โหวตพรก.กู้เงินฉลุย ฝ่ายค้านโผล่หนุน/บิ๊กตู่อัด'สำเนียงส่อภาษา'ไม่ขัดตั้งกมธ.


เพิ่มเพื่อน    

    สภาโหวตอนุมัติ พ.ร.ก. 3 ฉบับ กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท “ก้าวไกล” แฉ พ.ร.ก.หุ้นกู้ 4 แสนล้านเอื้อ 4 นายทุนใหญ่ ซัดให้อำนาจคลังล้นฟ้าเฉือนเนื้อคนจนช่วยคนรวย ส.ส.พท.ไล่ "ประยุทธ์" ลาออก “ขุนคลัง” โต้ไม่ได้อุ้มคนรวยไม่มีอำนาจล้นฟ้า  ยังถูกตรวจสอบได้ตามกระบวนการศาล “สมคิด” ลั่นไม่พึ่งไอเอ็มเอฟ “บิ๊กตู่” โต้เอื้อเศรษฐี แค่ต้องการดูแลลูกจ้าง-พนักงานไม่ให้ตกงาน ปัดขวางตั้ง กมธ.วิสามัญฯ แต่ห่วงจะทำให้ล่าช้า เหน็บ ส.ส.ก้าวไกล “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” เปิดคะแนนโหวตฝ่ายค้านเสียงแตก “เสรีรวมไทย” งดออกเสียง 5 ส.ส.เศรษฐกิจใหม่เทคะแนนให้ 
    ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น. วันที่ 31 พฤษภาคม มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เป็นวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ภายหลังที่ประชุมได้โหวตลงมติผ่าน พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ
    การประชุมช่วงเช้า มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สองทำหน้าที่ประธาน โดย น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การออกกฎหมาย พ.ร.ก. ช่วยเอสเอ็มอี 5 แสนล้าน และ พ.ร.ก.หุ้นกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลำเอียงและบิดเบี้ยวช่วยนายทุน โดยเฉพาะ พ.ร.ก.หุ้นกู้ที่ครอบคลุมอุ้มคนรวยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยหุ้นกู้สามารถช่วยเหลือเอกชนได้ 125 ราย เฉลี่ยรายละ 3.2 พันล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีช่วยได้ 1.9 ล้านราย เฉลี่ยรายละ 2.6 แสนบาท แตกต่างกัน 1.2 หมื่นเท่า สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเข้าข้างลำเอียงให้กับทุนใหญ่ทั้งที่ความจริงทุนใหญ่ไม่ตายง่ายๆ เพราะแบงก์ปล่อยกู้ให้ง่ายกว่า 
    “สำหรับทุนใหญ่ 125 ราย รวมกัน 8.9 แสนล้าน แต่เกือบครึ่งเป็นของ 4 กลุ่มทุนใหญ่คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีสัดส่วน 21 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 1.85 แสนล้านบาท บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด 11 เปอร์เซ็นต์  9.7 หมื่นล้านบาท บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) 8 เปอร์เซ็นต์ 7.5 หมื่นล้านบาท และบริษัท ช.การช่าง จำกัด 2 เปอร์เซ็นต์ 1.5 หมื่นล้านบาท ที่เข้าข่ายได้รับประโยชน์ อีกทั้งกลุ่มเหล่านี้มีส่วนร่วมในเครือข่ายประชารัฐ มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารอย่างแน่นแฟ้น จึงเสนอให้ทุนใหญ่เหล่านี้ปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐบาล” น.ส.ณธีภัสร์กล่าว
    น.ส.ณธีภัสร์กล่าวต่อว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อกลั่นกรอง พ.ร.ก.หุ้นกู้ 4 แสนล้าน ส่วนใหญ่เป็นคนของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ขอตั้งข้อสังเกตว่าตั้งกันเองชงกินกันเองหรือไม่ และกฎหมายยังให้อำนาจล้นฟ้า สามารถผ่อนผันเลือกบริษัทเอกชนเข้าร่วมตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวนี้ได้ ยังมีคนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เข้าไปเป็นคณะกรรมการดังกล่าว ขณะที่ กบข.มีหุ้นกู้ 1.1 ล้านล้านบาท จะส่งผลให้มีส่วนในการตัดสินใจว่าจะอุ้มหรือไม่อุ้มหุ้นกู้รายใดบ้าง การรู้ข้อมูลวงในถือเป็นการได้เปรียบเอกชนรายอื่นหรือไม่ ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ ในมาตรา 19 ที่ให้อำนาจ รมว.คลังตีเช็คเปล่าซื้อตราสารหนี้ในตลาดรองมูลค่าเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรค 3 กระทรวงการคลังจะต้องรับผิดชอบด้วยภาษีประชาชน ถือเป็นการเฉือนเนื้อคนจนไปอุ้มคนรวยหรือไม่
     จากนั้น นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พูดมาตลอดตั้งแต่จะไม่เป็นนายกฯ ไม่ยึดอำนาจ ไม่เล่นการเมืองต่อ แต่สุดท้ายแล้วก็สืบต่ออำนาจ รัฐบาลชุดนี้คิดแบบไม่เห็นหัวประชาชน รวบอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สร้างภาระหนี้สินให้ประชาชนชั่วลูกชั่วหลาน ตอนนี้เมืองไทยจะล้มละลาย วิธีการแก้มีอย่างเดียว โดยคนคนเดียวคือประยุทธ์ ออกไปเถอะ รับรองโควิดหาย เศรษฐกิจดี
ขุนคลังปัดมีอำนาจล้นฟ้า
    นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อภิปรายว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุดเวลานี้ไม่ใช่แนวรบด้านสุขภาพ แต่เป็นแนวรบด้านเศรษฐกิจ แก้โควิดต้องแก้พองาม ไม่ให้คนอดตาย แก้แบบบ้าระห่ำเจ๊งกันทั้งประเทศ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ให้ฉายานักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตนขอต่ออีกนิดว่า เป็นนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ เพราะแม้จะเยียวยายังเหลื่อมล้ำ รัฐบาลยังไม่บอกว่าจะกู้เงินจากที่ไหน เพราะถ้ารัฐบาลกู้จากไอเอ็มเอฟหรือธนาคารโลกก็จะต้องเข้าโปรแกรมที่มีผลต่อชีวิตของประชาชน ดูแผนการใช้เงินแล้วไม่ใช่การฟื้นฟูและการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการหมุนของเงินเท่านั้นตลอด 6 ปีที่ผ่านมา เงินไม่ได้หมุน แต่กลับไปอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม
    ต่อมาเวลา 13.15 น. นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ชี้แจงว่า เราไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบจนเป็นวิกฤติ รัฐบาลมุ่งเน้นจัดการทั้งด้านสาธารณสุข เรื่องเศรษฐกิจ การเยียวยา ก็ต้องเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน ผู้ประกอบการ รัฐบาลดำเนินการให้มีความต่อเนื่อง เสริมสร้างความเข้มแข็ง ทั้งประชาชน เอกชน และผู้ประกอบการขนาดเล็ก เรื่องพันธบัตรมีการกำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท เรื่องหนี้สาธารณะ แม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด ก็เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับ 40 เปอร์เซ็นต์ พ.ร.ก.ไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังล้นฟ้า เพราะมาตรา 5 แม้ให้เพราะให้ดำเนินการ การใช้อำนาจของรัฐมนตรี ยังต้องอยู่ภายใต้ความสุจริต โปร่งใส และบนหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบของกระบวนการยุติธรรมและศาล หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยรัฐมนตรียังใช้ช่องทางศาลตรวจสอบการใช้อำนาจ รมว.การคลังได้ ยืนยันไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อุ้มคนรวย ไม่ได้อุ้มบริษัทใหญ่ แต่มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
    จากนั้น นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่นายกฯ ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะกลัวนักศึกษาชุมนุมใช่หรือไม่ ชอบขู่ประชาชนว่าถ้าเกิดการระบาดรอบสองใครจะรับผิดชอบ ขอให้ท่านลาออกไปเลย การประกาศล็อกดาวน์ก็ทำให้เศรษฐกิจพังทั้งระบบ มีคนตกงาน 8 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ เมื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เดินทางไปจีนบ่อย ขอให้นำสิ่งดีๆ กลับมา เช่น บิ๊กดาต้า เอไอ ถ้าผมเป็นรัฐบาลจะทำ อัดฉีดเงิน 4.5 ล้านล้านเพื่อฟื้นชีวิต ที่เรียกว่า modern lifestyle อัดฉีด 2 ล้านล้านบาท ให้ไปเลย คนละ 4 หมื่นบาท จะเกิดกำลังซื้ออย่างมหาศาล 
    ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนผ่านต้มยำกุ้งมาแล้ว เมื่อไหร่เศรษฐกิจมีปัญหา จะพันไปตลาดเงินทันที เวลานี้ตลาดตราสารใหญ่มาก สมัยปี 2540 รัฐบาลต้องตามไปเก็บศพด้วยการไปซื้อหนี้เสียจากธนาคาร ดังนั้นเวลานี้เราจะไม่ทำอย่างนั้น จึงเป็นที่มาของ พ.ร.ก.ดูแลตราสารหนี้ อย่าไปคิดว่าจะเป็นการอุ้มเจ้าสัว แต่มาตรการตาม พ.ร.ก.จึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นหลังพิง ประเทศไทยโชคดีที่เราทำให้โครงสร้างของประเทศมีความน่าเชื่อถือ ไม่ต้องไปหาไอเอ็มเอฟ เพราะมีหนี้ต่อจีดีพีน้อยมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เคยคิดจะเข้ามาแทรกแซง แต่ถ้าครั้งนี้ ธปท.ไม่เข้ามาก็จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนอยู่ไม่ได้ เพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง จะให้คนกลางเข้ามากลั่นกรองการใช้เงินโดยรับฟังจากภายนอกด้วย โดยวันที่ 5 มิ.ย.จะเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เหตุการณ์ 3 เดือนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีอีกยาวที่ต้องทำงานด้วยกันถ้าจะมาตรวจสอบความโปร่งใส ย่อมเป็นสิ่งที่ดี 
นายกฯ ลั่นไม่มีทุจริต
    ต่อเวลา 15.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปว่า "มีการกล่าวว่าผมไปเอื้อประโยชน์อะไรต่างๆ ผมไม่เคยไปได้ประโยชน์อะไรกับใครจากเศรษฐีอะไรต่างๆ เขาไม่เคยเสนอเงินให้รัฐบาลสักบาท แต่ผมต้องการให้ดูแลลูกจ้างพนักงานไม่ให้ว่างงาน นั่นคือสิ่งที่คาดหวัง หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจ ก็ขอให้เข้าใจ เงินทุกเงินมีเจ้าของทั้งสิ้น ถ้าให้ไปแล้วไม่ได้กลับมาเลยล้มละลายแล้วใครจะรับผิดชอบ ผมพูดแล้วต้องรับผิดชอบ ต้องทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ไม่ให้มีปัญหาทางด้านกฎหมาย ตอนนี้กำลังดูว่าเงินก้อนที่มีอยู่จะทำอย่างไร เอสเอ็มอีที่เข้าถึงไม่ได้ให้เข้าได้มากขึ้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์รายใหญ่รายเล็ก อย่าไปคิดแบบนั้น ถ้าคิดแบบนั้นก็บริหารไม่ได้"
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทตนยินดีให้มีการตรวจสอบทุกประการ ถือว่าเงินกู้ดังกล่าวคือเงินแผ่นดิน ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ มีการเสนอแผนงานมาจากข้างล่างว่ามีการทุจริตหรือไม่ ซึ่งก็ยังไม่ทุจริตเลย ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนละเอียดมาตั้งแต่ต้นไม่อย่างนั้นเสนอขึ้นมาข้างบนไม่ได้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยจัดให้มีเว็บไซต์สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ติดตามการดำเนินการโครงการต่างๆ เรื่องการจะตั้ง กมธ.วิสามัญ ตนไม่ได้ไปคัดค้าน เป็นเรื่องของสภา สมาชิกพิจารณากัน
     “ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่น ไว้ใจผมและรัฐบาล เหมือนช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีใครไม่ชอบก็ตาม แต่ขอให้เราก้าวผ่านไปด้วยกัน ยืนยันว่าจะบริหารราชการแผ่นดินบนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้าน เหมาะสม โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการและที่ปรึกษาด้านต่างๆ”พล.อ.ประยุทธ์กล่าวทิ้งท้าย
    หลังจากนายกฯ ชี้แจงเสร็จ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ว่ารู้สึกว่าปล่อยให้นายกฯ ใช้กิริยาวาจาเสียดสีรุนแรงในสภา ฉะนั้นขอให้ประธานสภาฯ ควบคุมการประชุม อย่าปล่อยให้นายกฯ กระทำกับผู้แทนฯ เหมือนที่ผู้บังคับบัญชาทำกับพลทหารในค่ายทหาร
    ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ลุกขึ้นตอบโต้ว่า "ผมนั่งอยู่ตรงนี้ ก็ฟังมาหลายคน จำได้ว่าเราเคยมีสุภาษิตหนึ่ง ซึ่งผมต้องระมัดระวังตรงนั้นให้ได้ คือคำว่าสำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล ที่ผ่านมาไม่มีเลยหรือที่ผมพูดอย่างนี้ ที่ผมพูดแบบนี้ร้ายแรงมากเลยหรือ ผมไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับท่านอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงคนรุ่นต่อไปว่าเด็ก เยาวชนจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมไม่ได้ไปพูดก้าวร้าวกับใคร พูดแต่เสียงดัง เน้นสาระ ผมจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองอีกแล้ว"
    นายชวนชี้แจงว่า กรณีนายกฯ ตนฟังอย่างยุติธรรม ที่นายกฯ ได้กล่าวไปถือว่าเบา กล่าวที่พวกเราพูดถึงท่านเยอะเลย เพราะฉะนั้นไม่มีประเด็นที่ไม่เหมาะสมหรือขัดข้อบังคับ ดังนั้นการประท้วงไม่มีผล จากนั้นนายชวนแจ้งที่ประชุมว่า การอภิปรายทั้ง 2 ฝ่าย และรัฐบาล ที่ตกลงใช้เวลา 48 ชั่วโมง ครม.และพรรคร่วมรัฐบาล 24 ชั่วโมง ถือว่ากระบวนการทุกอย่างจบแล้ว ต่อไปเป็นการลงมติ 
    หลังจากนั้น เวลา 16.00 น. ที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมากอนุมัติพระราชกำหนดจำนวน 3 ฉบับ ดังนี้ 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากอนุมัติ 274 คะแนน โดยไม่มีการลงมติไม่เห็นด้วย แต่มี ส.ส.ใช้สิทธิงดออกเสียงจำนวน 207 คน 2.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากอนุมัติ 275 คะแนน ไม่เห็นด้วย 1 คะแนน งดออกเสียง 205 คะแนน 3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากอนุมัติ 274 คะแนน ไม่เห็นด้วย 195 คะแนน งดออกเสียง 12 คน
ผลโหวตฝ่ายค้านเสียงแตก
    ทั้งนี้ ตามขั้นตอนจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป โดยหากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรให้พระราชกำหนดนั้นตกไป ถ้าวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้นจะมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
    ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ประชุมพิจารณา พ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงสาระสำคัญ พ.ร.ก.ดังกล่าว ว่าเป็นการกำหนดให้การประชุมตามที่กฎหมายกำหนดสามารถดำเนินการได้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้นไม่ให้ใช้กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล การประชุมตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ
    ที่ประชุมได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอภิปรายเห็นด้วย ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกเป็น พ.ร.ก. ควรตรากฎหมายออกเป็น พ.ร.บ.ตามขั้นตอนปกติ หลังจาก ส.ส.อภิปรายอย่างกว้างขวางครบทุกคนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับ พ.ร.ก.ดังกล่าวด้วยคะแนน 270 ต่อ 11 งดออกเสียง 176 จากนั้น จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 18.30 น.
    สำหรับผลการออกเสียงใน พ.ร.ก. 3 ฉบับ มีความน่าสนใจตรงที่ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปรากฏว่ามี ส.ส.งดออกเสียงจำนวน 12 คน ประกอบด้วย 1.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามบรรทัดฐานที่ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมจะใช้สิทธิงดออกเสียง 2.นางสาวธนภร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 3.นางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 4.นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 5.นายเพชร เอกกำลังกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 6.นายเรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 7.นายวัชรา ณ วังขนาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 8.นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 9.พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 10.นายสมบติ ศรีสุรินทร์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย 11.นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามบรรทัดฐานที่ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมจะใช้สิทธิงดออกเสียง 12.นายอำไพ ก้องมณี
อย่างไรก็ตาม แม้นายชวนและนายสุชาติจะลงมติงดออกเสียง แต่ปรากฏว่านายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้ลงมติเห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ซึ่งก่อนหน้านี้เคยลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว   
    ขณะที่ ส.ส.ที่ลงมติเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ดังกล่าว นอกจากมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมี ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่และพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งลงมติเห็นด้วย ซึ่งเป็นส.ส.ที่เคยลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 2.นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย 3.นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย 4.นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5.นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6.นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 7.นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ขณะที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ตามแนวทางของฝ่ายค้าน 
    ทั้งนี้ นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้ใช้กดบัตรลงมติในช่องไม่ลงคะแนนเสียง  
    สำหรับในส่วน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ที่มีมติเห็นชอบ 274 คะแนน ไม่มีการลงมติไม่เห็นด้วยมี ส.ส.ใช้สิทธิงดออกเสียงจำนวน 207 คน ในคะแนนที่ลงมติเห็นชอบมาจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด รวมถึง น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย 3.นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยด้วย เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ทั้ง 5 คนที่ลงมติให้ความเห็นชอบ ยกเว้นนายมิ่งขวัญ 
    ส่วน พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ ที่สภามีมติ 275 คะแนน ไม่เห็นด้วย 1 คะแนน งดออกเสียง 205 ส่วนใหญ่ ส.ส.ที่โหวตเห็นด้วยเป็นกลุ่มเดียวกับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เว้นแต่นายเชิดพงศ์ ราชป้องขันธ์ ส.ส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย ที่ลงมติไม่เห็นด้วย ต่างจากมติของฝ่ายค้านที่เห็นควรให้งดออกเสียง
    เวลา 16.15 น. ที่ห้องแถลงข่าว แกนนำฝ่ายค้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ,  นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงชี้แจงหลังพรรคร่วมฝ่ายค้านลงมติโหวต พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3ฉบับ ที่มีคะแนนเสียงแตกต่างกัน โดย น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีจำนวนเสียง 210 เสียง ในวันนี้พรรคเพื่อไทยขอลาป่วย 2 คน และได้แจ้งลาประชุมไว้แล้ว พรรคก้าวไกล หัวหน้าพรรคเข้ารับการผ่าตัดก็ได้ลาป่วย ยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านได้โหวตไปในทางเดียวกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เสียงที่ยังขาดไม่เท่ากันบ้าง ก็เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ฝ่ายค้านบางคน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบกันอีกครั้ง 
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังว่า การประชุมถือว่าเรียบร้อยดี แต่มีหลายอย่างที่จะนำไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ส่วนที่เป็นกังวลก็ได้ชี้แจงไปบ้างแล้ว และรองนายกฯ ก็ชี้แจงได้ดี วันนี้เราต้องปรับรูปแบบการฟัง การพูด และการอภิปรายบ้าง ไม่เช่นนั้นก็จะสับสนอลหม่าน ประชาชนฟังแล้วไม่เข้าใจ และยิ่งทำให้การเดินหน้าไปได้ช้า 
    เมื่อถามถึงกรณีที่นายกฯ ระบุว่า ไม่ขัดข้องข้อเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้เงินกู้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องการพิจารณาในระยะต่อไป จะมาถามอะไรตอนนี้ ซึ่งตนก็บอกว่าไม่ขัดข้องหากพิจารณากันแล้วจากในงานของสภา ถ้าสามารถตั้งได้ก็ตั้งได้ แต่ในพรรคก็ต้องร่วมกันหารือว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งอย่างไร ถ้าทำให้ดีขึ้น และได้รับความไว้วางใจมากขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ชักช้าจนไม่ทันการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความล่าช้า และจะไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เพราะมีเงินแต่ออกไปทีหลัง ก็เหมือนเขาหมดลมไปแล้ว จึงต้องให้ตอนนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"