'บ้านแม่กอน'ต้นแบบพัฒนาระบบน้ำ แก้ขาดแคลน ฟื้นชีวิต 7 ชนเผ่า


เพิ่มเพื่อน    

 

 

    วิกฤติไม่มีน้ำใช้ของชาวไทยภูเขาบ้านแม่กอน ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี 7 หย่อมบ้าน กว่า 321 หลังคาเรือน ทำให้ประชากรเกือบสองพันคนเผชิญความเดือดร้อนหนัก ขาดน้ำกระทบการทำเกษตรและคุณภาพชีวิต ทั้งๆ ที่บ้านแม่กอนเป็นหมู่บ้านแรกที่รับน้ำจากลุ่มน้ำแม่กอนหลวง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง ไปบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยลุ่มน้ำแม่กอนหลวง ประกอบด้วย 4 ลำน้ำหลัก คือ ลำน้ำแม่กอนหลวง ลำน้ำแม่กอนกลาง ลำน้ำแม่กอนน้อย และลำน้ำห้วยเฮี้ย มีต้นทุนน้ำไหลรวม 3.79 ล้านลิตรต่อวัน

      การขาดน้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องแก้ไขอันดับแรก สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) ในพื้นที่บ้านแม่กอนแห่งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบที่มีความสามัคคีในการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ และแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ คนในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้อย่างยั่งยืน

 

พัฒนาระบบส่งน้ำและต่อระบบบส่งน้ำ ทำให้ 7 หย่อมบ้านไม่ขาดน้ำ

 

      ปัญหาที่มีการสำรวจพบในหมู่บ้านแม่กอน ที่มีชาวบ้าน 7 ชนเผ่าอาศัย ได้แก่ ลาหู่แดง ลาหู่ดำ ลาหู่เหลือง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ลีซู และคนเมือง ที่สรุปได้เกิดจากระบบประปาภูเขาชำรุดเสียหาย อุดตัน ระบบส่งน้ำมีขนาดเล็ก ไม่มีฝายกั้นน้ำเข้าท่อ ช่วงหน้าแล้งปริมาณน้ำในลำน้ำแห้งขอด หน้าฝนน้ำเป็นสีแดงต้องผ่านการกรองก่อนนำไปใช้  ต้องลุยแก้ปัญหาน้ำให้เพียงพอ เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

      นพวัชร สิงห์ศักดา ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า สถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ มาขยายผลการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ โดยนำแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 มาสร้างคนและระบบการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความเข้าใจแก่รัฐ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น นำร่องใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา โดยหมู่บ้านแม่กอนเป็นหมู่บ้านขยายผลในโครงการร้อยใจรักษ์

      “ บ้านแม่กอนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำของ อ.เชียงดาว แต่ชุมชนต้องการแก้ปัญหาน้ำไม่พอใช้ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อให้ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนสามารถอยู่รอดและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมั่นคงโดยการประกอบอาชีพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 รับสั่งถ้ามีน้ำเพียงพอ การเกษตรก็ไปต่อได้ สถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ ยึดการพัฒนาลุ่มน้ำแม่เป็นหลัก โดยใช้หลักทฤษฎีใหม่มาดำเนินงาน 3 ระยะ ทำโครงการ Quick Win สร้างระบบน้ำเห็นผลรูปธรรม โดยชาวบ้านมีส่วนร่วม นอกจากนี้ หมู่บ้านตั้งในเขตอนุรักษ์ กรมอุทยานฯ อนุญาตให้ทำโครงการพัฒนา ทั้งงานโครงสร้าง ฝาย ระบบท่อ นอกจากชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์แล้ว ช่วยเติมน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ ด้านโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชและเพิ่มศักยภาพในการผลิตทางการเกษตร ทั้งยังมีการตั้งคณะกรรมการ พชร.บ้านแม่กอน ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ที่นี่เป็นตัวอย่างนำองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริมาพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนให้แก่บ้านอื่นๆ" นพวัชร กล่าว

 

ปรับปรุงระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้เกษตรกรได้รับน้ำเต็มที่ 

 

      สำหรับโครงการ Quick Win ทำระบบน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา มีการดำเนินงานไปแล้ว 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 งานซ่อมแซม ปรับปรุงระบบส่งน้ำ 5 หย่อมบ้าน ได้แก่ หย่อมบ้านลีซู สันต้นเปา ดอยนาหลวง ดอยจะลอ และคนเมือง ผู้รับประโยชน์ 219 ครัวเรือน หลังเปลี่ยนท่อที่มีคุณภาพมากขึ้นและขนาดใหญ่กว่าเดิม ส่งผลให้ได้ระบบส่งน้ำดีขึ้น ไม่รั่วซึม ชาวบ้านได้รับน้ำเต็มที่      

      ระยะที่ 2 งานสร้างฝายน้ำอุปโภคบริโภคและฝายเกษตรบน 3 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำกอนหลวง กอนกลาง และกอนน้อย แบ่งเป็นฝายอุปโภคบริโภค 3 ตัว ฝายเกษตร 3 ตัว และต่อระบบส่งน้ำ 5 จุด ทำให้ชาวบ้านทั้ง 7 หย่อมบ้าน 325 ครัวเรือน มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ส่วนฝายเกษตร ชาวบ้าน 25 ราย เนื้อที่ 139.5 ไร่ ได้น้ำใช้ในแปลงเกษตร ผลผลิตเพิ่ม มีรายได้เพิ่มจากการปลูกข้าวและพืชหลังนา ทั้งผัดกาด แตงกวา ฟักทอง มีการตั้งกฎกติกาดูแลรักษาฝาย

 

ฝายน้ำเพื่อการเกษตรบนลำน้ำกอนหลวง ได้น้ำใช้แปลงเกษตรเพียงพอ

 

      ระยะที่ 3 การต่อระบบท่อ PE ลำน้ำกอนหลวง ระยะทาง 6.25 กิโลเมตร ทั้งนี้ ระยะต่อไป ปิดทองหลังพระฯ และหน่วยงานอื่นๆ ตั้งเป้าหมายสร้างฝายให้ครบ 300 ตัว เพื่อฟื้นระบบนิเวศ ดักตะกอน และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนดิน จะแล้วเสร็จเดือนกันยายน ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มดำเนินการแล้ว

      โครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดนี้ ใช้เวลาไม่นานก็แล้วเสร็จ ผลจากการสละแรงงานกายและแรงใจของชาวบ้าน 7 หย่อมบ้านร่วมกัน โดยไม่มีค่าจ้าง ช่วยประหยัดค่าแรงไปมากกว่าครึ่งล้าน บวกกับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทหารม้า ฉก.ม.4 ชุดพลังมวลชน 3203 ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนที่ 307 จนท.อุทยานฯ ผาแดง ตชด. แพทย์ รพ.สต. จนท.เทศบาลตำบลทุ่งพวง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแม่กอนดีวันดีคืน พื้นที่เกษตร 2,500 ไร่ มีน้ำหล่อเลี้ยง

 

ที่นา แปลงเพาะปลูก 7 หย่อมบ้าน มีน้ำใช้ตลอดปี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

      ส่วนเรื่องที่ดินที่กินของชาวบ้านแม่กอนทั้งในเขตอุทยานฯ และนอกเขต ปัจจุบันวางแนวทางการส่งเสริมด้านการเกษตรรายแปลง โดยร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์มหาชน) ดำเนินการ มีแปลงสำรวจ 502 แปลง ทำแผนที่แบบรายแปลง โดยใช้โดรนบินสำรวจ จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่ป่า และพื้นที่ชุมชน ขณะที่กรมอุทยานฯ ทำงานกับผู้นำชุมชน ทำเกษตรแปลงรวมจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จะเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยว มาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงเป็นแหล่งพันธุกรรมพืช ช่วยสร้างรายได้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เชียงใหม่

      อีกมิติหนึ่งนักพัฒนาทางเลือกได้สำรวจข้อมูลเศรษฐกิจสังคม ให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนแบบเดินเท้าไปแต่ละบ้านทุกหย่อมบ้าน เกิดแผนที่เดินดิน ระบุที่อยู่อาศัยแต่ละหลังคาเรือนด้วยมืออย่างละเอียด รู้สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์ชุมชนที่ถูกต้อง ซึ่งโครงการจะคืนข้อมูลให้กับชาวบ้านแม่กอนวันที่ 4 กันยายนนี้ เพื่อทั้งหย่อมบ้าน 7 ชนเผ่า เข้าใจและยอมรับการทำแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ ตามพระราชดำริ (พชร.)

 

ชาวบ้านแม่กอนทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ร.9

 

      อินทร บุญยศ ผู้ใหญ่บ้านแม่กอน หมู่ที่ 2 ต.ทุ่งข้าวพวง กล่าวว่า ก่อนพัฒนาระบบน้ำ ชาวบ้านขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เมื่อแก้ไขแล้ว มีน้ำใช้ทำเกษตรอย่างเต็มที่ ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูก มีทำนา 17% ที่เหลือ 83% ปลูกพืชหลายชนิด ทั้งลำไย มะนาว อะโวคาโด นอกจากนี้ แต่ละหลังคาเรือนยังปลูกผัก รายได้ที่มากขึ้น ช่วยลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่ นอกจากนี้ทุกหย่อมบ้านทำสัญญาประชาคมกับกรมอุทยานฯ จะไม่ขยายพื้นที่ทำกิน และช่วยป้องกันไฟป่า การพัฒนาจากนี้จะมีการตั้งกฎระเบียบของชุมชนในพื้นที่ ตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำและตั้งกองทุนบำรุงรักษา เพื่อให้มีความยั่งยืน อีกเรื่องที่ชุมชนจะร่วมคิดร่วมทำ เป็นการวางมิเตอร์น้ำทุกหลังคาเรือน ใช้มากจ่ายมาก ใช้น้อยจ่ายน้อย เพื่อความยุติธรรม จากเดิมใช้ระบบเหมาจ่ายรายปี 120 บาท คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายใน 2 เดือนนับจากนี้

 

ปรีชา แสภู่ ผู้นำหย่อมบ้านใหม่พัฒนา บ้านแม่กอน

 

      บ้านใหม่พัฒนา ซึ่งมีชาวลาหู่แดงอาศัย เป็นอีกหย่อมบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หลังปรับปรุงระบบน้ำ ปรีชา แสภู่ ผู้นำหย่อมบ้านใหม่พัฒนา บ้านแม่กอน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีน้ำใช้ เพราะน้ำในแม่น้ำมีน้อยมาก เทศบาลก็จัดรถขนน้ำกินน้ำใช้มาเสริม ทำแบบนี้ทุกปี เมื่อวางแผนซ่อมแซม ปรับปรุง แก้ไขระบบน้ำ มีแรงงานชาวบ้านร่วมด้วย ทั้งฝากแรง ฝากเงินเป็นกองกลาง ทุกโครงการก็เสร็จก่อนกำหนด ตอนนี้ชาวบ้านสามารถวางแผนการเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงปลา และเลี้ยงหมู พอกินพอใช้ในครัวเรือน เหลือแบ่งขาย โครงการนี้ดีมาก แก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ได้จริงๆ

 

วิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เยี่ยมชมความสำเร็จโครงการระบบส่งน้ำบ้านแม่กอน

 

      โครงการพัฒนาทางเลือกด้วยศาสตร์พระราชาสามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ตรงความต้องการของชุมชนบ้านแม่กอน จะมีการขยายผลต้นแบบสู่ชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป โดยล่าสุด วิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางมาเยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการ ทั้งระบบส่งน้ำ ฝาย แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ของชาวบ้านแม่กอน รวมถึงหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งปิดทองหลังพระฯ ผู้นำชุมชนทั้ง 7 หย่อมบ้าน ร่วมกันกำหนดทิศทางพัฒนาระยะต่อไป ซึ่งไม่ละทิ้งความรักใคร่สามัคคี และดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9  

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"