Nuclear sharing ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสหรัฐกับเยอรมนี


เพิ่มเพื่อน    

 

ปลายเดือนเมษายน กองทัพเยอรมันประกาศซื้อเครื่องบินรบ F-18s จำนวน 45 ลำ เพื่อติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกันนี้มีกระแสข่าวว่าสหรัฐกำลังปรับเปลี่ยนระเบิดนิวเคลียร์ B-61 20 ลูกที่ประจำการในเยอรมนีให้เป็นรุ่นใหม่ทันสมัยขึ้น เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบิน F-18s โดยตรง เป็นระบบอาวุธที่สอดประสานและสอดคล้องกับข้อตกลง Nuclear sharing

อะไรคือ Nuclear sharing :

Nuclear sharing คือข้อตกลงความร่วมมือด้านอาวุธนิวเคลียร์ของนาโต โดยประจำการอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐในประเทศพันธมิตร

รากฐานมาจากความเป็นพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องเมื่อเข้ายุคสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐไม่อาจต่อสู้เพียงลำพังต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติพันธมิตร หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือทางทหาร รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะยุคต้นสงครามเย็นที่จำต้องติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศที่พรมแดนติดหรือใกล้ฝ่ายคอมมิวนิสต์

อีกทั้ง รัฐบาลสหรัฐต้องการเป็นอภิมหาอำนาจนิวเคลียร์เพียงลำพัง Nuclear sharing ตอบโจทย์เพราะช่วยกีดกันชาติพันธมิตรที่จะพัฒนาสร้างใช้เอง ในสมัยนั้นมีเพียงฝรั่งเศสที่ไม่ยอมรับ Nuclear sharing จึงสร้างนิวเคลียร์ด้วยตัวเองและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ต้องย้ำว่า Nuclear sharing ไม่ใช่การห้ามประเทศปรปักษ์ แต่เป็นการกีดกันมิตรประเทศแม้กระทั่งพันธมิตร ทุกวันนี้รัฐบาลสหรัฐยังจำกัดการแบ่งปันเทคโนโลยี ข้อมูลต่างๆ แม้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดก็ตาม

ปัจจุบันอาวุธมาจากสหรัฐนำไปติดตั้งในยุโรป ทหารอเมริกันเป็นผู้คุ้มกันอาวุธที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น เช่น เยอรมนี ตุรกี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี การตัดสินใจใช้อาวุธเป็นระบบตัดสินใจร่วม สหรัฐจะเป็นผู้เตรียมอาวุธให้พร้อมใช้งาน ส่วนชาติยุโรปจะทำหน้าที่ปล่อยอาวุธ

มีข้อมูลว่าปี 2019 มีระเบิดนิวเคลียร์ B61 จำนวน 150 ลูกที่อยู่ในยุโรปภายใต้ Nuclear sharing

Nuclear sharing ในบริบทเยอรมนี :

เยอรมนีไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองและไม่อาจมีได้ ภายใต้พันธมิตรนาโต รัฐบาลสหรัฐกับเยอรมนีตกลงประจำการนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งในเยอรมนี มีข้อมูลว่าอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐที่ประจำการเยอรมนีปัจจุบันคือรุ่น B61 จำนวน 20 ลูก

การประจำการอาวุธนิวเคลียร์ มีประเด็นถกแถลงสำคัญดังนี้

ประการแรก มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อต้านใคร

ระเบิดนิวเคลียร์ B61 ติดตั้งบนเครื่องบินรบ ขีดความสามารถขึ้นกับว่าเป็นเครื่องบินรุ่นใด ยกตัวอย่าง PA-200 Tornado IDS ของเยอรมนี มีรัศมีทำการ 1,390 กิโลเมตร (870 ไมล์) อาจจะบินได้ไกลกว่านั้น แต่ไปไม่ถึงจีน เป้าหมายที่น่าจะเป็นคือรัสเซีย ยุโรปตะวันออก เป็นไปตามหลักยุทธวิธีสมัยสงครามเย็น

หากยึดตามแนวคิดสงครามเย็น มีคำถามว่าสงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้ว รัสเซียในปัจจุบันเป็นภัยคุกคามมากเพียงไร ที่น่าจะพอพูดได้คือการผนวกไครเมีย (Crimea) กลับเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2014 กระแสความขัดแย้งระหว่างนาโตกับรัสเซียดูเหมือนจะคุกรุ่นมากขึ้น ยิ่งรัสเซียฟื้นฟูกองทัพมากเท่าไร ความจำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น

มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ประการที่ 2 มีประสิทธิภาพแค่ไหน

เครื่องบินจะต้องบินเข้าไปถึงจุดทิ้งระเบิดเพื่อปล่อยอาวุธ หากมุ่งเป้าโจมตีรัสเซีย เครื่องบินจะโดนสกัดร่วงก่อนถึงเป้าหมายหรือไม่ โอกาสสำเร็จมีมากน้อยเพียงไร เครื่องบิน F-16 กับ F-18 สามารถฝ่าระบบป้องกันได้ดีแค่ไหน

นำสู่คำถามว่าหากต้องใช้งบประมาณทำไมไม่เปลี่ยนเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศ ป้องกันการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ การทดแทนหัวรบนิวเคลียร์ด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศแสดงความเป็นมิตรมากกว่า

ค่าใช้จ่ายประจำการสูงมาก ประเด็นค่าใช้จ่ายกำลังร้อนแรงในยุคทรัมป์ที่ขอให้ยุโรปร่วมออกค่าใช้จ่ายเพิ่ม นักการเมืองเยอรมันบางคนกล่าวว่าถ้าสหรัฐจะขนระเบิดนิวเคลียร์กลับประเทศจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้มาก

ประการที่ 3 พาตัวเองไปเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์หรือไม่

คนเยอรมันจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ไม่ช่วยให้ประเทศมั่นคงขึ้น พาตัวเองให้ตกเป็นเป้าหมายโจมตีด้วยนิวเคลียร์มากกว่า และเป็นเช่นนั้นจริงเพราะยุทธศาสตร์นิวเคลียร์จะกำหนดให้โจมตีคลังเก็บหรือฐานปล่อยนิวเคลียร์ฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น เยอรมนีจะตกเป็นเป้าโจมตีด้วยนิวเคลียร์หากเกิดสงครามนิวเคลียร์

แนวคิดนี้ต้องการให้เยอรมนีปลอดนิวเคลียร์

มีนาคม 2010 รัฐสภาเยอรมันลงมติให้รัฐบาลเดินเรื่องถอนอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐออกทั้งหมด ตรงกับสมัยโอบามาที่อยากเห็นโลกปลอดนิวเคลียร์ แต่ไม่คืบหน้า และกระแสนิวเคลียร์ร้อนแรงมากขึ้นในยุคทรัมป์

ประการที่ 4 ทำไมไม่พึ่งตนเอง

แนวคิดนี้ชี้ว่าเยอรมนีในวันนี้ไม่ใช่ประเทศที่ย่อยยับจากสงครามโลก แต่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจสังคมรุ่นเรือง ได้รับการยกย่องว่าเป็นแกนนำฝั่งยุโรป ทำไมยังต้องพึ่งพาประเทศอื่น ไม่คิดมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง เป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคอย่างเต็มภาคภูมิ

มองว่าชาติมหาอำนาจจะต้องสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง เป็นนโยบายที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากที่สุด แทนการอยู่ใต้ร่มมหาอำนาจอื่น โดนมหาอำนาจอื่นข่มขู่

สะท้อนความสัมพันธ์อันซับซ้อนระดับโลก :

ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโตกล่าวย้ำว่าจำต้องมีนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามต่อไป ชี้ความสำคัญของข้อตกลง Nuclear sharing ว่าเป็นหัวใจของความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงนิวเคลียร์ในหมู่ประเทศยุโรปด้วยกัน ตราบใดที่ยังประจำการอาวุธนิวเคลียร์แม้เพียงเล็กน้อย นาโตยังเป็นพันธมิตรนิวเคลียร์ต่อกัน

ไม่ว่าจะประกาศตัวชัดหรือไม่ ทุกวันนี้เยอรมนีมีฐานะเป็นผู้นำนาโตฝั่งยุโรป การตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมันอาจหมายถึงการตัดสินใจของอีกหลายประเทศ มีผลต่อภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การตัดสินใจของเยอรมนีจึงสำคัญเป็นพิเศษ และอาจหมายถึงนโยบายความมั่นคงของยุโรป การคงอยู่ของนาโต

อันที่จริงแล้วข้อตกลงประจำการอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐในเยอรมนีเป็นเรื่องซับซ้อน ไม่อาจพิจารณาด้วยเหตุผลบางด้าน มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ลึกที่สุดเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์แม่บท (Grand strategy) ของแต่ละประเทศว่าเลือกเส้นทางใด เกี่ยวข้องกับระบบอำนาจโลก เป็นส่วนหนึ่งของการเลือกข้างว่าอยู่ฝ่ายใด และหมายถึงรัฐบาลสหรัฐต้องการให้เยอรมนีเป็นพวกตนด้วย

ด้วยเหตุนี้ทั้งเยอรมนีกับสหรัฐไม่ปล่อยให้นาโตแตก เพราะต่างได้ผลประโยชน์มากมายจากสนธิสัญญาดังกล่าว ความสัมพันธ์ความมั่นคงทางทหารของ 2 ฝั่งแอตแลนติกผูกโยงกับความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ ความขัดแย้งอยู่คู่ความร่วมมือ แม้จะขัดแย้งรุนแรงในบางประเด็นถือเป็นเรื่องธรรมดา แท้จริงแล้วเป็นเช่นนี้เรื่อยมา นาโตกับนิวเคลียร์สหรัฐในยุโรปจะอยู่อีกนานจนกว่าบริบทโลกจะเปลี่ยนแปลงมากจริงๆ แม้จะมีผู้คิดเห็นต่างมากมาย เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย (อย่างที่เป็นอยู่) ที่ให้ประชาชนได้แสดงมุมมองหลากหลายแตกต่าง แต่สุดท้ายการตัดสินใจบางเรื่องขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของคนกลุ่มเล็กเท่านั้น.

----------------------

ภาพ : ระเบิดนิวเคลียร์ B-61 กำลังติดตั้งบนเครื่องบินรบ

ที่มา : https://nukewatch.org/issues/nuclear-modernization/b61-12-bomb/

----------------------

    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"