วงจรเครือข่าย'สนช.-ส.ว.' เลือกพวกพ้อง-กินรวบองค์กรอิสระ 


เพิ่มเพื่อน    

         ทำไม นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ผ่านการคัดเลือกของกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ได้ และวุฒิสภาก็ลงมติเห็นชอบเมื่อ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา

        แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และ น.ส.จินตนันท์ ริญาต์ร ศุภมิตร กลับถูกกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตีตกในการประชุมเมื่อ 29 พฤษภาคม เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ไม่มีสิทธิสมัคร

        ทั้งๆ ที่ 3 คนนี้ต่างก็เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาเหมือนกัน พ้นตำแหน่งมาพร้อมๆ กันเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

        พิลึกพิลั่นแท้ๆ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้สมัครเอาไว้เหมือนกันทุกตัวอักษร นั่นคือ

        กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารสภาท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา”

        ประเด็นปัญหาที่เกิดการขัดแย้ง คือการตีความตัวอักษรฝ่ายหนึ่ง ได้แก่ กรรมการสรรหา ป.ป.ช.และวุฒิสภา เห็นว่า  สนช.ก็คือ สนช. เป็นองค์กรพิเศษ ยังไงก็ไม่เป็น ส.ส. ไม่เป็นส.ว. ไม่เป็นข้าราชการการเมือง

        อีกฝ่ายหนึ่ง ได้แก่ กรรมการสรรหา กสม. เห็นว่าเมื่อ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. ก็ย่อมถือได้ว่าเคยเป็น ส.ส. ส.ว.มาก่อน  และเป็นข้าราชการการเมือง เพราะปฏิบัติหน้าที่ในส่วนสภานิติบัญญัติ เมื่อพ้นมาไม่ถึงสิบปี จึงเข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย

        ฝ่ายหลังยังยกข้ออ้างไปถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2557

        “มาตรา 6 ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา” เมื่อประกาศใช้ รธน. 2560 บทเฉพาะกาลก็เขียนในลักษณะเดียวกันไว้อีก

        “มาตรา 263 ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐ สภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาตามลำดับ...”

        เพราะการตีความและการดำเนินการที่หกคะเมนตีลังกา ไปคนละทางสองทางแบบ 2 มาตรฐาน เพียงแค่ไปยึดติดกับชื่อ ข้อความ ตัวอักษรแบบเถรตรงว่า สนช. ก็คือ สนช. สนช.ไม่เป็น ส.ส. ไม่เป็น ส.ว. ไม่เป็นข้าราชการการเมือง

        ทั้งๆ ที่ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว.ทุกอย่าง มีสิทธิประโยชน์เหมือนกันทุกอย่าง แถมยังใช้อำนาจเพิ่มเติมเข้ามาด้วยการ ถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการให้พ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิเลือกตั้งถึง 9 คน

        แม้ว่าสุดท้ายแล้วนายสุชาติจะได้เป็น ป.ป.ช. แต่ พล.อ.นิพัทธ์ และ น.ส.จินตนันท์ ถูกตัดชื่อไม่ให้มีสิทธิสมัคร กสม. ไม่ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้ากรรมการสรรหาในวันที่ 26 หรือ 29 มิถุนายนนี้

        แต่ความคลุมเครือและความอลเวงในการตีความกฎหมายแบบลักลั่นนี้ จะเป็นชนวนซ้ำเติมวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคุกรุ่นตั้งเค้าให้เห็นบ้างแล้วในขณะนี้

        ไม่ว่าจะตีความกันอีท่าไหน แต่ข้อเท็จจริงที่มิอาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้ ก็คือ คสช.-สนช.-ครม. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งกรรมการร่าง รธน.-ส.ว. คือพวกพ้องบริวารเดียวกัน อยู่และใช้อำนาจการเมืองและสืบต่ออำนาจ คสช.มาจนถึงปัจจุบัน

        ไล่เรียงวงจรอำนาจที่แสดงถึงเครือข่ายพวกพ้องเดียวกันดูสักนิด เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ยึดอำนาจเป็นหัวหน้ารัฐประหาร คสช. ก็แต่งตั้งสมาชิก คสช. จากนั้นก็ประกาศใช้  รธน.ชั่วคราว 2557 นำมาซึ่งการแต่งตั้ง สนช. จากนั้น สนช.ก็ประชุมกันเพื่อเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ ภายหลังประกาศใช้ รธน. 2560 สนช.ก็ร่วมกันออก พรป.และกฎหมายอื่นๆ อีกมากมาย 

        ต่อมามีการเลือกตั้ง ส.ส. 24 มีนาคม 2562 คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตั้ง สนช. 90 คน ไปเป็น ส.ว. รวมทั้งสมาชิก คสช. และ ครม.ก็ได้รับการแต่งตั้งมาเป็น ส.ว. จากนั้น สนช.ที่แปรรูปมาเป็น ส.ว. ก็โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ  คอยคุ้มครองปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่อยมา นับเวลาได้ 6 ปีเต็ม

        กลายเป็นวงจรอุบาทว์แห่งการผนึกกำลังเครือข่ายกลุ่มก๊วนการเมืองเพื่อนช่วยเพื่อน คอยเกาหลังให้กันเวลาเกิดอาการคัน

        ย้อนกลับไปในช่วง สนช.ใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. ออกกฎหมายมากมายก่ายกองมาบังคับใช้ รวมถึง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.เกี่ยวกับองค์กรอิสระ 5 องค์กร 5 ฉบับ ได้แก่ ป.ป.ช. กสม. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งศาล รธน. บัญญัติลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครและการเป็นกรรมการไว้เหมือนกันเป๊ะ เรื่อง ห้ามเป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมืองจนกว่าจะพ้นสิบปี

        เท่านั้นไม่พอ ยังบัญญัติเหมือนกันอีกว่า “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิก หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา”

        เรียกว่า ใครเดินเฉียดเข้าไปที่พรรคการเมือง คนนั้นๆ คือบุคคลอันตราย แค่เป็นสมาชิกก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย คนคนนั้นจะสมัครเป็นกรรมการองค์กรอิสระ หรือศาล รธน.ไม่ได้เด็ดขาด หากพ้นมาไม่ถึงสิบปี

        แต่ถ้าหากยุ่งเกี่ยวพัวพัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ สนช.  คสช. ครม.ยุค คสช. กรรมการร่าง รธน. สปช. สปท. ฯลฯ แบบกินรวบเพื่อสานต่อการสืบทอดอำนาจกลับมีสิทธิ มีอำนาจล้นปรี่

        การตีความแบบนี้ จะไหวหรือ?.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"