พิษโควิดเด้งผู้ว่าฯภูเก็ต ทำพ่อเมืองทั่วปท.มีสะดุ้ง


เพิ่มเพื่อน    

        เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังสนั่นไปทั่วตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยจนถึงจังหวัดภูเก็ตกับมติ ครม.เมื่อ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบด้วยกับการเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายกลางปีนอกฤดูกาลล็อตเล็กๆ ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้ ครม.เห็นชอบการโยกย้ายสลับกันไปมาของผู้ว่าราชการสามจังหวัด ประกอบด้วย ให้นายกอบชัย บุญอรณะ พ้นจากตำแหน่ง ผวจ.เพชรบุรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผวจ.ชัยภูมิ-ให้นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ พ้นจากตำแหน่ง ผวจ.ภูเก็ต ไปเป็น ผวจ.เพชรบุรี และให้นายณรงค์ วุ่นชิ้ว พ้นจากตำแหน่ง ผวจ.ชัยภูมิ เพื่อสลับไปเป็น ผวจ.ภูเก็ต

        ไฮไลต์ในมติ ครม.ดังกล่าว ที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เสนอ ครม.โดยการเห็นชอบและสั่งการจากพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็คือ การย้ายนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ จาก ผวจ.ภูเก็ต ไปเป็น ผวจ.เพชรบุรี ที่แม้เนื้อที่อาณาเขตจะใหญ่กว่า แต่ในแง่ความสำคัญแล้ว ภูเก็ต จังหวัดที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการท่องเที่ยว และเป็นจังหวัดเกรดเอที่มีรายได้หมุนเวียนจากธุรกิจท่องเที่ยวปีละมหาศาล ชื่อชั้นดีกว่าเพชรบุรีแน่นอน มติ ครม.ดังกล่าวจึงไม่พ้นเป็นการ "เด้งผู้ว่าฯ ภูเก็ต" ที่เป็นจังหวัดซึ่งมีผู้ติดเชื้อ-ผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 สูงอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

        โดยที่ผ่านมามีข่าวบางกระแสอ้างว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในจังหวัดภูเก็ตที่มีการเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่ค่อยสบายใจ แม้แต่บรรดาสตาฟฟ์ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งไปช่วยงานรัฐบาลในการรับมือโควิดก็ยังเคยเปรยๆ ว่า แม้ภูเก็ตจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีคนเดินทางเข้า-ออกตลอดเวลา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ผู้บริหารในระดับจังหวัดน่าจะตื่นตัวรับมือได้เร็วกว่านี้ ตั้งแต่โรคไวรัสโควิดเริ่มระบาดลงมาในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะการติดตามเฝ้าระวังกลุ่มคนต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่ออกไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เวลากลางคืน เพราะหลังมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาด ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งมีอำนาจเด็ดขาดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ผู้ว่าฯ สามารถตัดสินใจในพื้นที่ได้ทันที ไม่ต้องรอนโยบายการสั่งการจากส่วนกลาง อย่างเช่น การปิดสถานบันเทิงกลางคืน-ห้างสรรพสินค้า-แหล่งชุมชน โดยในส่วนของพื้นที่ภูเก็ตก็ถูกมองว่ากว่าผู้บริหารระดับจังหวัดจะเริ่มตั้งรับสกัดโควิด ก็พบว่าการติดเชื้อในระดับจังหวัดเริ่มลุกลามจนทำให้ภูเก็ตกลายเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสูงในอันดับต้นๆ

      ดูได้จากข้อมูลล่าสุดของกรมควบคุมโรค จนถึงวันที่ 15 เม.ย. พบว่าภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อ 191 ราย มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากกรุงเทพมหานคร โดยพบว่าในภูเก็ตผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 2,471 ราย (รายใหม่ 70 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล 177 ราย ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 64 ราย กลับบ้านแล้ว 2,294 ราย แต่กระนั้นก็มีบางกระแสแย้งว่า เหตุที่ภูเก็ตมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางจังหวัดมีการสแกนตัวสอบอย่างเข้มข้น เพื่อหากลุ่มเสี่ยงในทุกระดับ ทำให้เมื่อตรวจมากก็ย่อมเจอมาก

        อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตามหน้าเสื่อ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในภูเก็ตที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ หลังมติ ครม.สั่งเด้งผู้ว่าฯ ภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ หรือเดอะอุ๋ยของชาวมหาดไทย-พี่น้องสิงห์ดำ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงมหาดไทยมาแล้วมากมาย จนกระทั่งไปเป็นพ่อเมืองที่พิษณุโลก-พังงา และจะเกษียณอายุราชการในปี 2564 มติ ครม.ดังกล่าว ทุกกระแสเสียงเลยบอกน่าจะเป็นเพราะผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลาง-มหาดไทย และในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. คงไม่ปลื้มกับผลงานการคุมและการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในภูเก็ต ที่เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย จนนำมาสู่การเด้งกลางปีในครั้งนี้

      อันเป็นการเด้งที่คงทำเอาพ่อเมือง-ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศสะดุ้งไม่ใช่น้อย หากคิดจะ "การ์ดตก-ผ่อนปรน" มาตรการต่างๆ แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ก็มีหวังเตรียมเก็บของออกจากห้องทำงานเพื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่ได้เลย เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ เมื่อ 19 มี.ค. ที่ยังไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและประกาศเคอร์ฟิว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายพร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า

        "อยากขอร้องไปยังข้าราชการระดับพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด ประจำพื้นที่ต้องทำงานอย่างเด็ดขาด และต้องรายงานผลการปฏิบัติทุกมาตรการที่รัฐบาลออกไปแล้วและต้องติดตามทุกวัน ตั้งแต่สนามบินต้นทาง สนามบินในประเทศ มาสู่ในเรื่องของการคัดกรอง คัดแยก โดยผู้ที่จะเข้ามาต้องมีใบรับรองแพทย์ ส่วนที่ประเทศเพื่อนบ้านประเทศไทยเริ่มประกาศปิดพรมแดน เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดจะปิดช่องทางพรมแดนหรือไม่อยู่ที่อำนาจผู้ว่าฯ เพราะได้ให้อำนาจไปแล้วและให้รายงานตนมา หากผู้ว่าฯ ทำไม่ได้ก็ย้ายผู้ว่าฯ จะยากตรงไหน” พลเอกประยุทธ์เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้

        ขณะเดียวกัน อีกหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังคิดจะผ่อนปรน คลายล็อกมาตรการต่างๆ ก็ต้องใช้ดุลยพินิจให้ดี ไม่ใช่ตัดสินใจไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็กลับลำแบบ สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.นนทบุรี ที่ออกคำสั่งจังหวัดนนทบุรีให้ผ่อนปรนเปิด 38 สถานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ร้านตัดผม-ร้านเสริมสวยทำผม-แผงขายสลากกินแบ่งฯ แต่สุดท้ายต้องกลับลำยกเลิกไม่ทันข้ามวัน เพราะมีกระแสไม่เห็นด้วยดังระงม เพราะหากขืนผู้ว่าฯ คนไหนย่อหย่อน ไม่กวดขันจริงจังในการสกัดโควิด ก็อาจโดนพิษโควิดทำเก้าอี้โยกคลอนได้เช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"