มารักษาในไทย ปลอดเชื้อ72ชม. จากปท.ต้นทาง


เพิ่มเพื่อน    

    ไทยพบติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 2 ราย ชายไทยกลับจากอินเดียและชาวกาตาร์ ขณะที่มาตรการโควิดสำหรับต่างชาติเข้ามารักษาตัวในไทยต้องปลอดเชื้อ 72 ชม.จากประเทศต้นทาง ชี้ฝ่ากักตัวสถานพยาบาลโดนด้วย
    เมื่อวันจันทร์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,397 ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,222 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 117 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย สถานการณ์ในประเทศไทยยังดีต่อเนื่องไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเกือบ 3 เดือน  สำหรับผู้ป่วยรายใหม่เดินทางมาจากอินเดีย 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทยอายุ 35 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 8 ส.ค. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 20 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐในกรุงเทพฯ  และตรวจหาเชื้อเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 21 ส.ค.ผลตรวจพบเชื้อ ให้ประวัติเคยมีอาการป่วย อยู่ระหว่างสอบสวน 
    นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า และอีก 1 รายมาจากกาตาร์ เป็นชายสัญชาติกาตาร์ อายุ 71 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 22 ส.ค. เข้าพักในสถานที่กักกันโรงพยาบาลทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ  ตรวจเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 22 ส.ค.ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษาโรคมะเร็งตับต่อเนื่อง  โดยเดินทางมาพร้อมกับลูกชาย ผลการตรวจก่อนเดินทางไม่พบเชื้อทั้ง 2 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกยอดผู้ติดเชื้อรวม 23,583,616 ราย รักษาหายแล้ว 16,080,573 ราย เสียชีวิต 812,513 ราย 
    ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงถึงมาตรการคัดกรองโควิด-19 ในคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาตามนัดในประเทศไทยว่า หลังจากที่ ศบค.ผ่อนปรนให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารักษาที่สถานพยาบาลในประเทศไทย และมีผู้ติดตาม เราจึงได้จัดทำระบบที่ทำให้เกิดความมั่นใจ โดยผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาต้องมีผลตรวจไม่ติดเชื้อโควิด-19 จากต่างประเทศภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ต้องนัดหมายกับโรงพยาบาลก่อนมาทำการรักษา มีเอกสารรับรองสถานะทางการเงิน มีกรมธรรม์ในกรณีที่เกิดเป็นโควิด-19 และต้องติดต่อสถานทูตไทยในประเทศของท่าน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะได้เข้ามาตามระบบ เมื่อถึงไทยเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ มีรถสถานพยาบาลจัดไปรับโดยตรง 
    "จากนั้นจะเข้าสู่อาคารแยกเฉพาะ หากเป็นผู้ป่วยจะมีระบบติดตามตัวที่กรมควบคุมโรคกำหนดไว้ และเข้ารับการรักษาในโรคประจำตัวนั้น ระหว่างรักษาจะมีการตรวจโควิด-19 อีก 3 ครั้ง และหากโรคที่รักษาหายก่อน 14 วัน ต้องอยู่กักกันจนครบกำหนดถึงจะออกจากสถานพยาบาลได้ ในส่วนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยรับผิดชอบทั้งหมด และก่อนกลับประเทศต้องตรวจโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนกลับ" นพ.ธเรศ ระบุ 
    นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้เดินทางเข้ามาแล้ว 166 ราย โดยเป็นผู้ป่วย 90 ราย ผู้ติดตาม 76 ราย ล่าสุดวันที่ 24 ส.ค.จะมาอีก 3 ราย ส่วนวันที่ 25 ส.ค.จะมาอีก 4 ราย ทั้งนี้เราจะทราบกำหนดการ ล่วงหน้าของผู้ที่จะเดินทางมาทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีผู้ป่วยที่ยืนความจำนงจะเดินทางมาอีก 423  ราย ผู้ติดตาม 250 ราย รวม 673 ราย ซึ่งจะทยอยเข้ามา ส่วนจำนวนสถานพยาบาลที่สมัครเข้ามาและประกาศไปแล้วมี 98 แห่ง และคลินิกอีก 26 แห่ง
    เมื่อถามว่า กรณีผู้ป่วยที่มารักษาในประเทศไทยที่ต้องมีการกักตัวที่สถานพยาบาล แต่หากมีบางคนไม่ยอมกักตัวจะมีมาตรการอย่างไร นพ.ธเรศตอบว่า ในข้อกำหนดต้องกักตัวที่โรงพยาบาล 100%  ไม่อนุญาตให้ออกนอกโรงพยาบาล โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่เท่าที่ดำเนินการมา 166 ราย ยืนยันว่ากักตัวที่โรงพยาบาล 100% แต่หากใครละเมิดจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง รวมทั้ง พ.ร.บ.สถานพยาบาลจะมีโทษสำหรับโรงพยาบาลด้วย 
    เมื่อถามอีกว่า การผ่อนปรนมาตรการหลังจากนี้จะทำให้มีการปรับมาตรการต่างๆ ใน Alternative  Hospital Quarantine อีกหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้โดยระบบเป็นไปได้อย่างดี และเรายังมีการคุยถึงเรื่อง Wellness Program ว่าอาจจะมีการส่งเสริมสุขภาพ บางที่อาจเรียกว่า Villa Quarantine มีสปา มีนวดในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำลังดำเนินการทำโปรแกรมนี้กับสมาพันธ์สปาไทย สมาคมสปาไทย และภาคเอกชนอยู่ ยืนยันว่าจะใช้มาตรการให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเกิดความปลอดภัยกับประชาชนและพื้นที่โดยรอบ
    เมื่อถามว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มาจากกาตาร์ซึ่งพบวันเดียวกันนี้ เป็นผู้ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทย ถือเป็นรายแรกหรือไม่หลังจากที่เปิดให้เข้ามารับการรักษา หลังพบเคสนี้จะปรับมาตรการอย่างไรหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า โดยระบบตรวจใน 72 ชั่วโมงก่อนมาไทย และเมื่อมาถึงไทยก็ตรวจอีก ก็จะคล้ายกับคนไทยที่มาเข้าพักในสถานที่กักตัวที่ตรวจครั้งแรกไม่เจอและมาเจอครั้งหลัง  ตรงนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นการฟักตัวของโรค แต่เราได้ให้คนไข้เข้าสู่ระบบปิดของเรา หากมีโรคเราจะสามารถดักจับเชื้อได้
    "โดยเบื้องต้นในระบบเราถือว่ามีความปลอดภัย ดักจับเชื้อได้ และไม่กระทบใคร แต่ทั้งนี้เราจะต้องไปทบทวนประเทศที่จากเดิมรายงานเราว่าไม่พบเชื้อก่อนเข้ามา ซึ่งขณะนี้กำลังให้กองระบาดวิทยาไปสอบสวนโรค และดูมาตรฐานการตรวจแล็บของประเทศนั้นๆ เพื่อทำให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ติดตามผู้ป่วยรายดังกล่าวก็อยู่ในสถานพยาบาลด้วยแต่แยกกัน ซึ่งผู้ติดตามยังไม่พบเชื้อ" นพ.ธเรศระบุ 
    ที่ จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ และได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน : (EOC) กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ก่อนตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองผู้โดยสารที่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 โดยมีนายอนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข​ และนายสาธิต​ ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข​ ให้การต้อนรับและพาตรวจเยี่ยมสถานที่ดังกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"