ฟื้นฟูการบินไทย : คำตอบชัด อยู่ที่ความกล้าหาญที่จะตัดสินใจ


เพิ่มเพื่อน    

 

             การฟื้นฟู “การบินไทย” เป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลชุดนี้มี “ความกล้าหาญทางการเมือง” บนพื้นฐานของ “ความเป็นมืออาชีพ” หรือไม่

                ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีข้อมูลเพียงพอหรือไม่

                ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีตัวอย่างของประเทศอื่นที่เคยเผชิญปัญหาทำนองเดียวกันหรือไม่

                ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประเทศนี้มีคนเก่งพอที่จะมาแก้ปัญหาหรือไม่

                ปัญหาอยู่ที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการจะแก้ปัญหาสายการบินแห่งนี้อย่างจริงจังหรือไม่

                เพราะหากรัฐบาลจะเข้าไป “อุ้ม” การบินไทยด้วยการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 50,000-70,000 ล้าน นั่นหมายความว่าจะเอาภาษีประชาชนเข้าไปอุ้ม

                นี่ไม่ใช่เงินส่วนตัวของใคร หากแต่เป็นเงินของคนทั้งประเทศ

                จึงต้องมีสูตรของการฟื้นฟูที่จะต้องอธิบายกับประชาชนให้ได้เสียก่อน

                ประชาชนไทยวันนี้มีความรู้ความอ่านทันเรื่องทันราวทุกอย่าง ดังนั้นรัฐบาลไม่สามารถจะ “มุดดิน” เข้าไปค้ำประกันการบินไทยโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอได้เป็นอันขาด

                เหตุผลนั้นก็ชัดเจน ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร

                นั่นคือการที่จะเอาเงินไปให้การบินไทยกู้โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันนั้นมีความชัดเจนเพียงใดว่าการบินไทยจะสามารถบริหารอย่างมีประสิทธิภาพที่พิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขและข้อมูลที่วัดได้อย่างมืออาชีพ

                นั่นเป็นเงื่อนไขข้อเดียวที่จะตัดสินว่ารัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยเงินภาษีประชาชนหรือไม่

                ข้ออ้างเรื่อง “สายการบินแห่งชาติล้มไม่ได้” ฟังไม่ขึ้นอีกต่อไป

                เพราะไม่มีกติกาที่ไหนในโลกที่บอกว่าทุกประเทศต้องมี “สายการบินแห่งชาติ”

                ความจริงก็พิสูจน์แล้วว่าสายการบินที่มีห้อยท้ายว่า “แห่งชาติ” นั้นแข่งขันสู้สายการบินที่ไม่มีสถานภาพ “แห่งชาติ” ได้เลย จึงมาตกอยู่ในฐานะที่ใกล้ล้มละลายเช่นนี้

                วิธีที่จะ “กู้” ธุรกิจที่ล้มเหลวมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ผู้เอาเงินมาใส่เพื่อแก้วิกฤติต้องมีสิทธิ์เหนือผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้เดิม

                เพราะหาไม่แล้วก็ไม่มีใครจะเอาเงินมาเติมให้ เพราะเติมให้ก็มีแต่จะเจ๊งต่อ

                ยิ่งถ้าเอาเงินภาษีประชาชนมาเติมหรืออุ้มก็ยิ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้

                สูตรของแผนฟื้นฟูก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร

                เพิ่มรายได้ ตัดรายจ่าย

                การเพิ่มรายได้ก็คือการมองอนาคตของธุรกิจด้านนี้ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังโควิด-19 ซาลง

                คนที่จะขอเงินมาฟื้นฟูต้องตอบให้ได้ว่ามีแผนธุรกิจด้านรายได้ รายจ่าย การตลาด การเงิน อย่างไร

                เมื่อมีแผนที่แสดงให้เห็นว่ารายได้จะมากกว่ารายจ่าย ณ จุดใด ก็ต้องนำเสนอว่าจะคืนเงินกู้ได้เมื่อใด หรือถ้าเป็นเงินเพิ่มทุนก็ต้องมีแผนเสนอให้ผู้จะซื้อหุ้นใหม่มีความมั่นใจในการควักกระเป๋ามาเพิ่มทุน

                การจะทำให้มีรายได้มากกว่ารายจ่ายก็มีอยู่ง่ายๆ คือเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย

                ถ้ารายได้เพิ่มไม่ได้มาก เพราะการแข่งขันก็ต้องตัดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้

                ใครก็ตามที่มาบริหารก็ต้องมีแผนที่บรรลุเป้าหมายนี้

                คนที่เขาจะให้กู้หรือจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนก็มีคำถามง่ายๆ ว่า รายได้รายจ่ายเดือนต่อเดือนจะอยู่ได้ไหม

                ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่มีนายกฯ เป็นประธาน เรียกกันว่า Super Board บอกผมว่าเกณฑ์ที่ตัดสินว่าจะให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้การบินไทยรอบใหม่นี้ก็มีแค่ว่า

                รายได้รายจ่ายของธุรกิจปกติเป็นอย่างไร มีกำไร EBITA ไหม

                คนบริหารธุรกิจทุกคนรู้จัก EBITA เพราะมันย่อมาจาก Earnings before interest, taxes, and amortization

                มันคือรายได้ก่อนการหักดอกเบี้ย, ภาษีและค่าเสื่อม

                หากแผนที่นำเสนอมี EBITA ดูมีความหวังในกรอบเวลาที่สมเหตุสมผล การกู้เงินหรือเพิ่มทุนก็น่าจะทำได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันด้วยซ้ำไป

                ถ้าข้อเสนอแผนธุรกิจดูมีความหวังที่จะฟื้นฟูได้ (จะเสนอกู้หรือเพิ่มทุนมากกว่า 50,000 ล้าน ก็ยังเป็นไปได้ด้วยซ้ำ) คำถามต่อไปก็คือ

                ใครจะเป็นคณะบริหารที่จะทำให้แผนนี้เกิดขึ้นจริง

                นั่นย่อมหมายถึงคณะกรรมการบริหารมาจากไหน และจะมีวิธีการคัดเลือกทีมบริหารมาอย่างไร ซึ่งก็นำไปสู่คำถามว่าโครงสร้างการถือหุ้นปัจจุบันของการบินไทยเอื้อต่อการฟื้นฟูให้เดินตามแผนได้หรือไม่

                คำตอบที่ชัดเจนวันนี้ก็คือถ้าโครงสร้างการถือหุ้นและบริหารปัจจุบันดีอยู่แล้วก็คงไม่เกิดวิกฤติเช่นนี้

                ดังนั้นคำตอบก็ชัดเจนว่า จะต้องยกเครื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการคัดเลือกคณะกรรมการบริหาร

                การยกเครื่องก็ไม่ยาก...เมื่อกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ตัดสินเองว่าควรจะเปิดทางให้มีการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นอย่างไรจึงจะทำให้คนมีความมั่นใจที่จะให้กู้หรือเพิ่มทุน

                ท้ายสุดเมื่อรู้ปัญหา รู้โจทย์ รู้ว่าคำถามที่ต้องการคำตอบคืออะไร รัฐบาลที่มีความกล้าหาญและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาก็รู้แล้วว่าจะต้องทำอะไร

                นายกฯ บอกให้ฝ่ายบริหาร, พนักงานและสหภาพไปคุยกันเองว่าจะทำอย่างไร

                ถ้าทำอย่างนั้นก็เตรียมงานสวดศพได้เลยครับ

                เพราะไม่มีใครต้องการจะเสนอหรือรับข้อเสนออะไรที่จะทำให้กลุ่มตนเสียประโยชน์หรือลดทอนอำนาจที่ฝังรากมายาวนาน

                และนั่นคือสาเหตุที่ต้องมาฟื้นฟูไม่ใช่หรือ?. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"