สกัดมวยล้มคดีบอส สว.ชงตั้งกก.อิสระสอบโพลคนหมดหวังพึ่งยธ.


เพิ่มเพื่อน    

  คณะทำงานอัยการคดี "บอส" ถกนัดแรกตั้งเป้าพิจารณา 3 ประเด็น ขีดเส้นสรุป 7 วัน ด้านที่ปรึกษาพิเศษ ตร.นัดถกเช่นกัน "สิระ" เผยรอง อสส.-รอง ผบ.ตร. จะมาชี้แจง 29 ก.ค.นี้ "บิ๊กตู่" ไม่ตอบสื่อบอกวันนี้เป็นวันมงคล "คำนูณ" เบื่อตั้ง กก.สอบกันเองแนะนายกฯ ตั้งคณะกรรมการอิสระระดับชาติจึงจะตอบโจทย์ได้  อดีต กมธ.สนช.แจงทนายมายื่นเรื่องจริง แต่ กมธ.ตีตกไม่มีการรับรองใดๆ "ซูเปอร์โพล" เผย ปชช.หมดหวัง พึ่งพากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ส่งผลม็อบเยาวชนไม่เชื่อถือ ผู้ใหญ่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี หวั่นลุกลามบานปลาย

    ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 28 กรกฎาคม นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง กรณีขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิต เปิดเผยถึงกรอบการประชุมคณะทำงานนัดแรกในการตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีของ อสส. หลังมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธว่า จะมีการพิจารณาใน 3 ประเด็นหลักตามที่อัยการสูงสุดได้สั่งการ ประเด็นแรกคือ คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่, ประเด็นที่ 2 การพิจารณาสั่งคดีของอัยการเป็นไปตามระเบียบกระบวนการหรือไม่ และประเด็นสุดท้าย คณะทำงานจะพิจารณาว่ามีเหตุและผลการพิจารณาอย่างไรที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ โดยอัยการสูงสุดมีกรอบให้ทำงาน 7 วัน ในการสรุปประเด็นดังกล่าว
    ส่วนที่สังคมได้ตั้งข้อสังเกตต่างๆ เช่น เรื่องพยานบุคคล 2 ปาก ที่ทำให้อัยการเชื่อได้ว่าคดีนี้เป็นความผิดฐานประมาทร่วมแทนข้อกล่าวหาเดิมนั้น นายประยุทธกล่าวว่า ในรายละเอียดคงไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการนำความคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลมาเป็นประเด็นพิจารณาหรือไม่ ซึ่งจะต้องอยู่ที่คณะกรรมการว่าจะนำเข้าพิจารณาหรือไม่
    เมื่อถามถึงกรณีที่อัยการและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตรงกัน จะสามารถรื้อฟื้นคดีนี้มาพิจารณาใหม่ได้อีกหรือไม่ นายประยุทธระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปในประเด็นนี้ ขอให้คณะทำงานได้ตรวจสอบสำนวนทั้งหมดก่อน แต่ตามหลักของกฎหมายแล้ว หากความเห็นสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด อัยการไม่สามารถสั่งฟ้องคดีได้ เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี หรือญาติของผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง ซึ่งเป็นคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความกันได้
    "การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะหาข้อเท็จจริง รวมทั้งการสั่งคดี การทำงานของอัยการว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า หากผลการตรวจสอบพบว่ามีการทำงานบกพร่องจะลงโทษกับพนักงานอัยการผู้สั่งคดีหรือไม่ ขอให้คณะทำงานพิจารณาก่อน" รองโฆษก อสส.กล่าวถึงการทำงานของอัยการสูงสุดในขณะนี้ ที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยกันว่ามีความเป็นกลางหรือไม่
    สำนักงานอัยการสูงสุดออกเอกสารข่าว เมื่อเวลา 08.30 น. นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงานฯ ได้เรียกประชุมคณะทำงานฯ โดยได้เรียกสำนวนคดีอาญา ส.1 เลขรับที่ 107/2556 จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 มาเพื่อพิจารณา ว่าการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีเหตุผลการสั่งคดีดังกล่าวอย่างไร ซึ่งได้ประชุมพิจารณาจนถึงเวลา 15.00 น. แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีเอกสารที่จะต้องตรวจพิจารณาเป็นจำนวนมาก ที่ประชุมจึงมีมติให้เลื่อนการประชุมต่อในวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. ผลคืบหน้าเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน
    ส่วนกรณีที่ ผบ.ตร.มีคำสั่งตั้ง พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการรวม 10 คนตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น พล.ต.อ.ศตวรรษเปิดเผยว่า แม้จะยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้นัดหมายให้ กก.ที่มีรายชื่อทั้งหมดมาประชุมกันเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการที่จะร่วมพิจารณาข้อเท็จจริงจะเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เช่น จเรตำรวจ, ผบช.น., ผบก.น. 5  ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอการหารือในที่ประชุมก่อน
    "แต่ยืนยันได้ว่าเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมแล้วจะเร่งพิจารณาข้อเท็จจริงทันที เพื่อหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อีกทั้ง ผบ.ตร.ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาไว้ไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง ก็ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงให้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด" พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าว
กมธ.สนช.ปัดรับเรื่องบอส
    ขณะเดียวกัน เวลา 11.55 น. ที่ท้องสนามหลวง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีติดตามข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในทุกข้อกล่าวหาว่า "ขอไม่ตอบ เนื่องจากวันนี้เป็นวันมงคล"
    หลังมีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบทบาทของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุค คสช. ที่มีพล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และ พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ ส.ว. และอดีต สนช.-อดีตรอง ผบช.น. ที่เป็นคู่เขย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นำเรื่องร้องเรียนคดีนายวรยุทธมาพิจารณา จนกระทั่งฝ่ายอัยการมีการนำความเห็นของกรรมาธิการมาพิจารณาประกอบการสั่งไม่ฟ้องเรื่องดังกล่าว
    พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สนช. กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยน้ำเสียงดุดันว่า เรื่องนี้สื่อนำเสนอข่าวอย่างคลาดเคลื่อนมาก ขอยืนยันได้ว่า กมธ.มีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาจริง หลังทนายความของ นายบอสยื่นเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรม ซึ่งเท่าที่ทราบเขายื่นทุกช่องทางที่จะทำได้ เช่น ร้องขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด รวมถึงช่องทางของกรรมาธิการฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ตอนนั้นเป็น สนช. แต่สุดท้าย กมธ.มีความเห็นตรงกันเกือบทั้งคณะไม่รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ไม่เคยมีความเห็นใดๆ ในทางคดี เช่น บอกว่าเขาไม่ผิดหรือสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมอย่างที่สังคมเข้าใจ ซึ่งรายละเอียด นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว.และอดีต สนช. จะแถลง ต่อสื่อมวลชนในวันพุธนี้
    "ผมนี่แหละคือคนที่อภิปรายหลักในห้องประชุมกรรมาธิการชุดนั้น ตอนที่มีการนำเรื่องนี้มาหารือ ตอนนั้นผมเป็น ผบช.น.ด้วยและได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. ก็มีบางคน เช่น นักวิชาการ มาพรีเซนต์อะไรต่างๆ ในห้องประชุมมากมาย ผมก็ฟังจบ จากนั้นก็อภิปรายหนักเลยในห้องประชุม ผมบอกกับกรรมาธิการว่าเรื่องแบบนี้กรรมาธิการเรานำมาหารือมาพิจารณาไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของเรา เราไม่มีหน้าที่ไปชี้ผิดชี้ถูกจน กมธ.ก็เห็นด้วย และตีเรื่องตกไปไม่ได้มีความเห็นอะไร ไม่ได้มีการรับรองใดๆ ไม่เชื่อไปตรวจดูรายงานการประชุมที่รัฐสภาได้ ผมบอกในที่ประชุมว่าอย่าไปฟังนักวิชาการบ้าบอ ที่อาจอุปโลกน์มา เรื่องนี้มันเสียหาย" พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าว
     ขณะที่ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ด้านกฎหมายและสอบสวน ผู้ที่ลงนามไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการหลังอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าว PPTV ถึงการมีความเห็นในคดี "บอส อยู่วิทยา" ว่าข้อเท็จจริงและรายละเอียดเรื่องนี้ต้องขอกลับไปดูไปตรวจสอบก่อนการพิจารณาเรื่องนี้ทำตามสเต็ป มีกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณา ทำตามปกติเลย ไม่มีอะไร ตนไม่รู้ด้วยว่าเป็นใคร เรื่องมาก็ทำตามกระบวนการตอนนี้พูดได้แค่นี้ก่อน ขอไปดูในรายละเอียด แต่ทำไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว
จี้ตั้ง กก.อิสระระดับชาติ
     ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังจาก กมธ.ได้มีหนังสือเชิญตำรวจและอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ล่าสุดได้มีการยืนยันจากทางรอง ผบ.ตร.และรอง อสส. ว่าจะเดินทางมาชี้แจงต่อ กมธ.ด้วยตนเองในวันที่ 29 ก.ค. การประชุมของ กมธ.ในวันที่ 29 ก.ค. จะอนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถร่วมรับฟังได้ตลอดการประชุม และสามารถถ่ายทอดสดการประชุมออกไปได้ เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด และหากประชาชนมีคำถามหรือข้อสงสัยประการใด สามารถส่งคำถามมายัง กมธ.เพื่อให้สอบถามต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ยืนยันว่า กมธ.จะทำหน้าที่แทนประชาชนในการซักถามข้อเท็จจริง ตรงไปตรงมา เปิดเผย เพื่อทำให้ข้อความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนกระจ่าง
    นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า มีคำถามมาถึงผมว่า คณะกรรมการ 2 ชุด คือ ชุดอัยการ (7 คน) และชุดตำรวจ (10  คน) ที่ตั้งขึ้นมาจะช่วยบรรเทาความอับอาย อึดอัด คับข้อง และคุกรุ่น ของสังคมไทยได้หรือไม่ ตอบว่า “ได้บ้าง”  แต่เมื่อเทียบกับอาการของโรคแล้วก็เปรียบเสมือนคนไข้หนักจากหลายโรครุมเร้าถูกหามเข้าไอซียู อนาคตยังไม่รู้หมู่หรือจ่า เป็น ตายเท่ากัน ได้รับการรักษาแค่ให้กินพาราฯ กับทายาแดง จะหวังให้หายคงไม่ได้ แค่รักษาชีวิต ต่ออายุยังไม่รู้จะได้ไหม ต้องรักษามากกว่านี้ ถ้าต้องผ่าตัดก็ต้องผ่าตัด เนื้อไหนร้ายต้องตัดทิ้ง แม้อวัยวะถ้าจำเป็นต้องสละเพื่อรักษาชีวิตก็ต้องตัดสินใจทำ
    นายคำนูณระบุว่า สังคมไทยเบื่อหน่ายกับระบบคณะกรรมการเต็มทน โดยเฉพาะกรรมการจากหน่วยเดียวกันสอบกันเอง ต้องถึงขั้นนี้ “คณะกรรมการอิสระระดับชาติ” ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒินอกองค์กรอัยการและองค์กรตำรวจอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ประธานกรรมการต้องไม่ใช่อัยการหรือตำรวจ ที่ตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกเอกสาร เรียกสำนวนการสอบสวน และบุคคลทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจง ตรวจสอบทั้งคดีที่เป็นปัญหา และเสนอแนะ ภาพรวมของการแก้ไขปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาขั้นก่อนถึงศาล โดยมีระยะเวลาการทำงานเพื่อเสนอรายงานเบื้องต้นภายใน 15 วัน จึงจะตอบโจทย์ได้รอบด้านและควบคู่ไปกับระบบคณะกรรมการดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะต้องเร่งนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดท่านมีชัย ฤชุพันธุ์  (ชุดที่ 2) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา จึงจะเป็นการตอบโจทย์ได้รอบคอบและรอบด้าน
    แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ในที่สุดสถานการณ์ก็เดินเข้าสู่เส้นทางกรรม แผนปฏิรูปประเทศถูกกำหนดกรอบไว้ว่าต้องสร้างระบบรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ มีอำนาจในการเก็บหลักฐาน ส่งตรวจ ทำรายงาน ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้ดุลพินิจ เลือกเก็บ เลือกตรวจ เลือกทำสำนวนโดยพนักงานสอบสวน พยานหลักฐานจะเข้าสู่สำนวนทั้งหมด อัยการและศาลจะได้เห็นในสำนวน ผู้ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ต้องมีระบบประกันคุณภาพ มีความรู้มีความสามารถ มีคุณธรรม ความเร็วรถจะแตกต่างกันขนาดนี้ไม่ได้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไม่ได้เลย เพราะไม่มีเจ้าภาพและยังมีหน่วยต่อต้าน
    "แต่กรณีนี้มีประเด็นเรื่องการสั่งของอัยการและผู้บังคับบัญชาตำรวจที่ทำไมจึงดูเหมือนเป็นการตัดสินใจโดยลำพัง ที่หนักสุดเห็นจะเป็นกรรมาธิการทางการเมืองทั้งระดับ ส.ส.และ ส.ว. ที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ รายชื่อที่ปรากฏสะท้อนระบบพรรคพวก ไม่ได้เน้นที่ความยุติธรรม ที่สำคัญทนายความในคดีทำไมจึงมีชื่อเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการชุดนี้ และตัวเองยังยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม อีกเรื่องที่พยายามผลักดันทุกทางคือสิทธิที่จะรับรู้ของเหยื่อ ระบบของไทยมักปกปิด อ้างว่าเป็นความลับในสำนวน จนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ เรื่องนี้เห็นทีจะเงียบหายง่ายๆ ไม่ได้แน่นอน" แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ระบุ
ปชช.หมดหวังยุติธรรม
    นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีทายาทกระทิงแดง สะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทยได้เป็นอย่างดีที่สุด ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องรื้อใหญ่ระบบยุติธรรม ไม่เช่นนั้นก็อยู่ในฐานะผู้สมคบคิดไปด้วย เพราะอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานราชการ อิสระที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง คดีนี้เป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นธารคือตำรวจและอัยการ ที่สามารถเลือกปฏิบัติทางกฎหมายได้ หรืออาจสามารถล้มคดีได้ถ้ามีเงินมากพอ ตนได้ยินข่าวลือเล่ามาว่า คดีนี้มีการใช้เงินกว่า 400 ล้านบาท เพื่อให้ทนายความไปบริหารจัดการ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะถ้าเป็นจริงก็ถือว่ามีราคาน้อยเกินไป และเท่ากับความยุติธรรมซื้อหาได้ง่ายดาย
    นายเมธาระบุว่า ทางออกเฉพาะหน้าในเรื่องนี้ รัฐบาลต้องเร่งผลักดันกฎหมายปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมที่ค้างอยู่ คือร่าง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา  ซึ่งยังค้างอยู่ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาแล้ว และได้ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอครม. เห็นชอบเป็นร่างกฎหมายก่อนเสนอเข้าสภาต่อไป
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐ ธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าว โดยชี้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นมีข้อพิรุธและข้อสงสัยที่สังคมไทยต้องการคำตอบจากอัยการและตำรวจถึง 9 ประเด็น พร้อมระบุว่า หวังว่าคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะไม่ทำให้คดีนี้กลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่การทำลายเสาหลักแห่งความยุติธรรมไปเสียสิ้น ถ้าเสาหลักล้ม หน่วยงานของพวกท่านก็จะมีปัญหาตามไปด้วย
    วันเดียวกัน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล  เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง "ยุติธรรมพึ่งได้ หวังได้" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,281 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.2 ต้องการให้อัยการและตำรวจออกมาชี้แจงกรณีสั่งไม่ฟ้องคดีบอส โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.7 ระบุฝ่ายการเมือง นักการเมือง เชิญอัยการและตำรวจชี้แจง เป็นการซื้อเวลา ลดกระแส
    ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.1 ระบุพึ่งพากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.6 รู้สึกหมดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมไทย, ร้อยละ 82.5 เศร้าใจ เป็นทุกข์, ร้อยละ 82.3 อับอายไปทั่วโลก และร้อยละ 65.5 สูญเสียความภูมิใจในความเป็นคนไทย ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 ระบุเป็นไปได้ที่จะเกิดการลุกลามบานปลาย เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองมากขึ้นไปอีก ในขณะที่ร้อยละ 38.3 ระบุเป็นไปไม่ได้
    น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.9 ต้องการมากถึงมากที่สุดให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดีของบ้านเมืองลงมาดูแลเยียวยาความรู้สึกของประชาชนกรณีอัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้อง ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือแนวโน้มประชาชนที่เห็นด้วยกับม็อบเยาวชน ที่มุ่งโจมตีรัฐบาลในด้านต่างๆ เช่น ความล้มเหลวแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรียกร้องยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ และกรณีล่าสุด อัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้องคดีบอสเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 53.9 ในการสำรวจครั้งแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 70.5 ในการสำรวจครั้งที่สอง
    โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 ระบุความเห็นของคนรุ่นใหม่ที่จะไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ในรัฐบาลและในหน่วยงานของรัฐ เพราะผู้ใหญ่ในรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ใหญ่ด้วยกันในบ้านเมืองที่ไม่ดี ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนได้ จะให้เชื่อฟังได้อย่างไร ผู้ใหญ่ในรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่างๆ ของบ้านเมืองควรทำตัวให้ดีเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน ไม่ใช่ประพฤติตัวประพฤติตนแบบที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"