เมื่อกูรูแบงก์ชาติเก่า-ใหม่ตั้งวงถก 'BSF-กองทุนอุ้มตราสารหนี้เอกชน’


เพิ่มเพื่อน    

    กรณีการตั้ง "กองทุนเสริมสภาพคล่องฯ" หรือ BSF ด้วยพระราชกำหนดให้แบงก์ชาติเข้า "อุ้ม" ตราสารหนี้เอกชนในวงเงิน 4 แสนล้านบาท นับเป็น "ปรากฏการณ์" ในยามวิกฤติที่น่าสนใจและควรแก่การวิเคราะห์และรับฟังรอบด้าน
    ยิ่งเมื่อมีอดีตประธานคณะกรรมการและผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย นำโดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ส่ง "จดหมายเปิดผนึก" ถึงนายกฯ ก็ยิ่งทำให้น่าติดตาม
    เห็นรายชื่อผู้ที่ร่วมลงนามจดหมายนี้ก็ทำให้เห็นว่าเป็นประเด็นทักท้วงที่ต้องฟัง
    เพราะมีทั้ง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ, ดร.ศิริ การเจริญดี, คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และคุณเสรี  จินตนเสรี และท่านอื่นๆ
    ส่วนผู้ที่ออกมาสนับสนุน พ.ร.ก.ฉบับนี้ นอกจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ  ดร.วิรไท สันติประภพ ยังมีอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล และคุณธาริษา วัฒนเกส
    ซึ่งเหมือน "หัวกะทิ" ของประเทศมาตั้งวงแลกเปลี่ยนกันในยามวิกฤติกันเลยทีเดียว
    ถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนความคิดความอ่านกันในเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามมาก
    เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ทุกคนก็ต้องการจะปกปักรักษาบทบาทแห่งความเป็นมืออาชีพของธนาคารกลางของชาติ
    เสียดายแต่เพียงว่า ท่านเหล่านี้ไม่สามารถนัดหมายมาจิบกาแฟถกกันให้ประชาชนได้ยินอย่างกว้างขวาง เหตุก็เพราะเจ้าไวรัสวายร้ายที่เป็นต้นเหตุของการถกแถลงนี่แหละ
    หัวใจของประเด็นถกแถลงไม่ได้อยู่ที่ว่า ในภาวะวิกฤติอย่างนี้ควรที่ทางการจะใช้ "มาตรการพิเศษ"  เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการเงินและการคลังต้องถูกกระทบ จนสั่นสะเทือนและสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติหรือไม่
    ประเด็นของ "จดหมายเปิดผนึก" อยู่ตรงที่แบงก์ชาติควรจะมีบทบาทตรงนี้หรือไม่
    ทำไมไม่มอบหมายให้ธนาคารของรัฐสวมบทบาทตรงนี้ เพื่อไม่ให้ธนาคารกลางของประเทศต้องตกอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงถูกกล่าวหาว่า "เอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใส" 
    หรือหากมีปัญหา แบงก์ชาติอาจต้องฟ้องร้องบริษัทเอกชน ทำให้เสียภาพลักษ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้
    หัวใจของจดหมายเปิดผนึกอยู่ตรงประโยคที่บอกว่า
    "พวกข้าพเจ้าเห็นว่า...ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort) และอาจจะขยายไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลด้วยเท่านั้น..."
    ดร.วิรไทในฐานะผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน คงจะตระหนักตั้งแต่ต้นว่าการออกกฎหมายพิเศษในเรื่องนี้คงเกิดคำถามไม่น้อย เพราะน่าจะเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางของไทยเข้ามาสวมบทบาท  "อัศวินม้าขาว" มาช่วยเอกชนเช่นนี้
    คุณวิรไทอธิบายว่า ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย มีขนาดกว่า 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของ GDP ของประเทศ
    ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า Covid-19 ทำให้กลไกตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ขาดสภาพคล่องและทำงานไม่ปกติ
    "กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน" หรือ  Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) จะช่วยเสริมสภาพคล่องช่วงสั้นๆ ให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีและสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ทำหน้าที่ได้ปกติ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ จนเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม..."
    คุณจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กรของแบงก์ไทยอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ธนาคารกลางต้องยอมรับบทบาทเช่นนี้ในภาวะอย่างนี้ก็เป็นเพราะ...
    "การรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วเข้าไปแก้ไขย่อมมีต้นทุนระบบเศรษฐกิจสูงกว่าการเข้าไปดูแลก่อนที่จะเกิดปัญหาลุกลาม..."
    เธอย้ำว่าการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วนอาจทำให้ไม่สามารถพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวซึ่งมีพันธกิจอื่นอยู่แล้ว
    และอธิบายว่าผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนก็มักจะไม่ใช่ลูกค้าที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความคุ้นเคยอยู่เดิม
    แบงก์ชาติบอกว่านี่ไม่ใช่การแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เป็นการออก พ.ร.ก. มีอายุ 5  ปี 
    อีกทั้งไม่ได้เปลี่ยนหลักการที่วางไว้ใน พ.ร.บ.เกี่ยวกับ ธปท. ปี 2551 แต่อย่างใด
    กระนั้นก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นบทบาทของธนาคารกลางที่ "ไม่คุ้นเคย" 
    ครั้งนี้ต้องถือเป็น "กรณีพิเศษ"...เรื่องที่ "ไม่ควรทำ" ในยามปกติก็กลายเป็นเรื่อง "จำเป็นต้องทำ"  ในภาวะวิกฤติที่ไม่มีอยู่ในแผนของรัฐบาลไหนในโลกทั้งสิ้น
    ผมได้ยินคนที่ธนาคารกลางทั้งในไทยและต่างประเทศอ้างประโยคทองที่ว่า
    Extraordinary times demand extraordinary measures!
    ภาวะไม่ปกติต้องการมาตรการที่ไม่ปกติเช่นกัน!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"