โควิด-19 ทำให้เรา ‘ข้ามพ้นตะวันตก’ หรือไม่?


เพิ่มเพื่อน    

          หัวข้อสำคัญที่สุดหัวข้อหนึ่งสำหรับประเทศไทยก็คือ หลังโควิด-19 โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร...และไทยเราจะปรับตัวให้เข้ากับระเบียบโลกใหม่อย่างไร

            ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ บอกผมบนเวทีเสวนาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า

            "ผมไม่อยากใช้คำว่าหลังโควิด...เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะหมดไปเมื่อไหร่ แต่เราต้องเริ่มวางแผนแล้วว่าไม่ว่าโควิดจะหมดเมื่อไหร่ เราก็จะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก..."

            นั่นคือหัวใจของการที่เราต้องเริ่มกระบวนการระดมความคิดของคนทุกฝ่าย เพื่อสร้าง "ภาพจำลอง"  หรือ simulation ว่าระเบียบโลกใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร...และไทยเราจะต้องวางตัวเองไว้ในตำแหน่งใดจึงจะสามารถสร้างประโยชน์ให้ตัวเราเองอย่างเต็มที่ที่สุด

            ช่วงเวลานี้จึงเป็นจังหวะที่เราต้องฟังความเห็นและแนววิเคราะห์ทุกๆ ด้านให้ครบทุกมิติ เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง

            เพราะผู้รู้ต่างก็เห็นสอดคล้องต้องกันว่าหลังจากนี้ (ไม่ว่าโควิดจะจบลงเมื่อไหร่ หรือจะเลิกราหรือไม่) โลกจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

            วันก่อนผมอ่านบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา  และรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยรังสิต

            แค่หัวข้อก็กระตุ้นให้ต้องคิดต่อแล้ว เพราะท่านจั่วหัวว่า

            "โลกยุคหลังโควิด ก็คือโลกที่ก้าวข้ามกรอบความคิดตะวันตก"

            สิ่งที่อาจารย์เอนกพูดถึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการสลับขั้วอำนาจของโลกหรือไม่

            ถามง่ายๆ คือจีนจะมาแทนสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งหรือไม่

            และหากเกิด "ฉากทัศน์" เช่นนั้น ไทยเราจะวางตัวอย่างไร

            เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามสำคัญๆ ที่เราจะต้องพยายามแสวงหาคำตอบให้จงได้...และในเร็ววันด้วย

            อาจารย์เอนกเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

            ถามว่าหลังเหตุการณ์โควิด-19 โลกจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปอย่างไร?

            ในความเห็นผม ยุคหลังโควิด-19 (Post-Covid-19) น่าจะเป็นยุคที่โลกตะวันออกจะเริ่มก้าวข้ามตะวันตก (Post-Western) ไปด้วย ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น?

            ก่อนอื่นในทางวิทยาศาสตร์เอง คือไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แห่งจุฬาฯ ผู้เป็นหัวกะทิในเรื่องโรคอุบัติใหม่ สรุปไว้อย่างน่าฟังว่า 

            "ที่เราเอาตัวรอดมาจากโควิด-19 ได้ ก็เพราะไม่เชื่อความรู้เก่าของฝรั่ง หากแต่เรามองไปที่จีนอย่างตั้งใจ จริงจัง ถอดความรู้และบทเรียนจากเขามาเป็นสำคัญ"

             ขอขยายความว่า วงการตะวันตกนั้นบอกเราไว้ว่า เจ้าโควิดเที่ยวนี้ก็คงคล้ายไข้หวัด และสอนเราว่ามันติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

             แต่จีนกลับเชื่อว่ามันร้ายแรงกว่าไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่มาก เพราะติดจากคนสู่คนได้ด้วย และมีหลักฐานชี้ว่าเจ้าเชื้อนี้ยังกลายพันธุ์ได้รวดเร็วเสียด้วย

            ผลลัพธ์ : การปฏิบัติที่ผ่านไปชี้ว่าจีนนั้นมองอะไรได้ "ใหม่กว่า" และ "ถูกต้องกว่า" หมอและอาจารย์ "ฝรั่ง" ถามว่าแล้วไทยนั้นทำอย่างไร?

            ตอบว่าแม้เราจะคล้อยไปทางจีน แต่ก็หาเดิน "ตามจีน" ไม่ คือไม่ได้ปิดล้อมกักกันอย่าง "เอาเป็นเอาตาย"

            ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บอกว่า การปิดเมือง ปิดประเทศแบบไทย  คือ "ปิดแบบรั่วๆ หรือปิดเป็นหลัก แต่ก็ปล่อยบ้าง"

            นั่นคือ เราไม่ยอมปล่อยปละแบบตะวันตก ต่อสู้กับโควิด-19 ตามแบบของเราเต็มที่ แต่ก็เดิน  "สายกลาง" ซึ่งได้ผลเช่นกัน

            แต่ความสำเร็จของเรานั้น เริ่มต้นที่วงการสาธารณสุขของเราไม่ได้เป็น "ตะวันตกจ๋า" ท่านหันหน้าออกจากตำราฝรั่ง ผินหน้าไปสู่จีน รับความรู้และแง่คิดดีๆ ของจีน แต่ท่านก็ตัดสินใจทำแบบไทยๆ

            ก็นี่แหละที่ชี้ว่า วงการสาธารณสุขและแพทย์ของเรานั้น เดินในหนทางที่เป็นอิสระมากขึ้น ไปได้ "ไกล" กว่าฝรั่ง "ข้ามพ้น" ฝรั่งไปไม่น้อย (เรียกว่าท่านได้เป็น Post-Western แล้ว)

            แน่นอนที่ว่า "ก้าวข้าม" หรือ "ไปให้ไกลกว่า" นั้น ไม่ได้แปลว่า "คัดค้าน" หรือ "ต่อต้าน" ตะวันตก  (คนที่เป็นหรือคิดแบบ Post-Western นั้น ไม่ใช่คนที่คิดหรือทำแบบ Anti-Western)

            เรายอมรับของดีและเหมาะสมจากเขา แต่ก็กล้าที่จะก้าวข้ามหรือไปให้ไกลกว่าได้ หรือออกนอกกรอบตะวันตกในระดับที่พอดี แล้วไปรับเอาความคิด ประสบการณ์ และกระบวนทัศน์ "ตะวันออก"  ทั้งตะวันออกแห่งอดีต และตะวันออกที่เป็นปัจจุบัน มาปรับใช้ มาคิด-ทำ ร่วมกับทฤษฎีและการปฏิบัติแบบตะวันตก ที่ผสมผสานกันไปก็มี ที่หนุนเสริมกันไปก็มี ที่แย้งกันไปก็ได้ ที่ต่อสู้กันไปก็ได้ แต่ล้วนคิด-ทำอย่างสร้างสรรค์

            นอกจากเรื่อง "มดหมอ" แล้ว โรคระบาดโควิด-19 เที่ยวนี่ยังทำให้อุดมคติ หรือแบบฉบับในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกตะวันตก ถูกสั่นคลอนและท้าทาย 

            โควิด-19 นั้นท้าทายโลกาภิวัตน์มาก กล่าวได้ว่าเป็น disruption ต่อโลกาภิวัตน์เลยก็ว่าได้ เพราะตะวันตกนั้นโดยทั่วไปเชื่อว่า ผลประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะส่วน หรือเฉพาะชาติ (ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า private benefits) ที่มีการแข่งขันกันด้วยแล้วไซร้ จะนำมาซึ่งเรื่องดี คือผลประโยชน์ของส่วนรวม (หรือ public interest) โดยมี "มือ" ที่ "มองไม่เห็น" มาทำให้เกิดขึ้นเอง

            แล้วความจริงล่ะ?

            การระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้เห็นว่าชาติต่างๆ (ที่ถือเป็น private benefits) นั้นขัดแย้งกันเหลือเกิน มีตั้งแต่โจมตีกันว่าใครเป็นคนปล่อยไวรัส หรืออุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกัน หรือแม้ในต่างประเทศนั้น รัฐบาลอเมริกันก็ห้ามขายไปประเทศอื่น ให้ขายหรือส่งต่อให้บริษัทอเมริกันเท่านั้น เราซึ่งเคยสั่งซื้อวัคซีน ยา หน้ากาก ชุด PPE จากต่างประเทศอย่างสะดวก

            บัดนี้ ในยุคที่โควิดบุกโจมตี ของข้างต้นหาซื้อได้ยากหรือซื้อไม่ได้ก็มี ทั้งที่มีเงินทองพอซื้อ แสดงว่าระบบที่อาศัยตลาด (market) แบบตะวันตกแต่ใดมา บัดนี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ public interest ของโลกเกิดได้ 

            นอกจากมิติทางการแพทย์แล้ว ผลพวงต่อเนื่องก็ลามไปถึงเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้

            พรุ่งนี้เรามามองมิติอื่นๆ ที่จะกระทบประเทศไทยเราด้วยครับ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"