ไตรมาส 2 หดตัว 12.2% ต่ำสุดแล้วหรือยัง?


เพิ่มเพื่อน    

         ผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพีของทุกประเทศเจอโควิด-19 ล้วนดิ่งเหวอย่างน่ากลัว

            ที่เคยถามว่าบวกเท่าไหร่ ก็ต้องถามใหม่ว่าลบเท่าไหร่จึงจะถือว่า "ยอมรับได้"

            ทั้งๆ ที่แต่ก่อนนี้ใครบอกว่าเศรษฐกิจติดลบจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่ว

            วันนี้ติดลบ 12.2% ก็ยังมีคำอธิบายว่ายังน้อยกว่าตอนไทยเราเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งไตรมาสเดียวติดลบถึง 12.5%

            เอาทศนิยมมาเปรียบเทียบเพื่อปลอบใจกันทีเดียว

            นี่คือ "ความปกติใหม่" หรือ New Normal ของจริง

            ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาคุณทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 และแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งปี 2563  ว่า

            เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2%

            เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่เศรษฐกิจหดตัว 2%

            สาเหตุสำคัญเป็นที่รู้กันคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก สงครามการค้า และสถานการณ์ภัยแล้ง

            คุณทศพรบอกด้วยว่าการหดตัวของไตรมาสที่สองปีนี้ที่ 12.2% เป็นระดับการหดตัวที่น้อยกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

            เพราะไตรมาส 2 ปี 2541 นั้นเศรษฐกิจไทยหดตัวหนักสุดที่ 12.5%

            อีกทั้งยังเป็นระดับการหดตัวทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก ที่เศรษฐกิจไตรมาส 2/63 ติดลบในระดับมากกว่า 10% จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ผลกระทบของโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง

            มีข้อยกเว้นเฉพาะจีนที่เศรษฐกิจขยายตัว 3.2% และเวียดนามที่เศรษฐกิจขยายตัว 0.4%

            "ถ้าเรามองย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40-41 เศรษฐกิจไทยติดลบหนักสุดในไตรมาส  2/41 โดยติดลบ 12.5% ส่วนซับไพรม์วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ติดลบ 4% กว่าๆ และวิกฤติน้ำท่วมก็ติดลบ  4% กว่าๆ จนกระทั่งมาถึงครั้งนี้เจอโควิด-19 เราติดลบ 12.2% ซึ่งยังน้อยกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง"

            คุณทศพรเปรียบเทียบให้ฟังในแง่วิชาการ แต่ในภาคปฏิบัตินั้นคงไม่ได้ช่วยทำให้คนไทยรู้สึกดีขึ้นเท่าใดนัก

            เพราะวิกฤติครั้งก่อนๆ กระทบคนบางภาคส่วน มีความหนักเบาไม่เท่ากัน ภาคที่ดีก็สามารถชดเชยส่วนที่แย่ ทำให้ความเป็นอยู่ยังพอจะประคองผ่านวิกฤติไปได้

            อีกทั้งทุกครั้งที่ผ่านมานั้นระยะเวลาของวิกฤติค่อนข้างสั้นและสามารถจะประเมินกรอบเวลาได้

            แต่ครั้งนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะไปจบในปีไหน และการพัฒนาวัคซีนจะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้ในเวลาใด

            ความไม่แน่นอนประกอบกับผลกระทบอันกว้างไกลของโควิด จึงทำให้วิกฤติครั้งนี้หนักหน่วง  รุนแรง และกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา

            คุณทศพรบอกว่าการอุปโภคบริโภคภาครัฐ และลงทุนภาครัฐ ยังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 และในช่วงที่ผ่านมาไม่ให้ทรุดตัวลงมากกว่านี้

            ที่น่าเป็นห่วงคือการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกพบว่าติดลบทุกตัว เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงทุกเซกเตอร์ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น  อาหาร เป็นต้น

            มองภาพรวมทั้งปีก็ยังเป็นอาการโคม่าอยู่พอสมควร

            สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7.8% ถึงติดลบ 7.3% โดยมีค่ากลางที่ติดลบ 7.5%

            ประมาณการก่อนหน้านี้คาดว่าจะติดลบ 6% ถึงติดลบ 5%

            แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่มีใครกล้าพยากรณ์ได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือประเทศไหนๆ  ในโลกวันนี้

            เพราะมีตัวแปรมากมายหลายปัจจัย

            การที่จะเป็นไปตามการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ได้มีเงื่อนไขว่า

            ต้องไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสองมาซ้ำเติม

            สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ต้องไม่นำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม

            และวิกฤตการณ์ในภาคผลิตต้องไม่ลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงิน

            เป็นเงื่อนไขที่ยากจะเป็นไปได้

            นั่นแปลว่าเราต้องเตรียมเข้าสู่ภาวะ "แปรปรวนต่อเนื่อง" โดยไม่รู้ว่าจะหลุดออกจาก "พายุโควิด"  เมื่อไหร่

            ดังนั้นจึงไม่มีใครแม้แต่คนเดียวบอกได้เลยว่า "จุดต่ำสุด" อยู่ตรงไหน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"