ก่อนจะปลดล็อก Lockdown


เพิ่มเพื่อน    

    กราฟสองชุดนี้เป็นข้อมูลช่วยทำให้รัฐบาลไทยประเมินว่าแผนการ “ปลดล็อก Lockdown” ที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ควรจะต้องวางขั้นตอนและเงื่อนไขไว้อย่างไรบ้าง
    อีกทั้งบทเรียนของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี, สหรัฐ, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้และสิงคโปร์ควรจะต้องนำมาประกอบการไตร่ตรองก่อนที่จะประกาศ “เฟสที่ 1” ของการลดความเข้มข้นของการสกัดไวรัส Covid-19
    ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่สามารถจะ “ปิดเมือง” ไปได้ตลอด เพราะไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้มแข็งพอที่จะระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างยืดเยื้อยาวนานได้อย่างไม่จำกัด
    ขณะเดียวกัน การ “แหวกวงล้อมโควิด” ออกมาได้นั้นจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าการระบาดของไวรัสตัวนี้จะไม่หวนกลับมาอาละวาดใน “ระลอก 2” เหมือนกับที่จีน, ญี่ปุ่นและสิงคโปร์เผชิญมาแล้ว
    แนวโน้มผู้ติดเชื้อในอิตาลี, สเปน, เยอรมัน, ฝรั่งเศสดูเหมือนจะเริ่มนิ่ง
    แต่เส้นกราฟของสหรัฐกับอังกฤษยังพุ่งขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
    ณ วันนี้ยังไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวอย่างของประเทศไหนควรจะเป็นแบบอย่างให้กับไทยเดินตามได้ เพราะเงื่อนไขของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
    ไทยเราอาจจะเรียนรู้จากประเทศอื่นได้ แต่ก็ต้องปรับแก้มาใช้เฉพาะของเราเองโดยที่จะต้องเชื่อมโยงกับความเป็นไปในส่วนอื่นๆ ของโลกได้เช่นกัน
    การบริหารความเสี่ยงจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกรัฐบาล
    การบริหารความคาดหวังของประชาชนก็เป็นทักษะที่อยู่อันดับต้นๆ ของทุกประเทศเช่นกัน
    เพราะต้องยอมรับว่าแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่เก่งที่สุดของโลกก็ยังไม่รู้จักไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เพียงพอที่จะวางแผนต่อสู้กับมันได้อย่างมั่นใจว่าจะชนะได้ในระยะเวลาอันใกล้
    การ “เปิดประเทศอีกครั้ง” สำหรับทุกประเทศจึงไม่เหมือนกัน
    ทำนองเดียวกัน “การต้องขยายการ Lockdown” ต่อไปอีกระยะหนึ่งก็กลายเป็นทางเลือกของประเทศอีกกลุ่มหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้
    เงื่อนไขหนักขององค์การอนามัยโลก 6 ข้อสำหรับประเทศที่ต้องการจะปลดล็อก Lockdown เป็นเรื่องสำคัญที่ไทยเราจะต้องแน่ใจว่ามีศักยภาพที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง
    เช่น ต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว
    หรือระบบสุขภาพต้องสามารถหาผู้มีอาการ ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและรักษาพร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค หรือที่เรียกว่า Test, Trace, Track, Isolate, Manage ที่จะต้องทำให้ได้ในระดับที่น่าพอใจ
    นั่นหมายถึงการตัดสินใจว่าเราจะต้องสามารถจัดตั้งระบบการตรวจแบบ “รุก” แทนที่จะ “ตั้งรับ” มากขึ้น แต่ก็ต้องทำแบบฉลาด นั่นคือต้องคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ทางการแพทย์ได้เช่นกัน
    ผมเชื่อว่าคณะแพทย์ในแถวหน้าของสงครามครั้งนี้ของเราอยู่ในฐานะที่จะสร้างดุลยภาพแห่งความคุ้มค่าในปฏิบัติการตรวจ, แยก, รักษาได้
    อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ การให้แน่ใจว่าจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ และสถานที่เสี่ยง เช่น บ้านพักคนสูงอายุ
    โรงเรียน, สำนักงานและสถานที่สาธารณะก็ต้องมีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
    ผู้เดินทางเข้าประเทศก็ต้องสามารถบริหารให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด
    ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นท้าทายสำหรับไทยเราในขณะนี้มากที่สุด เพราะมีคนไทยกว่าหมื่นคนที่กำลังรอกลับบ้านจากต่างประเทศ
    ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ การที่ทำให้คนในชุมชนมีความรู้, มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดโรค
    พูดง่ายๆ คือจะต้องเตรียมออกแบบสังคมหลังโควิดสำหรับผู้คนในทุกสาขาวิชาชีพ
    สำหรับไทยเรายังมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งคือ การประคองให้คนหาเช้ากินค่ำและผู้ด้อยโอกาสในสังคมสามารถฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้ โดยมีความเสียหายต่อชีวิตน้อยที่สุด
    อีกทั้งยังต้องให้แน่ใจว่ามีการวางแผนสำหรับคนในอาชีพต่างๆ ที่อาจจะต้อง “เริ่มนับหนึ่งใหม่” หลังเหตุการณ์นี้สงบลง
    และเราต้องวางแผนว่าจะค่อยๆ เปิดเป็นจังหวัด...และมีกี่เฟสก่อนที่จะกลับที่ภาวะ “ปกติที่จะไม่ปกติเหมือนเดิม” หรือ New Normal
    เพราะค่อนข้างจะชัดเจนว่าชีวิตหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
    เพราะคำว่า “ภัยคุกคาม” จะมีความหมายที่กินความกว้างไกลกว่าทุกวันนี้อย่างแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"