ปลดล็อกกลุ่มอาชีพ ปฏิบัติภารกิจช่วง'เคอร์ฟิว' ศบค.ห่วงวงเหล้าสงกรานต์


เพิ่มเพื่อน    

     นายกฯ แถลงคืบหน้ามาตรการแก้โควิด-19 ยัน 100วันที่ได้สู้กันมามียอดผู้ป่วยในระดับที่ควบคุมได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการดำเนินการมีประสิทธิภาพ ประเทศต่างๆ ยกให้เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นมาตรการ มั่นใจประเทศไทยต้องชนะ ย้ำงดจัดงานสงกรานต์ทุกระดับ ออกประกาศฉบับที่ 3 ปลดล็อกให้บางกลุ่มอาชีพออกจากบ้านช่วงเคอร์ฟิวได้ แต่ต้องแสดงเอกสารรับรอง ศบค.เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อตลอดสัปดาห์ลดลง รายใหม่ 50 ราย กังวลกลุ่มวัยทำงานตั้งวงก๊งเหล้าช่วงสงกรานต์เป็นพาหะหลักนำโรคไปติดปู่ย่าตายาย เตือนผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สธ.แจงยังไม่มีมาตรการผ่อนคลายแม้ผู้ติดเชื้อลดลง หวั่นแค่พลาดครั้งเดียวจะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
     เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 10 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย รายงานความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ที่ได้สั่งการ และรัฐบาลได้มีมติในแต่ละด้าน ตามลำดับ ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ด้านการควบคุมสินค้า ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้านการต่างประเทศ เป็นต้น
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 100 วันแล้วที่เราได้ร่วมต่อสู้กันมาใน “สงครามโควิด-19” ในครั้งนี้ ด้วยการเตรียมความพร้อม และการเฝ้าระวังที่เข้มงวดตั้งแต่ต้น ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้เรามียอดผู้ป่วยในระดับที่ควบคุมได้ มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศชั้นนำ และมีความพร้อมรับมือในทุกๆ ด้าน เป็นข้อพิสูจน์ว่าการดำเนินการของเรานั้นมีประสิทธิภาพ ประเทศต่างๆ ยกให้เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 
     “ผมขอให้พวกเราทุกคนเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐ และมีวินัยอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติตาม ผมขอให้สัญญาว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หน้าที่ของผมคือดูแลคนไทยทุกคนทั้งประเทศ ขอให้พวกเราจะสู้ไปด้วยกัน พวกเราคือทีมประเทศไทย หากเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ไม่มีศึกใดที่เราจะเอาชนะไม่ได้”
“สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลและสถานีอนามัยต่างๆ พร้อมทั้งสมาชิก อสม.นับล้านคนทั่วประเทศ ที่ทำงานอยู่ในด่านหน้าของพวกเรา รวมถึงเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร และจิตอาสาทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือดูแลและให้บริการประชาชนในวิกฤตินี้ ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อสุขภาพของท่านเอง ผมอยากบอกให้ทุกคนทราบว่า ท่านคือความหวัง คือ “ฮีโร่” ที่อยู่ในหัวใจของผม และหัวใจของคนไทยทั้ง 70 ล้านดวง ผมขอขอบคุณในความเสียสละของทุกท่าน”
     นายกฯ กล่าวอีกว่า สัปดาห์หน้าเป็นช่วงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด รัฐบาลจึงมีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ ทั้งข้อห้ามและข้อแนะนำ ดังนี้ (1) งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ (2) งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา (3) งดเว้นการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี และ (4) งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงาน และมีคุณค่าทางจิตใจ จึงขอให้ปฏิบัติ ดังนี้ (1) สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน (2) การแสดงความกตัญญูขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยด้วย (3) ส่งเสริมให้แสดงความรักและความกตัญญูต่อบุพพการี ผู้มีพระคุณที่อยู่ไกลกันผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสื่อออนไลน์ 
     “ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ผมในนามของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล อวยพรให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจขอร่วมต่อสู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน และขอให้สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อครอบครัวกันให้มากที่สุด เราจะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้ให้จงได้ ประเทศไทยจะต้องชนะอย่างแน่นอน"  พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ปลดล็อกบางอาชีพช่วงเคอร์ฟิว
     จากนั้นได้เผยแพร่ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 3) โดยออกข้อกำหนดเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ในการบังคับใช้ข้อ 1 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) ให้ยกเลิกความในส่วนที่เป็นข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามเวลาดังกล่าว และให้ใช้ข้อยกเว้นดังต่อไปนี้แทน (1.) การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ  ของทางราชการ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอื่น (2.) การสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้ความจำเป็นต้องพบแพทย์และผู้ดูแลบุคคล ดังกล่าว หรือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงาน (3) การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณียภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ หนังสือพิมพ์ หรือสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก (4) การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งหรือขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศของทางราชการหรือของตนเองเพื่อการเฝ้าระวังหรือกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือผู้เดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยานหรือสถานที่ขนส่งตามที่ทางราชการอนุญาตและให้เปิดทำการได้
     (5) การบริการหรือการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ได้แก่ ผู้บริการคนไร้ที่พึ่ง ผู้บริการเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้บริการส่งสินค้าหรืออาหารตามสั่ง ผู้บริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงไฟฟ้า ประปา ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติผู้บริการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย ผู้บริการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงข่ายและอุปกรณ์ในการสื่อสารโทรคมนาคม ผู้บริการด้านธนาคาร ตลาดทุน ประกันภัย การกู้ภัย การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ผู้จำเป็นต้องดำเนินการในกรณีเกิดอุบัติหตุ หรือจำเป็นต้องติดต่อราชการกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือพนักงานสอบสวน (6) การประกอบอาชีพซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายในช่วงเวลาพิเศษ ได้แก่ ผู้เข้าออกเวรยาม กะ หรือการทำงานตามผลัดเวลาที่กำหนดไว้ตามปกติของทางราชการ เอกขุน โรงงาน หรือการดูแลรักษาความปลอดภัย ผู้ประกอบอาชีพประมง การกรีดยาง การตรวจรักษาสัตว์ (7) เหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 
     ในกรณีตาม (1) ถึง (6) ให้บุคคลที่มีความจำเป็นดังกล่าวแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการ การเดินทางหรือหลักฐานอื่นๆ ต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมถึงการยอมรับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สำหรับกรณีตาม (7) ให้แสดงเหตุจำเป็นพร้อมทั้งหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเพื่ออนุญาต 
     ข้อ 2 ในกรณีมีความจำเป็นสมควรยกเว้นความในข้อ 1 เพิ่มเติมเป็นการทั่วไป ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งยกเว้นผู้ประกอบกิจการอื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกันภายในกรอบของกิจการตามข้อ 1 (1) ถึง (6)เพิ่มเติม โดยอาจกำหนดสถานที่ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาด้วยก็ได้
     ข้อ 3 ในกรณีมีการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการพนัน กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดนั้นโดยเร็ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มษายน พ.ศ.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
     ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย ยอดสะสม 2,473 ราย ใน 68 จังหวัด หายป่วยสะสม 1,013 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 33 ราย โดยรายที่ 33 เป็นหญิงไทย อายุ 43 ปี อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวคือโรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 6 เม.ย. มีอาการไข้ 38.9 ถ่ายเหลว อาเจียน หายใจหอบเหนื่อย ความดันโลหิตตก เอกซเรย์พบปอดอักเสบ รุนแรงและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 7 เม.ย. รายนี้แม้อายุไม่มาก แต่มีโรคเอสแอลอี ติดเชื้อง่ายและรุนแรง หากใครมีญาติเป็นโรคนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอันตรายถึงชีวิต 
หวั่นวัยทำงานนำโรคติดปู่ย่าตาย
     ทั้งนี้ ในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 27 ราย กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และสัมผัสกับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมถึงอยู่ในสถานที่เสี่ยง 15 ราย กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 8 ราย ซึ่งในส่วนนี้มาจากการตรวจสอบเชิงรุกในพื้นที่ จ.ภูเก็ต 4 คน และเมื่อเทียบอัตราผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากร จ.ภูเก็ต ยังเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด จึงมีมาตรการที่แรงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม วันนี้มีผู้ป่วยรายแรกใน จ.พังงา ทำให้เหลือจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ 9 จังหวัด
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อดูจากสาเหตุผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุด พบว่าสาเหตุอันดับ 1 มาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรองลงมาคือสัมผัสกับคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และอยู่ในกลุ่มอาชีพเสี่ยง ถ้าดูภาพรวมในสัปดาห์นี้ พบว่าอัตราการติดเชื้อจากทุกกลุ่มเสี่ยงลดลง ทั้งนี้ ช่วงอายุที่เป็นพาหะนำโรคมากที่สุดคือ 20-39 ปี เป็นวัยทำงานที่ต้องออกจากบ้าน มีสังคม ไม่เว้นระยะ ห่างทางสังคม ทำให้เกิดการนำเชื้อมาในบ้าน ใครที่มีคนกลุ่มนี้ในครอบครัว ปู่ย่าตายายต้องช่วยกันเตือน ที่เราต้องรายงานสถานการณ์ทุกวันหน้าที่ของทุกคนคือรับรู้และแปลงไปสู่การปฏิบัติไม่ต้องรอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการเสียสละเพื่อชาติทำได้ง่ายมาก แค่อยู่บ้านนั่งดูโทรทัศน์ก็ช่วยได้แล้ว ไม่ต้องทำอะไรที่เหนื่อยกว่านี้เลย 
     โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งโลกวันนี้มีถึง 1,603,984 ราย เสียชีวิต 95,731 ราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าดูอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน พบว่า สเปน มากที่สุด 316.06 รองลงมาคือ อิตาลี 292.04 ขณะที่ไทยมีเพียง 0.48 อยู่อันดับ 56 ในหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากมาพร้อมๆ กัน ทำให้เห็นภาพแพทย์ต้องเลือกว่าจะช่วยใคร ซึ่งเป็นความลำบากใจของแพทย์ และสะเทือนใจคนทั้งโลก ดังนั้นเราไม่อยากเจอภาพนั้นในประเทศไทย จึงต้องช่วยกันป้องกัน ตอนนี้แพทย์ยังสามารถดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดได้ สามารถคำนวณปริมาณน้ำเกลือและยาได้อยู่ แต่ถ้าล้นเป็นหมื่นไม่เพียงพอแน่จึงต้องร่วมมือกัน
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีจังหวัดที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 11 จังหวัด ส่วนผู้ที่มีการกักตุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมาสังสรรค์กันช่วยเทศกาล ถ้าเกิดมีการรวมตัวกันแล้วทำให้เกิดเสียงดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาดำเนินคดีได้ เพราะอยู่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการประชุมของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรายังเห็นพฤติกรรมที่เกิดจากการร่วมกลุ่มเล็กๆ แม้ร้านค้าจะไม่ให้นั่ง ก็ยังเห็นจับกลุ่มนั่งยองๆ ก๊งเหล้า ถือว่าสุ่มเสี่ยงมาก จึงขอร้องคนหนุ่มสาวทั้งหลายวัยทำงาน การไปรวมกันจะเป็นพาหะนำโรคไปติดปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง เรากังวลมาก เพราะกำลังคุมกันได้ดีๆ ลุ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อกันทุกวัน อยากให้ลดลง จึงอยากให้คนในครอบครัวช่วยกันดูแลอย่าให้ไปชุมนุมมั่วสุม นอกจากนี้ มีจังหวัดที่ผู้ว่าฯ ประกาศระงับการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ภูเก็ต สตูล ตราด น่าน ยะลา พัทลุง สงขลา บึงกาฬ ระนอง ร้อยเอ็ด ตรัง มุกดาหาร นครพนม
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของคนไทยที่เตรียมเดินทางกลับประเทศ ตามหลักคนไทยมีสิทธิกลับประเทศ แต่เราก็ต้องดูแลคนไทยในประเทศอีกกว่า  60 ล้านคน จึงต้องจัดสมดุลให้ดี จึงนำมาสู่แนวคิดที่ว่า ในเมื่อเราเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบในประเทศ คนที่อยู่ในต่างประเทศก็ถือเป็นคนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ถ้าให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนให้น้อยที่สุด หากเขาอยู่ต่างประเทศแล้วถูกหยุดจ้างงาน ไม่มีรายได้ จะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ จะส่งเงินไปได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมองว่ามันเป็นเหตุเป็นผล ต้องดำเนินการให้เขาดำรงชีพอยู่ได้ เพราะก็เป็นคนไทย หลายคนในที่ประชุม ศบค.เห็นด้วย เหลือแค่หลักปฏิบัติที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ไปดูตัวเลขและกลับมารายงานว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไร แล้วจึงจะสรุปแนวทางออกมา ดังนั้นเรื่องนี้จึงถือเป็นแนวคิดอยู่
สธ.ย้ำยังไม่ผ่อนคลาย
     ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า วิธีการจัดการปัญหาในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เท่ากัน แต่นอกเหนือจากสถานการณ์แล้วความสำคัญที่สุดคือความร่วมมือกัน ซึ่งยังคงย้ำให้งดการเดินทางออกจากบ้าน งดการรวมตัวกันเป็นกลุ้มก้อน ที่หากมีการร่วมกลุ่มกัน และมีผู้ติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเพียงคนเดียว ก็อาจจะทำให้มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก่อนอีก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคใต้ มีผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เดินทางมาจากอินโดนีเชีย ทำให้โรงพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้แพทย์มีอยู่จะต้องดูแลรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นแรงกดดันในส่วนของการเพิ่มปริมาณงานให้กับโรงพยาบาล ดังนั้นก็อยากให้ทุกคนช่วยกัน ซึ่งให้ภาระงานของจังหวัดภาคใต้เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ 
     เมื่อถามว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่พบผู้ป่วยในแต่ละวันน้อยลง จะสามารถผ่อนคลายมาตรการบางอย่างได้หรือไม่ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องดีใจหรือติดปีกผ่อนคลายมาตรการใดๆ โดยปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องให้ผู้ป่วยลดลงมากกว่านี้ ทั้งนี้ จะสามารถวางใจได้ว่าเชื้อโควิด-19 ได้หมดไปจากพื้นที่แล้ว คือเมื่อผ่านไป 14 วัน และเจอผู้ป่วยคนสุดท้าย เราถึงจะวางใจว่าพื้นที่นั้นไม่เชื้อเหลืออยู่แล้ว ขอให้อย่าประมาท เพราะโรคนี้มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีความรุนแรง ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้ระบาดได้อย่างตามใจเชื้อโรคได้ อย่าลืมเหตุการณ์ที่สนามมวยและเหตุการณ์ในสถานบันเทิงที่ทองหล่อ แค่เราพลาดเพียงครั้งเดียวก็จะทำให้ผู้ป่วยมีมากขึ้น ในส่วนของมาตรการผ่อนคลาย ตอนนี้ทุกฝ่ายพยายามดูว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจะผ่อนคลายมาตรการอะไรได้บ้าง
     วันเดียวกัน เมื่อเวลา  09.30 น. ที่ห้องประชุมสถาพร กวิตานนท์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารจังหวัดปทุมธานี แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานี 
โดยมี ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี  ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ, นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการ และคณะแพทย์ พยาบาล ผู้บริหารโรงพยาบาลอำเภอในจังหวัดปทุมธานี ร่วมประชุม “สามัคคีที่ปทุมธานีเราจะรบร่วมกันในสงครามโควิด-19” เพื่อผลักดันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานี โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จะเป็นแกนรับเคสทุกเคสที่เกินกำลังโรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง ทั้งที่จะส่งต่อ (refer) เข้า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลสนาม โดยถือว่าเป็นการรับจากโรงพยาบาลเครือข่ายของตัวเอง
     โดยนายอนุทินกล่าวว่า เห็นความพร้อมของบุคลากรทางแพทย์ ถือว่าทำได้เยี่ยมมาก ย้ำว่าไทยเดินมาถูกทางแล้ว เชื่อมั่นว่าจะชนะโควิด-19 ได้แน่นอน สิ่งที่เรียนรู้จากสถานการณ์ของระบาดโควิด-19 นั่นคือเรา ยืมจมูกใครหายใจไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต่อไปเราต้องตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างจริงจัง 
ด้าน ดร.สุรพลกล่าวว่า ต่อไปนี้เราคือเพื่อนร่วมรบ ขาดอะไรธรรมศาสตร์จะหาให้ พวกเราทุกคนจะได้ทำงานแบบมั่นใจ ถ้าพวกคุณหนักใจอะไรก็บอกธรรมศาสตร์ เราพร้อมไปช่วยทันที 
     พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ผอ.ศบภ.ทบ.) เปิดเผยว่า จำนวนกำลังพลของกองทัพบกที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงสะสมเท่าเดิมอยู่ที่ 11 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นกำลังพลในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่มีการติดเชื้อเพิ่ม โดยออกจากโรงพยาบาลแล้ว 10 ราย แต่ยังคงกักตัวอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ซึ่งรวมถึง พล.ต.ราชิต อรุณรังสี เจ้ากรมสวัสดิการกองทัพบกด้วย 
ทั้งนี้ กองทัพบกเดินหน้าสนับสนุนศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการจัดตั้งสถานที่เฝ้าระวังและสังเกตอาการของรัฐ (State Quarantine) ทั้งในส่วนกลางและในแต่ละจังหวัด รองรับการส่งผู้เดินทางเข้าประเทศและกลุ่มเสี่ยง โดยล่าสุด พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก มอบหมายให้แม่ทัพภาคในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ให้การสนับสนุนขับเคลื่อนการจัดตั้งสถานที่ควบคุมและสังเกตอาการของจังหวัด ซึ่งบูรณาการโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ทุกพื้นที่มีความปลอดภัยและมีความมั่นใจในการเตรียมสถานที่เพื่อรองรับสถานการณ์ให้ดีที่สุด
     นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เชิญชวนประชาชนโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เพราะเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจ ที่มีการสนับสนุนการทำงานของแพทย์ให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบ และประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง และยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"