ทำไมต้องมี ‘ศบค.สู้วิกฤติเศรษฐกิจ’?


เพิ่มเพื่อน    

        หนึ่งในข้อเสนอของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการประชุมรอบพิเศษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือการตั้ง "ศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด" ในลักษณะคล้ายกับ ศบค.

            เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจและควรแก่การทำให้เกิดเป็นจริงให้ได้...หากจะให้การฟื้นของเศรษฐกิจจากวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

            เพราะวิธีการบริหารวิกฤติด้านเศรษฐกิจทุกวันนี้ยังเป็นแบบ "Old Normal" หรือ Business as  Usual

            นั่นหมายความว่า การแก้ปัญหายังแบ่งกันตามกระทรวง ทบวง กรม ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์, งบประมาณ, บุคลากร และการประเมินประสิทธิภาพของการแก้ปัญหา

            พูดง่ายๆ คือยังทำงานเป็นแท่งๆ แบบไซโลอยู่ แม้จะมีการประชุมร่วม มีคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ  แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องของตัวใครตัวเขามากกว่าจะเป็นการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมในแง่ปฏิบัติ

            การทำงานของ ศบค.เน้นไปทางด้านแพทย์เพื่อจัดการการแพร่ระบาดของโควิดให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

            ศบค.มีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ด้านการแพร่เชื้ออย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง มีการแถลงข่าวทุกวัน ตอบคำถามสื่อทุกข้อ และปรับทิศทางแนวปฏิบัติตามสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

            คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า  นายกฯ แจ้งว่าการประชุมทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นรูปแบบใหม่ (นิวนอร์มอล) ที่มีการหารือกับทุกภาคส่วน และจะนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาประกอบกับข้อกฎหมายและงบประมาณ

            ท่านบอกว่าบางเรื่องจะส่งต่อให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือบางเรื่องนำไปเข้า ครม.เศรษฐกิจก่อน โดยมีประเด็นสำคัญในครั้งนี้ คือ

            ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง "ศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19)"

            กลไกที่ว่านี้จะมีรูปแบบการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

            เหตุผลที่เสนอเพราะเห็นว่า ศบค.สามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิดได้ดี เป็นระบบและรวดเร็ว เพราะมีเอกภาพและบูรณาการ จึงควรนำวิธีบริหารจัดการมาใช้กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย  โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

            คุณกอบศักดิ์บอกด้วยว่า ที่ประชุมยังไม่ได้พูดถึงการเพิ่มเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ซึ่งจะหมดในเดือน ก.ค.นี้ แต่กำลังดูว่าเมื่อไม่มีเงินในกระเป๋าแล้ว รัฐบาลจะช่วยเหลือต่อได้อย่างไร

            ที่ประชุมพูดถึงความช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่องมากขึ้น เพื่อให้ยืนได้จนถึงปลายปี

            เอกชนยังขอให้รัฐบาลผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ

            ข้อห่วงใยอีกประการหนึ่งคือ บัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ 500,000 รายจะตกงานหลายแสนคน

            ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษคือ ที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลจัดทำและเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วทุกเดือน

            ทุกวันนี้ต้องรอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ "สภาพัฒน์" แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทุก 3 เดือนซึ่งช้าเกินไป

            เอกชนขอให้ภาครัฐรวบรวมตัวเลขที่แต่ละหน่วยงานทำออกมาเปิดเผยในทุกๆ เดือน

            ประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีข้อเสนอหลายเรื่อง

            เช่น การขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค.นี้ออกไปอีกระยะหนึ่ง

            หรือการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีก วงเงิน 50,000 ล้านบาท จากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท

            มีการเสนอให้แก้ปัญหาธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยเงินกู้จากวงเงินสินเชื่อผ่อนปรนให้เอสเอ็มอี

            เห็นได้จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งวงเงินไว้ให้ 500,000 ล้านบาท แต่ปล่อยกู้จริงเพียง  100,000 ล้านบาท

            จึงเสนอให้กู้ตามหลักเกณฑ์ ธปท.ที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก จากนั้นในปีที่ 3-5 ขอให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำเงินกู้ในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้มากขึ้น

            ภาคท่องเที่ยวเสนอให้ส่งเสริมท่องเที่ยววันธรรมดา กระตุ้นท่องเที่ยวเมือง ออกมาตรการชิม ช้อป  ใช้ และการทำแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทยสำหรับจองโรงแรม แทนที่จะไปเสียค่าธรรมเนียมสูงๆ ให้แพลตฟอร์มต่างประเทศ

            คุณกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่าเอกชนมีความเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน หรือยังไม่นิ่ง มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน

            คุณกลินท์ระบุถึงการลาออกของ "4 กุมาร" ที่แม้จะยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่ได้อยู่ในพรรคแล้ว อาจทำให้ข้าราชการเกียร์ว่าง รวมทั้งการประสานงานระหว่างพรรค หน่วยงานอาจมีปัญหา มีความล่าช้า

            พรุ่งนี้จะวิเคราะห์ต่อถึงประเด็นข้อเสนอ "ศบค.เศรษฐกิจ".

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"