สายตรงถกโควิด สหรัฐชื่นชมไทย


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" หารือผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกลกับ รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา ชื่นชมไทยปราบโควิด-19 อยู่หมัด ขณะที่ ศบค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากบาห์เรน ผู้ติดเชื้อทั่วโลกใกล้แตะ 9 ล้านคนแล้ว 
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้หารือผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกลกับนายมาร์ค เอสเปอร์ รมว.กลาโหมสหรัฐอเมริกา ทั้งสองฝ่ายได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งระหว่างกัน และความร่วมมือกันแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยอยู่ระหว่างพัฒนาวัคซีนร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศและสังคมโลก 
    พร้อมทั้งได้หารือร่วมกันถึงความร่วมมือทางทหาร ด้านการฝึกศึกษาและด้านยุทโธปกรณ์ รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล และความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของภูมิภาค
    ด้านนายมาร์ค เอสเปอร์ ได้ชื่นชมและแสดงความยินดีกับความสำเร็จของไทยในการแก้ปัญหา COVID-19 ที่ผ่านมาและขอบคุณชุดแพทย์ทหารไทยที่ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยสหรัฐพร้อมสนับสนุนไทยในการพัฒนากองทัพให้มีความเข้มแข็ง และมองว่าไทยมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อการแก้ปัญหาความมั่นคงของภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกันสหรัฐยินดีเข้ามาร่วมเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาคโดยรวม
    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวแสดงความขอบคุณสหรัฐที่สนับสนุนไทยแก้ปัญหาโควิด-19 ผ่านสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (USAID) และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกคนไทยกว่า 2,000 คนเดินทางกลับจากสหรัฐที่ผ่านมา ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนและพร้อมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งขอให้กำลังใจรัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนสหรัฐ ให้สามารถผ่านความท้าทายที่ยากลำบากและกลับมาเข้มแข็งโดยเร็ว สำหรับความมั่นคงทางทะเล ไทยพร้อมดำรงบทบาทสะพานเชื่อมระหว่างคู่พิพาทในทะเลจีนใต้ และยินดีสนับสนุนสหรัฐเสริมสร้างความร่วมมือในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงอย่างสร้างสรรค์ ผ่านกลไกที่มีอยู่ร่วมกัน
    ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เผยแพร่เอกสารข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ประจำวันที่ 20 มิ.ย.ว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากประเทศบาห์เรน โดยเป็นเพศหญิงอายุ 28 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป เดินทางกลับมาถึงไทยวันที่ 14 มิ.ย. และเข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ที่ จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อในวันที่ 18 มิ.ย. โดยผลตรวจพบเชื้อ ซึ่งไม่แสดงอาการ 
    ทั้งนี้ ผู้ป่วยยืนยันสะสมยังคง 3,147 ราย โดยติดเชื้อในประเทศสะสม 2,444 ราย และผู้ป่วยยืนยันอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้สะสม 210 ราย มีผู้ป่วยหายเพิ่ม 10 ราย ยอดผู้ป่วยรักษาหายแล้วสะสม 3,018 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 71 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
ผู้ติดเชื้อทั่วโลกใกล้แตะ 9 ล้านคน
    สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั่วโลก ในช่วง 24 ชม. มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 179,968 ราย โดยผู้ป่วยทั่วโลกสะสมอยู่ที่ 8,757, 750 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6,235 ราย เสียชีวิตสะสม 462,519 ราย โดยผู้ติดเชื้อมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก คือสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,297,190 ราย เพิ่มขึ้น 33,539 ราย เสียชีวิต สะสม 121,470 ราย เพิ่มขึ้น 719 ราย รองลงมาคือบราซิล มีผู้ป่วยสะสม 1,038,568 ราย เพิ่มขึ้น 55,209 ราย เสียชีวิตสะสม 49,090 ราย เพิ่มขึ้น 1,221 ราย 
    สำหรับประเทศในทวีปเอเชียมากที่สุดคือ อินเดีย ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 395, 812 ราย เพิ่มขึ้น 14,721 ราย เสียชีวิตสะสม 12,970 ราย เพิ่มขึ้น 366 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 91 ของจำนวนผู้ป่วยอันดับโลก
    นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่สำนักงานในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า โลกกำลังเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่มีความอันตรายอย่างมาก เนื่องมาจากตอนนี้ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกต่างรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือแม้แต่มาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่รุนแรงและรวดเร็ว
    เชื้อไวรัสโคโรนาได้คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกไปแล้ว 462,681 ศพ มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 8.76 ล้านราย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดครั้งแรกในจีนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ โดยสหรัฐเป็นประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงที่สุด ตามด้วยบราซิล
    ผอ.องค์การอนามัยโลกยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 โดยระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกยังต้องรออีกหลายเดือนในขณะที่หลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างการทดลองวัคซีน ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า เชื้อไวรัสตัวนี้มีความน่ากลัวตรงที่จะสามารถแพร่ระบาดไปได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจพบเชื้อ
ประชาชนส่วนใหญ่ทุกข์เพราะโควิด
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความทรงจำประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,766 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 18-19 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.1 ได้รับผลกระทบเกิดความทุกข์ยาก เดือดร้อน ช่วงโควิด-19 ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.9 ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน
    อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงมาตรการของกระทรวงต่างๆ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีที่ช่วยลดความทุกข์ยาก เดือดร้อนของประชาชนช่วงโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 ระบุกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องแจกเงินเยียวยาให้ประชาชน เป็นมาตรการช่วยลดความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน รองลงมาคือร้อยละ 56.3 ระบุกระทรวงพลังงาน เรื่องลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และแจกแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่างๆ, ร้อยละ 43.2 ระบุกระทรวงมหาดไทย เรื่องลดค่าไฟ ลดค่าน้ำประปา ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ระบุกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องแจกหน้ากากอนามัย และร้อยละ 2.7 ระบุกระทรวงดิจิทัลเรื่องโทรฟรี
    ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการติดตามดู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เมื่อเย็นวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 ระบุไม่ได้ติดตาม ในขณะที่ร้อยละ 27.4 ระบุติดตาม
    นอกจากนี้ เมื่อถามถึงระดับความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถ้าทำได้ตามที่พูดในรายการโทรทัศน์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ระบุมีความเชื่อมั่นศรัทธาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึงไม่เพิ่มขึ้นเลย, ร้อยละ 9.6 ระบุเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 14.9 ระบุเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และร้อยละ 9.2 ระบุเพิ่มขึ้นมากถึงมากที่สุด
    ที่น่าเป็นห่วงคือ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ดีที่สุดมีอยู่ในตอนนี้หรือไม่ พบว่าร้อยละ 28.4 ระบุยังมีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ดีที่สุดอยู่ในตอนนี้ แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.6 ระบุไม่มี
    ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ความทรงจำของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ถ้าประชาชนมีความทรงจำที่ดีต่อรัฐบาล ก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ โดยผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศเป็นทุกข์และเดือดร้อนช่วงโควิด-19 ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเดือดร้อนทุกข์ยากเหมือนกับประชาชนทั่วไปหรือไม่ แต่ยังดีที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีไม่ได้ปล่อยปละละเลยความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน จึงได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยาจนเป็นที่จดจำ (Remarkable) ที่ไม่ใช่แค่การรับรู้ (Perception) เพราะมาตรการต่างๆ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่วาทกรรมทางการเมืองที่ฟังแล้วดูดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"