สางคดีทุกขั้นตอน ‘วิชา’ตั้ง5คณะทำงานเรียกสำนวนตร.-อัยการ-กมธ.ตรวจสอบ


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ให้ คกก.ศึกษาใช้อำนาจนายกฯ รื้อคดี "บอส" ได้หรือไม่ รับยังคาใจเหมือนสังคม  "วิชา" ตั้ง 4 ชุดสางคดีทายาทกระทิงแดง สั่งเรียกตรวจสอบสำนวนทุกขั้นตอนของ "ตำรวจ-อัยการ-กมธ.กฎหมายยุค สนช." พร้อมปมเสียชีวิตพยานปากเอก "อสส." นัดแถลงผลสอบอัยการสั่งไม่ฟ้อง 4  ส.ค.นี้ "ผู้ช่วย ผบ.ตร." ขึงขังลั่นไม่ใช่เสือกระดาษ ยันสอบจริงพบ ตร.ผิดฟันไม่เลี้ยง "2 กมธ." ชุด "จิรายุ-สิระ" ผนึกกำลังไขข้อเท็จจริงทางคดี

    เมื่อวันที่ 3 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา  ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการจะประชุมครั้งแรกในวันนี้ (3 ส.ค.) ว่า ไม่มีอะไร ตนคงไม่ไปก้าวล่วงเพราะอยู่อำนาจบริหาร ชุดนี้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเสนออะไรมาหากอยู่ในกรอบที่ทำได้ก็จะทำ ซึ่งต้องดูต่อว่าทำไมจึงมีฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายปฏิรูปกฎหมายเข้ามาด้วย ต้องดูว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร ขั้นตอนทำให้เกิดปัญหา
    พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่ากำลังศึกษาข้อเสนอนักวิชาการที่ให้นายกฯ ใช้อำนาจรื้อคดี โดยให้กรรมการดูอยู่ว่าตนสามารถรื้อได้หรือไม่ วันนี้อยู่ในขั้นตอนการทำให้เกิดข้อเท็จจริงว่าอยู่ในขั้นตอนไหน และดูว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ อำนาจมันคนละอำนาจกัน
    ถามว่าการที่สั่งอายัดศพนายจารุชาติ มาดทอง ซึ่งเป็น 1 ในพยานคดีนายวรยุทธ แสดงว่าเห็นว่าการตายมีความผิดปกติใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ใช่ แต่ตนฟังมาจากสื่อ สังคม ประชาชน ที่ให้ความสงสัย จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนเท่านั้นเอง และในฐานะที่มีอำนาจควบคุมตำรวจ ก็สั่งตำรวจไปว่าทำได้หรือไม่ ต้องไปคุยกับญาติเขาว่าตกลงหรือไม่ เลื่อนวันเผาไปวันหน้าได้หรือไม่ เพื่อที่จะทำการผ่าศพพิสูจน์ ดูว่ามีหลักฐานอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จบตรงนั้นไป คือต้องลดปัญหาต่างๆ ที่พูดกันลงมาให้ได้ด้วยข้อเท็จจริง"
    ซักว่าคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าเดี๋ยวเขาคงพิจารณา กรรมการก็ต้องว่ามา
    "ได้ติดตามข่าวนี้มาตลอด แต่ผมไม่ได้ตัดสินใจ มันอยู่ในใจอยู่ และยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม" นายกฯ กล่าว
    ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้กระบวนการยุติธรรมกลับมาตามที่ประชาชนอยากเห็น และต้องดูว่าอัยการกับตำรวจจะทำอย่างไรเพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ
    ถามว่าจะต้องถึงขั้นรื้อคดีขึ้นใหม่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ไม่ได้หรอก ไปรื้อ คุณถามแบบนี้ต้องไปดูว่ามันเป็นอย่างไรก่อน สิ่งที่สื่อถามไปไกลเหลือเกิน"
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนะแนวทางให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลตำรวจมีอำนาจสั่งทบทวนคดีนายวรยุทธว่า "ไม่ทราบ ขอให้ไปถามนายปริญญาเอง ซึ่งนายกฯ จะสามารถสั่งรื้อคดีได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ ขอให้รอความคิดเห็นจากคณะกรรมการชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นที่มีนายวิชาเป็นประธาน ซึ่งเขาจะแนะเองว่าคำตอบเป็นอย่างไร"
    "ในคำสั่งก็บอกอยู่แล้วว่าแนะในเชิงปัจจุบันว่าจะต้องทำอะไรหรือไม่ และในเชิงปฏิรูปที่จะต้องแก้กฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติ พฤติกรรม ซึ่งคณะกรรมการจะต้องรายงานนายกฯ ทุกๆ 10 วันอยู่แล้ว  ชุดนี้ต้องช่วยกันทำ" นายวิษณุกล่าว
    ในเวลา 14.45 น. นายวิชาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนครั้งแรก ถึงเรื่องที่อัยการไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ โดยก่อนการประชุมนายวิชายืนยันว่า คณะกรรมการชุดนี้ยังไม่ได้มีการพูดเลยว่าคดีนี้เป็นที่สุดแล้ว ยังไม่มีการพูดเช่นนั้น
    ถามว่านายกฯ มีอำนาจสามารถรื้อคดีใหม่ได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า "นายกฯ ไม่ได้มีอำนาจสั่งอัยการ แต่นายกฯ มีข้อเสนอแนะได้"
'วิชา' ตั้ง 4 ชุดสางคดีบอส
    เวลา 18.00 น. นายวิชาให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า คณะกรรมการชุดนี้มีผู้เชี่ยวชาญอยู่หลากหลายสาขา และได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้น ได้ข้อสังเกตที่ดี เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบในประเด็นที่ละเอียดต่อไป
    นายวิชากล่าวว่าได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 4 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานตรวจสอบอัยการ มีนายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ เป็นประธาน เพราะเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย 2.คณะทำงานการตรวจสอบตำรวจ มีนายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธาน เพราะเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม 3.คณะทำงานตรวจสอบบุคคลทั่วไป มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดนี้จะต้องตรวจสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรรมาธิการ ทนายความ ซึ่งเป็นคนที่ไม่ใช่ตำรวจและอัยการ ขณะที่ผู้แทนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะร่วมอยู่ในคณะนี้ โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน นอกจากนี้จะขอผลการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจะขอมาดูให้หมด และ 4.คณะทำงานตรวจสอบด้านกฎหมาย มีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นประธาน  
     นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานที่มีหน้าที่รวบรวมสรรพเอกสาร ทั้งตัวเอกสารหรือสิ่งที่ได้จากโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอคลิปหรือข้อคิดเห็นจากประชาชนต่างๆ ซึ่งจะเปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ถือเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจะมีทีมงานที่เชี่ยวชาญทางไอทีและจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน รวมไปถึงทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับรู้ ดังนั้นถ้าใครต้องการส่งเอกสาร หลักฐาน หรือจะให้ข้อมูลใดๆ แก่คณะกรรมการ สามารถติดต่อมาได้ที่ตนหรือช่องทางที่เรากำลังจะเปิดเพื่อรับข้อมูล หรือว่าคนที่มีความคับข้องใจ ซึ่งมีทั้งอัยการและตำรวจที่อยากจะให้ข้อมูลจำนวนมาก
    "เราอยากได้ทุกความเห็นสามารถส่งเข้ามาได้ อย่างไรก็ตามคณะทำงานแต่ละชุดจะทำงานคู่ขนานกันไปกับคณะกรรมการชุดใหญ่ จะประชุมกันสัปดาห์ละ 2 ครั้งในช่วงแรกนี้ เนื่องจากมีความเร่งรัดอย่างมากเพื่อให้เสร็จสิ้นได้ใน 30 วัน โดยคณะกรรมการจะประชุมครั้งต่อไปในเวลา 10.00 น. วันที่ 5  ส.ค. ที่สำนักงาน ก.พ.เดิม ถ.พิษณุโลก ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล" นายวิชากล่าว    
     ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า จะมีการขอสำนวนหลักฐานต่างๆ จากอัยการ โดยเฉพาะผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบพิจารณาคดีนายวรยุทธของอัยการที่จะได้ข้อสรุปในวันที่ 4 ส.ค. โดยคณะกรรมการของเราจะเชิญฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานตรวจสอบของอัยการมาให้ข้อมูลด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะคณะกรรมการชุดนี้จะได้ทุ่นเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยึดตามนั้นไปตลอด เพราะถ้ามีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจะพิจารณากันอีกที รวมไปถึงสำนวนของตำรวจที่ สน.ทองหล่อทำมาตั้งแต่ต้น และสำนวนของอัยการที่ทำส่งไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วย เพราะทุกสำนวนจะต้องส่งมาให้เราทั้งหมด รวมไปถึงประเด็นการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง หนึ่งในพยานคดีของนายวรยุทธ ไม่ว่ามีข้อสงสัยอะไรต้องเอามาดูให้หมด แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานผลการชันสูตรศพนายจารุชาติ ต้องรอรายงานจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และกองบังคับการปราบปราม  
     ถามว่าจะเชิญตัวนายวรยุทธมาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ นายวิชากล่าวว่าได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานไปแล้ว คณะทำงานชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณาอีกทีว่าจะเชิญบุคคลใดบ้าง ดังนั้นก็จะต้องดูว่าควรเชิญนายวรยุทธหรือไม่  
อัยการสรุปผลสอบ 4 ส.ค.
    ถามว่าหากอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วจะมีช่องทางทำให้เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่าเรื่องนี้ต้องศึกษาก่อน ซึ่งในวันที่ 5 ส.ค.คณะกรรมการจะคุยกันในเรื่องข้อกฎหมายอย่างละเอียด เพราะเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับมอบหมายจากตนไปแล้ว  
     ซักว่านายกฯ มีอำนาจสั่งให้ตำรวจไปทบทวนความเห็นที่ไม่คัดค้านกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ต้องดูว่าหากเสนอแล้วต้องเป็นไปได้ คือถ้าเสนอแล้วยังกั๊กอยู่ ติดอยู่ก็ไม่เอา ย้ำว่าเสนอแล้วต้องเป็นไปได้ สิ่งที่เราเสนอจะต้องเป็นความแน่นอน จะต้องปรึกษากันอีกที   
     วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด คณะทำงานตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธของอัยการสูงสุด มีการประชุมเป็นวันที่ 5 เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว
    นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังประชุมกันอยู่ น่าจะเป็นการสรุปภาพรวมทั้งหมด จะได้นำผลของการพิจารณากราบเรียนอัยการสูงสุด โดยวันที่ 4 ส.ค. เวลา 10.00  น. ที่ห้องประชุม 120 ปี ชั้น 1 คณะทำงานจะแถลงผลการตรวจสอบในนามของสำนักงานอัยการสูงสุด  ซึ่งคณะทำงานกำลังเร่งสรุปเอกสารนำเรียนสรุปให้พี่น้องสื่อมวลชนและประชาชนทราบทั้งหมด กำลังเร่งให้ทัน ต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนมีการแถลง
    "ผลจะเป็นอย่างไรยังตอบไม่ได้ รอฟังพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) พร้อมกัน ซึ่งจะสรุปทุกประเด็น รวมทั้งข้อเสนอแนะด้วย จะแถลงโดยละเอียดให้ทราบ ผู้ที่จะแถลงข่าวประกอบด้วยนายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงาน, นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี  คณะทำงาน, นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เลขานุการคณะทำงาน, นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา คณะทำงาน และผมในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานฯ" นายประยุทธกล่าว
    เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการใช้ดุลพินิจของข้าราชการตำรวจที่มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งพนักงานอัยการกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งเป็นวันที่ 6 แล้ว
    พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ กล่าวก่อนการประชุมว่า ต้องขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้ตรวจสอบจากสำนวน แต่เป็นเรื่องการสืบสวนสอบสวน ต้องไปไล่ตามหาความจริงด้วย โดยวันนี้ (3 ส.ค.) จะมีการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานกฎหมายและคดี ที่เป็นผู้รับสำนวนมาจากพนักงานอัยการเข้ามาให้ข้อมูล ว่ารับเอกสารมาแล้วมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร และพิจารณาเรื่องผลการตรวจเลือด รวมทั้งมีการแบ่งเจ้าหน้าที่ไปสอบผู้เชี่ยวชาญเรื่องยาอะม็อกซีซิลลินด้วย
    "ภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการจะเรียก พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เข้ามาให้ข้อมูลกรณีการใช้ดุลพินิจไม่เห็นแย้งอัยการ อย่างไรก็ตาม ผมเกรงว่าให้สัมภาษณ์ทุกวันจะคลาดเคลื่อน เราพยายามจะให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ไม่ให้เกิดความสับสน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา หมอฟัน จริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น ซึ่งวันนี้ผมต้องเคลียร์ประเด็นนี้ด้วย" พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าว
     ต่อมาหลังการประชุม พล.ต.ท.จารุวัฒน์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า จากการชี้แจงของเจ้าหน้าที่สำนักงานกฎหมายและคดี ที่เรียกมาซักถามตั้งแต่ขั้นตอนการรับความเห็นทางคดีมาจากอัยการ การตรวจสอบข้อเท็จจริงและการประมวลผลตรวจสอบ ก่อนเสนอต่อ พล.ต.ท.เพิ่มพูนให้มีความเห็นทางคดีสั่งไม่แย้งอัยการ พบว่าคณะทำงานดังกล่าวได้ใช้เวลาพิจารณาสำนวนและความเห็นไม่ฟ้องนานกว่า 4 เดือน  โดยมีการหยิบยกมาพิจารณาซ้ำหลายครั้ง ก่อนจะมีความเห็นทางคดีเห็นพ้องกับอัยการและสั่งไม่แย้ง
2 กมธ.ผนึกกำลังไขปม
    "ขอยืนยันการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผมไม่ใช่เสือกระดาษ ที่ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ แต่ต้องขอให้อดใจรอ เพราะเป็นการตรวจสอบย้อนหลังไปถึง 8 ปี เพื่อแสวงหาผู้บกพร่องในการทำหน้าที่ และหากพบว่าใครที่บกพร่องต่อหน้าที่ก็พร้อมเสนอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.พิจารณาลงโทษแน่นอน" รองประธานคณะกรรมการข้อเท็จจริงกล่าว
    ด้าน พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) กล่าวถึงการส่งตำรวจกองปราบปรามไปร่วมกับตำรวจท้องที่ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง พยานปากสำคัญในคดีของนายวรยุทธ ที่เสียชีวิตบริเวณแยกฟ้าธานี ถนนห้วยแก้ว อ.เมืองเชียงใหม่ว่า กองปราบปรามมองว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจและเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งได้ตั้งไว้ 2 สมมติฐาน คือ อุบัติเหตุและฆาตกรรม ทั้งนี้ยังไม่ได้ตั้งธงหรือสรุปว่าเป็นไปทิศทางใด
    "การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงร่วมกับตำรวจท้องที่อย่างละเอียด ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุมาจนถึงขณะเกิดเหตุว่ามีข้อสงสัยหรือข้อพิรุธใดๆ พร้อมกับนำผลของการผ่าชันสูตรรอบ 2 มาตรวจสอบร่วมด้วย ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นเช่นไรก็จะต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน โดยผมไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน แต่จะทำคดีให้เร็วที่สุด" ผู้การกองปราบฯ กล่าว
    ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จัดประชุมพิจารณาเรื่องซ้ำซ้อน กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ โดยเชิญประธานคณะกรรมาธิการ 3 ชุดที่พิจารณาเรื่องเดียวกัน คือนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และนายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจมาหารือ
    นายชวนกล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว โดยคณะ กมธ.กิจการตำรวจได้แจ้งว่า ได้ศึกษามาระดับหนึ่งแล้วจึงไม่ติดใจ แต่หาก กมธ.ตำรวจอยากมาร่วมกับอีก 2 คณะก็จะนำเข้าหารือต่อที่ประชุม กมธ.ตำรวจก่อนว่าจะมาร่วมประชุมกับอีก 2 คณะด้วยหรือไม่
    "การที่ผมไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน เพราะไม่ต้องการรบกวนข้าราชการ หรือบุคคลภายนอกต้องเข้ามาชี้แจง เพราะหาก กมธ.ทั้ง 3 คณะเชิญตำรวจ อัยการ หรือองค์การต่างๆ ทุกคณะก็ต้องมา 3 ครั้ง ซึ่งถือเป็นภาระและความเดือดร้อน ดังนั้นตามระเบียบแล้วต้องการให้ กมธ.ที่มีความซ้ำซ้อนสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยต้องมี กมธ.ชุดใดชุดหนึ่งเป็นเจ้าภาพของเรื่องนั้นๆ เพื่อมาประชุมร่วมกัน" นายชวนกล่าว    
    ส่วนนายจิรายุกล่าวว่า ขณะนี้รอให้คณะกรรมาธิการตำรวจพิจารณาว่าจะเสนอเรื่องใดเข้ามา ส่วนการประชุมวันที่ 5 ส.ค.นี้ก็จะเป็นการแชร์ข้อมูลกันระหว่างคณะกรรมาธิการกิจการศาลฯ ซึ่งจะทำข้อมูลและคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ จะเป็นคนออกจดหมายเชิญผู้ชี้แจงเป็นหลัก เพื่อที่จะได้พิจารณาในเรื่องเดียวกัน หากพิจารณาวันที่ 5 ส.ค.ไม่จบก็จะขยับต่อไปอีกสัปดาห์ เนื่องจากรูปคดีและการพิจารณาต่างๆ ค่อนข้างมีความหลากหลาย รวมถึงมีสถานการณ์เกิดขึ้นใหม่รายวัน
    "กรณีการเสียชีวิตของนายจารุชาติ หนึ่งในพยานปากสำคัญ ซึ่งนายกฯ ก็สั่งให้ชันสูตรใหม่เพื่อทำให้ความจริงปรากฏ แต่กลับมีบางประเด็นบอกว่าไม่ไว้ใจผู้ชันสูตรที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งนายกฯ ก็ต้องสั่งการให้ชัดเจนว่าคนชันสูตรต้องมีความเป็นกลาง หรือควรตั้งกรรมการกลางขึ้นมาหรือไม่ เพราะสังคมเคลือบแคลงใจ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้ และหากเป็นไปได้หากมีการชันสูตรศพเสร็จอย่างรวดเร็ว พรุ่งนี้ (4 ส.ค.) ช่วงเย็นผลการชันสูตรก็คงออกมาและจะทำให้ความจริงปรากฏอีกครั้งหนึ่ง จะได้หาข้อมูลต่างๆ ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 5 ส.ค.ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องตรวจสอบต่อไป" นายจิรายุกล่าว.
    

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"