สรงน้ำพระ-รดน้ำดำหัวล้านนาโบราณ ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง


เพิ่มเพื่อน    

(อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง สืบสานพระปณิธานสมเด็จย่า)

    บนเนื้อที่กว่า 150 ไร่ของอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่ชาวเชียงรายรู้จักในชื่อ 'ไร่แม่ฟ้าหลวง' กลางเมืองเชียงราย ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญกันว่าคือแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมชั้นเยี่ยม มีสถานที่สำคัญ ทั้งหอคำโดดเด่นสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมล้านนา แสดงงานพุทธศิลป์เก่าแก่ และหอแก้วที่เปิดให้ผู้คนได้สัมผัสความงดงามของเครื่องสักการะ เครื่องใช้ในอาราม รวมถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแบบล้านนา ผลิตจากไม้สักเลอค่า อีกทั้งยังมีงานศิลปะหมุนเวียนให้ชมตลอดเวลา
    ร่มไม้ใหญ่ พรรณไม้หอมและไม้ในวรรณคดีนานาชนิด ทั้งแก้วพิกุล ฝนทอง แก้วกุดั่น ที่รวมไว้มากมาย ทำให้ภายในอุทยานดูสดชื่น ร่มรื่น แม้จะเป็นช่วงเดือนเมษายนแต่อากาศที่นี่กลับเย็นสบายๆ เรียกได้ว่าเป็นจุดสูดอากาศบริสุทธิ์กลางเมือง นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมและนั่งเล่นได้ตามใจชอบ อีกทั้งเป็นแหล่งที่อุดมด้วยเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมล้านนา จึงทำให้ไร่แม่ฟ้าหลวงแห่งนี้คว้ารางวัลกินรี จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในประเภทรางวัลดีเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม

(เจ้าชูศรี สิโรรส-เจ้าพนอ ณ เชียงใหม่ ถวายเครื่องสักการะ น้ำขมิ้นสมป่อย หน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จย่า)

    จุดเริ่มต้นของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ของสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการช่วยเหลือความเป็นอยู่ชีวิตชาวเขาจังหวัดเชียงราย ทำให้ทุกวันนี้สภาพความเป็นอยู่ของราษฎรตามดอยต่างๆ ดีขึ้น สามารถลืมตาอ้าปากได้ ส่วนอุทยานศิลปวัฒนธรรมล้านนาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของมูลนิธิฯ ที่หวังขับเคลื่อนการอนุรักษ์ประเพณีล้านนา โดยวางเป้าให้เป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมล้านนา เป็นแหล่งเรียนรู้ในวัฒนธรรมประเพณีล้านนา
    และเพื่อไม่ให้วัฒนธรรมล้านนาถูกลบเลือนจางหายไป กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือจางหายไป  จนไม่อาจหวนคืนกลับมาได้ ทางมูลนิธิฯ จึงจัดงาน “สระเกล้าดำหัว” ในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2561 เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังในการเคารพนบนอบผู้สูงอายุ

(ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ มอบน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องคำนับผู้อาวุโส)

    ภายในงานได้รับเกียรติจากท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานจัดงาน พร้อมด้วย คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ, นคร พงษ์น้อย กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง และณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ตลอดจนบุคคลสำคัญจากทุกภาคส่วนของ จ.เชียงราย เข้าร่วมพิธีสำคัญที่มาคู่กับสงกรานต์กว่า 400 คน ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

(หอแก้วจัดแสดงสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีมนต์เสน่ห์)

    แม้ประเพณีรดน้ำดำหัว 4 ภาคจะคล้ายกัน แต่วิถีล้านนาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง งานสระเกล้าดำหัวซึ่งจัดภายในหอแก้ว ตระเตรียมทุกขั้นตอนตามประเพณีสุดประณีต ทั้งขันสลุงหรือขันเงิน ภายในมีน้ำขมิ้นส้มป่อยลอยด้วยดอกไม้สวยงาม มีการตัดกระดาษสีต่างๆ มาทำตุง หรือธงรูปสิบสองนักษัตร สัญลักษณ์สิริมงคลแห่งล้านนา และที่ขาดไม่ได้ เครื่องคำนับแด่ผู้อาวุโส งานนี้มีการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมเชียงราย 18 อำเภอ จำนวน 36 คน มารับความเคารพสักการะและให้พรผู้ที่ไปดำหัว

(นคร พงษ์น้อย รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่ทำคุณประโยชน์ให้เชียงราย)

    นคร พงษ์น้อย กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ห่างหายจากการจัดงานรดน้ำดำหัวตามประเพณีล้านนาไปนานกว่า 20 ปี ในวันนี้ตระหนักถึงการสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ทรงมุ่งพัฒนาชีวิตของราษฎรโดยไม่เลือกว่าเป็นชาวเขาหรือชาวเมือง แต่ที่ผ่านมามูลนิธิฯ มุ่งทำงานพัฒนาจนหลงลืมไปว่าคนในเมืองก็ต้องการความดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกัน นำมาสู่การรื้อฟื้นประเพณีดังกล่าวขึ้น ใช้พื้นที่ไร่แม่ฟ้าหลวง เนื่องจากสมเด็จย่าพระราชทานให้ทำประโยชน์เรื่องศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี สงกรานต์ไม่ใช่การละเล่นสาดน้ำเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญ ได้แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งไม่ได้หมายถึงปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่เท่านั้น ยังรวมถึงข้าราชการบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ ประเพณีการแสดงความคารวะต่อผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีเห็นเด่นชัดในชาติอื่น ชาติของเราควรหยิบขึ้นมาทำให้โดดเด่น

(อัญเชิญพระพุทธรูปไม้โบราณ 16 องค์ออกมาที่หอแก้วให้สรงน้ำตามประเพณีล้านนา)

    จากพิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลตามฮีตฮอยคนเมืองแล้ว ยังจัดพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี จำนวน 16 องค์ ผ่านรางพญานาค ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน มีกวีล้านนาร่ายกะโลงล้านนาแสดงความคารวะผู้อาวุโสจาก 18 อำเภอ พร้อมมอบน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องคำนับแด่ผู้อาวุโสตามประเพณีดั้งเดิม ด้วยเชื่อว่าน้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นมงคล สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้หมดไป โดยขบวนสาวสงกรานต์แต่งกายชุดพื้นเมืองเชิญเครื่องคำนับสู่บริเวณพิธี

(เคารพนบนอบผู้สูงอายุ หัวใจสำคัญงานสระเกล้าดำหัว)

    "สระเกล้าดำหัวเป็นการแสดงความคารวะ แสดงความกตัญญูรู้คุณ นี่คือหัวใจสำคัญที่สุด เราต้องการให้เยาวชนรุ่นหลังรู้จักมีความกตัญญูรู้คุณ พิธีกรรมต่างๆ เป็นส่วนปลีกย่อยทำให้สวยงามแค่นั้น ส่วนขั้นตอนสำคัญยังมีพิธีถวายน้ำขมิ้นส้มป่อยแด่พระฉายาลักษณ์สมเด็จย่า ถือว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้มีพระคุณต่อประชาชนชาวเชียงราย นอกจากนี้เราเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีคุณภาพและมีการดำเนินชีวิตเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม นอกจากการคารวะแล้ว ยังเป็นกำลังใจแก่ผู้สูงอายุทั้งหลายว่า ถ้าดำเนินชีวิตดี คนทั่วไปจะเห็นคุณค่า" อาจารย์นครเผยคุณค่าที่ซ่อนเร้นให้เด่นชัด

(พระพุทธรูปไม้โบราณ งานพุทธศิลป์งดงามในไร่แม่ฟ้าหลวง)

    ที่ประทับใจไม่แพ้กันก็คือ การสรงน้ำพระพุทธรูปไม้โบราณผ่านรางพญานาค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเชื่อของชาวล้านนา และเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผอ.อุทยานศิลปะฯ บอก พระพุทธรูปแทนพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงอิฐ ปูน หรือไม้ การสรงน้ำพระเป็นการสักการะและเสริมสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ พิธีนี้ได้นำพระพุทธรูปไม้เก่าแก่ 16 องค์ ซึ่งสร้างอย่างประณีต งดงามที่สุด เป็นงานพุทธศิลป์ที่มูลนิธิฯ เก็บรักษาไว้ออกมาให้ประชาชนสักการบูชา

(ขบวนสาวสงกรานต์เชิญเครื่องคำนับเข้าสู่พิธี)

    ภาพผู้เฒ่าผู้แก่ คนเมืองได้ใช้วิธีสรงน้ำผ่านรางไม้ฉลุลวดลายพญานาคอย่างวิจิตรบรรจงแทนการใช้ขันน้ำที่ใส่น้ำมาสรงที่พระพุทธรูป แสดงถึงความเคารพสูงสุด สายน้ำแห่งศรัทธาไหลไปสู่ขันเงินใบใหญ่เบื้องหน้าพระพุทธรูป ซึ่งมีเชือกเป็นดั่งตัวเชื่อมนำน้ำสรงพระอีกชั้นหนึ่ง ส่วนน้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นสิ่งมงคลชำระล้างความสกปรกในใจมนุษย์ให้สะอาด น้ำนั้นจึงมีความสะอาดพอที่จะใช้ในพิธี สำหรับประเพณีสระเกล้าดำหัวชาวล้านนานิยมปฏิบัติหลังวันสงกรานต์นั้น จะจัดงานวันไหนก็ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน ชาวเมืองอย่างเราเห็นแล้วก็รู้สึกปลาบปลื้มปีติในความงดงามหาชมยากของขนบประเพณีชาวล้านนา

(กระดาษหลากสีทำตุงสิบสองนักษัตร สัญลักษณ์สิริมงคลล้านนา)

    พิธีสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวแบบชาวล้านนาดั้งเดิม จึงนับเป็นอีกความพยายามในการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม โดยหวังให้ความงดงามนี้ รวมถึงความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนานคงอยู่สืบทอดต่อไป ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เองก็ปรารถนาที่จะจัดงานประเพณีดังกล่าวขึ้นทุกปี ผู้สนใจอยากสัมผัสประเพณีรดน้ำดำหัวสงกรานต์แบบล้านนาแท้ๆ สามารถมาร่วมงานได้ พร้อมกับการเยือนไร่แม่ฟ้าหลวงที่ไม่ควรพลาดหากได้มาเชียงราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"