เมื่อประเด็น 112 กลับมาอีกครั้ง


เพิ่มเพื่อน    

        “สำนึกไว้ด้วยว่า มาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี เพราะทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ กำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการใช้มาตรา 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้ ลามปามไปเรื่อย”

        ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นการกลับมาพูดถึงกฎหมายมาตรา 112 อีกครั้งแบบที่เป็นน้ำเป็นเนื้อ หลังเว้นระยะเวลามาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 โดยในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทีมโฆษก โดยกำชับให้มีการกวดขันข้อความที่เข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

      กลับมาที่ปี 2563 แม้ก่อนหน้าโควิด-19 จะพ่นพิษจนทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่ทุกคนยังจำสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นก่อนเกิดการระบาดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการก่อแฟลชม็อบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบทั่วประเทศ แม้ "เนื้อหาหลัก” จะเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล และการกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ พล.อ.ประยุทธ์

      แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีบางส่วนที่มีการชูป้ายเชิงสัญลักษณ์ถึงประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมไทยปะปนอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดให้กลายเป็นที่สนใจแต่อย่างใด แต่กลับกัน ทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กกลับมีการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ที่เมื่อไม่นานมานี้ แฮชแท็กอย่าง #ยกเลิก112 กลายเป็นแฮชแท็กอันดับ 1 ของทวิตเตอร์เมืองไทย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอย่างที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เคยชี้แจงไว้ในสภาผู้แทนราษฎร

      ขณะเดียวกัน หากยึดจากคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์นั้นเป็นความจริงแบบที่โต้แย้งไม่ได้ แต่การจับกุมผู้กระทำผิดจากฐานความผิดลักษณะดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ข้อหาที่ถูกเอาผิดนั้นเปลี่ยนมาเป็นเรื่อง พ.ร.บ.คอมพ์ และผิด ม.116 แทน อย่างกรณีของ “นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์” จากการโพสต์เรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ หรือกรณีกลุ่มผู้สนับสนุน “สหพันธรัฐไท” 5 คน ที่ถูกเอาผิดตาม ม.116 และ ม.209

      หรือจะเป็นกรณีของผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม” ที่ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพ์อีกเช่นกัน ซึ่งเนื้อหาในการแสดงออกของทั้ง 3 กลุ่มนั้นจะหมิ่นเหม่กับเรื่องสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของชาวไทยหรือไม่นั้น ต่างขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน แต่เมื่อดุลยพินิจของผู้ใช้กฎหมายบอกแล้วว่า “ผิด” ก็คงจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้

      อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากการหายตัวไปของ “นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และจนถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 2 อาทิตย์แล้ว ก็ยังคงไม่มีหลักฐานที่ยืนยันตัวตนของเจ้าตัวว่าเป็นตายร้ายดีแต่อย่างใด

      ทั้งนี้ นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง สุรชัย แซ่ด่าน, ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง), สยาม ธีรวุฒิ, กฤษณะ ทัพไทย, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, ธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ), ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ), ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ คือชื่อของคนที่ถูกบังคับสูญหาย บางคนอาจจะเจอหลักฐานยืนยันอัตลักษณ์บุคคลแม้จะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว แต่บางคนกลับ “สาบสูญ” ไปเหมือนกับเล่นมายากล

      ทั้งหมดนี้คือรายชื่อผู้ที่ถูก “บังคับสูญหาย” ในประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา) ทั้งสิ้น แต่สาเหตุหนึ่งที่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เป็นเพราะทัศนะทางการเมืองของพวกเขาเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในประเภท “ตกขอบ” และ “เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” ทำให้การเผยแพร่แนวคิดนั้นไม่สามารถทำได้แบบประเจิดประเจ้อ แต่ทำได้เพียงการออกอากาศผ่านวิทยุหรือช่องรายการใต้ดินเท่านั้น การสูญหายของพวกเขาจึงไม่ได้เป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่

      แต่กลับกัน กรณีของนายวันเฉลิมนั้น เจ้าตัวแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กในชื่อเพจ “กูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆ” ทำให้โลกโซเชียลสัมผัส “คอนเทนต์” ที่เจ้าตัวนำเสนอได้ง่ายมากกว่า แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เข้มข้นเท่า 9 รายชื่อด้านบน เพราะเป้าหมายของวันเฉลิมส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่เฉพาะผู้มีอำนาจในรัฐบาล แต่เจ้าตัวก็หนีไม่พ้นจากการ “บังคับสูญหาย” อยู่ดี     

      ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวจากทางอดีตพรรคอนาคตใหม่อย่าง นางสาวพรรณิการ์ วานิช ที่โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ โดยในตอนท้ายของข้อความมีการติดแฮชแท็ก #ยกเลิก112 ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างเด่นชัดที่สุดนับแต่เจ้าตัวเข้ามาในถนนการเมืองเต็มตัว เพราะก่อนหน้านี้ในสมัยที่ยังคงเป็นพรรคอนาคตใหม่ ทุกคนในพรรคยังคงแสดงจุดยืนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เอง

      จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หลังจากการเปิดหัวของ “คุณช่อ” แล้ว จะมีใครหรือฝ่ายใดออกมาแสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาอีกหรือไม่ และที่น่าติดตามไปมากกว่านั้นคือ จะมี “บทสรุป” เป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมา “รัฐไทย” ยังไม่เคยเจอนักเคลื่อนไหวที่เปิดหน้าแสดงความเห็นกรณีดังกล่าวแบบตรงๆ สักที จึงน่าสนใจว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะหาทางจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างไร หรือจะปล่อยให้เข้าหูซ้าย...ทะลุหูขวา เหมือนหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"