นายกฯชูธงแก้รธน. บิ๊กตู่ประกาศจุดยืนหนุนเต็มที่-ปัดลดกระแสม็อบ


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ลั่นหนุนแก้รัฐธรรมนูญทุกประการ แต่พรรคร่วมรัฐบาลต้องหารือให้ตกผลึกก่อนจะปรับเปลี่ยนเรื่องใด  พร้อมชงร่างฉบับรัฐบาลประกบ “พปชร.-ภท.” ไม่ค้านแต่รอผลศึกษา กมธ.ชุดพีระพันธุ์ให้สะเด็ดน้ำก่อน ส่วน ปชป.มาแต่ไก่โห่เอาแน่รื้อมาตรา 256 “เพื่อไทย” ร่วมวงขีดเส้นให้เสร็จใน 5 เดือน “พรเพชร” ย้ำหนุนแต่ไม่เอาผุด ส.ส.ร. “บิ๊กตู่” ตื่นดับไฟม็อบนิสิต-นักศึกษา สั่งสภาพัฒน์จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น คาดประเดิมในเดือน ส.ค.นี้ แต่ยังไม่ชัดไปร่วมเวทีหรือไม่

    เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกถึงจุดยืนต่อข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่าจุดยืนคือให้การสนับสนุนอยู่แล้วในเรื่องการทำงาน วันนี้ให้เป็นเรื่องการพิจารณาในระดับ กมธ.ก่อน คาดว่าจะเสนอญัตติของฝ่ายค้านเข้ามา ทางฝ่ายรัฐบาลเองพร้อมร่วมมือในกลไกต่างๆ เหล่านี้ในสภา เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลมีส่วนร่วมตรงนี้ในฐานะเป็นฝ่ายบริหาร หากมีการเสนอร่างเข้ามาก็จะมีร่างของรัฐบาลเสนอควบคู่ไปด้วย พิจารณาต่อกันไป
“ประเด็นสำคัญคือ วาระการเปิดสภาเหลืออยู่เพียงจำกัด ฉะนั้นต้องหารือเรื่องนี้กันต่อไปว่าเข้าใจกันอย่างไร ตรงกันหรือไม่ ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญตรงไหนอย่างไร ซึ่งต้องรอฟัง กมธ.เสนอมา ขณะเดียวกันเราก็เตรียมเสนอร่างของรัฐบาลอยู่แล้ว เชื่อว่าการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า รัฐสภาจะพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลยืนยันให้ความร่วมมือทุกประการ”พล.อ.ประยุทธ์ย้ำ   
    เมื่อถามว่า การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต้องการลดกระแสม็อบการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของม็อบนักศึกษาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การชุมนุมต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องของการทำงาน และทุกคนต้องรู้ว่ากลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันยืนยันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ควรแก้ไข ไม่ได้ขัดแย้งอะไร ซึ่ง กมธ.ต้องหารือร่วมกัน หลังจาก กมธ.หารือร่วมกันแล้ว ก็ต้องรับฟังเขาว่าอย่างไร ต่อมาก็ต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกันในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับร่างเพื่อเสนอควบคู่ไป ยืนยันอย่างนี้ นี่คือกลไกที่ถูกต้อง เข้าใจหรือไม่ ขอร้องว่าอย่าให้มันเกิดความวุ่นวายขึ้นมานักเลยในเวลานี้ เรากำลังแก้ปัญหาอยู่ หลายอย่างไปด้วยกัน  
    “รัฐบาลต้องทำตามขั้นตอนทุกประการ โดยการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างยกเข้ามาชนกัน แล้วมันก็ไปกันไม่ได้ แล้วจะตั้ง กมธ.กันมาทำไม ต้องหาทางออกกันตรงนู้น  ออกมาอย่างไรก็ว่ามา รัฐบาลก็รับมา เมื่อรับมาพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องพิจารณาร่วมกัน และเสนอร่างควบคู่กันไป วันหน้าพอสภาเปิดก็จะได้พิจารณาได้ทันที ว่ากันไปจะแก้ตรงไหน ถ้าจะแก้ทั้งหมดเลยก็ต้องศึกษาขั้นตอนดูก่อน จะใช้เวลาอย่างไร กฎหมายมีทุกตัว ถ้าพูดกันปากเปล่ามันไม่จบ วันนี้ไม่ได้หงุดหงิดอะไรเลย แต่บังเอิญการประชุม ครม.วันนี้พูดเยอะ หลายเรื่อง ทั้งระหว่างการประชุม นอกห้องประชุม นายกฯ ไม่ได้พักเลย คุยทั้งในห้อง นอกห้อง หารือกันเรื่องนู้นเรื่องนี้ เยอะแยะ เห็นใจฉันบ้างสิ”นายกฯ กล่าว
รัฐบาลส่งร่างประกบ
ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขอให้รอผลการศึกษาจาก กมธ.ก่อน หากจำเป็นที่จะต้องเสนอร่างประกบรัฐบาลก็มีความพร้อมดำเนินการ ซึ่งในที่ประชุม ครม.ก็ได้หารือกับรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ขอยืนยันให้พี่น้องประชาชนสบายใจว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวประเด็นนี้ว่า กมธ.ยังไม่ส่งอะไรมาให้รัฐบาล และเรื่องนี้ยังไม่เคยหยิบยกมาหารือใน ครม. ตอนนี้ยังไม่มีอะไรมาจากสภา จึงยังไม่รู้ว่าจะเริ่มลุกขึ้นพูดกันอย่างไร ตอนนี้เพียงได้ยินเพียงแต่ข่าว แต่เขายังลงมติไม่ครบถ้วน และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.ก็ไม่เคยมาหารือในเรื่องนี้
      เมื่อถามว่า หากตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะใช้เวลาเป็นปีหรือเร่งรัดได้ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะตั้งรูปแบบไหนอย่างไร ถ้าร่างใหม่ก็เท่ากับไปแก้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 256 ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยากแก้ตรงไหนก็แก้ไป แต่ถ้าแก้หมวด 1 ว่าด้วยหมวดทั่วไป หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และหมวด 15 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติองค์กรอิสระ หากเป็นประเด็นเหล่านี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ผ่านวาระ 1-3 หากผ่านวาระ 3  ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ก่อนทูลเกล้าฯ ถวายต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน ระหว่างนั้นอาจมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้  ซึ่งกำหนดเวลาไว้ 1 เดือน
    ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวเช่นกันว่า กมธ.ต้องประชุม ต้องดูว่า กมธ.ว่าอย่างไร ไม่เช่นนั้นเราจะตั้ง กมธ.ไว้ทำไม ส่วนข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น คงต้องดูว่า ส.ส.ว่าอย่างไร
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคฟังประชาชนอยู่แล้ว แต่ด้วยความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องดูความเห็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่ามีความเห็นอย่างไร และคิดว่าต้องหารือร่วมกัน
นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรค ภท. และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้พูดคุยกัน คาดว่าการประชุม ส.ส.พรรคครั้งหน้า นายอนุทินจะหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม โดยพรรคไม่ได้ละเลยเรื่องนี้ ส่วนข้อเสนอของนิสิตนักศึกษาในเรื่องนี้นั้น คงต้องให้เวลาสภาพิจารณาด้วย ไม่ใช่เรียกร้องจะได้ทันที เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้ กมธ.วิสามัญฯ ก็ตั้งขึ้นมาก่อนการเรียกร้องของนิสิต-นักศึกษา แสดงให้เห็นว่าสภาไม่ได้ละเลย และส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้หลีกเลี่ยงที่จะไม่มีการแก้ไขไม่ได้อยู่แล้ว เพราะคนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง
“เป็นเรื่องที่นายเทพไทเสนอ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ต้องรอมติจากที่ประชุมพรรคก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไร และเชื่อว่าคงไม่มี ส.ส.ของพรรคไปลงชื่อในญัตติโดยที่ยังไม่มีมติพรรคแน่ เพราะเรามีวินัย เวลาจะทำอะไรต้องหารือกันก่อน เรามีเอกภาพมากพอ” นายศุภชัยกล่าวตอบข้อถามกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่า พรรค ปชป.เตรียมเสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อม ส.ส.พรรคภูมิใจไทย
    ขณะที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องรอฟังที่ประชุมพรรค ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของ ส.ส.และรัฐมนตรี ส่วนจะเสนอร่างของพรรคด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องรอฟังผลประชุมเช่นกัน
ปชป.หนุนแก้มาตรา 256
    นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป.กล่าวว่า ปชป.สรุปชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่าพรรคเห็นด้วยในการแก้มาตรา 256 เพื่อต้องการเปิดประตูแก้ไขในประเด็นต่างๆ ให้มีประชาธิปไตยยิ่งขึ้น สำหรับการยื่นญัตติพรรคก็นัดประชุม ส.ส.ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ เพื่อรวบรวมประเด็นและขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง โดยต้องแสวงหาความร่วมมือจากพรรคการเมืองอื่นในการเข้าชื่อเสนอญัตติ เพราะต้องใช้ 100 เสียง ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลคิดว่าเราควรได้หารือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะวิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.
“พรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนที่จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เพียงแต่ต้องทำตามมาตรา 256 ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญก่อน และการที่จะทำให้ ส.ว.มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเราก็ต้องมีความชัดเจนว่าเป้าหมายในการแก้ไขคืออะไร นอกจากเปิดทางในการแก้มาตรา 256 แล้ว ก็ต้องชัดเจนในประเด็นอื่นด้วย ซึ่งหากเราชัดเจนก็สามารถแสวงหาความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องจริงใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ แต่ส่วนอื่นๆ ไม่กล้ารับประกันว่าจะแก้ไขจริงๆ หรือไม่ อย่างไรก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องตอบโจทย์นี้” นายชินวรณ์ระบุ
    ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องรอข้อเสนอจาก กมธ.วิสามัญฯ ก่อน โดยยังไม่ทราบว่าการศึกษาตอนนี้ไปถึงไหน แต่น่าจะได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนหน้าก่อนปิดสมัยประชุม แต่ไม่รู้ว่าเป็นแบบไหน เท่าที่สอบถามความเห็นของ กมธ.ส่วนใหญ่ก็เห็นสอดคล้องกันให้แก้ไข ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา และตอนลงประชามติพรรค ปชป.ก็ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งนี้ เคยให้ความเห็นว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาจากรัฐธรรมนูญ
         ถามถึงท่าทีของ ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.นั้น นายชวนกล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดเดา ได้เสนอตั้งแต่ต้นว่าให้เชิญ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมประชุมแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวพร้อมเป็นตัวกลางในการพูดคุยหากประสานมา
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ส.ว.พร้อมให้ความร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เห็นสมควรแก้ไข เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นต้น แต่ความคิดเห็นนี้ไม่ใช่ว่า ส.ว.ทุกคนเห็นด้วย รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งมีชีวิตมีกลไกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาจึงแก้ไขได้ แต่ข้อเรียกร้องที่ให้แก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้ง ส.ส.ร.นั้น มีจุดยืนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และยิ่งทำให้ยุ่งเหยิง เพราะเรายังไม่รู้ว่า ส.ส.ร.จะวางรูปแบบอย่างไร ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน
“อย่าพูดว่า ส.ว.ขัดขวางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ไม่ว่าจะกฎหมายอะไร เรายินดี แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ส.ร.เท่านั้น” นายพรเพชรกล่าว
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า พปชร.ยังไม่มีมติใดๆ ออกมาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และภายในพรรคก็ยังไม่หารือกัน เพราะเราต้องรอให้ กมธ.วิสามัญฯ เสนอที่ประชุมสภาเดือน ก.ย.นี้ก่อน ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน
    ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า วันนี้หลายพรรคก็ขานรับนำมติของ กมธ.วิสามัญที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขยากอยู่แล้ว การทำประชามติก็เป็นขั้นตอนที่เขียนไว้เพื่อให้เกิดความยุ่งยาก แต่ไม่ว่าจะยุ่งยากขนาดไหนก็ต้องทำ และไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แม้เสียเวลาก็ยอม เสียเงินยิ่งดี
ตีเส้นไม่ควรเกิน 5 เดือน
    เมื่อถามว่า กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจะรายงานสภาได้เมื่อใด นายสุทินกล่าว่า สาระเราได้สรุปแล้ว นี่เป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะรายงานต่อสภาภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ทั้งนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ควรทำไม่เกิน 5 เดือน และในสัปดาห์นี้พรรคการเมืองต่างๆ คงยื่นเรื่อง รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย ส่วน ส.ว.จะเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้หรือไม่นั้น ถ้าเราไปคิดว่า ส.ว.เขาเห็นแก่ตัว เขาหวงอำนาจ แน่นอนว่า ส.ว.คงไม่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเราคิดว่า ส.ว.เห็นประโยชน์ของบ้านเมืองเหมือนกัน คงฟังเสียงประชาชน และคิดว่า ส.ว.คงไม่ขัดขวาง โดยก่อนหน้านี้ก็ไม่มีความหวังกับ ส.ว. แต่วันนี้เริ่มเห็นความหวังว่าเขาจะเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง และคิดว่าเขาคงจะเสียสละ ไม่รักษาประโยชน์ของตนเองจนไม่มองบ้านเมือง
    “เป็นโอกาสที่พรรคการเมืองจะได้แสดงจุดยืน ทิศทางของพรรคตนเอง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สังคมทั้งจับตา และรอคอยความหวัง หากพรรคการเมืองใดจะใช้โอกาสนี้เลือกทางเดินของตัวเอง ซึ่งฝ่ายค้านก็จะใช้จุดนี้แสดงจุดยืน แสดงความจริงใจของพรรคการเมือง”
    นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานของกลุ่มแคร์แก้รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กลุ่มแคร์จะจัดเสวนา "CARE ชวนคิด เคลื่อน เขียนรัฐธรรมนูญในฝันของประชาชน" ในวันเสาร์ที่ 8 ส.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่ LIDO Connect สยามสแควร์ เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมของนิสิต-นักศึกษาว่า ยอมรับว่าเป็นห่วงเด็กๆ จึงได้ให้แนวทางเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้เขารู้ว่าเขาอยากได้อนาคตอย่างไร เราก็จะฟังจากพวกเขาภายในเดือนนี้ และจะเปิดเวทีลักษณะนี้ให้มากขึ้น สำหรับรูปแบบจะเป็นการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อพบปะหารือกัน  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มอบหมายให้ใครเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้จัด โดยรวมกลุ่มกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปจัดกลุ่มกันมา เพื่อเป็นเวทีพูดคุยหารือกัน   
    เมื่อถามว่า นายกฯ จะไปร่วมเวทีด้วยหรือไม่ เพราะคนรุ่นใหม่อยากให้นายกฯ ไปรับฟังความคิดเห็นด้วย พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับถอนหายใจ “เฮ้อ!” พร้อมกล่าวว่า “เดี๋ยวดูก่อน”   
    ส่วนที่มีหลายคนแสดงความเป็นห่วง เนื่องจากมีบางคนพูดจาก้าวล่วงไปถึงสถาบันฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงไม่ปรามอะไร ให้เจ้าหน้าที่เขาปฏิบัติตามกฎหมายตามที่มีอยู่ วันนี้กังวลในเรื่องของเศรษฐกิจ กังวลในเรื่องโควิด-19 กังวลเรื่องเหล่านี้ เรื่องอื่นคิดว่าประชาชนคนไทยทุกคนที่เป็นคนไทยก็ต้องร่วมมือกันทำให้ประเทศมีเสถียรภาพก่อนในตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจจะลดการเจริญเติบโตไปอีกนานพอสมควร เรื่องนี้มันสำคัญด้วยหรือไม่
“ผมไม่ได้บอกว่าอะไรสำคัญกว่าใคร แต่ควรต้องให้ควบคู่กันไปได้หรือไม่ ทำให้สมดุลได้หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็คงทำอะไรไม่ได้ไปทั้งหมด แล้วคนที่เดือดร้อนจะทำอย่างไรต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ผมด้วย จะชุมนุมอะไรก็แล้วแต่ ก็ว่ากันไปตามสิทธิ ตามกฎหมาย แต่ทุกคนต้องเคารพกติกากฎหมายซึ่งกันและกัน ผมไม่ได้ขู่อะไรใครทั้งสิ้น แต่เป็นห่วงหลายคนที่พูดจาแล้วมันเกินเลย เลยเถิด อาจไม่ใช่การบริสุทธิ์ใจแท้จริง ก็เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ไม่ใช่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ก็ได้ไปพบไปเชิญมาพูดคุยเพื่อเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ ซึ่งบางคนเลิก บางคนไม่เลิก บางคนก็หนักกว่าเดิม ก็ให้เป็นเรื่องกฎหมายว่ากันไป  
ส.ค.เปิดเวทีฟังเด็ก
    น.ส.รัชดากล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.ได้หารือเรื่องการเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่าจากนี้ไปอยากให้ทุกกระทรวงจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการคิดและแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งการสร้างเวทีให้ได้คิดและแสดงออก รวมถึงการเสนอแนะต่อรัฐบาลในประเด็นต่างๆ รวมไปถึงเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้รับทราบการดำเนินงานของรัฐบาลที่ได้ทำไป ซึ่งที่ผ่านมาเสมือนมีช่องว่างอยู่ โดยกรอบและประเด็นที่จะจัดในเวทีเสวนาตรงนี้ นายกฯ แจ้งว่าเบื้องต้นอาจใช้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักไปก่อน ซึ่งแยกย่อยจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ก็อาจแบ่งเป็นเรื่องๆ ได้
    "เรื่องกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย หากกลุ่มคนรุ่นใหม่มีประเด็นไหนที่จะเสนอแนะหรือข้อกังวลที่อยากให้ภาครัฐร่วมมือเปิดพื้นที่ในส่วนนี้ โดยนายกฯ อยากให้เวทีแรกเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด คาดว่าอาจเป็นภายในเดือนสิงหาคม ต่อจากนั้นอาจจัดเวที 2-3 เดือนครั้ง เพื่อเปิดพื้นที่อย่างต่อเนื่องให้เข้ามาช่วยคิดและเสนอแนะ รวมไปถึงรับฟังการทำงานเพื่อให้เข้าใจความยากลำบากและผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว" น.ส.รัชดากล่าว
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. พร้อมคณะ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนการคุกคามนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพและคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม รวมถึงหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย มาตรการ หรือวิธีการใดๆ
    ทั้งนี้ นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรค พท. ยังได้นำรูปภาพกล้องวงจรปิดบ้านพักของนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุม รวมถึงอาจารย์ที่ถูกตำรวจติดตามมาแสดงต่อสื่อเป็นหลักฐาน ยืนยันว่ามีการให้ตำรวจนอกเครื่องแบบไปติดตามความเคลื่อนไหวจริง พร้อมขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว
    นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรปรามบรรดาคนใกล้ชิดที่ออกมาโจมตีขบวนการนักศึกษา ว่ามีการชักจูง มีวาระซ่อนเร้น หรือพยายามทำลายบรรยากาศการจัดกิจกรรม ร้ายที่สุดคือจัดม็อบชนม็อบ ไม่ควรทำ เพราะวิธีการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความแตกแยก และอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายกว่าเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ศึกษาว่าผู้นำรัฐประหารในอดีตมีจุดจบเช่นไร หากคิดจัดการกับขบวนการนักศึกษา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"