รัฐถัง (ไม่) แตก! ส่งคลังกู้โปะรายจ่ายโตสวนรายได้ทรุด?


เพิ่มเพื่อน    

        “ถามว่าเคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ไหม เคยมีในสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ยุคนั้นเป็นการกู้ในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยในปีนั้นเหตุการณ์คล้ายๆ ขณะนี้ คือ เป็นงบขาดดุล มีการออกงบขาดดุลเพิ่มเติม มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินพิเศษผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง และเป็นการกู้เพิ่มเติม เนื่องจากรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพราะฉะนั้นหากถามว่าเคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ไหม เคยมีค่ะ” แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุ

        ตรงนี้เป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 ได้รับทราบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งนี้มีการปรับแผนในรายการสำคัญๆ ได้แก่ การปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 2.14 แสนล้านบาท ด้วยเหตุผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบ 2563 ต่ำกว่าประมาณการ จึงจำเป็นต้องมีการกู้เงินในกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบวงเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารหนี้สาธารณะ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จำเป็น เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่าย เพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นการกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอสำหรับรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ พร้อมยังยืนยันว่า การกู้เงินดังกล่าวจะส่งผลให้ประมาณการหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 8.21 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีอยู่ที่ 51.64% ขณะที่ปีงบประมาณ 2563 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะขยับเพิ่มเป็น 57% ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 45.83% ของจีดีพี

        ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถังแตก?” เพราะการกู้เงินในครั้งนี้เป็นการกู้เงินเนื่องมาจากรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ที่ต้องยอมรับว่าแทบจะไม่เคยเห็นการกู้เงินในลักษณะนี้  แม้ว่านี่จะไม่ใช่การกู้ลักษณะนี้ครั้งแรกก็ตาม โดยรัฐบาลอ้างว่า “เป็นผลมาจากการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเลื่อนเวลาการจ่ายภาษี ซึ่งทำให้รัฐบาลมีรายได้เข้ามาน้อย” ทำให้เงินคงคลังอาจจะไม่เพียงพอ นั่นหมายถึงความต้องการและความจำเป็นในการใช้เงินยังมีอยู่อย่างมหาศาล แต่รายได้ที่ต้องเก็บเข้ากระเป๋ากลับไม่เป็นไปตามคาดการณ์ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่ารัฐบาลหมุนเงินไม่ทัน จนนำมาซึ่งการกู้เงิน จำนวน 2.14 แสนล้านบาทดังกล่าว

        ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ในปีงบประมาณ 2563 การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะต่ำกว่าเป้าหมาย 9% หรือไม่น้อยกว่า 3-4 แสนล้านบาท นั่นส่งผลให้เงินคงคลังอาจไม่พอรองรับการใช้จ่ายของประเทศ พร้อมทั้งมีกระแสข่าวออกมาว่า ขณะนี้เงินคงคลังเหลือน้อยมาก เพราะไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้กระทรวงการคลังจำเป็นต้องเสนอ ครม.กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ก่อนที่คลังจะแก้ลำ โดยยืนยันว่าปัจจุบันเงินคงคลังยังอยู่ในระดับสูง เพียงพอรองรับการใช้จ่ายของรัฐบาลและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างแน่นอน

        โดยหากพิจารณาตามข้อกฎหมายจาก พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ มาตราที่ 20 ระบุว่า ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ 1.ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง, เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, เพื่อปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ, ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ หรือพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ นั่นหมายความว่ากระทรวงการคลังสามารถกู้เงินนี้ได้ตามหลักของกฎหมาย

        และหากลงไปดูในรายละเอียดตาม พ.ร.บ.ฉบับข้างต้นในมาตราที่ 21 ระบุว่า การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทไม่เกินวงเงิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และ 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น

        ซึ่งนั่นหมายความว่า ในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินได้ทั้งสิ้น 6.38 แสนล้านบาท และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินไปแล้ว 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ดังนั้นหากจะกู้ในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ที่กำลงเป็นประเด็นในขณะนี้ จึงเหลือวงเงินที่กระทรวงการคลังจะกู้ให้รัฐบาลได้อีก 2.14 แสนล้านบาทนั่นเอง เมื่อรวมกันแล้วปีงบประมาณ 2563 จึงเป็นการกู้เงินแบบ “เต็มเพดาน” ตามที่กรอบของกฎหมายกำหนด

        สำหรับแผนการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ วงเงิน 2.14 แสนล้านบาท ล็อตแรก สบน.จะประเดิมกู้ 5 หมื่นล้านบาทก่อน โดยออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายให้ประชาชนทั่วไป ในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

        “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาระบุว่า ในภาวะวิกฤติคนที่มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ “ภาครัฐ” ดังนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ใกล้ระดับ 60% ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล ถ้าการใช้จ่ายเงินกู้นำไปใช้กับโครงการที่ดี โครงการที่มีประสิทธิผลต่อการกระตุ้นการจ้างงาน ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสอดคล้องวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล) และเป็นโครงการที่ช่วยให้ภาคธุรกิจขยายตัว เพราะในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ บทบาทของภาคการคลังก็ยังสามารถทำงานเพิ่มขึ้นได้อีก เพื่อรักษาระดับการเติบโตไม่ให้เศรษฐกิจไหลลงแรงกว่านี้

        การเพิ่มบทบาทการใช้จ่ายภาครัฐ มีประเด็นที่ต้องคิดอย่างจริงจังถึงเรื่องความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ซึ่งมีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น เรื่องของฐานภาษีทรัพย์สิน ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บในสัดส่วนที่น้อยมาก และการเพิ่มประสิทธิภาพฐานภาษี ซึ่งหลายประเทศมีการหารายได้จากทรัพย์สินของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เหล่านี้เป็นโอกาสในการหารายได้ให้รัฐในอนาคต การใช้นโยบายการคลังที่เพิ่มขึ้นก็ต้องทำควบคู่กับแผนการหารายได้ในอนาคต ที่ได้จากหลากหลายวิธี ขณะที่อีกด้านของบทบาทภาคการคลังในระยะยาว จะต้องมีแผนในการถอนออก หรือปรับลดรายจ่ายบางประเภทลง โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ จะต้องปรับให้เหมาะสม มาตรการที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติโควิด-19 ควรจะเป็นมาตรการชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ปกติก็ต้องมีกลไกในการปรับลดลงทันที ต้องไม่เป็นการสร้างผลต่อเนื่อง ไม่มีผลต่อภาระการคลังในระยะยาว สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และจะต้องนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนว่าบทบาทภาครัฐจะต้องปรับให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐในอนาคต

        ความน่ากังวลกรณีรายได้รัฐบาลถูกกระทบจนจัดเก็บพลาดเป้าจำนวนหลายแสนล้านบาท ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงปีงบประมาณ 2563 เท่านั้น แต่ในปีงบประมาณถัดไป ปีงบ 2564 จะเป็นปีแห่ง “ปัญหา” ที่รอรัฐบาลอยู่ นั่นเพราะฐานรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หรือฐานรายได้อื่นๆ ยังใช้จากปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ยังดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติ เป็นช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19

        แต่ในปีงบประมาณ 2564 จะต้องใช้ฐานรายได้จากปีที่มีวิกฤติการระบาดของไวรัส ซึ่งมีการออกมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทั้งหมด นั่นหมายถึงภาคธุรกิจ ภาคเอกชนสูญเสียรายได้จากที่ควรจะมี ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่! ที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง จะต้องให้ความสนใจอย่างมากกว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร? เพราะหลายฝ่ายต่างก็ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำจากปัญหาวิกฤติโควิด-19 จะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปี โดยเป็นการทยอยฟื้นตัว กว่าจะกลับเข้าสู่ช่วงปกติก่อนเกิดการระบาดของเชื้อโรค ซึ่งก็กินเวลาพอสมควร ตรงนี้จะมีผลอย่างมากกับการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐในระยะต่อไปอย่างแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"