จะสู้ Covid-19 แบบ หอไอเฟล, จอมปลวกหรือหลังเต่า?


เพิ่มเพื่อน    


    ถ้าจะให้เห็นภาพว่าประเทศไทยเราที่กำลังสู้กับ Covid-19 นั้นต้องการจะเห็นภาพเป็นสงครามแบบไหนก็ต้องฟังคำอธิบายจากคุณหมอทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค 
    ผมคุยกับคุณหมอทวีวันก่อน ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนว่า
    เราต้องเลือกระหว่างทำสงครามแบบ “หอไอเฟล” หรือ “จอมปลวก” หรือ
    ”หลังเต่า”
    ถ้าเลือกแบบหอไอเฟลอันตรายครับ จะเดินแบบอิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส, อังกฤษและอเมริกา
    นั่นคือปล่อยให้ตัวเลขคนป่วยและเสียชีวิตพุ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วจึงลดลงมา คือชันทั้งขาขึ้นและชันทั้งขาลง
    สูตรนี้หมอฝรั่งเรียก Herd Immunity หรือ “ภูมิคุ้มกันหมู่”
    หลักทฤษฎีด้านระบาดวิทยาบอกว่า หากปล่อยให้คนติดเชื้อได้ประมาณ 60% ของประชากรเมื่อใด ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะมีภูมิคุ้มกันเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปทำอะไรมาก
    แต่วิธีอย่างนี้คนไทยคงรับไม่ได้ เพราะต้องยอมให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก และไม่มีอะไรรับรองว่าเมื่อใดจะถึงจุดสูงสุดก่อนที่เส้นกราฟจะร่วงลงมา
    แบบที่สองเป็นรูป “จอมปลวก” คือจำนวนคนป่วยและเสียชีวิตน้อยกว่าสูตรแรกด้วยการใช้มาตรการควบคุมอย่างหลวมๆ ไม่ใช้วิธีบังคับเข้มงวด ประคองให้วิถีชีวิตประจำวันยังเป็นปกติส่วนใหญ่
    วิธีสองนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะหากพลาดท่าเสียที เส้นกราฟแบบ “จอมปลวก” ก็อาจจะแปลงเป็น “หอไอเฟล” ได้ทันที เพราะไม่มีอะไรรับรองว่าจะสามารถควบคุมให้เส้นที่วิ่งขึ้นนั้นเบนออกไปทางขวาให้เป็นรูปจอมปลวกได้
    วิธีที่สามคือ “หลังเต่า” ซึ่งหมายถึงการลงมือควบคุมอย่างจริงจัง ค่อนข้างเข้มงวด ตรวจและแยกคนป่วยอย่างรวดเร็วและเข้มข้น ต้องใช้ทั้งมาตรการเคอร์ฟิวและจำกัดเสรีภาพของการใช้ชีวิตของผู้คนพอสมควร
    ข้อดีของวิธีนี้คือ คนติดเชื้อและเสียชีวิตมีจำนวนที่ “ไม่สูงเกินกว่าที่จะรับได้” และสามารถประคองให้ความเสียหายที่เกิดจากโรคระบาดกับเศรษฐกิจของชาติพอจะถ่วงดุลกันได้ในระดับหนึ่ง
    แน่นอนว่าสูตรที่ดีที่สุดคือสูตรที่สี่....ที่มีรูปเป็น “ขอบฟ้าอันราบเรียบของทะเลสีคราม”
    แต่นั่นอาจจะเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ มากไปหน่อย
    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแม้ในยามปกติชีวิตของคนในโลกนี้ก็ไม่มีความสงบราบคาบเหมือนทะเลวันปราศจากคลื่นอยู่ดี
    คำเตือนของหมอยง ภู่วรวรรณ แห่งคณะแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าเรายังต้องอยู่กับไวรัสตัวนี้อีกระยะหนึ่ง จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจเพื่อนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน
    คุณหมอยงเขียนในเฟซบุ๊กของท่านตอนหนึ่งเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
    การระบาดของโรค จำต้องมีมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม ลดความรุนแรงของการระบาดและการสูญเสียต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิต และให้กระทบต่อคนทั่วไปน้อยที่สุด
    หลังการระบาดใหญ่ที่สนามมวย และสถานเริงรมย์ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นห่วง จึงมีมาตรการเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมโรคให้ได้
    แนวโน้มของโรคลดลง และวันนี้พรุ่งนี้ก็เชื่อว่าจะลดลงอีก
    ในขณะนี้เราจะเห็นว่าแนวโน้มของโควิด-19 ทรงตัว และดูเหมือนจะดีขึ้นกว่าหลายประเทศ แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ถ้าดูในเชิงคณิตศาสตร์ อัตราการเพิ่มอำนาจการกระจายโรค ในธรรมชาติของโรค จะอยู่ที่ 2.5 หมายความว่า ผู้ป่วย 1 คน แพร่กระจายไปได้ 2.5 คน แต่ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขนี้อยู่ที่ประมาณ 1.5 แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วย 1 คน แพร่กระจายไปได้ 1.5 คน ลดลงจากการกระจายตามธรรมชาติ ด้วยมาตรการต่างๆ ที่เข้มแข็งขึ้น แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เราต้องการให้เหลือ 1 หรือน้อยกว่า 1 ให้ได้ โรคจึงจะลดลงและค่อยๆ หมดไป
    การเติมตัวเลขการระบาดให้สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทางยุโรปและอเมริกา และเพื่อนบ้าน
    ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดต่อภายในประเทศ จากแหล่งชุมชน เราจึงพยายามปิดทุกช่องทาง
    ผมเองเชื่อและหวังว่า ผู้ที่ติดเชื้อวันนี้และพรุ่งนี้จะต้องน้อยลงอีก
    นักข่าวถามผมว่า มาตรการของรัฐบาล ถ้าคะแนนเต็ม 10 จะให้เท่าไหร่
    ผมตอบได้ทันทีเลยว่า ถ้าจะให้คะแนน ต้องให้คะแนนกับพวกเราทุกคน รวมทั้งนักข่าวเองด้วย ว่าจะให้คะแนนตัวเราเท่าไหร่ เรามาลองให้คะแนนตัวเราดูก็ได้ว่า จะให้กี่คะแนน ถ้าคะแนนเต็ม 10
    สิ่งที่มีความหวัง ถ้าทุกคนทำได้เต็มสิบ ตามมาตรการที่มีอยู่ขณะนี้ ตัวเลขแต่ละวันจะต้องลดลงอย่างแน่นอน
    การต่อสู้ครั้งนี้ยังอีกยาวไกล
    ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงและยาวไกล แต่หากเราสามารถทำให้เป็นการต่อสู้แบบ “หลังเต่า” ได้ก็น่าจะไม่หนักหนาสาหัสเกินไป
    อีกทั้งยังจะได้เรียนรู้บทเรียนมากมายจนสามารถกล่าว “ขอบคุณโควิด...เราอยู่ห่างๆ กันไว้ก็ดีนะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"