แผนแก้รธน.ช่วยระบอบทักษิณ


เพิ่มเพื่อน    


    "สมเจตน์" ขุดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เตือนแก้รธน.ต้องทำประชามติก่อน และแก้รายมาตราเท่านั้น ชี้เพื่อไทยเดินกลยุทธ์แยกกันเดิน รวมกันตี ส่งคนฝังในพลังประชารัฐ หลังล้มล้างความผิดให้แก่เครือข่ายของระบอบทักษิณ 
    เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เมื่อปี 55 พรรคเพื่อไทยเคยเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่นเดียวกับการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 256 ต่อมามีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดย ศร.วินิจฉัยว่า หากจะแก้ไขมาตรา 291 ต้องไปทำประชามติเสียก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 มาจากการลงประชามติของประชาชน และสมควรจะแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา
    เขากล่าวว่า เมื่อมีการเลือกทั่วไปในปี 62 พรรคเพื่อไทยแตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยังอยู่ในพรรคเพื่อไทย อีกส่วนหนึ่งแตกไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จึงดูเสมือนว่าพรรคเพื่อไทยได้แตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม มีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน เมื่อเกิดกระแสทางการเมืองให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองเสียงข้างน้อย จึงชิงโอกาสเสนอแก้ไขมาตรา 256 ก่อน ทั้งๆ ที่ในอดีตไม่เคยมีพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยเสนอแก้ไข เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยจะประสบความสำเร็จในการแก้ไข 
    "เป็นการชิงโอกาสเพื่อหลอกล่อให้พรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติประกบ และแล้วแผนของพรรคเพื่อไทยก็ประสบความสำเร็จ เมื่ออดีตพลพรรคของพรรคเพื่อไทย พลพรรคของระบอบทักษิณ ที่ทำทีไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้บีบคั้นให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องเสนอญัตติแก้ไขฯ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาในรัฐสภาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" 
    พล.อ.สมเจตน์กล่าวอีกว่า นี่คือกลยุทธ์แยกกันเดิน รวมกันตี เพื่อดำรงความมุ่งหมายเดิมของพรรคเพื่อไทย เป็นความมุ่งหมายเดิมของระบอบทักษิณ ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ สร้างระบอบใหม่ และล้มล้างความผิดให้แก่เครือข่ายของระบอบทักษิณ ที่ยังติดบ่วงกรรมจากผลของรัฐธรรมนูญปี 60 และข้อตั้งคำถามว่าพรรคเพื่อไทยจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้สำเร็จเมื่อเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยใช่หรือไม่ ความปรารถนาของระบอบทักษิณที่รอคอยมานับสิบปีจะประสบความสำเร็จในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯใช่หรือไม่
    ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า สิ่งที่เรายื่นเป็นไปตามแนวทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่เรายังไม่คิดไปแตะอำนาจ ส.ว.นั้น เป็นเพราะเมื่อเราให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว ก็อยากให้เขาเป็นผู้พิจารณาให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และตนก็เชื่อว่า ส.ส.ร.ที่ประชาชนเลือกมานั้นคงไม่อยากให้ ส.ว.คงอำนาจเลือกนายกฯ ไว้ 
    เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลแสดงความคิดเห็นควรตัดอำนาจ ส.ว.ตั้งแต่ต้น นายสุทินตอบว่า พรรคก้าวไกลกังวลว่าหากมีการยุบสภาแล้ว ส.ว.ชุดปัจจุบันจะมีส่วนในการเลือกนายกฯ อีกจึงอยากให้ตัดอำนาจตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมี ส.ส.ร.แล้วเราก็ควรให้เขาเป็นผู้พิจารณาก่อน หลังจากนี้เราคงดูจังหวะเวลาอีกครั้ง ถ้าส.ส.ร.ยื้อเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมฝ่ายค้านก็อาจจะหารือกันเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตัดอำนาจ ส.ว.ในช่วงเวลานั้นก่อนที่ ส.ส.ร.จะร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก็เป็นได้ 
    ถามว่าหากพรรคก้าวไกลมาขอเสียง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเขาที่ต้องการตัดอำนาจ ส.ว.ตั้งแต่ต้น ประธานวิปฝ่ายค้านตอบว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านสนับสนุนการทำงานของกันและกันอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องอธิบายให้ ส.ส.ของพรรคเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น และสุดท้ายเขาก็จะเป็นผู้ตัดสินใจให้ชื่อหรือไม่ ทางพรรคจะไม่เข้าไปครอบงำ
    นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคภูมิใจไทยว่า ในภาพรวมในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียง ส.ส. 100 เสียง แต่พรรค ภท.มีเพียง 61 เสียง จึงไม่สามารถยื่นร่างเองได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน จะมีก็เพียงพรรคพลังประชารัฐ ที่มีเสียงเกิน 100 เสียง ดังนั้นจึงต้องเป็นการร่วมลงชื่อเพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องหารือกันในเรื่องนี้ 
    เขากล่าวว่า การเสนอร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ในนามรัฐบาล แต่เป็นในนามของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นแนวทางรวมกัน โดยหลักการได้เนินเรื่องการเปิดประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 และจะต้องมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนเข้ามาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะไม่แตะต้องหมวด 1และ 2 เด็ดขาด ส่วนโครงสร้างของ ส.ส.ร. 200 ต้องมาดูว่านอกจากการเลือกตั้งแล้ว จะมีสัดส่วนของภาคนักวิชาการมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ต้องมาคุยกันอีกที
    นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์ข้อความบน Warong Dechgitvigrom โดยมีเนื้อหาดังนี้ "อย่าให้ 16 ล้านเสียงทนไม่ได้ พวกที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าพวกท่านกำลังดูถูกการตัดสินใจของประชาชน 16 ล้านเสียงครับ อย่าลืมว่าประชาชนเขาเป็นผู้ลงคะแนนผ่านประชามติ ถ้า ส.ส.และ ส.ว.ท่านใดที่มาจากผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่พอใจรัฐธรรมนูญนี้ น่าจะลาออกไปเลย อย่าเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง
    ท่านช่วยแจงได้ไหมว่า มาตราไหนที่ทำให้ประเทศเดือดร้อน หรือบริหารงานไม่ได้ แม้แต่เรื่อง ส.ว. ก็เป็นการตัดสินใจของประชาชน หรือพวกท่านจะดูถูกว่าประชาชนโง่ ตัดสินใจเองไม่ได้ ที่เลวร้ายกว่านั้น คือจะแฝงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และแบ่งแยกประเทศไทย
    ท้ายที่สุด อยากฝากไปยังผู้หญิงปากดี คุณอย่าเอาเรื่องของประเทศอื่นมาให้คนไทยต้องรับผิดชอบ พวกคุณไม่เคารพรักพ่อแม่ เป็นเรื่องของคุณ แต่คนไทยเขาเคารพ อย่าดูหมิ่นสิ่งที่คนไทยศรัทธา ว่างๆ เอามือตีปากตัวเองสักทีนะ"
    ด้านนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Chao Meekhuad เรื่อง “ภักดีจริง ต้องไม่ดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวการเมือง" มีเนื้อหาระบุว่า "ผมอ่านข่าวนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กในเชิงยั่วยุเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญว่าจะทำให้ประชาชน 16 ล้านคนที่ลงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญลุกขึ้นมาต่อต้านแล้วไม่สบายใจ เพราะนอกจากมีการอ้างประชาชนแบบพร่ำเพรื่อแล้ว ยังดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวด้วย ในขณะนี้ ผมคิดว่าทั้ง 2 ขั้วขัดแย้ง ต่างก็กระทำในสิ่งที่ไม่บังควร ฝ่ายหนึ่งพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สังคมไทยเคารพยกขึ้นเหนือหัว ขณะที่อีกฝ่าย หน้ามืดตามัว ไม่แยกแยะประเด็น เหมารวมทุกอย่าง โดยใช้สถาบันมาเป็นที่แอบอิง จนแทบดูไม่ออกแล้วว่าใช้อำนาจเพื่อรักษาสถาบันหรือกำลังอ้างสถาบันมารักษาอำนาจตัวเอง"
    อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า นพ.วรงค์บอกว่าให้ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหา ตนก็ขอยกให้เห็นชัดๆ คือ การต่อท่ออำนาจให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ เป็นจุดที่ทำให้อีกฝ่ายใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ ตนคิดว่าแทนที่จะเอา 16 ล้านเสียงมาขู่ เราควรใช้วิธีกลับไปหาประชาชนอีกครั้ง เพราะรัฐธรรมนูญใช้มาแล้ว 3 ปีกว่า เห็นข้อบกพร่องและปัญหาในทางปฏิบัติหลายเรื่อง จึงควรกลับไปถามประชาชนอีกครั้งว่าจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าแก้จะแก้เฉพาะมาตรา หรือให้มี ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ นี่คือหนทางที่เคารพประชาชนที่ลงประชามติก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก็ใช้เสียงของประชาชนมายุติข้อพิพาททางการเมือง ไม่ให้บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง 
    ขอย้ำคำพูดเดิมที่เคยพูดไว้ว่า เราไม่จำเป็นต้องรักกัน ไม่จำเป็นต้องเข้าใจกันในทุกเรื่อง แต่ต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน บนความหลากหลายทางความคิด และใช้วิจารณญาณตัดสิน เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยหลักเหตุผลบนความถูกต้อง ไม่ใช่ความถูกใจ นี่คือสิ่งที่ทุกคนในสังคมไทยต้องช่วยกันรั้งสติตัวเองเพื่อนำพาชาติเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
    “ขณะนี้ประเทศไทยเสมือนอยู่ระหว่างเขาควายที่กำลังจะขวิดกัน ฝ่ายหนึ่งเกาะเกี่ยวอยู่กับขั้วอำนาจ ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการล้มอำนาจเดิมเพื่อสถาปนาอำนาจใหม่ โดยมีตัวเองเป็นผู้ถืออำนาจ หากปล่อยให้ความขัดแย้ง 2 ฝ่ายลุกลามบานปลายไปเรื่อยๆ ความเสียหายจะเกิดขึ้นเหมือนอดีต และจะเป็นเงื่อนไขในการทำรัฐประหารอีกรอบ พวกที่เรียกร้องอยากเปลี่ยนแปลงให้จบที่รุ่นเรา ก็ต้องถามตัวเองด้วยว่าเคลื่อนไหวแบบนี้มองไม่เห็นปลายทางหรือว่าจะเกิดอะไร เว้นแต่ต้องการเหยียบกองเลือดขึ้นเถลิงอำนาจ ส่วนผู้ที่ถืออำนาจในปัจจุบัน ก็ต้องระมัดระวัง อย่าสร้างประเด็นที่ทำให้เกิดการยั่วยุจนเกิดชนวนเหตุเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว หยุดตั้งสติกันสักนิด เปิดพื้นที่ตรงกลางเพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ใช่ปลุกระดมให้เกิดการฆ่าฟันกันเอง” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"