ตั้ง‘วิชา’หาคำตอบ นายกฯผุดคกก.สางคดีไม่ฟ้องบอส/กมธ.ไล่บี้อัยการ-ตำรวจ


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ตั้ง “วิชา มหาคุณ” นั่งประธาน กก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีสั่งไม่ฟ้อง “บอส-กระทิงแดง” มีอำนาจเชิญ ขอข้อมูลเอกสารให้รายงานนายกฯ ภายใน 30 วัน “บิ๊กตู่” ลั่นเรื่องนี้ต้องมีคำตอบ ความยุติธรรมจะต้องเกิดในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้น ปัดเอี่ยวเงินบริจาค "วิชา” พร้อมตรวจสอบคดีให้กระจ่างชัดเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ถกนัดแรก 1 ส.ค.นี้ "ประวิตร" โอดตระกูล "วงษ์สุวรรณ" ไม่รู้จัก "อยู่วิทยา" อดีต กมธ.สนช.แจงแค่รับเรื่องขอความเป็นธรรมส่งให้อัยการ ไม่ได้ชี้ผิดชี้ถูก ขณะที่ กมธ.การกฎหมายฯ รุมซักตัวแทน ตร.-อัยการ จ่อเรียก "ทนาย-น้องบิ๊กป้อม" มาชี้แจง "8 พี่น้องอยู่วิทยา" ขอโทษสังคม ลอยแพ "บอส" จี้เคลียร์ตัวเอง

     เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563  เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยคำสั่งระบุว่า ตามที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่จนเป็นหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2555 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหาและผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี ต่อมาคดีบางข้อหาได้ขาดอายุความ ในส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง จึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายซึ่งรวมถึงบุพการี  บุตรและคู่สมรสที่จะฟ้องคดีเอง และขอทราบสรุปพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดำเนิดดีใหม่เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี หรือขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐ
    โดยที่คดีนี้อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมาโดย ตลอดนับแต่เกิดเหตุเมื่อ พ.ศ.2555 เมื่อปรากฏผลการสั่งคดีอันเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความอ่อนไหวกระทบกระเทือนความเชื่อในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม แม้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจ และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และพนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลเกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป
     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประขาชน ประกอบด้วย 1.นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6.นายกสภาทนายความ 7.คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ และ 10.ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้กรรมการตามข้อ 4 และ 5 อาจมอบหมายกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านนั้นๆ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในคดีเข้าร่วมประชุมแทนได้ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้มีจำนวนไม่เกินห้าคน
     ข้อ 2 คดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนตามคำสั่งนี้ หมายถึงคดีตามข้อเท็จจริงที่กล่าวถึงข้างต้น ข้อ 3 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีตามข้อ 2 และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใดโดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบวัน
เรื่องนี้ต้องมีคำตอบ
     เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการมีอำนาจเชิญหรือประสานขอความร่วมมือหรือขอเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความร่วม มือแก่คณะกรรมการ นอกจากนี้ คณะกรรมการอาจรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนในคดีนี้จากประชาชนได้
      ข้อ 4 ให้คณะกรรมการตามข้อ 1 และผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และคณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้  โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่งและค่าตอบแทนตามวรรคสอง ให้เบิกจ่ายจากสำนักงาน ป.ย.ป. ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป
    ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้รัฐบาลในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารจำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม โดยวันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าว มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน เนื่องจากคดีนี้ ประชาชนและสังคมให้ความสนใจ ดังนั้นต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน อย่างไร และแก้ปัญหาโดยที่จะไปก้าวล่วงใน ส่วนของอัยการและศาลไม่ได้ แม้กระทั่ง สนช.และ ส.ว. ตนก็ไปสั่งการอะไรไม่ได้ ซึ่งเขามีกลไกในการดำเนินการ รวมถึงตำรวจด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
    “ขอให้มั่นใจ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ปล่อยปละละเลย นิ่งนอนใจ ปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ให้ได้ ความยุติธรรมจะต้องเกิดในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้น และผมย้ำเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป การเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ อื่นๆ จะต้องเดินหน้า ทุกอย่างไม่เกี่ยวกับเรื่องการบริจาคอะไร มันคนละเรื่องกันทั้งหมด เรื่องผลประโยชน์ผมยืนยันแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น 5 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยเสียหายเรื่องเหล่านี้ ขอให้ความเชื่อมั่นกับผมด้วย และผมพยายามจะทำอย่างเต็มที่ เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวด้วยว่า ขอร้องให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อะไรที่มันร้อนๆ ช่วยลดกระแสลงไปบ้าง อย่าให้ร้อนมากนัก ตนยืนยันจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด บนพื้นฐานความเป็นธรรม วันนี้ทุกปัญหากลับมาที่นายกฯ หมด บางอย่างนายกฯก้าวล่วงไม่ได้ ขอให้เข้าใจ อำนาจมันแยกกันอยู่ ต้องไปดูที่กฎหมาย จะทำอย่างไรตรงนี้ เรื่องที่มีปัญหาตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบก็จบ โดยกรรมการตรวจสอบจะชี้แจงมา และคิดว่าประธานที่ตั้งมาน่าจะเชื่อถือได้ มันต้องมีคำตอบ
    ด้านนายวิชา มหาคุณ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัทพ์ภายหลังตอบรับเป็นประธานคณะกรรมการฯ ว่ากำลังเตรียมการประชุมนัดแรก ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คาดว่าจะประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล วันเสาร์ที่ 1  สิงหาคมนี้ กำลังประสานกับฝ่ายเลขานุการว่าจะสามารถเตรียมการและนัดประชุมได้ทันหรือไม่ ส่วนระยะตรวจสอบ 30 วัน เชื่อว่าน่าจะดำเนินการได้เร็วกว่านั้น น่าจะใช้เวลาสัก 2 สัปดาห์
พร้อมเรียกความเชื่อมั่น
    “ยอมรับว่ารู้สึกกดดันกับการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นห่วงสถานการณ์เรื่องความรุนแรง โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าข่าวออกมาจากต่างประเทศก่อน และจะมีผลกระทบในเรื่องการลงทุน โดยอ้างกระบวนการยุติธรรมว่าเราใช้ไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามระบบอุปถัมภ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นเราต้องเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนให้กลับมาโดยเร็วที่สุด”
    ส่วนแนวทางการตรวจสอบนั้น นายวิชาเปิดเผยว่า เราต้องหาความจริง ไม่ใช่หาข้อเท็จจริง 2 อย่างต่างกัน เราจะต้องไต่สวนและตรวจสอบเพื่อให้ได้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังว่ามีอะไร และมีบกพร่องอย่างไร ถ้าพบว่ามีข้อบกพร่อง ก็ต้องนำเสนอต่อนายกฯ ส่วนที่ที่อัยการสูงสุด (อสส.) และตำรวจตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบด้วย เราจะไม่ไปก้าวล่วง แต่อาจเชิญ 2 หน่วยงานมาให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของประชาชน เราเป็นเหมือนกระจกส่องหรือเป็นเรื่องของการทำให้กระบวนการโปร่งใสตามลักษณะธรรมาภิบาล
    ? นายปกรณ์? นิลประพันธ์? เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา? ในฐานะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่า? นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุม? ค?รม.รับทราบว่าได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการฯ? ที่มีนายวิชา? มหาคุณ? เป็นประธาน ซึ่งตนเองก็เพิ่งทราบจากในที่ประชุม? ครม.ว่าได้รับการแต่งตั้ง? ทั้งนี้? นายกฯ ระบุว่า คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวเพื่อเป็นการคลายความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม จึงมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา โดยให้พิจารณาทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย
    พล.อ.ประวิตร? วงษ์สุวรรณ? รองนายกรัฐมนตรี? ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปตำรวจ? สืบเนื่องคดีของนายวรยุทธว่า? เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เรื่องอัยการและเรื่องตำรวจ ที่ต้องออกมาชี้แจง รัฐบาล รวมถึงตนก็ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว? เมื่อถามว่ากังวลว่ากลุ่มนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวจะนำประเด็นนี้ไปปลุกระดมหรือไม่? พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่หรอก? นายกฯ ก็ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ทุกอย่างทำไปตามขั้นตอน รอตำรวจและ อัยการออกมาชี้แจง
     เมื่อถามถึงกรณี?ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุค คสช. อาจทำให้นายวรยุทธหลุดคดี? พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า? "โห มันไม่มีอำนาจ?" เมื่อถามว่า?มีการกล่าวอ้างไปถึง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) น้องชาย พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน? กมธ.ดังกล่าวด้วย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า? "โห? ตระกูลผมไม่รู้จักกับตระกูลเขา เป็นการส่วนตัวก็ไม่เคยรู้จัก แล้วเขาก็ไม่เคยมาขอความช่วยเหลืออะไรผมเลย"
    เมื่อถามถึงกรณีตระกูลอยู่วิทยาบริจาคเงินให้รัฐบาล? 300? ล้านบาท? ก็ถือเป็นการบริจาคในฐานะเจ้าสัวทั่วไปใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ใช่ๆ ไม่มีอะไร ก็ว่าไปตามขั้นตอน
    ที่รัฐสภา นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขานุการ กมธ.การกฎหมายฯ สนช.) แถลงชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.59 นายธนิต บัวเขียว ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้มายื่นขอความเป็นธรรมในประเด็นว่า คำสั่งของรองอัยการสูงสุดที่ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม เมื่อทาง กมธ.มีมติรับเรื่องไปสอบหาข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง 8 คน จากนั้นได้รวบรวมผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งไปยัง อสส. และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อพิจารณายืนยันว่าการดำเนินการของ กมธ.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2557 ม.13 วรรคสอง และข้อบังคับการประชุมสนช. ที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
กมธ.แค่รับเรื่องร้องเรียน
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ในรายงานของ กมธ.มีความเห็นอย่างไร นายธานีกล่าวว่า ตามอำนาจของ กมธ.ไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูก เพราะเราไม่ใช่อัยการ ป.ป.ช. หรือ กกต.ที่จะวินิจฉัยได้ เรามีหน้าที่แค่เสนอผลการศึกษา คำชี้แจงของผู้มาชี้แจง การศึกษาเรื่องการคำนวณความเร็วรถของผู้เชี่ยวชาญ โดยนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาเท่านั้น ทาง กมธ.ได้เชิญสารวัตรช่างเครื่องยนต์ ยศ พ.ต.ท. ซึ่งทำคดีมาจำนวนมากมาให้ความเห็นด้วย ซึ่งยืนยันว่าจากสภาพความเสียหาย ความเร็วไม่น่าจะเกิน 80 กม./ชม. วิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือที่สุด
    เมื่อถามถึงพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวทั้งที่คดีดังกล่าวผ่านมา 7 ปี นายธานีกล่าวว่า พยานที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเห็นว่าเรื่องเริ่มไปกันใหญ่จึงได้ออกมา อย่าจินตนาการแบบนี้ ส่วนที่เรียกพยาน 2 ปากซึ่งอัยการตีตกพยานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เพราะมีการกล่าวอ้างชื่อในคำร้องของนายวรยุทธว่าการไม่ฟังพยาน 2 ปากนี้ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม
    ถามอีกว่า นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความประจำตัวของตระกูลอยู่วิทยา และอดีต ส.ว. เคยร่วมทำงานกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ใน กมธ.การยุติธรรมและการตำรวจ ส.ว. ปี 51 ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อ กมธ.การกฎหมาย สนช. ปี 57 ซึ่ง พล.ร.อ.ศิษฐวัชรเป็นประธาน นายธานีกล่าวว่า เท่าที่ทราบนายธนิต บัวเขียว คือทนายความที่รับมอบอำนาจให้มายื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ส่วนกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีต สนช. เปิดเผยว่าในชั้น กมธ.ได้ตีตกเรื่องนี้ไปแล้วนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด
    "อย่าอคติกับ กมธ.ว่าช่วยนายวรยุทธ เพราะไม่รู้จะช่วยไปทำไม ยืนยันว่า กมธ.ให้ความช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย และอย่าไปผูกโยงว่าคนตระกูลวงษ์สุวรรณผิดไปหมด มันไม่ใช่ ถ้าเขาไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ ก็อย่าเหมารวม เพราะมันไม่เป็นธรรม" นายธานี กล่าว
    ขณะเดียวกัน มีการประชุม กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงฝ่ายที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว โดยมีนายสิระ เจนจาคะ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เชิญ พล.ต.อ.ชนสิษฐ์ รัตนวรางกูร จเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.จารวัฒน์ ไวศยะ ผช.ผบ.ตร., พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ และอดีต ผกก.สน.ทองหล่อ, พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.สน.ทองหล่อ, นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากสำนักงาน อสส.ให้เข้ามาตรวจสอบสำนวนคดีนายวรยุทธ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ อาทิ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตนักวิทยาศาสตร์ (สบ 1) กลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดีนี้ เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย  
    ในการประชุมช่วงแรก นายสิระได้เปิดโอกาสให้ กมธ.ซักถาม ตำรวจถึงมูลเหตุการไม่ส่งความเห็นแย้ง โดยนายรังสิมันต์ โรม กมธ. ได้ถามพุ่งเป้าไปที่ความสงสัยเนื่องจากทราบมาว่าทางโรง พยาบาลที่ตรวจสารเสพติดรายงานมาว่ามีสารแปลกปลอมในร่างกายถึง 4 ชนิด ทางตำรวจได้สรุปส่งสำนวนตรงนี้ไปให้ทางอัยการหรือไม่ และเหตุใดอัยการถึงเลื่อนสั่งคดีไปถึง 5 ครั้ง  
    พล.ต.ต.ชุมพลกล่าวชี้แจงตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเมื่อ 3 ก.ย.2555 พนักงานสอบสวนได้ขอหมายค้นบ้านผู้ต้องหาได้พบรถเฟอร์รารี ทะเบียน 1111 มีสภาพร่องรอยลักษณะไปเฉี่ยวชน รวมทั้งคนในบ้านรับสารภาพนายบอสเป็นคนขับรถชนจริง ได้นำตัวนายบอสไปยังโรงพัก พอไปถึงโรงพัก ได้ให้ผู้ต้องหาเปิดเสื้อให้ดู เพราะรถขณะชนทำให้ air bag แตก เราจึงสันนิษฐานว่านายบอสเป็นคนขับรถจริง ส่วนนายสุเวชที่เป็นพ่อบ้านนั้น ยอมรับว่า เป็นหนี้บุญคุณพ่อของนายบอส ทำให้ออกมารับผิดแทน โดยไม่ได้ปรึกษาใคร เมื่อดูจากช่วงเวลาหลังเกิดเหตุที่เราไปถึงบ้านในเวลาที่เร็วมาก ทำให้เชื่อว่าคงไม่ได้มีการเตี๊ยมกันไว้ก่อน
กมธ.สภาไล่บี้ผู้เกี่ยวข้อง
    นายรังสิมันต์พยายามสอบถามอีกว่า เหตุใดข้อมูลสารแปลกปลอมที่เป็นสารเสพติดโคเคนถึงไม่อยู่ในสำนวนของตำรวจ   พล.ต.ต.ชุมพลชี้แจงกลับว่า ที่ไม่มีการสั่งฟ้องเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน
    ด้านนายปรเมศร์กล่าวว่า ยืนยันว่าตั้งแต่เป็นอัยการ ทำงานมานาน ผู้บังคับบัญชาไม่เคยสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องใคร และไม่เคยรับคำสั่งนักการเมือง เราทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำ เหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น ขอเป็นสัปดาห์หน้าจะมาตอบทุกคำถาม
    ในตอนท้าย นายรังสิมันต์ โรม ยังเสนอให้กรรมาธิการทั้ง 3คณะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 5 ส.ค.ทั้งวัน ตั้งเวลา 09.30 น. และขอให้ กมธ.การกฎหมายฯ เรียกเอกสารบันทึกการประชุมของ กมธ.การกฎหมาย สนช. พร้อมเรียก พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีตประธาน กมธ.การกฎหมายฯ, นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความนายวรยุทธ, นายเนตร นาคสุข รอง อสส. เป็นต้น ตลอดจน คณะกรรมการ 3 คณะที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี อสส. และ สตช. มาชี้แจงกับ กมธ. 3 ชุด ในวันที่ 5 ส.ค.ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
     นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษก กมธ.การตำรวจฯ แถลงว่า การประชุม กมธ.ตำรวจ ในวันที่ 30 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา จะมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร.ที่กำกับดูแลงานด้านกฎหมายและคดี และ ผบช.น. มาให้ข้อมูลพร้อมขอเอกสาร รายละเอียดดังกล่าว  
     นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงาน อสส. ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากการประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ว่าได้นำสำนวนดังกล่าวมาพิจารณาแต่เช้า กระทั่งเวลา 15.00 น. เห็นว่ายังมีเอกสารที่ต้องดูอีกเป็นจำนวนมาก จึงพิจารณาต่อ วันนี้ยังไม่มีเนื้อหาสาระอะไรที่จะสรุปนำ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสำนวนโดยละเอียด ทางนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รอง อสส. หัวหน้าคณะทำงานฯ ได้วางกรอบแล้ว คงสามารถพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 7 วัน
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. แถลงภายหลังการประชุมหาข้อเท็จจริง กรณีการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ โดย พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการประชุมสืบหาข้อเท็จจริงขั้นตอนการดำเนินคดีอาญากับนายวรยุทธ ได้กำหนดกรอบการประชุมขึ้นมา 3 กรอบ กรอบแรกเป็นเรื่องการสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน กรอบสอง การสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการ และสาม การดำเนินการพิจารณาความเห็นตาม ป.วิอาญา มาตรา 145/1 หลังจากพนักงานอัยการมีความเห็นแล้ว ต้องส่งไปที่ สตช. ว่าจะเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้ง
    เบื้องต้นทางคณะกรรมการฯ ได้ประชุมทั้งสามกรอบ และแบ่งหน้าที่ให้กรรมการแต่ละส่วนรับไปดำเนินการ เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาเข้าที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาในรายละเอียด หลังจากนี้ทางกรรมการจะมีการเชิญ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาสอบถามต่อไป โดยทาง ผบ.ตร. ได้กำหนดกรอบระยะ เวลาการทำงานไว้ 15 วัน พร้อมกำชับการทำงานของกรรมการชุดนี้ ต้องได้ข้อเท็จจริงและโปร่งใส สามารถธิบายได้ ตั้งแต่คดีเกิดขึ้นมาพนักงานสอบสวนดำเนินการมาอย่างไร จนกระทั่งสุดท้ายสั่งไม่ฟ้อง
พยาน 2 รายไม่เกี่ยวกับ พงส.
    ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวว่า เรื่องความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 จะดูการใช้ดุลยพินิจว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งกรณีที่ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ที่ใช้อำนาจ ผบ.ตร. ตาม ป.วิอาญา มาตรา 145/1 นั้น การใช้ดุลยพินิจเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้งนั้น 97 เปอร์เซ็นต์ คดีที่มาจากพนักงานอัยการเราไม่แย้ง มีแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แย้ง ยืนยันว่าไม่มีการฟอกขาวให้ใคร และจะมาแถลงทุกขั้นตอนให้ทราบเป็นระยะ
    พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวว่า พยาน 2 ปากที่เพิ่งโผล่มานั้น ไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนของ สน.ทองหล่อ เป็นพยานที่ผู้ต้องหาร้องไปยังพนักงานอัยการผ่าน กมธ.ให้สอบสวนเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิ์ที่จะมีความเห็นในช่วงนี้ได้อีก ส่วนการลงนามเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้ง ผบ.ตร.จะไม่ทราบเรื่องดังกล่าว  เนื่องจากแต่ละวันมีคดีที่ถามความเห็นมาประมาณ 700 คดี จะมีผู้เชี่ยวชาญของกองคดีเฉพาะด้านทำ ทุกอย่างจะดำเนินไปตามกลไกตามปกติ ผบ.ตร. จะไม่มีการสั่งเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น ตามหน้างานท่านเพิ่มพูน เซ็นออกไป เป็นประเด็นที่สงสัยไม่ได้ เพราะเขาตรวจสำนวนเฉยๆ ตอนนี้คดีสิ้นสุดแล้ว แต่หากมีหลักฐานใหม่หรือมีผู้เสียหาย ญาติ จะไปดำเนินการฟ้องร้องเอง ก็คงไม่ตัดสิทธิ์
    วันเดียวกัน พี่น้องอยู่วิทยา ประกอบด้วย สายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา), สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา, ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา, จิรวัฒน์ อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา และ นุชรี อยู่วิทยา ออกจดหมายเปิดผนึกระบุว่า กรณีข่าวของคุณวรยุทธ อยู่วิทยา พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยา ต้องขอโทษสังคมเป็นอย่างสูง ที่ข่าวของบุคคลในครอบครัวได้สร้างความรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ จนเป็นเหตุของกระแสการเรียกร้องของสังคมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พวกเราไม่อาจจะปฏิเสธความสัมพันธ์ของการเป็น “อยู่วิทยา” คนหนึ่งของคุณวรยุทธได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ ครอบครัวคุณวรยุทธไม่ได้หารือหรือบอกเล่าการตัดสินใจหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับพี่น้องเลย และพวกเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องของคุณวรยุทธ
    "แต่ในวันนี้กระแสทางลบที่มากระทบกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว มีมากจนเกินกว่าจะแบกรับเหมือนทุกครั้งได้ พี่น้องทุกคนล้วนเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และยืนยันว่าพวกเราทุกคนให้ความเคารพในกฎหมาย และยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องสามารถสร้างความยุติธรรมให้กับทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน พี่น้องทุกคนขอเรียกร้องให้คุณวรยุทธออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจ ให้ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลือ รวมทั้งสังคมและสื่อมวลชนให้เร็วที่สุด และดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของสังคม จุดยืนที่พวกเรายึดถือและปฏิบัติมาตลอด คือการเดินตามปณิธาน และคำสอนของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้เป็นพ่อและเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิต ที่สอนให้พวกเรายึดมั่นในการกตัญญูต่อแผ่นดิน" จดหมายเปิดผนึกระบุ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"