โควิดฉุดยอดใช้พลังงานดิ่งต่ำสุดรอบ 70 ปี


เพิ่มเพื่อน    

        "โควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าของโลกก็หดตัว 5% มากสุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2473 ขณะที่ไทยลดลงหนักเช่นกัน ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ไฟฟ้าลดลง 3.8% ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด เพื่อปรับแผนพลังงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยต้องพิจารณาควบคู่กับโอกาสการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในประเทศด้วย เพื่อที่จะทบทวนแผนพีดีพีฉบับใหม่ และอีก 4 แผนพลังงานหลักของประเทศอาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564" นายกุลิศกล่าว

 

         สถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะกดดันมาตลอดหลายเดือนจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ ในสังคมจะต้องหยุดชะงักไป ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย ที่กำลังซื้อของคนนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกของสินค้าบางชนิดที่ถูกยกเลิกไป เพราะหลายประเทศต้องทำการปิดเมือง ขณะที่การบริการนั้นยิ่งได้รับผลกระทบหนัก เพราะด้วยความไม่ไว้วางใจนี้ การบริการเกือบทุกด้านจึงไม่มีใครกล้าจะใช้งาน และเมื่อธุรกิจต่างๆ นั้นได้รับผลกระทบจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง จึงทำให้การจ้างงานนั้นถูกมองว่าเป็นภาระ จึงเกิดภาวะเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        ด้วยสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้ความต้องการหลายๆ ด้านลดลง นอกเหนือจากสินค้าและบริการทั่วไป ยังมีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง กลุ่มคมนาคมและการขนส่ง รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ที่แม้จะเป็นปัจจัยหลักของการดำเนินชีวิต ที่ก็ยังมีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยในงานสัมมนา "ทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด" ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่า ได้มีการติดตามสถานการณ์การใช้พลังงานภาพรวมในปี 2563 อย่างใกล้ชิด หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การใช้น้ำมันและไฟฟ้าลดลง

ต่ำสุดในรอบ 70 ปี

        โดยข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (อีไอเอ) ประเมินว่าการใช้พลังงานของโลกปี 2563 จะลดลงมากสุดในรอบ 70 ปี รวมถึงหากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ก็อาจกระทบต่อการใช้พลังงานได้อีก ซึ่งเหล่านี้ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับแผนพลังงานของประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (พีดีพี 2018 Rev.1) ระยะยาว 20 ปี ที่อาจจะปรับในไตรมาส 4 ปีนี้

        "โควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าของโลกหดตัว 5% มากสุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2473 ขณะที่ไทยลดลงหนักเช่นกัน ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ไฟฟ้าลดลง 3.8% ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด เพื่อปรับแผนพลังงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยต้องพิจารณาควบคู่กับโอกาสการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในประเทศด้วย เพื่อที่จะทบทวนแผนพีดีพีฉบับใหม่ และอีก 4 แผนพลังงานหลักของประเทศอาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564" นายกุลิศกล่าว

 

ปรับแผนการใช้พลังงาน

         สำหรับแผนพลังงานทั้ง 5 ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (พีดีพี 2018 Rev.1), แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (เออีดีพี 2018), แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561-2580 (อีอีพี 2018), แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2561-2580 (แก๊ส แพลน 2018) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (ออยล์ แพลน)

        “จากสถานการณ์โควิด-19 นี้เอง กระทรวงพลังงานจะต้องเร่งวางแผนหรือทบทวนแผนบางโครงการอย่างเร่งด่วน อย่างแผนการผลักดันน้ำมัน E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ และยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้นั้น เบื้องต้นต้องเลื่อนออกไปก่อนเป็นไตรมาส 2 ปี 2564 โดยจะขอดูสถานการณ์ช่วงปลายปีอีกครั้ง ส่วนการกำหนดน้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานที่เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และให้น้ำมัน B7 เป็นน้ำมันทางเลือกนั้น ตามแผนจะยกเลิกบิลเสร็จภายในปี 2575 ซึ่งยังอีกนาน ตอนนี้จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง” นายกุลิศกล่าว

       นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ยอดใช้พลังงานของไทยลดลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่หดตัว โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะลดลง 5% ในปีนี้ ขณะที่ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ราคาพลังงานลดลง ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และราคาก๊าซอ่าวไทย, เมียนมา ก็จะมีผลดีทำให้ราคาก๊าซเฉลี่ยผลิตไฟฟ้าลดลงในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้

       นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงทำให้การสำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% ตัวเลขหารเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าก็ลดลง ทำให้ต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ร่วมแก้ไขส่วนนี้ ทั้งส่งเสริมการส่งออกไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมพลังงานทดแทน โดย กฟผ.จะลงทุนสายส่งรองรับส่วนนี้ประมาณ 120,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชน ทั้งการส่งเสริมห้องเย็นเก็บผลไม้ โดยมีค่าไฟฟ้าราคาพิเศษ รวมทั้งแผนปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบอีกด้วย

        นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อปรับแผนประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จากแผนเดิมจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค.66 เป็นวันที่ 1 ม.ค.67 เนื่องมาจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันได้เสนอขอเลื่อนจากผลกระทบจากล็อกดาวน์ เพื่อสกัดกั้นโรคโควิด-19 มีการปิดสนามบิน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาตรวจงานปรับปรุงโรงกลั่นของไทยได้ ทำให้การลงทุนของทุกโรงกลั่น มูลค่ารวมราว 50,000 ล้านบาท ต้องล่าช้ากว่าแผน

เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง

         ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นในเครือ ปตท.ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนงานเดิมในการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 แม้ว่ากระทรวงพลังงานมีแผนจะเลื่อนการบังคับใช้น้ำมันยูโร 5 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิม 1 ม.ค.2566 เนื่องจากโรงกลั่นไทยออยล์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว ยังปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 แสนบาร์เรลต่อวัน มูลค่าการลงทุน 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

         สำหรับทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้ คาดว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.5-43 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันจะดีขึ้น แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัย อาทิ โควิด-19 หากเกิดรอบ 2 ความต้องการใช้น้ำมันก็จะหายไป, กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันลดกำลังการผลิตได้ตามสัญญาหรือไม่ รวมถึงสงครามทางการค้า เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท.มีการปรับตัว โดยปรับลดกำลังการกลั่นน้ำมันลงเหลือ 80% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด เทียบกับโรงกลั่นนอกกลุ่ม ปตท. ที่บางรายลดการกลั่นเหลือ 60-70.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"