โลกหลังโควิด-19 กับ 7 การปรับเปลี่ยนเขย่าโลก


เพิ่มเพื่อน    

 

        เมื่อวานได้เขียนถึงแนวคิดแก้วิกฤติหลังโควิด-19 ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

            ท่านพูดถึงความไร้สมดุลของโลกที่มาจากฐานคิด "ตัวกูของกู" ก่อให้เกิด "โลกไม่พึงประสงค์" เป็นโลกที่ติดอยู่ในวังวนของวิกฤติที่ซ้ำซาก

            กลายเป็นภาวะโลกป่วนซึ่งไม่เพียงเกิดจากพลวัตของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากพลวัตของความเสี่ยงและภัยคุกคามด้วย

             เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ต้องปฏิวัติอุตสาหกรรมและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการปฏิวัติทางสังคม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ กลายเป็นตัวเร่งสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภายใต้ "7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก" (7 Major Shifts)

            ผมสนใจที่ ดร.สุวิทย์พูดถึงการปรับเปลี่ยนของโลก 7 ด้าน ที่น่าเชื่อว่าจะต้องมากระทบไทยเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            อยู่ที่ว่าเราจะสามารถเรียนรู้ ศึกษา และปรับมาใช้ได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอันมโหฬารที่กำลังจะย่างกรายเข้ามาหรือไม่

            7 ขยับปรับเปลี่ยนโลกของ ดร.สุวิทย์มีอย่างนี้

            ขยับที่ 1 การเปลี่ยนแปลง โมเดลตลาดเสรี (Free Market Model) สู่ โมเดลร่วมรังสรรค์ (Co-Creative Model)

            นั่นหมายถึงการใช้พลังปัญญามนุษย์ในการขับเคลื่อนแทนการใช้กลไกตลาด

            เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการผลิตและรังสรรค์นวัตกรรม เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาความได้เปรียบเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด มาสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Inclusive Innovation) เพื่อขยายขนาดตลาดให้ครอบคลุม "คนไร้และด้อยโอกาส" ในสังคม

            ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดรับโมเดลการระดมทุนจากประชาชนโดยตรง (Crowdfunding) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนทั้งด้านการเงินหรือประโยชน์ทางธุรกิจ แทนการระดมทุนแบบเดิมที่มีเพียงผู้ถือหุ้นและตลาดทุน

            ขยับที่ 2 เดิมเราอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วย การแข่งขันในการผลิตและการบริโภค (Competitive  Mode of Production & Consumption) ผ่านโมเดลการลงทุนของเอกชน (Private Investment Model)  ภายใต้แนวคิด "การผลิตเพื่อขาย" (Making & Selling) เกิดการแข่งกันผลิตและบริโภค ความอยู่ดีมีสุขตกอยู่กับคนจำนวนน้อย (Well-Beings of the Few)

            ปัจจุบันโลกกำลังก้าวสู่ การผนึกกำลังในการผลิตและการบริโภค (Collaborative Mode of Production & Consumption) ผ่านแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม (Open Collaborative Platform) ที่ดำเนินไปพร้อมกับแนวคิด การเกื้อกูลและแบ่งปัน (Caring & Sharing) เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้คนหมู่มาก (Well-Beings of the Mass)

            ขยับที่ 3 เดิมเรามุ่งพัฒนา การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ภายใต้ฐานแนวคิดที่เชื่อว่า ความโลภ (Greed) ทำให้เกิดการเติบโต (Growth) หรือ "Greed2Growth" และ "Growth2Greed"  แนวคิดมุ่งเน้นไปสู่การเพิ่มปริมาณการผลิตและบริโภค ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ไม่คำนึงถึงประโยชน์ด้านความยั่งยืน

            เราจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดไปสู่ การขับเคลื่อนที่สมดุล (Thriving in Balance) จากเดิมที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สู่การให้ความสำคัญกับ 4 มิติ ได้แก่ การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขในสังคม ควบคู่กับความยั่งยืนของธรรมชาติ บนรากฐานของศักดิ์ศรีและภูมิปัญญามนุษย์ โดยตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า "Good2Growth" และ "Growth2Good"

            ขยับที่ 4 การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (People for Growth) มองมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต มุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพในตัวมนุษย์ ทำให้เกิดภาระหน้าที่ของคนทำงานเกินความจำเป็น

            ขณะเดียวกันองค์กรก็สร้างภาพลักษณ์ของตนให้เป็น Looking Good, Looking Well (ผ่านการทำ Pseudo-CSR)

             หากต้องการสร้างความยั่งยืนในโลกหลังโควิด-19 การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ (Growth for People) จึงเป็นเรื่องสำคัญ การสร้างหลักประกันความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต ยกระดับทักษะ เติมเต็มศักยภาพ เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วม และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะช่วยเปลี่ยนภาพองค์กรให้เป็น Being Good, Being Well อย่างแท้จริง

            ขยับที่ 5 เราอยู่กับ ชีวิตที่ร่ำรวยทางวัตถุ (Economic Life) ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และโหยหาความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด จนนำพาไปสู่ชีวิตที่ไร้จุดหมาย รวมถึงการพัฒนาทักษะเพื่อการใช้งาน (Head & Hands) กับความเชื่อที่ว่า ยิ่งมาก ยิ่งได้ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิด "ความอับจนบนความมั่งคั่ง"

            หากต้องการความปกติสุขในโลกหลังโควิด-19 เราต้องเปลี่ยนชีวิตให้เป็น ชีวิตที่รุ่มรวยความสุข  (Balanced Life) เป็นชีวิตที่มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง เข้าใจคุณค่าของการมีชีวิตและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น พัฒนาทักษะความฉลาดรู้ในการใช้ชีวิต (Heart & Harmony) และพัฒนาทักษะเพื่อใช้ในการทำงาน (Head & Hands) ปรับความคิดเป็น ยิ่งปัน ยิ่งได้ ซึ่งเป็นวิธีที่จะนำชีวิตไปสู่ "ความรุ่มรวยบนความพอเพียง"

            ขยับที่ 6 เดิมเราติดกับดักของ เศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งเป็นระบบที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้าตาม "ห่วงโซ่คุณค่า" (Value Chain) โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  คิดเพียงแต่มุ่งสร้างกำไร

             วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราต้องปรับระบบเศรษฐกิจมาเป็น เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบที่นำสิ่งเหลือใช้และทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดมาหมุนเวียนสร้างประโยชน์ใหม่ มุ่งเน้นความประหยัดในปัจจัยนำเข้า ประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากผลผลิต

            ขยับที่ 7 ที่ผ่านมามนุษย์ดำเนินชีวิตในรูปแบบ การตักตวงผลประโยชน์จากส่วนรวม คิดถึงแต่การเอาความดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น และผลประโยชน์ที่ตกกับลูกหลานตนเองเท่านั้น

            โลกหลังโควิด-19 มนุษย์ต้องหันมาฟื้นฟู เยียวยา รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ไตร่ตรองถึงข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นในสิ่งดีๆ

            และต้องมองหาข้อดีที่มีในสิ่งที่แย่ 

            เปลี่ยนความคิดการสร้างประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง มาเป็นการคิดสิ่งดีๆ เพื่อคนส่วนใหญ่และคนรุ่นหลัง

            ก่อนหน้านี้มนุษย์ใช้ชีวิตที่มุ่งเน้นสู่การแข่งขันทั้งในระดับปัจเจกบุคคล องค์กร และประเทศ

            แต่เมื่อได้เผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้ตระหนักว่ามนุษย์เราไม่ได้ถูกแบ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์กรหรือประเทศอีกต่อไป แต่เป็นพลเมืองของโลก

            เพราะฉะนั้น การฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของเราทุกคน เพื่อความสงบสุขและความอยู่ดีมีสุขที่จะเกิดขึ้นกับเราทุกคน

            หากคนไทยเราตระหนักบางข้อของ 7 ประเด็นนี้และเริ่มทำอย่างจริงจัง บางทีอาจจะยังไม่สายเกินไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"