Next Normal: โอกาส อีคอมเมิร์ซหลังโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

       เมื่อวานผมเขียนถึงการเสวนาเรื่อง "Next Normal: รู้ก่อน รุกได้ก่อน" ที่ผมมีโอกาสได้ร่วมบนเวทีกับคนสามรุ่นอย่างน่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้

            หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาคือ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO ตลาดดอตคอม ผู้เชี่ยวชาญด้าน E-Commerce แถวหน้าของเมืองไทย

            คุณ "ป้อม" ภาวุธลงทุนในธุรกิจ Startup กว่า 26 บริษัทในธุรกิจสาขาต่างๆ จึงมีประสบการณ์หลากหลายในวงการนี้

            แทบทั้งหมดในการลงทุนของเขาเกี่ยวข้องกับออนไลน์และ E-Commerce

            ช่วงโควิด-19 และการ Lockdown ประเทศที่ผ่านมา ธุรกิจออนไลน์ทุกภาคส่วนที่เขาลงทุนเติบโตสวนกระแส

            คุณภาวุธจึงเป็นอีกคนที่สามารถบอกเราได้ว่า การเฟ้นหาโอกาสในช่วงวิกฤติโควิด ธุรกิจควรจะรับมือและปรับตัวอย่างไร

            "เราโชคดีที่ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อาทิ ระบบชำระเงินที่ดี การทำธุรกรรมทางการเงินจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทย มีระบบ  Logistics Network ที่เข้มแข็ง ช่วง Lockdown เราซื้อสินค้าง่ายด้วยช่องทางออนไลน์ จ่ายง่ายด้วยธุรกรรมการเงินออนไลน์ แถมยังจัดส่งง่าย สะดวกด้วยบริษัทตัวแทนจัดส่งที่แข่งขันด้านบริการ โครงสร้างพื้นฐานพรั่งพร้อม"

            คุณป้อมบอกว่าวันนี้ต้องสำรวจตัวเองว่า ธุรกิจมีความพร้อมและสามารถเติบโตในช่องทางออนไลน์ได้หรือไม่

            "ผมเรียกว่า Online First ถ้าธุรกิจหรือสินค้าคุณไม่อยู่ในออนไลน์ คุณพลาดแน่นอน" คุณป้อมยืนยัน

            คุณภาวุธกล่าวว่า หลังโควิด-19 SMEs ในกลุ่มผู้ผลิตเป็นกลุ่มที่ต้องเจอกับต้นทุนสินค้าจากต่างประเทศที่ต่ำกว่า ที่กำลังตีตลาดในประเทศไทยด้วยช่องทางออนไลน์

            ขณะเดียวกัน SMEs ด้านนำเข้าสินค้าประเภทซื้อมาขายไปต้องรีบปรับตัว เพราะการขนส่งระหว่างประเทศที่สะดวกใช้เวลาน้อยลงกว่าในอดีต

            ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้บริโภคสามารถสั่งสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงจากช่องทางออนไลน์ ทำให้ช่องว่างที่ Trader เคยใช้เป็นโอกาสกลับแคบลง จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป

            คุณป้อมบอกว่าปัจจุบัน E-Commerce ทำให้การขายสินค้าไร้พรมแดน

            SMEs ควรใช้โอกาสนี้เปิดตลาดในต่างประเทศ เพราะการขายสินค้าไปต่างประเทศนั้นทำได้ง่ายขึ้นมาก

            ยกตัวอย่างกรณีการใช้ Online Platform ที่สามารถขายสินค้าได้ทั่วโลกอย่าง eBay และ Amazon

            ปัจจุบันแพลตฟอร์มทั้งหลายเหล่านี้มีสาขาในประเทศไทย ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าออกสู่ตลาดโลกได้อย่างง่ายดาย แถมไม่มีกำแพงด้านภาษาเหมือนในอดีต เนื่องจากทุกวันนี้มีเครื่องมือในการแปลภาษามากมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้หรือไม่

            เทรนด์ที่น่าจับตาขณะนี้คือ การค้าออนไลน์แบบ B2B ที่มีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท (การค้าออนไลน์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านบาท) เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด SMEs ควรหันไปเปิดตลาดนี้ให้มากขึ้นโดยใช้ช่องทางออนไลน์

            เขายกตัวอย่าง มาร์เก็ตเพลสแบบ B2B เช่น AliExpress หรือในประเทศไทยก็มีมาร์เก็ตเพลสขายออนไลน์แบบ B2B ได้ทั่วโลกคือ Thaitrade.com

            ผู้ประกอบการสามารถโพสต์ขายสินค้า เปิดตลาดใหม่ฉีกไปจากตลาดเดิมๆ เพื่อกระจายช่องทางจำหน่ายและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีความต้องการสินค้าไทยสูงมาก

            ถ้าผู้ผลิตไทยสามารถซัพพลายสินค้าให้ได้จะเป็นโอกาสอย่างยิ่ง

            คุณภาวุธบอกว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบเกือบทุกวงการ แต่หากมองให้เป็นโอกาสกลับเป็นช่วงเวลาที่ดีในการ "ซื้อกิจการ" ซึ่งเป็นทางลัดที่ธุรกิจไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

            ส่วนธุรกิจที่กำลังมีปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจ "การรวมกิจการ" หรือ "ระดมทุน" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องลุยเดี่ยว

            "โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจต้อง Re-Skill และสร้าง Skill ใหม่ เพื่อสร้างโอกาสครั้งใหม่ กระนั้นการทำธุรกิจสิ่งแรกคือ คุณต้องรักและสนุกกับสิ่งที่ทำ แค่นั้นยังไม่พอจะต้องแตกต่างด้วย ถ้าไม่แตกต่างย่อมไม่เติบโต ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ชาวบ้านเขาไม่ทำดูและสนุกกับมัน".

             พรุ่งนี้: เทรนด์หลังโควิดในสายตา Baby Boomer

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"