โลกยุคโควิด-19 ชีวิตต้องดำเนินต่อไป


เพิ่มเพื่อน    

 

             เป็นเวลา 7 เดือนเต็มนับจากทางการจีนแจ้งองค์การอนามัยโลกพบการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โรคโควิด-19 จนถึงวันนี้การระบาดในภาพรวมระดับโลกยังคงรุนแรงมากขึ้น มีเพียงบางประเทศที่ระบาดน้อย หรือควบคุมได้ ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนยอดผู้ยืนยันติดเชื้อทะลุ 10 ล้านคน เฉพาะเดือนมิถุนายนมีผู้ป่วยใหม่ถึง 4 ล้านคน ผู้ติดเชื้อรายใหม่มักจะมากกว่า 150,000 คนต่อวัน และทะลุ 17 ล้านเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม ผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 250,000 คนต่อวัน

                กลางเดือนกรกฎาคม ผอ. WHO กล่าวว่า ตอนนี้หลายประเทศกำลังเดินผิดทาง เชื้อโรคโควิด-19 กระจายตัวอยู่ตามแหล่งรวมคนจำนวนมาก หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างจริงจัง สถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้

                จากการวิเคราะห์เป็นไปได้ว่า ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม ยอดผู้ยืนยันติดเชื้อสะสมทั่วโลกอาจทะลุ 27-28 ล้านคน เพิ่มจากยอดสะสมปัจจุบัน 58-64 เปอร์เซ็นต์ (ในเวลาเดือนเดียวเพิ่มอีก 10-11 ล้านคน) ด้วยเหตุผลเดิมคือจากกลุ่มประเทศที่กำลังระบาดหนักแถบอเมริกาใต้ แอฟริกา อนุภูมิภาคอินเดีย และการระบาดในหมู่ประเทศที่คลายมาตรการปิดเมือง

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป :

                บอริส จอห์นสัน นายกฯ อังกฤษ กล่าวว่า ประเทศกำลัง “หายนะ” เพราะโควิด-19 จำต้องออกนโยบายเศรษฐกิจคล้าย New Deal ในยุค Great Depression ของสหรัฐ ส่วนเยอรมนีทั้งๆ ที่พื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือมากมาย ไตรมาส 2 จีดีพีเยอรมนีหดตัว 10.1% เป็นการหดตัวรายไตรมาสแรงสุดนับจากต้นทศวรรษ 1970 ประชาชนลดการใช้จ่าย ธุรกิจหยุดลงทุน ส่งออกทรุด Kiel Institute for the World Economy (IfW) ประเมินว่าเศรษฐกิจเยอรมนีปีนี้จะหดตัว 6.8% คนเยอรมัน 1 ใน 3 คาดว่ารายได้ของพวกเขาจะลดลง และเป็นเช่นนี้อีก 3 ปี            

                2 เดือนที่ผ่านมาหลายประเทศที่เปิดเมืองพบกับการระบาดระลอกใหม่ บางเมืองต้องปิดอีกครั้ง เช่นที่แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐแรกๆ ที่คลายมาตรการปิดเมือง ธุรกิจต่างๆ เปิดทำการอีกครั้ง ในเวลาไม่ถึง 3 เดือนต้องปิดอีกรอบ เมืองอื่นๆ เช่น เมลเบิร์น (Melbourne) ออสเตรเลีย ดานังที่เวียดนาม

                ด้านสหรัฐการปิดเมือง 2 เดือนส่งผลกระทบรุนแรง จีดีพีไตรมาส 2 หดตัว 32.9% ลงแรงสุดนับจากปี 1947 เป็นต้นมา  การปิดเมืองปิดประเทศทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหายไปถึง 70% เดือนเมษายนที่ปิดเมืองนั้นบริษัทลดพนักงานถึง 20.8 ล้านคน กลับมาจ้าง 7.5 ล้านคนในเดือนพฤษภาคมกับมิถุนายน นั่นหมายความว่าอีกสิบสองล้านคนที่ยังไม่เข้าทำงาน

                รัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญกับตัวเลขการจ้างงานมาก สัปดาห์ที่แล้วแจ้งตกงานเพิ่มอีก 1.4 ล้านคน นับจากโควิด-19 ระบาดหนัก ยอดคนว่างงานเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ แม้หน่วยงานรัฐกับบริษัทเอกชนจะเปิดกิจการอีกครั้งแล้วก็ตาม

                Nariman Behravesh จาก IHS Markit คาดเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็น ‘W-shaped’ รัฐบาลคงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายรอบ

                Christophe Barraud จาก Market Securities ชี้อย่างน้อยต้องรอถึงปี 2022 กว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นสู่ระดับก่อนโควิด-19 ยุโรปบางประเทศต้องรอถึง 2023 และอย่างที่หลายคนเตือนแล้วว่าหากการระบาดยืดเยื้อ ปิดเมืองซ้ำ การฟื้นตัวย่อมต้องทอดยาวออกไป

                ข่าวดีคือจีนประกาศใช้ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ล่าสุดสิบกว่าประเทศที่ได้รับเงินกู้สำหรับโควิด-19 เช่น อินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย อินโดนีเซีย

                จีนที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนกำลังสร้างประโยชน์ ความได้เปรียบ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 จีนอัดฉีดเงินก้อนใหญ่เข้าระบบการเงินโลก จน IMF ประกาศชื่นชม

ผลต่อสุขภาพระยะยาว :

            เป็นความจริงที่ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย หลายคนหายเอง องค์การอนามัยโลกชี้ว่าประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่อาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราเสียชีวิตคิดจากยอดรวมทั้งโลกราวร้อยละ 3.8 (หรือต่ำกว่านี้) ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย มีโรคประจำตัวบางอย่างโดยเฉพาะเบาหวาน

                ความจริงอีกข้อที่มักไม่พูดถึงคือผู้ป่วยร้อยละ 10 ที่หายจากโควิด-19 จะมีปัญหาสุขภาพตามมา ที่พบบ่อยคือทรมานกับอาการอ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ วิงเวียนศีรษะ ความผิดปกติของระบบประสาทและอื่นๆ เป็นเวลานาน ต้องกินยาประคองสุขภาพ ที่สำคัญคือร่างกายอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิมอีกต่อไป  มีผลต่อการทำงานการใช้ชีวิต ใครจะแต่งงานกับคนที่มีปัญหาสุขภาพ มีกี่บริษัทที่จะรับคนงานที่เจ็บออดๆ แอดๆ หากเป็นเสาหลักของบ้านจะส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร

                นี่คือเรื่องที่ต้องตระหนัก ต้องเข้าใจ

                ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลอาการป่วยอื่นๆ ที่อาจเป็น เช่น คันตามผิวหนัง สูญเสียการรับกลิ่น อยู่ดีๆ ก็มีไข้ขึ้นเป็นระยะ  เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ คนเหล่านี้มักมีปัญหาเป็นโรคซึมเศร้าตามมา

                นอกจากเรื่องผลต่อสุขภาพระยะยาวที่ยังต้องศึกษาวิจัย ประเด็นอื่นๆ เช่น เชื้อโรคโควิด-19 อาจติดต่อผ่านละอองฝอยที่ลอยในอากาศ (airborne) ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคิดเห็นต่างกัน ด้านผู้เชี่ยวชาญของ WHO ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้แต่เกิดขึ้นในบางสภาพเท่านั้น เช่น คนอยู่กันหนาแน่นใกล้ชิด ระบบถ่ายเทอากาศไม่ดี

                อีกประเด็นที่สำคัญคือเชื้อกลายพันธุ์ มีงานวิจัยพบว่าเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ที่แพร่กระจายมากที่สุดในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากรุ่นแรกที่อู่ฮั่น สายพันธุ์ใหม่นี้ (D614G) น่าจะติดต่อจากคนสู่คนง่ายกว่าเก่า กำลังศึกษาต่อไป

                โลกเพิ่งรู้จักเชื้อโรคโควิด-19 เพียง 7 เดือน ยังมีปริศนาอีกมากที่โลกไม่เข้าใจ และเต็มด้วยพลวัต ผลต่อสุขภาพระยะยาวกับการกลายพันธุ์เป็นกรณีตัวอย่าง

ความคืบหน้าวัคซีน :

            ความคืบหน้าล่าสุดวัคซีนหลายตัวของหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐ สหราชอาณาจักร เข้าสู่การทดลองทางคลินิกเฟส 3 แล้ว

                แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้มีบทบาทสูงต่อการควบคุมโควิด-19 ในสหรัฐย้ำว่าแม้จะมีวัคซีนหลายตัวจะผ่านการทดลองขั้นต้นแล้ว คนที่บอกว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเป็นเพียงการคาดการณ์ในทางบวกเท่านั้น  เช่นเดียวกับ WHO กลับลำพูดว่าจะได้ใช้วัคซีนต้นปีหน้า

                เรื่องที่ต้องเข้าใจคือไม่ว่าวัคซีนจะเริ่มจำหน่ายจ่ายแจกปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า กว่าที่สามัญชนคนส่วนใหญ่จะได้วัคซีนคงต้องรอปลายปีหน้า (2021) หรือไกลกว่านั้น การกระจายวัคซีนจะเป็นประเด็นที่สังคมจะวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป

                แอนโทนี เฟาซี กล่าวว่า เรากำลังเผชิญโรคระบาดรุนแรงสุดในรอบร้อยปี ขออย่าได้ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าจริง เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าการเปิดเมืองคู่กับการป้องกันโรคไปด้วยกันไม่ได้ หลายเมืองเอาไม่อยู่ ยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นทุกที ตอนนี้ต้องดูว่าระบบสาธารณสุขจะยังรองรับผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มเข้ามาได้หรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ออกมาพูดแล้วว่ากำลังเป็นปัญหา แม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ

                เรื่องที่ต้องยอมรับคือวิกฤติโควิด-19 ยังไม่จบ การฟื้นคืนสู่สภาพเดิมไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และต้องใช้เวลาหลายปี โลกเข้าสู่อีกยุคแล้ว มีผลต่ออนาคตของคน อนาคตประเทศและระบบโลก

                การนั่งๆ นอนๆ ไม่คิดเปลี่ยนแปลงไม่ช่วยอะไร การก้าวไปข้างหน้าเท่านั้นที่สร้างโอกาสแก่ตัวเอง เป็นลักษณะพื้นฐานอย่างหนึ่งของโลก โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน (เพียงแต่จะรู้สึกหรือไม่ คิดได้หรือไม่) แม้กระทั่งเชื้อโรคยังปรับตัว กลายพันธุ์ ต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพื่อหวังชีวิตรอด.

-----------------------

ภาพ : ข้อแนะนำการล้างผัก-ผลไม้

ที่มา : https://www.who.int/images/default-source/health-topics/coronavirus/eng-mythbusting-ncov-(13).tmb-1920v.png

-----------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"