ศึกท้องถนนของราษฎร 2563 บทเรียนเก่าสู่สถานการณ์ใหม่


เพิ่มเพื่อน    

       การชุมนุมขับไล่รัฐบาล 14 ต.ค.2563 โดย “คณะราษฎร 2563” เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงทำเนียบรัฐบาลสำเร็จ ก่อนถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค.2563 ภายหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งก่อนหน้าการเข้าสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงดึกล่วงหน้าก่อน ราวกับรู้ล่วงหน้าว่าจะถูกสลายการชุมนุม พร้อมนัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์ต่อในเวลา 16.00 น. วันที่ 15 ต.ค.2563 แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจตามประกาศฉุกเฉินที่สั่งห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน ก็ไม่อาจสกัดกั้นมวลชนจำนวนมากไว้ได้ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563

            เดิมนั้น ภาพของค่ำคืนวันที่ 14 ต.ค. ที่มวลชนหลั่งไหลมาแน่นถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับเป้าหมายเดิมตั้งใจจะชุมนุมอย่างยืดเยื้อ ทำให้ชวนนึกคิดถึงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ กปปส. แต่ในที่สุดกลับต้องปรับเปลี่ยนและถูกสลายอย่างรวดเร็วไม่ทันฟ้าสางของวันรุ่งขึ้น ด้วยอำนาจของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เข้าสลายการชุมนุมในช่วงที่มวลชนมีจำนวนน้อย ประกอบกับการจับกุมแกนนำตามหมายจับในคดีที่มีอยู่เดิม พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เกมการเมืองรูปแบบชุมนุมยืดเยื้อไม่สามารถกลับมาทำได้โดยง่ายอีกต่อไป

            เหตุการณ์ทั้ง 2 วันที่ผ่านมา พฤติการณ์ของฝ่ายผู้ชุมนุมได้สะท้อนภาพการปฏิบัติตามบทเรียนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ได้เรียนรู้จากกลุ่มผู้ชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้สะท้อนภาพการปฏิบัติตามบทเรียนการรักษาอำนาจรัฐและรัฐบาล ที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากอดีตส่วนหนึ่งเช่นเดียวกัน

            กล่าวคือ การเคลื่อนไหวของ “คณะราษฎร 2563” แกนนำต่างมีท่วงทำนองที่ระมัดระวังเรื่องความรุนแรงทางกายภาพของมวลชนอย่างมาก ตั้งแต่การเริ่มต้นชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้จะมีกลุ่ม “คนเสื้อเหลือง” ที่บอกมารับเสด็จและมีทัศนคติตรงข้ามกับกลุ่มคณะราษฎร 2563 มาชุมนุมอยู่ด้วยอีกฟากฝั่งถนน มีลักษณะเผชิญหน้าเห็นกันตลอดเวลา จนไม่พ้นเกิดการปะทะใช้กำลังระหว่างมวลชนบางส่วนขึ้น ซึ่งแกนนำคณะราษฎรที่อยู่บนรถปราศรัยหลายคัน ต่างพยายามห้ามปรามมวลชนของตนให้ถอยกลับ และสอดคล้องกันกับการ์ดผู้ชุมนุมที่เข้าไปป้องกันเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็สามารถรักษาแนวควบคุมสถานการณ์ไม่ให้การปะทะลุกลามบานปลายได้

            จนกระทั่งถึงการเคลื่อนขบวนในจุดที่ถูกสกัดจากแนวของตำรวจ แกนนำได้ส่งตัวแทนไปพยายามเจรจาให้เปิดทางพร้อมกลุ่มการ์ดเป็นแนวหน้า กับกำชับมวลชนให้นั่งรอ ฟังปราศรัย ฟังดนตรี แม้จะเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งมีการยินยอมให้ผ่านทางได้ หรือผ่อนปรนให้เกิดการผลักดันเปิดเส้นทางไปสู่ทำเนียบรัฐบาลตามเป้าหมาย ต่างจากผู้ชุมนุมในอดีตที่มีภาพมวลชนบุกตะลุยฝ่าแนวกั้นของตำรวจอย่างเต็มที่ กับการปลุกระดมให้ลุยจากแกนนำ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกศาลพิพากษาลงโทษหนักมาแล้ว

           ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้อำนาจของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาจจะเป็นด้วยความหวั่นเกรงเผชิญกับการชุมนุมยืดเยื้อเช่นในอดีตที่รัฐบาลหลายชุดเผชิญมาแล้ว แม้จะไม่ยอมลาออกหรือยุบสภา ก็ไม่อาจบริหารราชการแผ่นดินได้สะดวกอีกต่อไป จึงอาศัยเครื่องมือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในการสกัดและสลายการชุมนุมโดยไม่ยินยอมปล่อยให้มีความยืดเยื้อ พร้อมจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม ต่างจากรัฐบาลในอดีตที่ยอมให้ชุมนุมในช่วงเริ่มต้นตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แม้ตั้งเป้าอยู่ยืดเยื้อก็ตาม การเร่งสลายชุมนุมเหมือนเป็นการปฏิบัติตามบทเรียนในรูปแบบที่ต้องการกระชับอำนาจเข้มข้นยิ่งขึ้น

            แต่การเลือกบทเรียนกระชับอำนาจมากกว่าบทเรียนประชาธิปไตยนั้น จะช่วยให้รัฐบาลอยู่ยั่งยืนได้จริงหรือ เพราะในบทเรียนที่รัฐบาลปัจจุบันอาจมองข้ามรัฐบาลในอดีตบางชุด คือ การใช้กำลังทั้งอาวุธและกฎหมายเข้าจัดการกับผู้ชุมนุมแล้วไม่อาจอยู่ได้อย่างยั่งยืน ก็มีให้เห็นเสมอในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลทหารในอดีต หรือแม้แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ.2553 ที่ตัดสินใจสลายการชุมนุมของ นปช.ได้สำเร็จ สุดท้ายไปต่อไม่ไหว ต้องยุบสภาอยู่ดีในปี พ.ศ.2554

            ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย คงต้องพับบทเรียนการชุมนุมยืดเยื้อในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำอย่างต่อเนื่อง ส่วนบทเรียนปิดจุดอ่อน การป้องกันความรุนแรงทางกายภาพจากมวลชนฝ่ายตัวเองทำได้ดีกว่าการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา แต่ต้องพัฒนาการปราศรัยให้เข้าสู่สันติวิธียิ่งขึ้นไป สำหรับผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้าม หากไม่อาจยึดมั่นสันติวิธีได้ จะกลายเป็นการไม่เรียนรู้บทเรียนอดีตและบั่นทอนความชอบธรรมลงไปเอง

                สถานการณ์นับจากนี้จึงเป็นมิติใหม่ของการต่อสู้ในเกมการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างมีบทเรียนให้เรียนรู้ ในการปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง จากสารพัดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เคยผ่านมาแล้วในประเทศไทย นำมาสู่การปรับใช้ในสถานการณ์ใหม่ ที่จะจบในรุ่นเราหรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ จะจบเหมือนเดิมหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ แต่ดำเนินต่อไปไม่เหมือนเดิมแน่นอน.

นายชาติสังคม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"