'ก.ต.' เคาะแล้ว 'เมทินี ชโลธร' นั่งประธานศาลฎีกา 'ปิยกุล บุญเพิ่ม' ประธานศาลอุทธรณ์


เพิ่มเพื่อน    

24 ก.ค.63 - ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 10/2563 มีวาระการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา ตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานศาลยุติธรรมระดับตั้งแต่ประธานศาลฎีกาลงมาจนถึงระดับหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และบัญชีผู้พิพากษาอาวุโส โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563เป็นต้นไป

ผลการประชุม ก.ต. พิจารณาและมีมติเห็นชอบการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ บัญชี 1 เลื่อนชั้น 4 เป็นชั้น 5 มีมติตั้งนางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา คนที่ 46 ขณะที่บัญชี 2 เป็นชั้น 4 สับเปลี่ยนตำแหน่งจำนวน 48 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งที่น่าสนใจระดับ ประธานศาลอุทธรณ์และรองประธานศาลฎีกา ดังนี้ 

น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ตามลำดับอาวุโสมีโอกาสที่จะขึ้นประธานศาลฎีกาในวาระต่อจากนางเมทินี สำหรับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ถือว่ามีความอาวุโสรองลงมาจากประธานศาลฎีกา, นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนในศาลฎีกา ขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา, นายพศวัจณ์ กนกนาก ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา, นายนิพันธ์ ช่วยสกุล ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาในศาลฎีกา ขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา, นายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา, นายสรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา และนายเสรี เพศประเสริฐ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา 

นอกจากระดับรองประธานศาลฎีกา มีตำแหน่งที่น่าสนใจ เช่น นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันเป็น ก.ต.ที่ได้รับเลือกคะแนนสูงอันดับ 1, นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งนับอาวุโสมีคิวขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา ต่อจากนางปิยกุล ผู้ที่ถูกเสนอบัญชีรายชื่อนั่งประธานศาลอุทธรณ์, นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญ ดูแลจังหวัดในภาคเหนือ 

สำหรับบัญชีอาวุโส บัญชี 2 จำนวน 85 ตำแหน่ง และบัญชีอาวุโสสับเปลี่ยนศาล 45 ตำแหน่ง ที่น่าสนใจ ได้แก่ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งขณะเป็นประธานศาลฎีกาได้วางนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา/จำเลย, ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดี, นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม, เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคล และการสนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายโครงการจากนโยบายนี้นำมาใช้ปฏิบัติจริง จนได้รับความชื่นชม

นอกจากนี้ยังมี นายบุญชู ทัศนประพันธ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งเป็นอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 2 ปี ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, นายวิบูลย์ แสงชมภู ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตัวเต็งกรรมการเนติฯ สายศาล ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ ก.ต.ยังเห็นชอบแต่งตั้งผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 71 ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาลจำนวน 113 คน 

ประวัตินางเมทินี ชโลธร ผู้ที่ ก.ต.มีมติแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา เกิดวันที่ 3 ธ.ค. 2498 อายุ 64 ปี รับราชการเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2524 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา การศึกษาจบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรนิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการบริหารงานยุติธรรม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 

ตำแหน่งการทำงานในอดีต เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครนายก, ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเขียว, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 4, ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา 

ปัจจุบันนางเมทินีขณะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ที่ผ่านมาได้นำคณะผู้พิพากษาลงพื้นที่ศาลต่างๆ ผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา/จำเลย อาทิ การให้ใช้คำร้องใบเดียวยื่นประกันตัว, แนะนำหลักเกณฑ์การยื่นประกันตัวโดยไม่มีหลักประกัน และการประชุมร่วมกับกรมคุมประพฤติ เพื่อยกระดับมาตรการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ให้แพร่หลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สามารถตรวจดูบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายจากผลการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 10/2563 ฉบับเต็มตามลิ้งก์ https://bit.ly/2ZV0ptJ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"