ผลเมื่อชาติอาหรับญาติดีกับอิสราเอล


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     13 สิงหาคม สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์กับอิสราเอลประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติตามข้อตกลง Abraham Accords Peace Agreement แถลงการณ์ร่วมระบุว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ก้าวย่างสำคัญของสันติภาพตะวันออกกลาง เดือนถัดมา 11 กันยายน บาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกันตามแถลงการณ์ Declaration of Peace, Cooperation, And Constructive Diplomatic and Friendly Relations และได้ร่วมลงนามใน The Abraham Accords Declaration

                สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ไม่ใช่ประเทศแรกในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง (ในที่นี้รวมอียิปต์) ที่ญาติดีกับอิสราเอล ก่อนหน้านี้อียิปต์กับจอร์แดนได้ลงนามสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1979 กับ 1994 ตามลำดับ

สถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติหมายถึงอะไร :

                มีการพูดถึงสันติภาพ แก้ปัญหาปาเลสไตน์ด้วยสันติวิธี ยังมีประเด็นสำคัญๆ ที่ควรเอ่ยถึง ได้แก่

            ประการแรก ยอมรับอธิปไตยอิสราเอล

            หลายสิบปีที่ผ่านมา อิสราเอลเป็นรัฐเถื่อนในสายตาโลกอาหรับ มุสลิมพากันต่อต้าน บัดนี้ UAE กับบาห์เรน คือ 2 ประเทศอาหรับล่าสุดที่ยอมรับการมีอยู่ของประเทศนี้ เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของอิสราเอลเพราะสู้มาตลอดให้นานาชาติยอมรับรัฐชาติแห่งนี้

                นับจากนี้จะทำมาค้าขายกัน ไม่ช้าไม่นานคนยิวจะไปลงทุนในรัฐอาหรับ นักท่องเที่ยว 2 ชาติเดินทางไปมาหาสู่ นี่คือตัวอย่างผลที่จับต้องได้ของการสถาปนาการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วไป

                ประการที่ 2 ประเด็นศาสนา

            1948 เมื่อยิวประกาศสถาปนารัฐอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์ผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวนหนึ่งถูกขับไล่ออกจากถิ่นอาศัยกลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับอย่างรุนแรง เกิดสงครามถึง 5 ครั้ง บาดเจ็บล้มตายนับหมื่น ความขัดแย้งนี้ไม่เป็นเพียงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ  มุสลิมทั่วโลกจำนวนมากตีความว่าเป็นเรื่องศาสนาด้วย  มุสลิมบางคนถือว่าคนยิวโดยเฉพาะพวกไซออนิสต์เป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ แต่นับจากนี้อิสราเอลคือมิตรประเทศดังเช่นมิตรประเทศอื่นๆ

                The Jerusalem Post สื่ออิสราเอลนำเสนอข่าวว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เริ่มปรับแก้หนังสือเรียนของเด็กชั้น 1-12 เรื่องการญาติดีกับอิสราเอลในคำสอนศาสนา (Moral Education) ระบุประโยชน์ของสันติภาพระหว่างยิวกับอาหรับ การยอมรับคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนา

                เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accords Peace Agreement ระบุชัดว่า ทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ความจริงแล้วในภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

                เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว วิพากษ์ได้มากมายหากพูดในมุมศาสนา

ประเด็นในอนาคต :

                นอกจากประเด็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วข้างต้น ยังมีประเด็นอนาคตที่ต้องขบคิด อย่างน้อย 2 ประการ

            ประการแรก หยุดลุกล้ำดินแดนได้หรือ

                การเข้าใจเรื่องลุกล้ำดินแดนต้องเริ่มจากนโยบายของรัฐบาลอิสราเอล

                เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกฯ เนทันยาฮู ประกาศย้ำต้องผนวกพื้นที่ส่วนใหญ่ของเวสต์แบงก์ให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล เพื่อบันทึกอีกหน้าประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) พวกปาเลสไตน์จำต้องยอมรับ ล่าสุดคนยิวราว 4 แสนคนตั้งถิ่นฐานอาศัยในเวสต์แบงก์ อิสราเอลมีแผ่นดินมากขึ้น มั่นคงกว่าเดิม บนความสูญเสียของคนปาเลสไตน์หลายล้านคน (กว่า 5.3 ล้านคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเกือบ 7 ทศวรรษแล้ว)

                บุตรเขยประธานาธิบดีทรัมป์ จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการปรับความสัมพันธ์ กล่าวว่า “อะไรก็เป็นไปได้” เมื่ออาหรับญาติดีกับอิสราเอล ชี้ว่าคนตะวันออกกลางเลิกยึดติดความขัดแย้งในอดีต ต้องการแบ่งปันโอกาสร่วมกัน ทำธุรกิจร่วมกัน เรียนรู้จักกันและกัน

                แนวคิดของคุชเนอร์แนะให้ลืมอดีตเพื่อก้าวสู่อนาคตร่วมกัน แต่ที่คุชเนอร์ไม่เอ่ยถึงคือทุกวันนี้อิสราเอลไม่หยุดลุกล้ำดินแดนปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนยังทนทุกข์ ไร้อนาคต เรื่องราวเหล่านี้ยังคงกำลังดำเนินต่อไป ไม่ได้จบเพื่อเริ่มต้นกันใหม่

                ผู้นำอาหรับบางคนกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ทอดทิ้งปาเลสไตน์ ควรถามกลับว่าปาเลสไตน์จะได้ดินแดนคืนหรือไม่ เมื่อไหร่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ... คำว่าสันติภาพที่ทำกับอิสราเอลหมายถึงอะไรกันแน่ ข้อตกลงระบุชัดว่าสนับสนุนการเจรจาตามแนวทาง two-state solution แต่ไม่มีคำสัญญาว่าอิสราเอลจะคืนดินแดนแก่ปาเลสไตน์

                การปรับสัมพันธ์การทูตรอบนี้คล้ายกรณีประชุมสุดยอดที่แคมป์เดวิด 1978 อียิปต์กับอิสราเอลได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพฉบับสมบูรณ์ นายเมเนเฮม เบกิน (Menachem Begin) นายกฯ อิสราเอลสมัยนั้นให้สัญญาว่าจะไม่ตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมในเขตเวสต์แบงก์ ในขณะที่ชาติอาหรับเห็นว่าอียิปต์เป็นคนทรยศ ชาวปาเลสไตน์เห็นว่าตนถูกชาติอาหรับทอดทิ้ง

                ถ้าทบทวนอดีตจะพบว่าตั้งแต่อียิปต์กับจอร์แดนญาติดีกับอิสราเอล การรุกคืบกินดินแดนยังคงดำเนินต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าปาเลสไตน์จะได้คืน อียิปต์กับจอร์แดนยังคงความสัมพันธ์ตามปกติกับอิสราเอลต่อไป แม้นานาชาติจะประณามอิสราเอลทุกปีก็ตาม

            บัดนี้ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยประณามอียิปต์ได้เดินตามรอยอียิปต์แล้ว

            ต้องยอมรับว่าการสถาปนาการทูตไม่เป็นประโยชน์ต่อการคืนดินแดนแก่ปาเลสไตน์ และต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศใดสามารถหยุดอิสราเอล

                นายมาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ กล่าวว่า UAE กับบาห์เรน “ทรยศต่อเยลูซาเลม มัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Mosque) ต่อประเด็นปาเลสไตน์“

                แต่ไม่ว่าปาเลสไตน์เจ้าของพื้นที่จะพูดอย่างไร รัฐบาล UAE กับบาห์เรนยืนยันจุดยืนของตน

                ประการที่ 2 เยรูซาเล็มจะเป็นของอิสราเอลโดยสมบูรณ์หรือไม่

            ย้อนประวัติศาสตร์ครั้งเมื่อก่อตั้งรัฐอิสราเอล เยลูซาเลมตะวันออกอยู่ใต้การควบคุมของจอร์แดน ต่อมาปี 1967 เกิดสงคราม 6 วัน (Six-Day War) อิสราเอลเข้ายึดเยลูซาเลมตะวันออก และประกาศผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล ปี 1994 อิสราเอลลงนามสันติภาพกับจอร์แดน เป็นผู้ดูแลสถานศักดิ์สิทธิ์ของเขตตะวันออกนี้

                สถานศักดิ์สิทธิ์ที่ว่ารวมถึงมัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Mosque) กับโดมทองแห่งศิลา (Dome of the Rock) ที่มีความสำคัญยิ่งต่อมุสลิมทั่วโลก

                เมื่อไม่กี่ปีก่อนรัฐสภาอิสราเอลมีมติให้เยลูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เพราะพวกเขายึดถือเช่นนี้มาตลอด รัฐบาลสหรัฐกับอีกหลายประเทศยอมรับและย้ายสถานทูตของตนไปตั้งที่นั่น เป็นการรุกคืบอีกครั้ง และพูดกันหนาหูในหมู่มุสลิมว่าพวกไซออนิสต์กำลังพยายามควบคุมมัสยิดอัล-อักซอร์ กับโดมทองแห่งศิลาอย่างเบ็ดเสร็จ

                ความเป็นไปของเยลูซาเลม มัสยิดอัล-อักซอร์ และโดมทองแห่งศิลาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน ที่ผ่านมาอิสราเอลค่อยๆ รุกคืบทำนองเดียวกับการรุกกินดินแดนปาเลสไตน์ เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

จากศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ... :

                ในทางวิชาการการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับเป็นกรณีที่น่าศึกษา จากศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ แต่นับวันความเป็นศัตรูหดหาย ความเป็นมิตรเด่นชัดขึ้นทุกที ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร อุดมการณ์เปลี่ยนได้ เป้าหมายเปลี่ยนไป ไม่ว่าใครจะมองแง่บวกหรือลบ การเป็นมิตรระหว่างรัฐบาลอาหรับกับรัฐบาลอิสราเอลเป็นเรื่องจริง ข้อตกลงปรับสัมพันธ์การทูตเป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งที่เปิดเผย เป็นทางการ

                อันที่จริงแล้วชาติอาหรับอื่นๆ อาจเป็นมิตรกับอิสราเอลมานานแล้ว อยู่ที่ว่าจะเปิดเผยหรือยังปกปิด อยู่ที่ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับความจริง บางคนคิดไปไกลถึงขั้นไซออนิสต์ครอบงำอาหรับ.

---------------------------

คำโปรย :

                การปรับความสัมพันธ์อิสราเอลกับชาติอาหรับเป็นกรณีน่าศึกษา จากศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ แต่นับวันความเป็นศัตรูหดหาย อุดมการณ์เปลี่ยนได้ เป้าหมายเปลี่ยนไป เปิดเผยชัดเจนกว่าเดิม

---------------------------

ภาพ : โดมทองแห่งศิลา (Dome of the Rock)   

ที่มา : https://www.khanacademy.org/humanities/ap-art-history/west-and-central-asia-apahh/west-asia/a/the-dome-of-the-rock-qubbat-al-sakhra

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"