คุมเข้มโควิดถึงพ.ค. ติดเชื้อเพิ่ม28คน'ศบค.'ย้ำอย่านิ่งนอนใจยกญี่ปุ่นตัวอย่าง


เพิ่มเพื่อน    

    “ในหลวง-พระราชินี” มีพระราชดำรัสชื่นชมรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานหนักสู้ภัยโควิด-19 จนสถานการณ์ดีขึ้น หากต้องการสิ่งใดกราบบังคมทูลขอพระราชทานได้ตลอดเวลา “ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะถก ศบค. ต่อไปประชุมแค่จันทร์-พุธ-ศุกร์ “หมอทวีศิลป์” เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ แค่ 28 ราย แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ยก “ญี่ปุ่น” เป็นตัวอย่าง ระบุต้องคุมเข้มถึงเดือน พ.ค. สาธารณสุขแจงบุคลากรทางการแพทย์ป่วยไม่ใช่มารักษาไวรัสโคโรนาทั้งหมด จับตา ครม.ถกมาตรการพาคนไทยจากมาเลย์กลับ
    เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกระแสพระราชดำรัสชื่นชมผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข จิตอาสา ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน ที่ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ด้วยความอดทน เสียสละ ร่วมมือกันจนทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับเป็นที่น่าพอใจ พร้อมกับพระราชทานกำลังใจให้ทุกคน หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ประสงค์ให้พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีพระราชทานเพิ่มเติม ขอให้กราบบังคมทูลได้ตลอดเวลา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอให้ทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
    พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ในช่วงเช้า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้บังคับหน่วยทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิค-19 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของเครื่องอุปโภค-บริโภค ยาสามัญ หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ ให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ จำนวน 623 ชุมชน 120,581 ครัวเรือนใน 46 เขตของกรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้หน่วยทหารของกองทัพบกได้นำถุงพระราชทานดังกล่าวไปมอบให้กับประชาชนที่บ้านมาตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. จนถึงปัจจุบัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและความห่วงใยต่อพสกนิกรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ได้พระราชทานการดูแลประชาชนผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง ซึ่ง ผบ.ทบ.ได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆ ได้ช่วยอำนวยความสะดวกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหรือผู้ป่วยได้รับทราบ และเข้าถึงการรับบริการใน รพ.สมเด็จพระยุพราชในแต่ละพื้นที่
บิ๊กตู่กำหนดโจทย์ 10 ข้อ
    สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ โดยเวลา 10.00 น. ได้ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) หรือ ศบค. เพื่อติดตามสถานการณ์ และผลการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายกฯ กล่าวอวยพรเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ ก่อนจะกำหนดประชุม ศบค. โดยต่อไปจะประชุมทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ 
    ทั้งนี้ ในการประชุม นายกฯ ยังได้กล่าวถึงการตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 โดยให้เพิ่มผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมทั้งได้เล่าถึงการตรวจเยี่ยมการดำเนินการของภาครัฐ หน่วยงาน และประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี พร้อมขอให้ทุกฝ่ายประเมินภาพรวมร่วมกันในการทำงานที่ผ่านมาด้วย ว่า Best and worst case เป็นอย่างไร จะผ่อนสั้นผ่อนยาว อนุโลม และเข้มงวดเรื่องใดบ้าง เช่น กรณีช่างตัดผม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางร่วมกัน ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหลักในการประเมินมาตรการผ่อนคลาย และหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายลงจะทำอย่างไร ให้พิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ เชิงลึก เชิงกว้าง และรอบคอบ เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง 
    สำหรับประเด็นสำคัญที่นายกฯ ให้ไว้ในการประชุม ประกอบด้วย 1.ให้ทุกหน่วยงานการประเมินสถานการณ์ Best and Worst Case เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน 2.บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ในหอจดหมายเหตุเพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต 3.บูรณาการข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชน 4.ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาใจใส่ ตรวจตรา ประเมินกำกับดูแลผู้ปฏิบัติงาน หากต้องการความช่วยเหลือหรือเจ็บป่วยด้านใด ต้องได้รับการดูแล ต้องช่วยเหลือ 5.ด้านการกระจาย แจกจ่าย เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ 6.การกำหนดราคาสินค้า สั่งให้กระทรวงพาณิชย์จัดทีมสร้างแนวร่วม เช่น จิตอาสา เพื่อช่วยสอดส่องดูแลให้เรียบร้อย 7.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำสถิติตัวเลข เช่น การติดเชื้อ ที่มาของโรค 8.พิจารณาการใช้แอปพลิเคชัน โดยเมื่อสำเร็จแล้วให้ช่วยชี้แจงให้ประชาชนผู้ใช้งานเข้าใจใช้งานได้จริง 9.ด้านโครงการวิจัยและพัฒนา ให้ศึกษาว่าขณะนี้เราทำอะไรได้บ้าง และ 10.ขอบคุณเอกชนที่ร่วมมือ และให้เกียรติรัฐบาล รวมทั้งขอบคุณที่ร่วมมอบสิ่งของ เครื่องใช้ รวมถึงร่วมวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา
    ในที่ประชุม หน่วยงานต่างๆ ยังได้รายงานผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพาณิชย์ 
    ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินออกจากตึกสันติไมตรี ผ่านห้องทำงานสื่อมวลชน และแวะทักทายสื่อมวลชนพร้อมอวยพรเนื่องในวันสงกรานต์ และเมื่อถามถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ ในวันที่ 14 เม.ย. นายกฯ ตอบว่า เตรียมไว้แล้ว และเมื่อกล่าวอีกว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ไม่ได้รดน้ำ นายกฯกล่าวตอบว่า "ปีหน้ารดให้เปียกเลยนะ และส่วนตัวได้ใส่บาตรไปแล้ว และจัดของถวายพระทุกวัน"
    จากนั้นนายกฯ เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมหันมาโบกมือและกล่าวกับสื่อมวลชนอีกด้วยว่า "สวัสดีปีใหม่ สงกรานต์ ปีหน้าค่อยมารดน้ำกันนะ"
     นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 เม.ย. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน และผู้นำอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ ทำเนียบรัฐบาล ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นประจำทุกปีที่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะร่วมประชุมกันปีละ 2 ครั้ง แต่เนื่องด้วยขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องให้จัดการประชุมทางไกลแทน
    ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ว่าวันนี้ถือเป็นข่าวดีที่ตัวเลขลดลงมาต่อเนื่องเพียง 28 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่กลับมาจากอินโดนีเซีย 3 ราย อยู่ที่ จ.สตูล 2 ราย และยะลา 1 ราย ส่วนยอดผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย มีผู้หายป่วยเดินทางกลับบ้านแล้ว 1,288 ราย โดยมีผู้หายป่วยกลับบ้านมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้เตียงเพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วย
ยังต้องเข้มถึงเดือนหน้า
    นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวว่า ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 40 ราย รายที่ 39 เป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ และรายที่ 40 เป็นชายไทย 43 ปี เป็นพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะเห็นว่าผู้ป่วยเสียชีวิตทั้งสองรายอายุไม่ถึง 60 ปี เราจึงจำเป็นต้องรวบรวมรายละเอียดคนกลุ่มนี้มาบอกให้ประชาชนรับทราบ เพื่อที่จะเรียนรู้อาการต่างๆ เป็นอย่างไร และเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป
    “ยอดป่วยสะสมทั่วประเทศ กทม.มี 1,306 ราย, ภูเก็ต 182 ราย, นนทบุรี 150 ราย และยะลา 84 ราย แต่ถ้าดูยอดผู้ป่วยต่อจำนวนประชากรในจังหวัดสูงที่สุดยังเป็น จ.ภูเก็ต ที่มีการถามว่าขณะนี้สถานการณ์ในไทยไว้วางใจได้หรือยัง หลังตัวเลขผู้ป่วยรายวันลดลงนั้น ขอให้ดูประเทศญี่ปุ่น ที่นิ่งๆ ทรงๆ แต่อยู่ๆ ก็กลับขึ้นมาสูงอีก ถือว่าน่ากังวลว่ามันจะขึ้นมากกว่านี้อีกหรือไม่ และที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งพบผู้ป่วยรายแรกในปลายเดือน ม.ค. เพียงเดือนเศษก็สามารถกระโดดขึ้นมาเป็น 180 คนได้ ดังนั้นตัวเลขของเราที่อยู่ที่ 28 คนวันนี้ ก็อาจเพิ่มขึ้นได้อีก จึงไม่อยากให้นิ่งนอนใจ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกถึงคำถามที่ว่าจะผ่อนคลายมาตรการลงได้ และการทำงานที่บ้านยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ว่ายังไม่อยากผ่อนคลายกันมาก พอเห็นตัวเลขแล้วดีใจ กลับไปทำตัวปกติ ซึ่งไม่ดีเลย เพราะแม้ในประเทศเราควบคุมดูแลล้อมรั้วกันอย่างดี แต่สถานการณ์ต่างประเทศตัวเลขยังเป็นสีแดงกันอยู่ สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจเลย เราอยู่ในแวดล้อมของสถานการณ์การติดเชื้อของทั่วโลกที่สูงขึ้น มีแต่บ้านเราเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ เพราะเราเข้มแข็งและช่วยกัน การร่วมกัน 70-80% ไม่สามารถทำให้ตัวเลขลดลงได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าจะลดลงต่อเนื่อง ประชาชนต้องร่วมกัน 90% ขึ้นไป ถ้าการ์ดเราตกลงมาก็จะเกิดปัญหา ดังนั้น ทุกคนต้องเป็นแนวร่วม ต้องช่วยกันยาวไปถึงกลางเดือน สิ้นเดือน และต้นเดือนหน้า ตามที่มีการพยากรณ์ว่าโรคนี้จะอยู่กับเรา 3-4 เดือน
    “ถ้าบางพื้นที่ไม่มีการติดเชื้อ การผ่อนคลายในระดับจังหวัดและภาคอาจเกิดขึ้นได้ แต่อย่าเอาสาระที่ผม ต้องเอาสาระที่คณะกรรมการวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งยังไม่รู้ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ ตัวเลข 28 รายในวันนี้เป็นผลจากพฤติกรรม 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ วันนี้เพิ่งเข้าเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนยังต้องปรับตัวเรื่องชุดพฤติกรรม ถ้าผ่อนคลายวันนี้จะไปส่งผลเป็นตัวเลข 5-7 วันข้างหน้า ดังนั้นการ์ดเราจะตกไม่ได้ ขอทุกท่านร่วมมือร่วมใจ 90% ต่อไปเรื่อยๆ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ยังไม่ชัดเปิดร้านตัดผม
    เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าในบางพื้นที่จะให้ร้านตัดผมและเสริมสวยเปิดได้ในวันที่ 16 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขอตรวจสอบก่อน เพราะเรามีคำสั่งจากส่วนกลางว่าถ้าส่วนกลางมีมาตรการเข้มกว่าในส่วนของต่างจังหวัดต้องยึดตามส่วนกลาง แต่ถ้าส่วนกลางไม่ได้กำหนดไว้ แล้วต่างจังหวัดจะเข้มกว่าก็ทำได้ แต่อ่อนกว่าไม่ได้ จึงขอให้ระมัดระวังกันสักนิด เรื่องการตัดผมเป็นกิจกรรมที่ใกล้ชิดกันมาก มีโอกาสปนเปื้อนกับเชื้อโรคถ้าทำความสะอาดไม่ดี หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ขอให้ปรับตัวสักหน่อย เดี๋ยวคงจะมีมาตรการผ่อนคลายขึ้นมาหากสถานการณ์ดีขึ้น
    ส่วนความเคลื่อนไหวที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 102 คน ไม่ใช่ว่าแพทย์ทุกคนที่ติดเชื้อจากการปฏิบัติงานจากการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยมี 20% ที่ติดเชื้อในชุมชน และติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ 65% และอีก 15% ไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้อจากที่ใด เป็นพยาบาล 40% แพทย์ 10% ผู้ช่วยพยาบาลกับผู้ช่วยแพทย์ 10% และตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ 40%
    ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า มีโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่เข้าร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐมี 30 แห่ง และเอกชน 70 แห่ง จำนวนเตียงขณะนี้มีทั้งหมด 1,978 เตียง และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโรงพยาบาลราชวิถี รพ.สนามธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่รองรับผู้ป่วยที่ดีขึ้นแล้ว 603 เตียง ยืนยันว่าศักยภาพของเราเพียงพอ โดยปลาย เม.ย.มีแผนขยายเตียงรับผู้ป่วยอาการหนักในภาครัฐ 187 เตียง และปลายเดือน พ.ค. จะมีทั้งหมด 292 เตียง และในต่างจังหวัดเตียงรับผู้ป่วยอาการหนักมีกว่า 5,000 เตียง
    นพ.ณรงค์ยังกล่าวถึงกรณีประชาชนเกิดความกังวลที่ต่างประเทศได้ปิดประเทศ ซึ่งอาจกระทบผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานำเข้า เช่น โรคมะเร็งและเบาหวาน ว่าได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ถึงแม้ว่าในหลายประเทศที่เป็นแหล่งผลิตยาได้ปิดประเทศ แต่คลังยาในไทยได้เตรียมยาไว้รักษาสำหรับป่วยโรคต่างๆ ซึ่งเพียงพอประมาณ 2 เดือน 
    นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโครงการ 1 จังหวัด 1 แล็บ เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจตัวอย่างอย่างน้อย 2 หมื่นตัวอย่างต่อวัน ว่ามีทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วม และสามารถดำเนินเปิดห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานแล้วกว่า 93 แล็บ และตั้งเป้าให้มีมากกว่า 100 แล็บ  
ช่วยคนไทยในมาเลย์
    มีรายงานจากกองทัพบกแจ้งถึงการติดตามนักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสที่จะเดินทางกลับมาในเร็ววันนี้ว่า ผบ.ทบ.ได้ให้กรมกำลังพลทหารบกเตรียมการไว้แล้ว ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ยังมีแผนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 เพื่อติดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังมีคนไทยในอินโดนีเซียและกลุ่มต้มยำกุ้งจากมาเลเซียจะเดินทางกลับไทย ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้จัดเตรียมพื้นที่ควบคุมโรค หรือ local quarantine เพื่อกักตัวคนไทยในพื้นที่ 4 จังหวัด และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา รวมทั้งหมด 67 แห่ง จำนวน 2,495 ห้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานข้อมูลระหว่าง กต. สถานทูต กงสุลประเทศปลายทาง รวมถึงการเตรียมความพร้อมของจังหวัดในพื้นที่รองรับ ซึ่งประเมินเบื้องต้นจะมีคนไทยที่ตกค้างหลังจากปิดพรมแดนในมาเลเซียเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด รองลงมาคืออินโดนีเซียและอินเดีย โดยความพร้อมในการรับคนเข้ามาแต่ละวันจาก 3 ด่าน รวมแล้วประมาณ 300 คน 
​     ที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และหารือมาตรการช่วยคนไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย ซึ่งนายนิพนธ์ระบุว่า รัฐบาลต้องรู้ตัวเลขที่แน่ชัดก่อน ดังนั้นจึงต้องสำรวจ โดยอาจให้ลงทะเบียนทางออนไลน์ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 คน โดยในการประชุม ครม.วันที่ 15 เม.ย. ก็จะแนวทางหรือรวมงบประมาณเพื่อให้ ครม.พิจารณา
    มีรายงานอีกว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้ลงนามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษาวินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เม.ย. แต่ สธ.เพิ่งได้รับทราบ เพราะเป็นช่วงวันหยุด ซึ่งต้องติดตามว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. จะออกประกาศของ สธ.ให้สอดคล้องกับกระทรวงการคลังหรือไม่ คือย้อนหลังไปรับรองสิ่งของที่นำเข้ามารักษาไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. หรือจะให้มีผลนับจากวันที่ 10 เม.ย.เป็นต้นไป
    นายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 จำนวน 33 คนว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจการบริหารของนายอนุทิน และการตั้งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คุมการจัดซื้อเวชภัณฑ์ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เหมาะสมและถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของข้าราชการใน สธ.อย่างมาก ทั้งๆ ที่ทำงานหนักและเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 มาตั้งแต่ต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"