ดิ้นแจงยื้อแก้รธน. บิ๊กตู่ปัดล็อบบี้ส.ว.ผุดกมธ.‘อนุทิน’รับอึดอัดเลิกถอย!เสื้อแดงหวั่นเกิดตุลาทมิฬ


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ปัดล็อบบี้ ส.ว.ยื้อแก้ รธน. ยันไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ทั้งหมดต้องให้เกียรติสภา เพราะเป็นตัวแทน ปชช. รับไม่ได้กล่าวหาใส่ร้ายที่ไม่สุภาพ พร้อมให้ฝ่าย กม.ดูร่างแก้ไขฯ พปชร.เรียงหน้าแจงอ้างไม่มี ส.ว.เห็นด้วยตั้ง ส.ส.ร. จึงหาจุดร่วมกันให้ส.ว. ได้ร่วมศึกษาให้ถี่ถ้วน กมธ.ถกนัดแรก 30 ก.ย.นี้ "ปชป.-ภท." หัวเสีย "อนุทิน" ลั่นจะไม่ถอยอีกแล้ว ใน 30 วันขอเอกสิทธิ์โหวตแก้ 256 "ส.ว.เสรี" ย้ำแก้ รธน.ทั้งทีต้องรอบคอบ พท.ซัด "ประยุทธ์" ลอยตัวหนีปัญหาไม่ได้ "จตุพร" ยกเหตุพฤษภาทมิฬ พรรคร่วมรัฐบาลเบี้ยวแก้ รธน. ชนวนเหตุรุนแรง

    เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงมติรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช.... ก่อนรับหลักการจำนวน 6 ฉบับ ว่าตนไม่มีความเห็นอะไร เป็นเรื่องการทำงานของรัฐสภา ที่สองสภาร่วมกันประชุม ซึ่งบรรยากาศในวันแรกก็เป็นไปด้วยดี แต่วันที่ 2 ก็เริ่มมีความขัดแย้งมากขึ้น การจะไปก้าวล่วงอะไรต่างๆ หลายคนก็รับไม่ได้ ส่วนการลงมติและเปลี่ยนแปลงมตินายกรัฐมนตรีไม่เคยต้องสั่งการอะไร ไม่ใช่ว่าทั้งหมดต้องเห็นชอบด้วยกันทั้งหมด และมีบางส่วนที่เห็นต่าง
    "นี่ต้องเคารพความเห็นความแตกต่างกันไม่ใช่หรือ นั่นคือผู้ทรงเกียรติใช่หรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการใส่ร้ายว่ากล่าวกันในทางที่ไม่สุภาพ เป็นผมผมก็รับไม่ได้"
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขฯ เป็นการยื้อเวลาหรือ ไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอนแรกตนคิดว่าจะเรียบร้อย แต่ในวันที่สองจะเห็นว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร คิดว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ รักในศักดิ์ศรีของตนเอง เมื่อพูดจาก็ทำให้ ทุกอย่างเดินหน้าไปไม่ได้ ส่วนการชะลอไป 1 เดือน ก็เป็นไปตามกฎหมายและกติกาของสภาอยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ขอให้ไปดูในวันข้างหน้า ถ้าทุกคนสามารถผ่อนสั้นผ่อนยาวไปได้บ้างแล้วเดิน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตนเลย ไม่ได้ทำให้ตนดีขึ้นหรือเลวลง แต่เป็นเรื่องความคิดเห็นของทุกคน ตามที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย จึงต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย แล้วเดินหน้าไปด้วยความปรองดอง ซึ่งตนจะไม่ได้คาดหวังอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ แต่ตน เห็นว่าวันแรกก็ดีอยู่ไม่ใช่หรือ
    "จะล็อบบี้กับใคร และผมจะไปสั่งใคร ส.ว.ก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีของเขา อย่าลืมว่าใน 250 คน 50 คนมาจากการเลือกของประชาชน ส่วนอีก 200 คนมาจากการแต่งตั้งจากบุคคลที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์ในการทำงานทั้งจากภาคราชการและเอกชน ขอให้รับฟังว่า ส.ว.ทำอะไรให้เสียหายหรือไม่ หลายคนมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับผม ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับผมอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของแต่ละกลไกทำงานกันมา ผมไม่ได้หมายความว่าจะอยู่จนโลกแตก เพราะฉะนั้นอะไรที่หารือกันได้ก็ขอให้หารือ จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือรายมาตราก็ต้องให้เกียรติสภา เพราะเป็นตัวแทนจากประชาชนทั้งหมด หลายคนบอกว่า ส.ว.มาจากผม ซึ่งผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวทั้งหมด เป็นเรื่องของการกลั่นกรองขึ้นมา โดยผมเห็นในประสบการณ์ จึงอนุมัติไปเท่านั้นเอง เพราะทุกคนก็ทำหน้าที่ของตนเองมาโดยตลอด ไม่ได้มุ่งหวังมาเพื่อเลือกนายกฯ เท่านั้น และ ส.ว.ทำงานตั้งมากมาย" นายกฯ กล่าวเมื่อถามว่ามีการล็อบบี้จากรัฐบาลให้ยื้อเวลาพิจารณาแก้ไข รธน.ออกไปหรือไม่
    เมื่อถามว่า ใจของนายกรัฐมนตรีอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าให้ตอบว่าอยากหรือไม่อยาก แต่ตนตอบว่าไม่ขัดข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะไปแก้ไขอย่างไรก็ไปว่ากันมา
    เมื่อถามอีกว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเรื่องระหว่างทางใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้คิดวิเคราะห์ดูว่าเขาคิดอะไรไปแค่ไหน ส่วนฝ่ายรัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายกำลังดูอยู่
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ 30 วันว่า เมื่อ กมธ.ศึกษาตามจำนวนที่กำหนดแล้ว ก็นำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาว่า กมธ.มีความเห็นอย่างไร จากนั้นสามารถลงมติกันเลยได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็น กมธ.ด้วยก็ไม่มีปัญหาอะไร เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง และการที่ตั้ง กมธ.ขึ้นมา จะได้นำประเด็นที่สงสัยในช่วง 2 วันที่ผ่านมามาพูดคุย และถือเป็นโอกาสดีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ จะสามารถให้ กมธ.พิจารณาด้วยก็ได้ เสร็จแล้วทั้งหมดจะไปว่ากันเมื่อตอนเปิดสภา  
พปชร.ปัดซื้อเวลา
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มี ส.ว.ระบุว่าการตั้ง กมธ.ออกไป 30 วัน เพื่อต้องการรอให้รัฐบาลส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไป นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยพูดคุย ไม่รู้ว่าใครพูด และไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เขาอาจจะเดา ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ก็มี แต่ยืนยันรัฐบาลไม่เคยพูด ส่วนคนจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คือคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และประชาชน 5 หมื่นคน คนที่พูดคงพยายามพูดถึงหลักการ  ส่วนกรณีรัฐบาลจะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปยังรัฐสภาใช้เวลาไม่นาน แต่ตนยังไม่เคยได้ยิน
    นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการมองว่ารัฐบาลซื้อเวลาว่า คำว่า 1 เดือน จะไปซื้อทำไม มันไม่เป็นอย่างนั้นแน่ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะการที่ 6 ร่างฯ ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จริงๆ โดยเฉพาะวุฒิสภาไม่ได้ร่วมตั้งแต่ตอน ที่ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มาถึงวันนี้เขาบอกว่ายังไม่ได้ร่วมอะไรเลย วันนี้ให้เขามาลงมติก็ดูขัดกระไรอยู่ พอถึงจุดหมายปลายทางทีแรกเราคิดว่าน่าจะมีมติในเรื่องของการรับร่างฯ แต่พอมาถึงเหตุการณ์เราจะปล่อยให้สิ่งที่เราไม่คิดไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นหรือมันอาจจะเกิดสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด ฉะนั้นการจะหาทางออกได้ดีที่สุดก็คือการตั้ง กมธ.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 121 ฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาสจะตั้ง กมธ.เพื่อจะพิจารณา คิดว่าเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วถูกต้องตามครรลองคลองธรรม และไม่ได้เป็นระยะเวลานาน
     เมื่อถามว่าที่ตั้ง กมธ.คิดกันมานานแล้วหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ไม่ใช่ ตนก็เพิ่งรู้ตอนช่วงที่จะลงมติ เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้แล้วจะทำให้มันเกิดสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดได้อย่างไร ยืนยันรัฐบาลจริงใจ ส่วนที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมก็ไม่เป็นไร ฝ่ายค้านก็ต้องตอบปัญหาสังคมว่าที่มองเป็นการมองด้านเดียว เราคำนึงถึงกระแสของประชาชนอยู่แล้ว ถ้ามีการนำพาประชาชนไปสู่ถนน วันข้างหน้าจะเกิดวงจรแบบนี้อีก ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่างจากพรรคพลังประชารัฐ แสดงให้เห็นว่าเราไม่มีการเตี้ยมกัน ทุกอย่างเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า จะมีการประชุม กมธ.วิสามัญศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ นัดแรก ในวันพุธที่ 30 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา และรู้สึกเสียดายที่ฝ่ายค้านไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ เพราะจะเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำความเข้าใจกันระหว่างสมาชิกวุฒิสภากับ ส.ส.ฝ่ายค้านในบางประเด็น เพราะ กมธ.ชุดนี้จะมาร่วมกันดูในส่วนที่มีความเห็นร่วมกัน หรืออะไรที่ไม่เหมือนกัน ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอทั้ง 6 ฉบับ เพื่อปรับจูนให้ตรงกันโดยใช้เหตุและผล
    "การตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้เป็นการซื้อเวลา แต่เป็นการหาจุดร่วมกัน ไม่กังวลว่าจะส่งผลต่ออุณหภูมิทางการเมือง ซึ่งจะเร่งพิจารณาหาข้อยุติให้ได้ภายใน 1 เดือนตามกรอบเวลา เมื่อเปิดสมัยประชุมมา ก็พร้อมที่จะนำเข้าสภาพิจารณาได้ทันที อย่าไปคิดว่าเป็นอุณหภูมิทางการเมืองเลย ถ้าเผื่อการนำม็อบออกมาแล้ว บอกว่าเป็นอุณหภูมิ ถ้าเป็นม็อบแบบประชาชนจริงๆ ก็อีกแบบหนึ่ง แล้วถ้าเกิดวันหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยไม่ให้แก้ ออกมาจะทำอย่างไร" นายวิรัชกล่าว
อ้าง ส.ว.ไม่เอาสสร.
    น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า การที่รัฐสภาตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาก่อนรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีก 30 วัน ถือเป็นการเปิดโอกาสการทำงานร่วมกันของ  2 สภา เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการศึกษาในส่วนของ ส.ส.เท่านั้น ดังนั้นครั้งนี้จะเป็นการเปิดกว้างให้ ส.ว.ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะในการที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหลักการแล้วต้องใช้เสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก จึงต้องให้เวลากับ ส.ว.ในการศึกษาร่างอย่างถี่ถ้วนด้วย และถือเป็นความคุ้มค่าที่จะได้อภิปรายอย่างหลากหลายมากขึ้นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ยืนยันไม่ได้มีความพยายามถ่วงเวลา แต่เรามองว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงช่องว่างของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อนที่จะมีการแก้ไข แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ทางฝ่ายค้าน จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับกรรมาธิการชุดดังกล่าว
    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. และเลขานุการวิปรัฐบาล กล่าวว่า เหตุที่วิปรัฐบาลต้องตัดสินใจแต่งตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษา ไม่ได้เพราะต้องการซื้อเวลา แต่เราอยากแก้รัฐธรรมนูญ โดยจากการประเมินสถานการณ์การอภิปรายของ ส.ว.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ไม่มี ส.ว.คนใดเห็นด้วยกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย หากมีการลงมติเลยน่าจะได้เสียงจาก ส.ว.ไม่ถึง 84 เสียง และไม่น่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ทำให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป จึงได้ข้อสรุปว่าอยากให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ให้บรรจุเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการตั้ง กมธ.พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  และมีการดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว มีการกำหนดประเด็นชัดเจนว่าจะมีการแก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่แตะหมวด 1-2  ทั้งนี้ เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขมาแล้ว ก็ควรจะดำเนินการในการรับหรือไม่รับในวาระที่ 1 ได้เลย และถ้ามีความต้องการจะปรับปรุงแก้ไข ก็สามารถทำได้ในชั้นแปรญัตติในวาระที่ 2 ได้อยู่แล้ว
    "เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ตั้ง กมธ. พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ และพรรคก็ตั้งตัวแทนเข้าไปร่วมเป็น กมธ. ถือเป็นพื้นฐานหลักการปฏิบัติในสภาอยู่แล้ว ไม่ว่ากฎหมายฉบับไหนแพ้หรือชนะ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราใน กมธ. ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับไหนจะลงมติแพ้ ก็จะไม่ตั้งกมธ.ไปร่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการช่วยผลักดันให้การแก้รัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ ส่วนการพิจารณาออกไป 1 เดือน ก็ควรดำเนินการให้เป็นตามนั้น เพื่อพิสูจน์ความตั้งใจให้กับประชาชน" นายจุรินทร์กล่าว
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. กล่าวย้ำว่า พรรคปชป.มีหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และไม่หวั่นใครข้อกล่าวหาว่าพรรคไม่จริงใจ เพราะพรรคต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด และทราบเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการล่วงหน้าไม่ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วย เพราะสภามีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพอสมควรแล้ว และ กมธ.ชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นนี้จะศึกษาเรื่องใดอีก และการที่ ส.ว.อ้างว่าไม่มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจนั้น จะเป็นไปได้หรือ เพราะแต่ละฉบับมีรายละเอียดเพียงไม่กี่มาตรา และมั่นใจว่าสังคมต้องตั้งคำถามต่อรัฐสภาว่าเหตุใดจึงต้องตั้งกมธ.เช่นกัน
    เมื่อถามว่าพรรค ปชป.ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. แต่กลับส่ง ส.ส.พรรคเข้าไปร่วมทำงานด้วย นายราเมศชี้แจงว่า เพื่อควบคุม และรักษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 และเป็นประเด็นตั้งต้นให้ ส.ส.ร. จึงหวังว่า กมธ.ชุดนี้จะไม่ขยายกรอบเวลาทำงาน 30 วันออกไปอีก
"อนุทิน"ลั่นจะไม่ถอยอีกแล้ว
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ก่อนการลงมติตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยได้ร่วมหารือกันและมีข้อสรุปว่า ไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับเข้ามาสู่การประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า ส.ส.พรรคภูมิใจไทยทุกคน จะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมลงชื่อเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญคือการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2  
    "ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่เราจะไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราร่วมลงชื่อเสนอเอง เมื่อวานนี้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ลงมติด้วยความไม่สบายใจ เนื่องจากไม่ได้รับทราบมาก่อนว่าจะมีแนวทางเช่นนี้ แต่มีคำอธิบายว่าเป็นแนวทางสายกลางที่จะนำไปสู่เป้าหมายคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการได้ และเมื่อวานนี้เราถอยถึงที่สุดแล้ว ระยะเวลา 30 วันที่คณะกรรมาธิการฯ จะทำการศึกษา พรรคภูมิใจไทยขอยืนยันหลักการ ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และจะไม่ถอยอีกแล้ว"
    นายอนุทินกล่าวด้วยว่า ได้มอบให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์? ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย แจ้งต่อวิปรัฐบาลว่าการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้น ส.ส.พรรคภูมิใจไทยขอสงวนสิทธิ์ที่จะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยเสนอ โดยไม่ผูกพันกับมติของคณะกรรมการ ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
     นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า  หลักการและเหตุผลของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้กว้างขวาง กรอบของร่างรัฐธรรมนูญน่าจะมีรายละเอียดและกรอบที่ชัดเจนมากกว่านี้ และในหลักการยังมองอยู่มุมเดียวเท่านั้นเอง  มองเพียงแค่ว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจริงๆ ยังน้อยไป ยังไม่เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้ ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งที ควรมีเนื้อหาสาระที่มากกว่านี้ ต้องดูให้ครบมิติ มีความรอบคอบ ไม่ใช่ทำทั้งทีแล้วทำแค่นี้ทำตาม ความรู้สึกพอใจไม่พอใจหรือความชอบความไม่ชอบ ตนว่ามันน้อยไป
    เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลและส.ว.จับมือเพื่อยื้อเรื่องดังกล่าว นายเสรีกล่าวว่า ไม่กังวล เพราะมันอยู่ที่ผลจะออกมา เราให้เวลา 30 วัน ในการเอาประเด็นปัญหาที่อภิปรายในสภามาเป็นข้อเสนอที่ดีขึ้นชัดเจนและได้ประโยชน์มากกว่าเดิม ในส่วนของ กมธ.ที่ตั้งขึ้นมาก็คงต้องเดินหน้า ส่วนส.ว.เองก็คงจะมีการประชุม แยกออกมา เพราะเราต้องมีจุดยืนของเราที่ชัดเจน
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับผลการลงคะแนนเสียงของ ส.ส.และ ส.ว. ในการตั้ง กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ....? โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 717  คน แบ่งเป็นมีผู้เห็นด้วย 432 เสียง ไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ปชป.โหวตสวน
     จากการตรวจสอบพบว่า ส.ส.ฝ่ายค้านเกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะ กมธ. มีเพียงนายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย เท่านั้นที่เห็นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามี ส.ส.ซีกฝ่ายค้านที่ไม่ลงมติ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี, น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคประชาชาติ, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส และนายอนุมัติ ซูสารอ  ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ รวมทั้งนายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ จากพรรคก้าวไกล  สำหรับ ส.ส.ฝ่ายค้านที่งดออกเสียงคือ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย  
    จากการตรวจสอบการลงมติของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล มีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาติไทย และพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่มีเสียงแตกโหวต เห็นด้วยให้มีการตั้งคณะ กมธ. อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี ส.ส.บางคนที่ไม่ลงมติ ได้แก่ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายสวาป เผ่าประทาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
    ด้านพรรคชาติพัฒนา งดออกเสียงทั้งพรรค เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนใหญ่งดออกเสียง มีเพียง ส.ส. 2 คนที่เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ. ได้แก่ นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี และนายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.สุพรรณบุรี สำหรับพรรคเศรษฐกิจใหม่ส่วนใหญ่โหวตเห็นด้วย มีเพียงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ด้านพรรคประชาธิปัตย์ เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. ยกเว้นนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี  ส่วนนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์  ไม่ลงคะแนนเสียง
    ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตั้งคณะ กมธ. มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, นายพลเดช ปิ่นประทีป และนายพิศาล มาณวพัฒน์ สำหรับ ส.ว.ที่งดออกเสียง ประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายวันชัย สอนศิริ, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ส่วน ส.ว.ไม่ลงมติ มีทั้งสิ้น 13 คน อาทิ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ. ตร., พล.อ.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี  ผบ.สส., พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร., พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.
    ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานรัฐสภา และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ส.ว. ในฐานะรองประธานรัฐสภา งดออกเสียง ซึ่งเป็นไปตามกฎกติกามารยาทในการวางตัว   
         นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาสมามากแล้ว ความพยายามที่จะยื้อเวลาออกไป เป็นการยืนยันชุดความคิด พล.อ.ประยุทธ์ อยากอยู่ยาว ยังคงดำรงเป้าหมายอยู่ดังเดิม แสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล ที่ใช้วิปรัฐบาลวิปวุฒิสภายื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากจะไม่ถอนฟืนออกจากกองไฟ ยังยั่วยุ ผลักสถานการณ์ของประเทศไปสู่การเผชิญหน้า กลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนเดินขบวนมาสังเกตการณ์การลงมติรอบรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงใช้กระบวนท่าไม้ตายตามถนัด คือลอยตัวเหนือปัญหา ไปมอบนโยบายในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันพื้นที่ภาคเหนือ พล.อ.ประยุทธ์จะลอยตัวหนีปัญหาโดยไม่ตัดสินใจอะไรเลยไม่ได้
เตือนซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ
    นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่า มติที่ประชุมรัฐสภาดังกล่าวไม่ใช่แค่ฟืนที่สุมเข้าไปในกองไฟ แต่เป็น "น้ำมันที่ราดลงบนกองเพลิง” ซึ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจด้วยความผิดพลาด ละทิ้งโอกาสในการนำพาประเทศให้ก้าวหลุดพ้นจากวิกฤติ โดยมิได้คำนึงถึงเสียงเรียกร้องของประชาชน เป็นการดับความหวังในการฟื้นคืนประเทศอย่างน่าเสียดาย ซึ่งวิกฤติของประเทศต่อจากนี้ คงยากจะคลี่คลาย พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการถอดสลักชนวน เพื่อคลี่คลายปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ล้วนเปราะบางง่ายต่อ การแตกหักและพังทลาย เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้าย ที่รัฐบาลจะต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ออกจากวิกฤติให้ได้อย่าปล่อยให้คำทำนายเรื่อง “ตุลาเดือด” เกิดขึ้นจริงๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้น พวกท่านทั้งหลายมิอาจรับผิดชอบกับความเสียหายทั้งมวลที่จะเกิดขึ้นได้เลย
      นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษากลุ่ม นปช. กล่าวว่า ความคิดเรื่องไม่คืนอำนาจให้ประชาชนดำรงอยู่อย่างชัดเจนใน ส.ว. ไม่คำนึงว่าตนเองมาจากไหน อ้างรัฐธรรมนูญก็มาจากรัฐประหาร ประชามติก็มีอำนาจรัฐคุมอยู่ และคนอยากได้การเลือกตั้งรวดเร็ว ยืนยันประเทศไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ขอชมเชยการชุมนุมของเยาวชนไม่มีอะไรรุนแรง ส่วนการตั้งกรรมาธิการคุยกัน 1 เดือน ฝ่ายค้านไม่มี คงตีตกแน่ เมื่อเวทีในสภาจบ เกิดเวทีถนน นอกสภา กลับไปสู่วงจรอุบาทว์ เกิดการรัฐประหารอีกได้ ถ้ารัฐบาลรับผิดชอบการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. หากไม่ใช่เป็นอย่างนี้ แนวโน้มลงสู่นอกสภาก็อาจไม่ยอมกันอีก วงจรอุบาทว์ก็เกิด
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า เสียดายที่ ส.ว. และ ส.ส.บางส่วนไม่ศึกษาบทเรียนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ปรากฏการณ์ที่เป็นชนวนใหญ่คือพรรคร่วมรัฐบาลเบี้ยวการแก้รัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เป็นชนวนหลักสู่การชุมนุม 17 พ.ค.2535 เกิดการตาย สูญหาย บาดเจ็บ นายกฯ ต้องลาออก เมื่อ ส.ว.ไม่ตระหนัก เท่ากับเอาฟืนราดน้ำมัน ใส่กองไฟ ตนเสนอให้ทบทวนด้วยการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุผลปัญญาอ่อน การอภิปรายยุติแล้วยังต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาว่าจะโหวตอย่างไรไม่เคยมี ไม่ควรจะตั้ง ฟังไม่ขึ้น ขอให้ทบทวน ยังมีเวลา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"