หลัง Great Lockdown คือ Great Reset


เพิ่มเพื่อน    

             วิกฤติครั้งนี้ไม่เหมือนวิกฤติครั้งใดในอดีต

            นี่คือสัจธรรมแห่งโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายจะต้องสรุปบทเรียนระหว่างทางไปตลอด ไม่ต้องรอให้การเดินทางเสร็จสิ้นก่อนเพราะยังไม่รู้ว่าจะต้องฟันฝ่าไปอีกยาวนานเพียงใด

            สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีรายงานในหัวข้อ

            "เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 : โรคปฏิวัติโลก ยกเครื่องสู่อนาคตวิถีชีวิตใหม่" ที่มีแนววิเคราะห์ที่น่าสนใจ

            บทวิเคราะห์นี้เขียนโดย ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. และนายทศพล ต้องทุ้ย ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.

            ตอนหนึ่งของบทวิเคราะห์นี้พยายามจะตอบคำถามที่ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นจากวิกฤติโควิด-19  แบบไหน?

            ได้คำตอบว่า

            แม้คำตอบจะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ประเมินได้ว่าการฟื้นตัวจะขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวของประชาชน ธุรกิจ และภาครัฐ ให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก

            ถ้าเราปรับตัวเข้ากับโครงสร้างใหม่ได้เร็ว เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวแบบ "เครื่องหมายถูก" คือ เศรษฐกิจไถลลงเร็ว แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

            โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัว คือการควบคุมการแพร่ระบาด การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับตัวของธุรกิจและแรงงาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบาซูกาการคลังของภาครัฐ

            นักวิชาการแบงก์ชาติมองว่าในมิติด้านเศรษฐกิจมหภาค มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นส่งผลข้างเคียงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งนี้เพราะไทยถือเป็นประเทศที่มีระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศสูง มูลค่าความเสียหายในครั้งนี้จึงสูง โดยข้อมูลล่าสุด ณ เมษายน 2563 พบว่าภาคส่งออกซึ่งมีขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP หดตัวสูงร้อยละ 16 ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งมีขนาดร้อยละ 17  ของ GDP หดตัวร้อยละ 100

            วิกฤติครั้งนี้ให้บทเรียนสำคัญกับเราว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์มีต้นทุนที่สูงเพื่อแลกกับชีวิตและสุขภาพของประชาชน และได้เรียนรู้ว่าปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นเรื่องแยกส่วนกัน รวมทั้งเราได้เห็นทรัพยากรสำคัญของชาติ คือพลังความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน

            "ในระยะข้างหน้าเราควรใช้พลังนี้ต่อยอดต่อไป เพื่อพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสในการยกเครื่องเศรษฐกิจขนานใหญ่ (Great Reset) โดยผสมผสานกับแนวคิดข้อเสนอของ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum ดังนี้

            1.การช่วยเหลือลดผลกระทบในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ภาครัฐควรใช้เงินงบประมาณขนาดใหญ่นี้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้กระจายไปให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย  รวมทั้งนำเงินทุ่มลงทุนเพื่อให้เกิดคลื่นการลงทุนระลอกใหม่ของประเทศเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เช่น การลงทุนด้านสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและอาชีพโดยชุมชน  การพัฒนาโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (ปี 2561-2580) ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่มักสร้างความเสียหายแก่เกษตรกร การพัฒนาเมืองสีเขียว การสร้างระบบนิเวศ การพัฒนาทักษะแรงงานและสร้างอาชีพ โดยเฉพาะแก่แรงงานที่ย้ายกลับท้องถิ่นและแรงงานที่ตกงานในเมืองใหญ่ ช่วยให้เกิดการจ้างงานและสามารถชดเชยผลกระทบจากวิกฤติได้อีกทางหนึ่ง

            2.การปฏิรูประบบสถาบันเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสร้างระบบตลาดแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม การแข่งขันเสรีที่สร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเอง และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้แข่งได้ในตลาดโลก การปฏิรูปนโยบายสาธารณะที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี พร้อมทั้งทบทวนการลดหย่อนที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีรายได้สูง หรือวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานที่ทำงานรูปแบบใหม่ๆ และการขยายอายุแรงงานในระบบ

            3.การติดอาวุธเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสนับสนุน Thailand 4.0 เพื่อยกระดับการเติบโตและก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งด้านการสาธารณสุข เช่น การแพทย์ทางไกล การศึกษา เช่น การเรียนการสอนออนไลน์ การขนส่ง เช่น บริการดิลิเวอรี และการทำงานจากที่บ้าน เพื่อใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสเพื่อก้าวกระโดดความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีแก่ประชาชนทั่วไป และเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้

            4.การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเร่งพัฒนาทักษะ นอกเหนือจากประชาชนต้องช่วยกันรักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดรอบสอง และยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่โดยเร็วแล้ว ภาคประชาชนต้องเร่งพัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็น "แรงงานแห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21" ในยุคที่คนต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แรงงานจึงต้องมีความยืดหยุ่นพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong  Learning)

            โดยเฉพาะในสาขาที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต เช่น ความรู้ด้านเทคโนโลยี ความรู้ด้านการตลาดโดยเฉพาะออนไลน์ ภาษาต่างประเทศ รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและเพิ่มรายได้

            ไทยเราพร้อมจะ Reset ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์หรือยัง?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"