หาดบ้านกรูดและเขาธงชัย


เพิ่มเพื่อน    


ชายหาดบ้านกรูด อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          คงจะสัก 8 โมงนิดๆ ตอนที่ผมเดินลงจากเขาช่องกระจก บรรดาลิงแสมเจ้าถิ่นนั่งขวางอยู่ตามขั้นบันไดเป็นช่วงๆ เมื่อเดินเข้าไปใกล้บางตัวก็หลีกทางแต่โดยดี บางตัวผมต้องเดินชิดราวบันไดหลบให้มัน รู้สึกหวั่นเล็กๆ ว่าจะโดนจู่โจมชิงขวดน้ำและกล้องถ่ายรูป แต่เมื่อเดินลงไปจนถึงศาลาพักกลางเขาและได้เจอเพื่อนรุ่นน้องชื่อโกแบงอีกครั้ง ขณะเดินลงเขาไปด้วยกันบุคลิกนักเลงโตเด็ดเดี่ยวของโกแบงทำให้ไม่มีลิงตัวไหนกล้าขวางทาง เราจึงลงถึงตีนเขาโดยสวัสดิภาพ

                ผู้ที่ขึ้นบันได 396 ขั้นพิชิตยอดเขาช่องกระจกสามารถไปรับประกาศนียบัตรได้ที่กองส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่เวลานี้ผมมองว่ามื้อเช้าสำคัญกว่า โกแบงพาไปกินโจ๊กเจ้าประจำของเขาชื่อร้าน “โจ๊กมั้ยจ๊ะ” ในตลาดเทศบาล 2 ถนนสู้ศึก ร้านเล็กๆ เป็นแผงซุ้มชั่วคราว มีโต๊ะให้นั่งสามสี่ตัว ลูกค้าเต็มเกือบตลอด เราสั่งโจ๊กหมูใส่ไข่คนละชาม พ่อค้าใส่หมูสับไร้มันมาหลายก้อนอยู่ซีกหนึ่งของชาม หมี่กรอบกองอยู่อีกซีก อิ่มอร่อยเพียงชามละ 35 บาท ในร้านมีเมนูโจ๊กสำหรับเด็กด้วย เริ่มต้นแค่ 10 บาทเท่านั้น


หาดบ้านกรูดยามนี้ เงียบสงบน่าไปเยือน

                ผมเดินถ่ายรูปแผงขายอาหารทะเล พยายามถ่ายไม่ให้ติดแม่ค้า เพราะว่าเกรงใจ แม่ค้ายังสาวคนหนึ่งแซวว่าถ้าถ่ายไม่ติดแม่ค้าไม่ให้ถ่ายนะ แผงใกล้เคียงก็หัวเราะขำขันกันครื้นเครง อารมณ์ดีรับอรุณแบบนี้มีให้เห็นทั่วไปในตัวเมืองประจวบฯ

                เราไปไหว้ศาลหลักเมืองกันต่อจากนั้น และผมขอให้โกแบงพาไปยังพิพิธภัณฑ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พอจอดรถเดินเข้าไปเจ้าหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดท่านหนึ่งเดินมาทำงานพอดี บอกว่าพิพิธภัณฑ์ยังไม่เปิด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

                ระหว่างทางกลับบ้านโกแบง ก่อนถึงถนนเพชรเกษม เราแวะดื่มกาแฟกันอีกรอบ ชื่อร้าน “นิลเฟรช คอฟฟี่ & เฟรนด์” ร้านสวยน่านั่ง ผมสงสัยว่าจะเป็นร้านของคุณจุ๋ย วรัทยา นิลคูหา ดาราคนสวย ได้รับคำตอบจากบาริสต้าสาวว่าเป็นของพี่คุณจุ๋ยอีกที ด้านหลังร้านกาแฟกำลังจะเปิดเป็นที่พักประเภท Bed and Breakfast

                โกแบงสั่งคาปูชิโนร้อน ผมสั่งลาเต้ร้อน กาแฟรสชาติดีมากแถมราคาไม่แพง โกแบงเป็นอดีตบาริสต้าในร้านอาหารอิตาเลียน ถามผมว่าความแตกต่างระหว่างคาปูชิโนกับลาเต้คืออะไร ผมตอบอึกอักไปว่าคาปูชิโนใส่นมน้อยกว่าลาเต้ โกแบงฟันฉับแข็งขัน “คาปูชิโนคือกาแฟใส่นม ส่วนลาเต้คือนมใส่กาแฟ” คำอธิบายนี้คมคายยิ่งนัก ผมคงต้องจำไปใช้อีกนาน


สามสหายชายทะเลและเพื่อนร่วมโลกมีปีก

                เรากลับเข้าบ้าน ผมอาบน้ำแล้วให้โกแบงไปส่งที่คิวรถตู้ใกล้สี่แยกประจวบฯ ในเวลาเที่ยงตรงเพื่อเดินทางต่อไปหาดบ้านกรูด อำเภอบางสะพาน ระยะทางห่างออกไปประมาณ 60 กิโลเมตร ค่ารถ 80 บาท รถตู้เข้าไปส่งที่หน้าสถานีรถไฟบ้านกรูด ห่างจากถนนเพชรเกษม 8 กิโลเมตร ความจริงผมอยากจะเดินทางมาด้วยรถไฟมากกว่า มี 1 ขบวนที่อยู่ในข่ายเวลาเหมาะสม ระบุในตารางเวลาว่าออกจากสถานีประจวบคีรีขันธ์ 13.28 น. แต่พอรู้ว่าเป็นขบวน 255 ขบวนเดียวกับที่นั่งจากราชบุรีมาประจวบฯ เมื่อวันก่อน โดยมาถึงช้าไปตั้งเกือบ 2 ชั่วโมง วันนี้ก็เลยไม่เสี่ยง

                ผมมองหารถรับจ้างเพื่อลงหาดบ้านกรูด แต่ไม่เจอ เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟบอกว่าปกติจะมีมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง แต่วันนี้ไม่มี จึงต้องแบกเป้เดินไปตามถนนลงหาดยาวประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วมองหาที่พัก ซึ่งเวลานี้ต่างพร้อมใจกันลดราคา รีสอร์ตคืนละหลายพันลดลงไปจากเดิมเกินครึ่ง ที่ราคาถูกอยู่แล้วก็ยังลด 10-20 เปอร์เซ็นต์ ผมเลี้ยวซ้ายไปบนถนนเลียบหาดราว 100 เมตร เข้าไปถามราคากับ “บ้านกรูดแบ็คแพ็ค รีสอร์ท & เรสเตอรอง” ลักษณะเป็นเกสต์เฮาส์มากกว่ารีสอร์ท และช่วงนี้ร้านอาหารไม่ได้เปิด บ้านพักมีอยู่ด้วยกัน 5 หลัง ปกติราคา 800 บาท เวลานี้ลดเหลือ 700 บาท มีจักรยานให้ยืมด้วย ผมขี้เกียจแบกเป้ฝ่าแดดไปเรื่อยๆ ก็ปลงใจให้กับเกสต์เฮาส์แห่งนี้

                บรรดาที่พักในหาดบ้านกรูดตั้งอยู่หลังถนนเลียบหาด ซึ่งถนนเลียบหาดนั้นอยู่ติดกับชายหาดและแทบจะเป็นระดับเดียวกับชายหาด หากขับรถหรือปั่นจักรยานก็จะเห็นทะเลอยู่ใกล้แค่เอื้อม หาดบางช่วงมีต้นสนกั้นระหว่างหาดทรายกับถนน บางช่วงมีต้นมะพร้าว ต้นปาล์ม และผักบุ้งทะเล บางช่วงหาดทรายเชื่อมกับถนนโดยตรง มีลักษณะเป็นลานแบนราบระนาบเดียวกับถนน น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง อยู่สูงกว่าแนวหาดธรรมชาติด้านล่าง คงมาจากฝีมือของร้านอาหารและรีสอร์ทที่โกยทรายขึ้นมาเกลี่ยแล้วนำโต๊ะไปตั้ง จัดแต่งให้ดูดียึดเป็นทำเลทอง มองทะเลในลักษณะมุมกดเล็กน้อย ส่วนของตัวร้านอาหารและครัวอยู่หลังแนวถนน รีสอร์ทบางแห่งนำวัสดุต่างๆ ไปตกแต่งบริเวณชายหาด สร้างบรรยากาศให้สวยงาม ผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าสามารถไปนั่งเล่นและถ่ายรูปได้ตามสบาย


หาดบ้านกรูดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

                หาดบ้านกรูดมีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร จากสามแยกที่มาจากสถานีรถไฟในเขตชุมชนเทศบาลตำบลบ้านกรูดตรงมายังชายหาดจะมีถนนเลียบหาดตัดผ่านเป็นสามแยก ชายหาดทางฝั่งที่เลี้ยวไปทางขวามือดูแล้วสวยสู้ทางฝั่งเลี้ยวซ้ายไม่ได้ แต่เงียบสงบมาก ที่พักส่วนใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวาง ภายในมีบ้านหรือวิลล่าแยกเป็นหลังๆ เหมาะกับผู้เข้าพักระยะยาว ต้นไม้ขึ้นหนาแน่น เลยกลุ่มรีสอร์ทไปเป็นสวนมะพร้าว เวลานี้ขึ้นป้ายพร้อมขายอยู่หลายเจ้า หากตรงไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นหาดดอนสำราญ อ่าวบ่อทองหลาง อีกสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ผมเคยแวะครั้งหนึ่งเมื่อสี่ห้าปีก่อน มีทะเลแหวก น้ำทะเลใสและก้อนหินเกลี้ยงกลม ถัดไปคือวนอุทยานแม่รำพึง

                จากสามแยกที่ได้กล่าวถึง หากเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะสุดหาดบ้านกรูดทางทิศเหนือ มีเขาธงชัยกั้นไว้ มองเห็น “พุทธธรรมสถานอุทยานวัดทางสาย” เจดีย์และพระพุทธรูปองค์ใหญ่แต่ไกลไม่ว่ามองจากจุดไหนของหาดบ้านกรูด เลยเขาธงชัยไปคือหาดทางสาย

                ผมปั่นจักรยานเลียบหาดบ้านกรูดไปทางทิศเหนือ ก่อนจะสุดหาดมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าเขตชุมชนไปเชื่อมกับถนนอีกเส้น เลี้ยวขวาปั่นตรงไปแล้วค่อยๆ ไต่ขึ้นเขาธงชัย ท่ามกลางแมกไม้รกครึ้มผมเห็นตัวบันไดทางลัดอยู่ทางซ้ายมือ จอดจักรยานไว้ไหล่เขาข้างทางแล้วเดินขึ้นบันได

                ข้อมูลจากเว็บไซต์วัดทางสายกล่าวถึงประวัติของวัดว่าเริ่มสร้างขึ้นมาในช่วงประมาณ พ.ศ.2527 โดยตระกูลรอดภัยได้สละที่ดิน 12 ไร่ ให้เป็นสาธารณสมบัติ เดิมทีใช้ชื่อสำนักปฏิบัติธรรมรอดภัยวิปัสสนาตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาทางทิศเหนือของเขาธงชัย ช่วงเวลานั้นพระอาจารย์ไมตรี ฐิตปัญโญ พระภิกษุจากสุพรรณบุรีได้จาริกไปทั่วประเทศถึง 68 จังหวัด และเมื่อผ่านลงมาทางใต้ท่านได้แวะปฏิบัติธรรมและได้อยู่จำพรรษาที่นี่ ชาวบ้านเห็นว่าท่านแสดงธรรมเข้าใจง่ายแต่ลึกซึ้ง จึงนิมนต์ให้อยู่ต่อ

                จากนั้นมีการสร้างพระตำหนักพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยพระรูปกรมหลวงชุมพรฯ ทรงยืนหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกสู่ทะเลอ่าวไทย ก่อนเกิดพายุเกย์พัดถล่มเสียหายอย่างหนักเมื่อปลายปี 2531 ได้มีงูเหลือมใหญ่ขึ้นพันพระศอของพระรูป ผู้คนจึงเลื่อมใสศรัทธา เดินทางมาสักการะขอพรนับแต่นั้นไม่ขาดสาย


พระพุทธกิติสิริชัยและพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ บนเขาธงชัย

                ถัดขึ้นไปด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางสมาธิงดงามมาก เป็นศิลปะคันธาระ หน้าตักกว้าง 10 เมตร สูง 13.82 เมตร ที่ฐานดอกบัวสูง 4.18 เมตร ประดับพระนามาภิไธย “สก” เนื่องด้วยการสร้างมีขึ้นในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 ทั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ พระราชทานพระนามว่า “พระพุทธกิติสิริชัย” และในวันที่ 6 มิถุนายน 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระพุทธกิติสิริชัย

                ถนนปูลาดขึ้นเขาไปอีกเกือบ 100 เมตรก็ถึง “พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ” บนยอดเขาธงชัย คณะสงฆ์และพสกนิกรผู้จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ประกาศความภักดี ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2539 มีพระอาจารย์ไมตรีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธานฝ่ายฆราวาสและประธานโครงการ ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกประจำราชสำนักและศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ออกแบบ

                พระเจดีย์มีลักษณะเป็นอาคารชุดหลังเดียวขนาดใหญ่ รวมเจดีย์ อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญไว้ด้วยกันในเนื้อที่ 3 ไร่ พระเจดีย์มีฐานกว้างด้านละ 50 เมตร สูง 50 เมตร สื่อถึงการครองราชย์ครบ 50 ปี มีเจดีย์องค์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์อีก 8 องค์ รวมเป็นเจดีย์หมู่ 9 องค์ หมายถึงรัชกาลที่ 9


ตำหนักกรมหลวงชุมพรฯ และพระพุทธกิติสิริชัย

                เจดีย์มีทั้งหมด 5 ชั้น เนื่องจากภายในไม่สามารถถ่ายรูปได้ และผมก็จำรายละเอียดต่างๆ ไม่ได้ จึงขออนุญาตย่อข้อมูลจากเว็บไซต์ “ประจวบทาวน์” มาไว้ดังนี้

                ชั้นที่ 1 ชั้นใต้พื้นดินเป็นที่เก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ ชั้นที่ 2 มีลานประทักษิณด้านนอก สามารถขึ้นบันไดไปยังหอกลอง หอระฆัง และศาลาราย 4 หลัง บริเวณมุมของฐานชั้นนี้เป็นที่ตั้งของใบเสมาบอกเขตโบสถ์ทั้งหมด 8 ใบ ชั้นที่ 3 เป็นวิหาร บริเวณใจกลางเป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปปางอิริยาบถสี่ จำนวน 4 องค์ มีภาพจิตรกรรมอยู่รอบผนัง ได้แก่ ภาพ 5 ธันวามหาราช, พระราชพิธีสิบสองเดือน 12 ภาพ และประเพณีท้องถิ่นไทย 50 ภาพ

                ชั้นที่ 4 เป็นพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธลีลากาญจนบพิตร” ด้านหลังพระประธานเขียนภาพจิตรกรรมพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่ภายในกรอบ 12 นักษัตร ด้านหน้าพระประธานตอนบนเขียนภาพพระพุทธเจ้าเสด็จประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขณะโปรดพุทธมารดา ส่วนตอนล่างตามช่องหน้าต่างกระจกสีเขียนภาพจากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก มีพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” และตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ชั้นที่ 5 ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอยู่ภายในบุษบกไม้สักแกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่บนฐานทรงสูงทำด้วยหินอ่อน มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน ใจกลางประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ปางประจำพระชนมวารของในหลวงรัชกาลที่ 9


พระพุทธกิติสิริชัย

                กราบพระแล้วผมเดินกลับลงมาขอพรเสด็จเตี่ย มองวิวหาดบ้านกรูดเบื้องล่าง แต่ถ่ายรูปออกมาเห็นไม่เต็มตา จากนั้นเดินลงไปยังที่จอดจักรยานปั่นกลับทางเดิม แวะชมหาดบ้านกรูด ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ จนถึงที่พัก

                วันต่อมาฝนตกเกือบทั้งวัน ได้ออกไปกินข้าวตอนเที่ยงบนถนนที่จะตรงไปยังสถานีรถไฟ เพื่อส่งเสริมการขายในช่วงโควิดร้านอาหารที่ผมนั่งได้ลดค่าอาหารลงไปจากเมนูราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์ ในร้านมีผู้หญิง 2 คน คาดว่าคนหนึ่งคือเจ้าของร้าน ส่วนอีกคนเป็นแม่ครัว คนหนึ่งพูดภาษากลาง อีกคนพูดภาษาใต้ เพราะนี่คือเขตรอยต่อของภาคกลางและภาคใต้ หากลงไปยังอำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งเป็นอำเภอล่างสุดของภาคกลางจะได้ยินคนพูดภาษาใต้กันอย่างชุกชุม สำเนียงเดียวกับคนชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี หรือที่เรียกว่าภาษาใต้สายไชยา

                ตอนเย็น ฝนยังคงลงเม็ดบางๆ ผมปั่นจักรยานไปยังร้านอาหารบนถนนริมหาดบ้านกรูดชื่อครัวป้ารีย์ตามคำสั่งของเพื่อนชาวเยอรมัน ผมเคยแนะนำให้เขามาเที่ยวที่หาดบ้านกรูดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ โดยที่ตัวผมเองยังไม่เคยมาด้วยซ้ำ โชคดีที่เขาชื่นชอบบรรยากาศและผู้คนที่นี่มาก

                วันนี้ครัวป้ารีย์ปิดลงไปแล้ว เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเปิดในเวลาฝนตก เที่ยงวันต่อมาผมพยายามใหม่ และได้กินมื้อเที่ยงสั่งลาหาดบ้านกรูด ผมโชว์รูปเพื่อนเยอรมันจากโทรศัพท์มือถือให้เจ้าของร้านดู ซึ่งหากทางร้านจำไม่ได้ เพื่อนผมให้ใบ้เพิ่มไปว่าฝรั่งที่ชอบสั่งแกงเขียวหวานไม่ใส่เนื้อสัตว์เพิ่มความเผ็ด และกินไปสักพักก็จะขอทางร้านช่วยอุ่นแกงให้ร้อน (ชาวมังสวิรัติที่ผมรู้จักมักเรื่องมาก) แต่คุณลุงที่มีหน้าที่เตรียมวัตถุดิบให้ฝ่ายเมียบรรเลงหน้าเตาไฟจำเพื่อนเยอรมันของผมได้ตั้งแต่เห็นรูป ซึ่งพฤติกรรมกับรูปถ่ายก็คงเชื่อมโยงกันอยู่ในความทรงจำของคุณลุงนั่นแหละ


พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

                ผมเช็กเอาต์แล้วถามพี่ผู้หญิงเจ้าของเกสต์เฮาส์ถึงรถพ่วงข้างรับจ้างเพื่อจะให้ไปส่งที่สถานีรถไฟ เธอบอกว่าช่วงนี้หารถยาก จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งด้วยตัวเอง คุยกันสักพักทราบว่าเธอเป็นครู ชื่อน้อย ผมถามว่าทำไมไม่เขียนป้ายเกสต์เฮาส์เป็นภาษาอังกฤษคู่กับภาษาไทย ครูน้อยตอบว่าถ้ามี 2 ภาษาจะเสียภาษีป้ายเพิ่ม แต่ปรากฏว่าเขียนแค่ภาษาไทยก็ถูกคิด 2 ภาษา เพราะรูปคนนอนหลับดันมีสัญลักษณ์คล้ายตัวอักษร Z เล็กๆ ลอยขึ้นมาจากหัวคน 2-3 ตัว ใครได้ฟังก็ต้องอึ้ง หมดโควิดเธอหมายมั่นว่าจะทำป้าย 2 ภาษาอย่างแท้จริง

                ฝนโปรยลงมาเบาๆ ขณะครูน้อยขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งผมที่หน้าสถานีรถไฟ ผมไหว้ลาและขอบคุณ รอรถไฟด่วนพิเศษ ขบวนที่ 40 กำหนดเข้าจอดที่สถานีบ้านกรูดเวลา 14.20 น. วันนี้ล่าช้าไปเกือบ 1 ชั่วโมง เมื่อขึ้นรถไฟแล้วผมก็แจ้งผลความป๊อปปูลาร์ให้เพื่อนเยอรมันคนเดิมทราบว่าร้านอาหารยังไม่ลืมเขา วันนี้เป็นวันเสาร์ที่เขาหยุดงาน จึงมีเวลาส่งข้อความมาคุยกับผมเรื่อยๆ สุดท้ายมาลงที่เรื่องขบวนรถไฟ ตอนต้นปีเขาโดยสารกลับกรุงเทพฯ ด้วยขบวน 40 และลงที่สถานีบางบำหรุเหมือนผมในวันนี้

                กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขบวน 40 รถด่วนพิเศษ ล่าช้า 2 ชั่วโมง วันนี้ต้นเดือนกรกฎาคม การรถไฟฯ ก็พิเศษให้ผม 2 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน!.

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"