สลัมยักษ์ ‘ธาราวี’ ที่มุมไบ ตัวอย่างสู้โควิดอย่างทรหด


เพิ่มเพื่อน    

            "ธาราวี" (Dharavi) เป็นชื่อชุมชนแออัดหรือ "สลัม" ที่เมืองมุมไบของอินเดีย

            เป็นสลัมใหญ่ที่สุดของเอเชีย

            ในพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ มีประชากรยากจนไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน

            ส่วนใหญ่ต้องใช้ห้องน้ำห้องส้วมของชุมชนร่วมกัน มาตรฐานสุขอนามัยไม่ต้องพูดถึง

            พอเกิดโรคระบาดโควิด-19 คำถามแรกคือ อินเดียซึ่งมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนจะได้รับผลกระทบหนักแค่ไหน

            ตัวเลขทั้งประเทศอินเดียน่าตกใจ คนติดเชื้อเป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากสหรัฐฯ และบราซิล

            ติดเชื้อแล้ว 2 ล้านคน และเสียชีวิต 40,000 คนเป็นอย่างน้อย ทุกวันมีคนติดเชื้อเพิ่มราว 6,000  คนเป็นอย่างน้อย

            คำถามก็คือว่า ในสถานการณ์เช่นนี้เขตชุมชนแออัดจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อหนักที่สุดหรือไม่

            เพราะกฎข้อสำคัญที่สุดของการสู้กับโควิดคือต้อง "รักษาระยะห่าง"

            สำหรับชีวิตของคนที่อยู่ในชุมชนแออัด คำว่ารักษาระยะห่างเป็นสิ่งที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้

            วันนี้ขณะที่อินเดียกำลังเผชิญกับจำนวนคนป่วยและเสียชีวิตจากไวรัสตัวนี้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ "สลัมธาราวี" กลับได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก ว่าเป็นตัวอย่างของชุมชนสุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาดที่สามารถดูแลป้องกันตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม

            เหตุเพราะการร่วมกันสร้างวินัยและการรวมตัวของชาวสลัม เพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาดให้อยู่ภายใต้การควบคุมให้จงได้

            ชีพกุมาร อัจเจอร์ คุณหมอที่ปรึกษาของชุมชนแห่งนี้ เล่าว่าตอนที่เกิดโควิดใหม่ๆ นั้น "ธาราวี"  เป็นเสมือนหนึ่ง "ระเบิดเวลา" เพราะความแออัดยัดเยียดและสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน

            ความหวาดกลัวและสับสนระบาดไปอย่างกว้างขวาง

            แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่นำโดยคุณหมอชีพกุมาร ซึ่งเป็นผู้ช่วยนายกเทศมนครีรับผิดชอบ "ธาราวี"  ลงมือจัดกำลังการควบคุมโรคอย่างแข็งขันทันที

            เริ่มด้วยการหาข้อมูลก่อน...พบว่ามี 5 จุดในสลัมที่มีคนติดเชื้อสูงสุด

            จากนั้นก็ลงมือตรวจทุกบ้านเพื่อหาคนที่มีไข้หรือมีระดับออกซิเจนต่ำ

            พร้อมกันนั้นก็ระดมหมอที่อยู่ใกล้เคียงเป็นอาสาสมัครเพื่อสร้างความมั่นใจให้ชาวชุมชน

            ภายใน 10 วันทีมงานเฉพาะกิจสามารถตรวจได้ 47,000 คน และพบ 400 คนที่มีอาการน่าสงสัย ประมาณ 20% ของคนที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงนี้ติดเชื้อ

            จากนั้นก็ส่งอีก 4,000 คนที่ได้สัมผัสกับผู้ต้องสงสัยไปกักตัว

            ทีมงานฉุกเฉินตั้ง "ค่ายสาธารณสุข" ณ จุดต่างๆ ในสลัม เป็นจุดที่ทุกคนเข้ามาตรวจไวรัสได้ฟรี

            เจ้าหน้าที่ขอให้คลินิกส่วนตัวใกล้ๆ บริเวณนั้นเปิดให้บริการเพื่อช่วยตรวจค้นหาคนที่ติดเชื้อเพิ่มเติม

            รัฐบาลท้องถิ่นส่งความช่วยเหลือมาให้ทีมงานที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ป้องกัน บุคลากรทางการแพทย์ และน้ำยาล้างมือ

            ทีมหมออาสาต้องทำงานหนักมาก เริ่มงานตั้งแต่ 08.00 น. ตระเวนไปรอบๆ สลัมท่ามกลางอากาศแสนร้อนอบอ้าวเพื่อตรวจทุกคนในชุมชนที่เข้าข่ายน่าสงสัย

            ที่สำคัญคือ การแบ่งปันข้อมูลของผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อกับองค์กรประชาสังคมที่เข้ามาช่วยเพื่อติดตามช่วยเหลือต่อไป

            สิ่งที่ท้าทายสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับชุมชนแออัดอย่าง "ธาราวี" คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขจากศูนย์ เพราะไม่เคยมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพในจุดที่คนยากจนที่สุดมารวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นแห่งนี้

            ห้องรักษาพยาบาลของรัฐในสลัมแห่งนี้ไม่มีเตียง ไม่มีอุปกรณ์สำหรับคนป่วยฉุกเฉิน

            ทีมอาสาสมัครปรับสนามกีฬา สวนสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เคยใช้สำหรับงานแต่งงานและงานสังคม รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนให้เป็นจุดกักตัวและจุดรักษาพยาบาลอย่างปัจจุบันทันด่วน

            ณ ที่ว่างแห่งหนึ่งทีมเฉพาะกิจจัดการสร้างโรงพยาบาลสนาม 200 เตียงพร้อมเตียงออกซิเจนขึ้นมาทันที

            ห้องส้วมหลายร้อยแห่งของชุมชนแออัดแห่งนี้ถูกสเปรย์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อวันละ 3 ครั้ง

            สิ่งที่สำคัญเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออีกอย่างหนึ่งคือสบู่และน้ำ ซึ่งปกติจะเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอยู่เสมอเพราะผู้คนยากจนเกินกว่าจะหาซื้อมาใช้เป็นประจำได้

            การทุ่มเทและระดมสรรพกำลังเช่นนี้ได้ผล ตัวเลขคนติดเชื้อในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ของเดือนพฤษภาคม

            อัตราการหายป่วยของชาวสลัมที่นี่สูงกว่า 80% และจำนวนคนป่วยที่ยังรับการรักษาอยู่ต่ำกว่า  100 ราย

            "เราตามไล่ล่าไวรัส แทนที่เราจะรอให้คนป่วยเดินมาหาเรา" หมออาสาคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

            แต่ปากท้องก็เป็นเรื่องสำคัญ...คนงานกว่า 150,000 คนจากสลัมแห่งนี้กลับไปหมู่บ้านที่ต่างจังหวัดหลังจากรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

            ความช่วยเหลือของรัฐบาลทางเศรษฐกิจกับความต้องการจริงๆ ยังห่างกันไม่น้อย

            แต่เพราะชื่อเสียงของสลัมแห่งนี้เป็นที่เลื่องลือจากหนังเรื่อง Slumdog Millionaire ทำให้มีองค์กรเอกชนบริจาคเงินช่วยเหลือระดับหนึ่ง

            หน่วยอาสาสมัครอีกด้านหนึ่งจึงแจกจ่ายข้าวของและอาหารไปยังชาวสลัมในช่วงวิกฤตินี้พร้อมๆ  กับความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์

            เป็นผลงานร่วมของหลายฝ่ายที่ได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศ ว่าสามารถสู้วิกฤติด้วยความเสียสละของทุกฝ่ายในสังคมในภาวะที่เกือบเอาตัวไม่รอดกันทั้งโลก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"