อีก 2 ปีจึงจะฟื้น?


เพิ่มเพื่อน    

        ถ้าประเทศไทยต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ภาวะก่อนการระบาดของโควิด-19 อย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมิน คนไทยในภาคส่วนต่างๆ ต้องเตรียมการอะไรตั้งแต่วันนี้?

                เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ และคำตอบจะต้องมาจากการร่วมกันถกแถลงของทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

                เราอาจจะหวังพึ่งรัฐบาลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

                เพราะการเมืองจากนี้ไปอีก 2 ปี ยังจะผันผวนและขาดความชัดเจน

                อีกทั้งกระบวนการในรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของคนกลุ่มต่างๆ ยังตกอยู่ในภาวะสับสนและซับซ้อน

                หากการเมืองไม่มีทิศทางที่ชัดเจน หรือหากมีความพยายามที่จะรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองแบบเดิมๆ ก็ค่อนข้างจะแน่ชัดว่าความไร้เสถียรภาพจะเป็นอุปสรรคสำคัญของการฟื้นฟูประเทศชาติ

                และแม้ว่าโรคระบาดจะผ่อนคลายหรือหายไป แต่หากเราไม่สามารถสร้างกติกาที่เป็นธรรมและโปร่งใส ไทยก็จะไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นวิ่งแข่งกับประเทศอื่นได้

                นี่คือปัญหาหลักที่หนักกว่าวิกฤติเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป เพราะ “กับดัก” ทางการเมืองของไทยนั้นซึมลึก, ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่เห็นอยู่บนเปลือกนอก

                คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกนักข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อสัปดาห์ก่อน และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี

                กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย แต่การฟื้นตัวยังเปราะบาง และทำให้ปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า

                ธปท.ประเมินเศรษฐกิจปีนี้หดตัวที่ 7.8% ถือว่าดีกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย แต่ก็ยังแสดงถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด

                สาเหตุเพราะผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองน้อยกว่าที่คาด โดยสะท้อนจากข้อมูลในไตรมาส 2/63 ดีกว่าที่คาด (ซึ่งติดลบ 12.2%)

                แต่ในภาพรวมแล้วการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยัง “เปราะบาง” และแนวทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังชะลอตัว เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังยืดเยื้อทั้งในไทยและต่างประเทศ

                แปลว่าจะกระทบภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า

                ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงต้องการมาตรการที่ตรงจุดและทันการณ์ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

                แต่ช่วงที่ผ่านมาช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น “เพียงเล็กน้อย” เท่านั้น 

                ในปี 2564 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 9 ล้านคน และเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 3.6% ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน โดยความไม่แน่นอนยังมีสูงจากหลายปัจจัย เช่น

                • แนวโน้มเศรษฐกิจโลก

                • มาตรการจ้างงานและการลงทุนของภาครัฐในด้านต่างๆ

                • การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน

                • สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่จะส่งผลต่อมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

                ธปท.คาดว่าต้องใช้เวลา 2 ปีขึ้นไป ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด

                และที่สำคัญคือ ภาคเศรษฐกิจ-ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มจะฟื้นตัวต่างกันมาก

                นั่นหมายความว่า มาตรการภาครัฐจะต้อง “ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น”

                คำว่า “ตรงจุด” และ “ทันการณ์” คือหัวใจของการแก้ปัญหา เพราะจำนวนเงินช่วยเหลือไม่ว่าจะมากเพียงใด (ซึ่งเราก็มีจำกัด) หากไม่ตรงเป้าหรือช้าเกินไปก็เปล่าประโยชน์

                กนง.เสนอด้วยว่า ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องด้วย

                ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องท้าทายที่ยากเย็น ทั้งสิ้นทั้งปวงอยู่ที่ความสามารถในการ “บริหารวิกฤติ” ของรัฐบาลเท่านั้นจริงๆ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"