้แต่ธนาคารโลก หรือ World Bank ก็ยังเข้ามาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์โลกในมุมมองร่วมกับด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
    ผอ.ของไอเอ็มเอฟ Kristalina Georgieva บอกว่า “เรากำลังเห็นเศรษฐกิจโลกหยุดนิ่ง นี่เป็นวิกฤติที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน โลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย (recession) มันเลวร้ายกว่าวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008-2009 มากๆ...”
    ความหมายย่อมชัดเจนว่าความเสียหายครั้งนี้รุนแรงหนักหน่วงกว่าวิกฤติการเงินก่อนหน้านี้มากมายหลายเท่า
    ไม่ว่าจะเทียบกับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” หรือ “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” หรือความเสียหายอันเกิดจากโรคระบาด SARS, Ebola หรือ MERS
    ประธานธนาคารโลก David Malpass บอกว่าความรุนแรงของโรคระบาดครั้งนี้เป็นวิกฤติสุขภาพที่มาพร้อมกับความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้
    ผมเรียกมันว่า “วิกฤติปากท้อง” ที่มาพร้อมกับ “อาการหายใจไม่ออก”
    ไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกจะเรียกร้องให้ประเทศเจ้าหนี้ทั้งหลายระงับการทวงหน้า และหาทางปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเปิดทางให้ทั้งโลกร่วมมือกันในการฟันฝ่าอุปสรรคครั้งใหญ่ไปด้วยกัน
    เพราะหากประเทศกลางและเล็กไม่รอด ชาติใหญ่ๆ ก็ไม่อาจจะลุกขึ้นได้เช่นกัน
    ไทยเราต้องสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ของตนเอง และขณะเดียวกันก็ประสานกับประชาคมโลกเพื่อแก้ปัญหาสาหัสระดับโลกครั้งนี้ไปด้วยกัน
    “บาซูกา” ของเราไม่จำเป็นต้องใหญ่และแพง...แต่ต้องยิงแม่น, ตรงเป้า และปราดเปรียวในสมรภูมิทุกนาทีจากนี้ไป!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"