Next Normal : มุมมอง Baby-boomer


เพิ่มเพื่อน    

 

               รูปนี้คือคน 4 รุ่น มานั่งตั้งวงแลกเปลี่ยนในหัวข้อ : Next Normal: รู้ก่อนรุกได้ก่อน...นครินทร์ (รุ่นเด็กสุด), ภาวุธ (วัยกลาง), วีระศักดิ์ (รุ่นเก่า) และสุทธิชัย (รุ่นเก่าสุด)

                เมื่อวานและวันก่อนได้เขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยหลังวิกฤติโควิด-19 บนเวทีเสวนาเมื่อเร็วๆ นี้ว่าด้วย “Next Normal:รู้ก่อนรุกได้ก่อน”

                ผมเห็นว่าเนื้อหาน่าสนใจ เป็นแนวคิดของคนสามรุ่นที่มีประสบการณ์ในแต่ละมุมมอง การแลกเปลี่ยนความคิดวิเคราะห์อย่างนี้จึงมีประโยชน์สำหรับคนที่มีคำถามว่า

                แล้วฉันจะปรับตัวอย่างไรจึงจะรอด?

                หนึ่งในสามคนบนเวทีวันนั้นคือ คุณวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคนรุ่น baby-boomer

                คนรุ่นนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร มีประสบการณ์ตั้งแต่ยุควิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” และต้องเผชิญกับความจำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

                พอเจอวิกฤติโควิด-19 ย่อมจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ได้จากประสบการณ์เก่าและข้อเท็จจริงใหม่วันนี้ได้อย่างน่าสนใจ

                คุณวีระศักดิ์บอกว่า วิกฤติโควิด-19 ในวันนี้เป็นปัญหาระดับโลก เป็น Global Issue ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบ ทั้งขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่มีใครได้รับการยกเว้น

                ที่ยากคือยังเห็นผลไม่ชัดเจนนักว่าจะลุกลามไปนานแค่ไหน

                แต่มีแนวโน้มว่า ผลกระทบจากโควิดระลอกนี้จะอยู่กับเราไปจนถึงปี 2565 หรืออีก 2 ปี กว่าทุกอย่างจะคลี่คลายดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของไทยก็คงต้องใช้เวลาอีก 2 ปี จึงจะสามารถกลับมาอยู่จุดเดิมได้

                ในประสบการณ์ของคุณวีระศักดิ์ ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ผลกระทบหนักสุดคือธุรกิจขนาดใหญ่

                แต่รอบนี้จะกลับกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดเริ่มจากผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง จนไปสู่ธุรกิจรายใหญ่ตามลำดับ โดยเรื่องนี้ทางธนาคารมีการปรับกระบวนการคิด การทำงานให้กระชับ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างราบรื่นและทันท่วงที

                อาทิ กรณี Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ความช่วยเหลือ SMEs ธนาคารมีการประชุม วางแผน และจัดการทุกอย่างรวดเร็วมาก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ถึงมือ SMEs รวดเร็วที่สุด

                คุณวีระศักดิ์บอกว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน

                และยังมีข้อมูลระบุอีกว่า ทำให้คนทั่วโลกกว่า 400 ล้านคนตกงาน

                นั่นหมายถึงคนทั่วโลกก็จะมีรายได้ลดลง ด้วยเหตุนี้จึงต้องกลับมามองว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้และรับมืออย่างไร

                “ลำดับแรกคือ ใจเปิด คิดอยู่ในกรอบเดิมๆ ไม่ได้โลกกำลังเปลี่ยน Globalization เกิดการทวนกระแส ทุกประเทศเน้นการดูแลตัวเองพึ่งพาธุรกิจภายในประเทศมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายใน ดังนั้นสิ่งที่ SMEs ต้องปรับคือ Learn How to Learn ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันทำได้ง่าย เรียนออนไลน์ก็ได้”

                ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจคนเดียวยุคนี้อยู่ยากมาก

                การมีหุ้นส่วนหรือพันธมิตร หรือ “Partnership” จึงสำคัญ และท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ ผู้ประกอบการควรรวมกลุ่ม Supply chain ทั้งหมดเป็น Cluster เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง

                เพราะโควิดทำให้คนทั่วโลกรายได้ลดลง การใช้จ่ายจะคำนึงเหตุผลความจำเป็นมากขึ้น สินค้าจึงต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า สินค้าต้องดี ราคาไม่แพง

                เรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมตัวกันทั้ง Supply chain สนับสนุนซึ่งกันและกัน จะทำให้อยู่รอดไปพร้อมๆ กันได้

                สำหรับคนที่กำลังมองหา New Business Model ในขณะนี้จะต้องดูว่าธุรกิจนั้นอยู่ในกระแสหรือไม่ พร้อมสำหรับการแข่งขันหรือไม่ ธุรกิจที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ มีสูตรความสำเร็จที่อยากแนะนำให้ใช้คือ การยึดหลัก ‘2L 2ต.’

                2L คือ Light ธุรกิจต้องเบาคล่องตัว และ Liquid ธุรกิจต้องลื่นไหล มีสภาพคล่องที่ดี

                2ต คือ ‘ต่าง’ สินค้า บริการแตกต่างจากทั่วไปหรือไม่ ถ้าไม่แตกต่างก็ต้องสู้กันในสงครามราคาที่รุนแรง

                ส่วนอีก ต. คือ ‘ต่ำ’ ต้นทุนต้องต่ำ

                เมื่อมีต้นทุนที่ต่ำก็สามารถขายในราคาที่เหมาะสมได้

                เพราะฉะนั้น SMEs จะต้องยึดหลัก 2L 2ต จากนั้นค่อย Re-Learn เพื่อที่จะ Re-Skill ตัวเองใหม่ เรียนรู้จากรอบๆ ตัว เรียนรู้จากผู้คนจากเหตุการณ์ และเรียนรู้จากโลกออนไลน์

                “สุดท้ายคือ ต้อง Speed ธุรกิจวัดกันที่ความเร็ว คิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว ลงมือทำเร็ว ถ้ายึดหลักทั้งหมดนี้ไว้ได้ ธุรกิจคุณก็จะสามารถไปต่อได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะวิกฤติครั้งใดก็ตาม”

                คนแต่ละรุ่นมีบทเรียนต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือต้องตระหนักว่า

                อะไรๆ ที่เคยเป็นสูตรสำเร็จวันนี้อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป

                เพราะทุกอย่างเปลี่ยน โจทย์เปลี่ยน สูตรแก้ก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"