ชวด5พันบุกคลัง ทวงสิทธิ์เยียวยา


เพิ่มเพื่อน    


    สปน.เผยข้อร้องเรียน ปชช.ให้เพิ่มการเยียวยาครบทุกกลุ่มและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ประชาชนฮือ! บุกคลังโวยชวดเงินเยียวยา 5,000 บาท ด้าน "ปลัดคลัง" ลุยชี้แจง 19  เม.ย.นี้ เปิดอุทธรณ์ออนไลน์ คาด 7 วันทราบผลได้หรืออด "อุตตม" สั่งยกเลิกประชุมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกะทันหันหลังเจอมวลชนบุก "พรรคกล้า" จี้คลังทบทวนใหม่ทั้งระบบ พร้อมชงจัด 7 โปรโควิด มท.1 แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ทั่วประเทศ มีอำนาจยึดและบังคับซื้อได้
    เมื่อวันอังคาร นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ปีนี้ครบรอบปีที่ 60 สปน.ได้รายงานในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ว่า สปน.ได้รับข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านสายด่วน 1111 ระหว่างวันที่  5 มี.ค. ถึงวันที่ 12 เม.ย. รวม 109,261 เรื่อง โดยมีข้อร้องเรียนจำนวน 62,018 เรื่อง (ร้อยละ 56.8)  ส่วนใหญ่ขอให้รัฐเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้ครบทุกกลุ่ม และควบคุมราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้เกินราคา มีข้อเสนอแนะด้านสาธารณสุขจำนวน 19,555 เรื่อง (ร้อยละ 17.9)  โดยเฉพาะมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของรัฐบาลด้านการสาธารณสุข ขอให้ภาครัฐวางแผนการจัดการขยะติดเชื้อและขยะชุมชนทั่วประเทศ และขอให้คนไทยทุกคนร่วมกันให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการแจ้งเบาะแสกลุ่มเสี่ยง ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ขายของเกินราคาและสอบถามทั่วไป จำนวน 27,688 เรื่อง (ร้อยละ 25.3) 
    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว
    ช่วงเช้าวันเดียวกัน ประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาทผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน ได้เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีประกาศชี้แจงว่า "งดรับเรื่องร้องทุกข์การขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท" โดยระบบเราไม่ทิ้งกันจะมีการเพิ่มปุ่ม "อุทธรณ์" ในสัปดาห์หน้า จึงขอให้ดำเนินการด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์ก็ตาม โดยประชาชนเกือบ 100 คนได้บุกไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง บริเวณโถงลิฟต์ทางขึ้นห้องทำงานของนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง โดยต้องการพบและขอคำชี้แจงกรณีการถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับเงินเยียวยา ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องเข้าปิดกั้น ทำให้เกิดความไม่พอใจโต้เถียงกัน จนต้องเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาคุมสถานการณ์
    ทั้งนี้ ประชาชนที่เดินทางมาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนขับแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถออกรับผู้โดยสารได้ รวมทั้งแม่ค้าพ่อค้าตลาดนัดที่ถูกคำสั่งให้ปิด ทำให้ไม่สามารถค้าขายได้ ทั้งหมดบอกว่าลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา แต่ระบบตรวจสอบแจ้งว่าไม่มีสิทธิ์เพราะเป็นเจ้าของกิจการและเกษตรกรหลายราย ทั้งที่ไม่เคยทำอาชีพเกษตรกรมาก่อน
     หลังจากที่เจรจาอยู่พักหนึ่ง เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังได้นำเอกสารที่ให้ระบุคำร้องสำหรับเรื่องที่ต้องการจะร้องเรียน โดยผู้ร้องต้องกรอกรายละเอียดวันที่ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เรื่องที่ต้องการจะร้องเรียนในเอกสาร อย่างไรก็ตามผู้ร้องจำเป็นจะต้องกรอกรายละเอียดผ่านทางเว็บไซต์ในส่วนยื่นอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่งต่อไป
เปิดอุทธรณ์ 19 เม.ย.นี้
    ต่อมาเวลา 08.00 น. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เดินทางมาในพื้นที่ที่มีประชาชนมาร้องเรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ถามตอบเป็นรายบุคคลกว่า 1 ชั่วโมง โดยนายประสงค์เปิดเผยว่าประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยให้มาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ล่าสุดกว่า 27 ล้านคน พบว่าผู้ลงทะเบียนมีการกรอกข้อมูลผิด เมื่อไปตรวจกับฐานข้อมูลของหน่วยงานอื่นก็ไม่พบข้อมูล เช่น การกรอกเลขประจำตัวประชาชนผิด หรือมีการใส่คำนำหน้า นาย นาง นางสาว ทำให้ระบบขัดข้อง (Error)
    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเปิดให้อุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com อย่างเร็วที่สุดในวันที่  19 เม.ย. อย่างช้าไม่เกิน 22 เม.ย. เพราะอาจจะติดเรื่องการคัดกรองคน 27 ล้านคน โดยระบบจะมีแบบฟอร์มของแต่ละคนแต่ละอาชีพให้กรอกข้อมูลเพิ่มเติม ไม่เหมือนกับตอนที่ลงทะเบียนครั้งแรก และต้องตอบอธิบายตามที่ระบบสอบถาม หลังส่งคำร้องอุทธรณ์แล้วระบบจะพิจารณาให้เร็วที่สุดภายใน 7 วัน ถ้าใครได้รับสิทธิ์ระบบก็จะโอนเงิน 5,000 บาทให้ทันที
    "ผู้ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทไม่ต้องมาที่กระทรวงการคลัง เพราะระบบยังไม่ได้เปิดรับให้อุทธรณ์ สำหรับการอุทธรณ์จะให้ทำผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องเสียเวลามาที่กระทรวงการคลัง โดยให้ทุกคนที่ได้รับ SMS ว่าไม่ได้สิทธิ์รับเงิน 5,000 บาทอุทธรณ์ได้ทุกคน" นายประสงค์ กล่าว
    ปลัดกระทรงการคลังกล่าวว่า ระบบการคัดกรองหรือระบบ AI เป็นส่วนหนึ่งของการคัดกรอง ไม่ได้ใช้ AI ทั้งหมดเต็มรูปแบบ เพียงเอาข้อมูลที่ลงทะเบียนไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เพื่อระบุตัวตน เช่นเมื่อไปตรวจสอบกับกระทรวงเกษตรฯ และพบว่าเป็นเกษตรกรก็จะไม่ได้เงิน หรือกรณีเป็นมัคคุเทศก์ ขับแท็กซี่ ก็จะตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการขึ้นทะเบียนกับระบบราชการไว้หรือไม่ ถ้าไม่พบก็ถูกปฏิเสธ ยังมีกรณีพ่อแม่เป็นเกษตรกร ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรและใส่ชื่อลูกไว้ด้วยในฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ กรณีนี้ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาไม่เคยเป็นเกษตรกรเลย แต่ขับแท็กซี่อยู่ ประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็จะให้อุทธรณ์ หากพบว่ามีใบอนุญาตประกอบอาชีพจริงในปัจจุบันก็จะได้รับสิทธิ์
    รายงานข่าวระบุว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้สั่งยกเลิกการประชุมมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรอย่างกะทันหัน จากเดิมที่จะมีการประชุมในเวลา 14.30 น.ที่กระทรวงการคลัง โดยมี รมว.การคลังเป็นประธาน เนื่องจากมีประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com และไม่ผ่านการพิจารณาเดินทางมารวมตัวที่กระทรวงการคลังจำนวนมาก เพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลและทำการจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน
     ทั้งนี้ การประชุมช่วยเหลือเกษตรกรได้ประชุมกันไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 2 ครั้งแล้ว และนัดประชุมกันอีกครั้งเพื่อสรุปจำนวนเกษตรกรที่จะได้รับเงินเงินช่วยเหลือว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพราะมีตัวเลขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจากหลายหน่วยงาน ซึ่งมีจำนวนเกษตรกรกว่า 8-12 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ตามกำหนดที่ประชุมจะหารือเรื่องจำนวนเงินที่จะจ่ายให้เกษตรกรเป็นครัวเรือนละ 15,000 บาท  และพิจารณาการจ่ายเงินว่าจะจ่ายครั้งเดียว หรือจ่ายเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน เหมือนกับผู้มีอาชีพอิสระที่ตอนนี้มีคนมาลงทะเบียนรับเงินกว่า 27 ล้านคน
    นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีรัฐบาลเยียวยาเงินจำนวน 5,000 บาทแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ Covid-19  อย่างไม่ทั่วถึงว่า รัฐบาลควรจัดหางบประมาณเพิ่มเติม และรีบเร่งนำมาจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้นอย่างเร่งด่วน โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และรัฐบาลไม่ควรบังคับใช้กฎหมาย  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับภาคประชาชนที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน เนื่องจากประชาชนเหล่านั้นขาดเจตนาในการกระทำความผิดอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันประชาชนเหล่านั้นทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพความลำบากอย่างแสนสาหัส และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน 
พรรคกล้าเสนอ 7 โปรดุ
    นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นระยะเร่งด่วนสำหรับดูแลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดไว้ 7 ข้อ ดังนี้ 1.จัดโปรดุ! ลดราคาสินค้าทันที พาณิชย์ต้องเร่งคุยเอกชนลดราคาสินค้า ทำให้เงิน 5,000 บาทของประชาชนมีคุณค่าสูงสุด 2.ลดค่าส่งไปรษณีย์ 10 กก.แรก หั่นครึ่งราคา! นำเอกชนเอื้อระบบ E-Commerce พร้อมช่วยเกษตรกรระบายสินค้าทำ Matching  Platform ให้คนปลูกเป็นคนขาย ระบายสินค้าตรงต่อตลาดและผู้บริโภค 3.ค่า GP คอมมิชชัน Delivery  เพดาน 15% ร้านอาหารแบกต้นทุนเจ็บหนัก ลูกค้าหาย รายได้หด ค่า GP ต้องลดถึงจะอยู่ได้ 4.ลดค่าไฟทันที 30% 6 เดือน รัฐดูแลค่าไฟแทนประชาชนร่วมกับการไฟฟ้าฯ พร้อมยืดหยุ่นเกณฑ์การตัดไฟ 5."พักต้น-พักดอก" หนี้รถ-หนี้บ้าน-หนี้บัตร 6 เดือน ทุกธนาคารต้องเริ่มทำทันที 6.ค่าอาหารผู้ปกครองนักเรียน หัวละ 1,000 บาท ผันเงินค่าอาหารกลางวันเด็กในโรงเรียน ชดเชยให้ผู้ปกครองช่วงเลื่อนเปิดเทอม 7.เยียวยา 5,000 บาทครอบคลุมให้ครบ 24 ล้านคน ยึดหลัก UBI รายได้พื้นฐานต้องครอบคลุม-ทั่วถึง ครบถ้วน 
    "กระทรวงการคลังต้องทบทวนใหม่ทั้งระบบ เพิ่มสิทธิแก่เกษตรกร-คนพิการ-คนสูงอายุ-แม่เด็กเกิดใหม่ รวมถึงคนในระบบประกันสังคมที่รายได้น้อย และอาชีพอิสระที่ตกหล่นจากระบบคัดกรอง" นายกรณ์กล่าว
    นายวิชัย ลิ้มวัฒนากูล ประธานสภา อบจ.กระบี่ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ขณะนี้ได้หารือกับ ส.จ.และผู้บริหารทั้งหมดที่จะสละเงินเดือนตัวเองในเดือนนี้ นำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สาธารณสุขจังหวัดกระบี่นำไปแจกจ่ายแก่ รพ.และผู้ปฏิบัติงานในอำเภอต่างๆ รวมเป็นเงินประมาณ 4.2 แสนบาท ซึ่งมีคณะผู้บริหาร และ ส.จ. 18 คนร่วมมือกัน 
    นายวิชัยกล่าวอีกว่า ได้หารือกันแล้วว่าจะสนับสนุนนโยบายของ พ.ต.ท.หม่อมหลวงกิติบดี  ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ที่มีนโยบายให้ผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาแสดงตนไม่ปกปิดข้อมูล หากป่วยเป็นโควิดก็จะมอบให้วันละ 500 บาทจนกว่าจะรักษาหาย อบจ.กระบี่ก็จะมอบให้ในส่วนนี้ร่วมกับผู้ว่าฯ อีกรายละ 10,000 บาท เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยได้ใช้จ่ายในช่วงที่ต้องอยู่ รพ. เป็นการสนับสนุนไม่ให้มีการปกปิดข้อมูลการติดเชื้อ เพื่อที่จะให้เชื้อโควิดหมดไปจากจังหวัดกระบี่และสถานการณ์จะได้คลี่คลาย เพราะหากปล่อยให้นานไปก็จะเสียหายต่อจังหวัดและประชาชนอย่างมาก
    ด้านกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้บุคคลบางกลุ่มถือโอกาสกักตุนโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการเฝ้าระวัง และควบคุมติดตามการแพร่ระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจนการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อประสงค์ให้โภคภัณฑ์ดังกล่าวขาดแคลนในท้องตลาด ราคาจะได้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสังคม จึงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 อย่างจริงจัง 
ผุดชุดสำรวจยึดซื้อโภคภัณฑ์
    คณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ฯ โดยมีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนดในเขตท้องที่ของตน โดยในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เช่น ผู้ว่าฯ กทม., ปลัด กทม., ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล,  รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ผู้บังคับการตำรวจนครบาล, รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (ฝ่ายทหาร), ผู้อำนวยการเขต กทม. เป็นต้น สำหรับในจังหวัดอื่น ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด, รองผู้ว่าฯ, ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค, รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร), ปลัดจังหวัด, พาณิชย์จังหวัด ฯลฯ 
         และได้มีประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องกำหนดระยะเวลาทำการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ กำหนดระยะเวลาทำการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ในเขตท้องที่ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ออกประกาศ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563     
    นอกจากนี้ได้มีประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องกำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และแบบเอกสาร เพื่อกำหนดผู้มีอำนาจในการออกหนังสือสอบถามและหนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำ และการออกประกาศการแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บโภคภัณฑ์ และห้ามการยักย้ายโภคภัณฑ์ออกจากสถานที่เก็บ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพของโภคภัณฑ์ การอนุญาตให้ยักย้ายโภคภัณฑ์ออกจากสถานที่เก็บ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพของโภคภัณฑ์ และการออกคำสั่งบังคับขาย คำสั่งยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์ รวมทั้งได้ออกประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องกำหนดวิธีการขายโภคภัณฑ์ การยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์ เพื่อกำหนดวิธีการ ราคา และปริมาณ ในการสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ขายโภคภัณฑ์ และการปิดประกาศสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ขายโภคภัณฑ์ การกำหนดวิธีการ ราคา และปริมาณ ในการยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่สำรวจพบว่ามีการกักตุนในกรณีต่างๆ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
         ทั้งนี้ พลเอกอนุพงษ์ได้เน้นย้ำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อดำเนินการกับบุคคลบางกลุ่มที่ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการกักตุนสินค้า เพื่อให้เกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชนและประโยชน์สาธารณะต่อไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"