'ดร.เสรี-นักพัฒนาสังคม'เขียนถึงนายกฯความหมายของ'ประชาสังคม'ที่จะดึงมาร่วมวางอนาคตประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

19 มิ.ย.63 -รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ นักวิชาการอิสระพัฒนาสังคม เผยแพร่บทความเรื่อง ประชาสังคม ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  ภายหลัง ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แถลงเรื่อง "วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี" โดยจะผนึกประชาชนทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศ มีเนื้อหาดงนี้


#ประชาสังคม
คำว่าประชาสังคม แปลจากภาษาอังกฤษว่า civil society ความจริง น่าจะแปลว่า พลเมืองสังคม จะตรงกว่า เพราะรากเหง้าของคำนี้มาจากตะวันตกเมื่อสองพันกว่าปีก่อน เมื่อเกิดหน่ออ่อนประชาธิปไตยในกรีก
ผ่านยุคโรมันมาฟื้นฟูความหมายและพลังทางสังคมในยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม (renaissance) ยุคเกิดใหม่ของประชาธิปไตยเมื่อห้าร้อยกว่าปีก่อน ที่เปลี่ยนผ่านจากแนวคิดเรื่องเทวสิทธิ์ ไปสู่สิทธิมนุษยชน จากสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ประชาธิปไตย สิทธิของพลเมืองกับระบบรัฐสภา จากประชาชนสู่พลเมือง
ในภาษาตะวันตกนั้น “พลเมือง” มีความหมายต่างจาก “ประชาชน” คือยกคุณค่าประชาธิปไตยขึ้นมานำ คำว่า civil มีรากศัพท์จากคำละติน civis  ซึ่งแปลว่าพลเมือง civitas แปลว่าเมือง มีที่มาเดียวกับคำว่า civilization  คือ อารยธรรม คำว่าพลเมือง จึงหมายถึงประชาชนที่เจริญ เป็น “อารยะประชาชน”

 

วันนี้มีการใช้คำว่าประชาสังคมกันบ่อย แม้ความหมายจะหลากหลายตั้งแต่แคบไปถึงกว้าง โดยรวมหมายถึง   ”ภาคที่สาม” ในสังคมต่อจากภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ได้แยกกันไปเสียทีเดียว มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีการร่วมมือกัน (แบบปะทะสังสรรค์) ในการทำงาน โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายของสังคม
โดยเนื้อหา ประชาสังคมสะท้อนผลประโยชน์และเจตจำนงของพลเมือง เป็นภาคที่ได้รับความเชื่อถือด้วยเหตุว่า โดยทั่วไปไม่มีวาระแอบแฝง หรือผลประโยชน์เหมือนในภาครัฐและภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมจึงมีภาพของการปกป้องสิทธิของพลเมืองในด้านต่างๆ ทั้งรูปแบบ เนื้อหาและกระบวนการในการต่อสู้
ภาคประชาสังคมมักถูกถือว่าเป็นตัวชี้วัดประชาธิปไตยของสังคม ที่ใดมีองค์กร มีกลุ่มอิสระ การรวมตัวของประชาชน มีสิทธิในการพูดการแสดงความคิดเห็นและได้รับการยอมรับจากรัฐ ไม่ถูกเบียดเบียนข่มขู่อุ้มฆ่าไล่ล่า วัดได้ว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิไตยมากหรือน้อย
ความร่วมมือก็มีขัดแย้งก็มาก เพราะประชาสังคมเป็นเหมือน “มโนธรรมสำนึก” ของสังคม ของรัฐบาล จึงทำหน้าที่ตรวจสอบ ภาคประชาสังคมจึงมักเป็นเหยื่อ ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกปิดปากหรือ “ถูกจัดการ” แบบรุนแรง

 

ในสังคมที่เจริญและเป็นประชาธิปไตย ประชาสังคมได้รับการยอมรับและนับถือว่ามีคุณค่า เป็นทุนของสังคม (social asset) ไม่ใช่เป็นอุปสรรคหรือหอกข้างแคร่ เพราะหากรัฐและเอกชนมีธรรมาภิบาล ก็ไม่มีอะไรที่ต้องไปเกรงกลัวการตรวจสอบของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นตัวแทนอิสระของสังคมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
ประชาสังคมมักถูกมองว่าเป็น “เอ็นจีโอ” เพราะแสดงบทบาทชัดเจนในการทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชน ทั้งๆ ที่ภาคประชาสังคมเป็นอะไรมากกว่าเอ็นจีโอ เพราะรวมไปถึงกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐหรือภาคธุรกิจโดยตรง เช่น สหภาพแรงงาน สหกรณ์ องค์กรชุมชนคนรากหญ้า สมาคม มูลนิธิ ขบวนการต่างๆ ทางสังคมเศรษฐกิจไปถึงขบวนการทางการเมือง เครือข่ายในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงประชาคม หรือชุมชนเสมือนจริง การรวมกลุ่มทางอินเทอร์เน็ต โดยโซเชียลมีเดียที่สื่อสารกันทันสมัยในหลากหลายประเด็น
ที่เห็นชัดเจนในการทำงานของภาคประชาสังคม คือ เรื่องสิทธิพลเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ สีผิวและเผ่าพันธุ์ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ ความยากจน เด็ก เยาวชน คนสูงอายุ และอื่นๆ

 

#อำนาจรัฐกับประชาสังคม
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่างๆ ทางสังคม เล็กๆ ไปถึงใหญ่จนกลายเป็น “การปฏิวัติทางสังคม” ล้วนมาจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คือ การมองโลกมองชีวิตที่สร้างฐานคิดใหม่ ระบบคุณค่าใหม่ให้สังคม ส่วนใหญ่มาจากการริเริ่ม การรณรงค์ การทำงานของภาคประชาสังคม
การปฏิวัติวัฒนธรรมในยุค 1960s 1970s มาจากขบวนการภาคประชาสังคมในยุโรป อเมริกา ที่ต่อต้านระบบโครงสร้างสังคมเก่าที่ปกครองและควบคุมโดยสถาบันทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบอนุรักษ์มายาวนาน เป็นยุคของฮิปปี้ ดนตรีร็อค การแสดงออกต่างๆ เพื่อสะท้อน “วิญญาณเสรี” ของคนรุ่นใหม่
บ้านเราก็อยู่ในกระแสโลก ยุคที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ปลดปล่อยจากระบบโซตัส เลิกประเพณีการรับน้องที่สะท้อนอำนาจนิยม ระบบอาวุโส เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียม แสดงออกภายนอกก็มี “หลายย.” ผมยาว เสื้อยืด กางเกงยีน สะพายย่าม รองเท้ายาง ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษาที่เหมือนตัวแทนของอำนาจเก่าสถาบันเดิม

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภาคประชาสังคม นำโดยขบวนการนักศึกษา แรงงานและชาวไร่ชาวนา แม้ว่ามีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเปิดการต่อสู้ระหว่าง “ซ้ายกับขวา” สวิงกลับไปหาอำนาจเก่าสถาบันเดิมหลัง 6 ตุลาฯ 2519
เหตุการณ์ประท้วง ต่อต้านวัฒนธรรมเก่าในทศวรรษ 1960 ที่มีส่วนทำให้สงครามเวียดนามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสท์เวียดนาม ในเวลาเดียวกันก็พัฒนาไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสท์ในยุโรปตะวันออก สหภาพโซเวียต และยูโกสลาเวีย ที่แตกออกเป็นประเทศอิสระหลายประเทศ โดยในกรณีของยูโกสลาเวียนั้นต้องเสียเลือดเนื้อจากสงครามกลางเมือง ที่ผู้นำต้องถึงศาลโลกในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เหตุการณ์เหล่านี้ ภาคประชาสังคม องค์กรอิสระทั้งบนดินและใต้ดินต่างๆ มีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสงครามเวียดนาม การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวีย

 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในสหรัฐอเมริกาในยุค 1960 ในเรื่องการเหยียดผิว (racism) มาจากการรณรงค์นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่เป็นขบวนการใหญ่และมีพลังจนมีการแก้ไขกฎหมาย และต่อเนื่องการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยจากการครอบงำของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้ (apartheid) ที่ไม่ได้มีแต่เนลสัน แมนเดลา แต่มีขบวนการพลเมืองทั้งในแอฟริกาและทั่วโลกที่ให้การสนับสนุน เป็นขบวนการระดับโลกที่ภาคประชาสังคมรวมพลัง ทั้งองค์กรกีฬา การค้า การความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่บอยคอตกดดันแอฟริกาใต้
ศตวรรษนี้เราเห็นปรากฎการณ์ใหม่ทางการเมืองในยุโรปที่พยายามปรับภาพลักษณ์ของพรรคการเมือง จากความเป็นสถาบัน (establishment) มาสู่ขบวนการประชาสังคม ที่มีชีวิต จิตวิญญาณมากกว่า โดยเริ่มตั้งแต่ชื่อพรรคก็เปลี่ยนให้มีสีสันและมีพลัง อย่าง “เดินหน้า” (En Marche หรือชื่อเต็มว่า สาธารณรัฐเดินหน้า) ของทางนายเอมมานูแอล มาครง ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่ฝรั่งเศส

 

พรรค “เดินหน้า” มาจากการรวมกลุ่มภาคประชาสังคม อาชีพต่างๆ อย่างครอบคลุมทั้งชาวนา กรรมกร อาชีพอิสระ นักวิชาการ คนพิการ เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิ องค์กรสตรี กลุ่มเพศที่สาม สิ่งแวดล้อม โดยมีตัวแทนและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญใน “พรรค” ได้เป็นรัฐมนตรีและมีบทบาทในรัฐบาล
ที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็มีปรากฎการณ์ของขบวนการทางการเมืองคล้ายกันมาก่อนนั้นอีก ถ้าค่ายตะวันออกก็มีขบวนการแรงงานที่โปแลนด์ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่อิตาลีก็มีพรรคการเมืองที่มาในชื่อใหม่และเป็นขบวนการ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเหมือนย้อมสีใหม่ให้ดูดี แต่เนื้อหาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม อย่างพรรค “ห้าดาว” (5 Stelle) พรรค “อิตาลีสู้ๆ “ (Forza Italia) เป็นต้น
ที่น่าสนใจเกิดขึ้นที่อิตาลีเมื่อปีที่แล้ว เมื่อเกิดขบวนการ “ซาร์ดีนส์” หรือ “ปลากระป๋อง” ที่ใช้สมาร์ทโฟนชวนผู้คนออกไปอัดกันแน่นเหมือนปลากระป๋องหลายหมื่นคนในจตุรัสกลางเมืองใหญ่ๆ ในอิตาลี เพื่อต่อต้านการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองขวาจัด โดยขบวนการซารดีนส์ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด และทำได้สำเร็จ พรรค Lega ขวาจัดที่คิดว่าจะชนะการเลือกตั้งในแคว้น Emilia Romagna แบบ “นอนมา” กลับพ่ายแพ้ และไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลกลางอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ เป็นฝีมือของขบวนการซาร์ดีนส์แท้ๆ

 

การต่อต้านการเหยียดผิวและผู้อพยพในเยอรมันหลังการรวมชาติ เยอรมันตะวันตกตะวันออก เกิดการหลั่งไหลผู้อพยพจากประเทศยุโรปตะวันออก จากตะวันออกกลางและอื่นๆ เข้าไปในเยอรมัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศ เกิดขบวนการต่อต้านผู้อพยพด้วยวิธีการรุนแรง รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จนภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาร่วมตัวกันรณรงค์แก้ไขปัญหาเอง รวมไปถึงการจับมือเป็นโซ่มนุษย์ยืนบนถนนนับพันกิโลเมตรจากเหนือสุดไปจรดใต้สุดของประเทศ โดยคนนับล้าน
และจบด้วยการเดินขบวนอย่างสงบในเมืองใหญ่ต่างๆ ในตอนค่ำ คนสามแสนห้าหมื่นถือเทียนเดินตามถนนในเมืองมิวนิก ถือป้ายไว้ว่า “เราทุกคนต่างก็เป็นผู้อพยพ อยู่ที่ว่าใครมาก่อนเท่านั้น” เหตุการณ์จึงได้คลี่คลาย แต่ก็มีปัญหามาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลต้องทำงานหนัก แต่ก็ได้แรงหนุนจากขบวนการประชาสังคมที่ต่อต้านการเหยียดผิวและความรุนแรงของกลุ่มขวาจัดนาซีใหม่
ภาคประชาสังคมจัดประท้วงใหญ่ต่อเนื่อง ตามขบวนการ “ชีวิตคนดำสำคัญ”  ไม่กี่วันก่อน ที่คน 20,000 คน ยืนเป็นโซ่มนุษย์ ไม่ได้จับมือกัน ยืนระยะห่างตามนโยบายโควิด ต่อกันด้วยกระดาษริบบิ้นสีต่างๆ เป็นระยะทาง 9 ก.ม. ในกรุงเบอร์ลิน รวมประท้วงนโยบายล็อคดาวน์โควิดไปด้วย โดยบอกว่า “เรื่องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสังคม และความยุติธรรมทางภูมิอากาศเป็นเรื่องเดียวกัน”

 

#ศาสนากับประชาสังคม
ถ้ารัฐบาลคือส่วนที่สำคัญที่สุดในภาครัฐ บริษัทในภาคธุรกิจ ศาสนาก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในภาคประชาสังคม
หลายคนอาจคิดว่า ศาสนาวันนี้ถึงจุดเสื่อมหนักจนอาจจะล่มสลายไปจากสังคม ถ้าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วนี้ได้ แต่ก็คงแปลกใจที่นักปรัชญานักวิพากษ์สังคมชาวเยอรมันคนดังอย่าง Juergen Habermas มองว่า ศาสนากลับมามีพลังอย่างสำคัญในใจกลางสังคมตะวันตก
หรือ David Putnam แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ไปทำวิจัย 20 ปีที่อิตาลีเรื่อง “ประชาธิไตย” และเขียนหนังสือที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ในยุคใหม่ (Making Democracy Work : Civic Traditions in Modern Italy) ศาสตราจารย์นักรัฐศาสตร์ท่านนี้มองว่า ศาสนาเป็นตัวร้อยรัดผู้คนทางสังคมในอดีต และยังมีบทบาทต่อไปในฐานะทุนทางสังคมที่สำคัญ ที่ทำให้คนไว้วางใจกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมตตาเอื้ออาทร
ศาสนาอันเก่าแก่และโบราณคงเสื่อมได้เหมือนวัดโบสถ์ที่ทำด้วยวัตถุ ระบบกฎเกณฑ์ของศาสนาในฐานะสถาบันก็เช่นกัน ขณะเดียวกันเราก็เห็นอีกด้านหนึ่งของขบวนการทางสังคมที่มีฐานคิดและอุดมการณ์ทางศาสนา อันนี้ต่างหากที่ทั้งฮาเบอร์มาสและพุตนัมมองเห็นและให้ความสำคัญ


ศาสนาคริสต์มีบทบาทสำคัญในกระบวนการปลดปล่อยจากอำนาจเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยในละตินอเมริกา ผู้นำศาสนาและผู้นำทางสังคมที่มีอุดมการณ์ถูกอุ้มถูกฆ่าจำนวนมาก อย่างบิชอป Oscar Romero แห่งแอล ซัลวาดอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในโบสถ์ขณะที่ทำพิธีมิสซาเมื่อปี 1980 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญเมื่อปี 2018
เบื้องหลังการต่อสู้ของขบวนการทางศาสนาในละตินอเมริกา คือ แนวคิดเทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย (Theology of Liberation) ที่นำมาร์กซิสท์มาประยุกต์ มองเห็นบาปสังคม (social sin) คือระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ก่อให้เกิดปัญหาความอยุติธรรมทั้งมวล ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ข่มเหง จึงควรได้รับการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ
ดอม เฮลเดอร์ คามารา บิชอบชาวบราซิลในยุคเผด็จการครองเมืองบอกว่า “เมื่อข้าพเจ้าให้อาหารคนจน คนก็บอกว่าข้าพเจ้าเป็นนักบุญ แต่เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ทำไมคนจึงยากจน คนก็หาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสท์” แต่ที่สุดเราก็ได้เห็นชัยชนะของขบวนการประชาธิปไตยในละตินอเมริกา แม้ต้องแลกด้วยหลายหมื่นหลายแสนชีวิต
แนวคิดนี้แพร่ไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะที่ฟิลิปปินส์ ที่ทำให้เกิดพลังในการต่อสู้กับเผด็จการมาร์กอส ที่แพ้พ่ายไปในท้ายที่สุด

 

แนวคิดทางศาสนาที่ใช้มาร์กซิสท์ประยุกต์มีพลังในการวิเคราะห์สังคมได้อย่างแหลมคม และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่ในทางการเมือง แต่ด้านสิทธิพลเมือง ความเสมอภาคทางเพศ การเหยียดผิว ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและประเด็นอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า ศาสนายังมีพลัง เป็นฐานให้ต่อยอดเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้
แต่บทบาทที่โดดเด่นที่สุดของศาสนาแต่ไหนแต่ไรมาเป็นเรื่องทางสังคม การสงเคราะห์ การพัฒนา การศึกษา การบริการด้านสุขภาพ และการช่วยเหลือคนทุกเพศทุกวัยที่ด้อยโอกาส คนชายขอบ คนยากจน คนเจ็บป่วย คนพิการ คนไร้ที่อยู่อาศัย ที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งแม้ภาครัฐจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ก็เป็นงานที่ต้องทำด้วย “ใจ” ที่คนที่มีความเสียสละและอุดมการณ์จริงๆ เท่านั้นจะทำได้
อย่างที่เราเห็นมูลนิธิช่วยคนตาบอด คนโรคเรื้อน คนเป็นเอดส์ สตรีที่มีปัญหา คนชราที่ยากจนอนาถา และอื่นๆ ที่ล้วนเป็นองค์กรทางศาสนาหรือมีพื้นฐานทางศาสนา หรือได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรทางศาสนา
มีองค์กรทุนที่มาจากศาสนาในยุโรปจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนทุนและแนวคิดเพื่อการพัฒนา เอ็นจีโอไทยหลายองค์กรก็ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีฐานทางศาสนาเหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่ได้เงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป จากการจัดการณรงค์ในเทศกาลต่างๆ ทางศาสนา
มีขบวนการใหม่อย่าง ขบวนการโฟโคลาเร (Focolare Movement) ที่ก่อตั้งโดยเคียรา ลูบิค ชาวอิตาเลียนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีอุดมการณ์แห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียว ให้ “โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” มีสมาชิกที่เป็นนักบวช เป็นฆราวาส ทุกเพศวัยทั่วโลก ส่งเสริมความสัมพันธ์ความร่วมมือกับศาสนาต่างๆ เป็นขบวนการที่มีพลังสำหรับโลกยุคใหม่มากที่สุดขบวนการหนึ่ง

 

ศาสนาในสังคมเอเชียก็มีบทบาทสำคัญทางการเมือง พระสงฆ์พุทธในพม่ามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมาตั้งแต่ร่วมขบวนการปลดแอกจากอาณานิคมของอังกฤษ ต่อมาถูกปราบปรามหนักในยุคเผด็จการทหาร บทบาทจึงถูกจำกัดลงไปมาก แต่ก็ยังเห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
บทบาทของพระสงฆ์ไทยก็เห็นได้ในยุคหลัง 14 ตุลาฯ กลุ่มพิราบขาวที่ร่วมเดินขบวนและกิจกรรมทางการเมืองกับประชาสังคม แต่หลัง 6 ตุลาฯ บทบาทก็ลดน้อยลง จนมาปรากฎอีกครั้งกับ “สันติอโศก” ที่เข้าร่วมขบวนการการเมืองกับกลุ่มและพรรคการเมือง หรือแม้แต่ธรรมกายที่อาจไม่ชัดเจนแบบสันติอโศก แต่ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งโดยตรงโดยอ้อม และมีบทบาทอย่างสำคัญทางสังคม เป็นขบวนการใหญ่ระดับชาติและนานาชาติ
ขณะที่ธรรมกายมีภาพลักษณ์ของ “ทุนนิยม” แบบ “พุทธพาณิชย์” สันติอโศกเป็นประชาคม “สังคมนิยม” ที่พวกเขาเรียกว่า “บุญนิยม” ที่พึ่งพาตนเองและอยู่แบบพอเพียงโดยระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ที่ชัดเจน แสดงว่าศาสนาไม่ได้ล้าสมัย สามารถนำไปสู่การปฏิบัติและแก้ปัญหาของบุคคลและชุมชน และส่งผลไปถึงระดับชาติได้

 

ศาสนาพุทธในเมืองไทยนอกจากสองสำนักดังกล่าวข้างต้น อื่นๆ ก็เป็นกลุ่มผู้คนที่ศรัทธาในพระภิกษุสงฆ์ ผู้นำสำคัญทางจิตวิญญาณอย่างหลวงพ่อคูณ หลวงตามหาบัว เกจิอาจารย์ ที่เคารพนับถือเป็นพระอรหันต์ต่างๆ ซึ่งก็อยู่ในกรอบเก่าประเพณีเดิม ไม่ได้มีบทบาทสำคัญพิเศษทางสังคมการเมือง
ศาสนาในสังคมเอเชียยังมีบทบาทสำคัญ นิกายหรือศาสนาใหม่ๆ ในญี่ปุ่นมีสมาชิกหลายล้านก็มี นับเป็นขบวนการทางสังคมที่มีพลัง แนวคิดเรื่องจิตอาสาของมูลนิธิฉื่อจี้ที่ไต้หวันที่ทำให้ “คนรวยช่วยคนจน” ได้อย่างไม่น่าเชื่อว่า แม่ชีเล็กๆ คนหนึ่งจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมได้มากเพียงนั้น
ศาสนาเป็นมโนสำนึกของสังคม ขณะที่เทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อยเป็นฐานคิดของละตินอเมริกา ของเอเชียก็มีเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ ที่อีเอฟ ชูมาเคอร์ได้สังเคราะห์ออกมา เช่นเดียวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ เพียงแต่ว่ายังไม่มีการนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังเท่านั้น แม้แต่ในประเทศไทย “บ้านเกิด” ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
แต่วันนี้ที่โควิดมาเร่งการเปลี่ยนแปลง จีน ฝรั่งเศสและหลายประเทศประกาศชัดเจนว่า “แต่นี้ไปเราจะพึ่งพาตนเอง” เพราะโควิดได้พิสูจน์ว่า โลกาภิวัตน์ไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาในคราวิกฤติ ตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าสาหัสกว่าเดิม เพราะต่างคนต่างก็หาทางเอาตัวเองรอดก่อน
วันนี้คงถึงเวลาของ “เศรษฐกิจพอเพียง”
อย่างที่วิคตอร์ ฮูโกบอก “พันกองทัพยังไม่เท่าความคิดหนึ่งที่ถึงเวลาของมัน” (Stronger than a thousand armies, is an idea whose time has come)
 เสรี พงศ์พิศ 19 มิถุนายน 2020

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"