รุมกินโต๊ะ'พลังดูด'ซัดย้อนยุคหวังสืบอำนาจ อึ้ง!'โอ๊ค'ร่วมขบวนเหน็บ


เพิ่มเพื่อน    

    นักวิชาการ-นักการเมืองรุมโต้ตรรกะนายกฯ "พิชาย" ชี้การดูดเป็นครรลอง ปชต.ที่ล้าหลัง  ด้อยพัฒนา สะท้อนคนดูดและถูกดูดไร้อุดมการณ์ "องอาจ” ยันขัดเจตนารมณ์ รธน.ที่ห้าม คสช.เอื้อประโยชน์ทางตรงทางอ้อม "เพื่อแม้ว" ย้อนทำไมนักการเมืองน้ำดีไม่ไปร่วม "เหวง" ยกประวัติศาสตร์ดูด ส.ส.ตั้งแต่ยุคจอมพลผิน ยึดอำนาจเป็นวัฒนธรรมชั่วร้ายที่หวังสืบทอดอำนาจ "ลูกแม้ว" แจมด้วย โพสต์ภาพ "แม้ว-ปู" ถือกาแฟ เหน็บบางฝ่ายไม่กล้าดื่มรอดูดอย่างเดียว
    เมื่อวันอาทิตย์ หลายฝ่ายยังวิพากษ์วิจารณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าการดูดนักการเมืองมีทุกพรรคการเมืองมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของระบอบประชาธิปไตยตลอดมา โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก  แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าว หัวข้อ "การดูดเป็นครรลองประชาธิปไตยที่ล้าหลังและด้อยพัฒนา" ระบุว่า เป็นความจริงที่ว่าการดูดเป็นวิถีของพรรคการเมืองบางพรรคในสังคมไทย พรรคประเภทนี้มักเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ มีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อที่จะได้เป็นรัฐบาล เป็นพรรคที่มีทุนหนา และ/หรือมีอำนาจรัฐสนับสนุนอยู่ด้วยในขณะที่มีการดูด
     "การดูดที่เกิดขึ้นหมายถึงการที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งมีพลังในการทำให้นักการเมืองอื่นๆย้ายพรรคหรือยุบพรรคไปรวมกับพรรคนั้น ซึ่งสะท้อนภาวะด้อยพัฒนาของระบบพรรคการเมืองไทยและระบอบประชาธิปไตย เพราะบ่งถึงภาวะที่นักการเมืองไร้อุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองที่มั่นคง ทั้งคนดูดและคนถูกดูด คนดูดก็สักแต่ว่าทำให้พรรคที่จัดตั้งขึ้นมามี ส.ส.มากที่สุดเพื่อจะได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล ส่วนคนถูกดูดก็พอๆ กัน คือหวังแต่ผลประโยชน์และอำนาจเป็นหลัก โดยก่อนการเลือกตั้งหวังว่าจะได้รับเงินทุนสนับสนุนการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งก็หวังว่าจะได้รับตำแหน่งในรัฐบาล"
    รศ.ดร.พิชายระบุว่า หากการดูดเป็นครรลองของประชาธิปไตยไทย ก็หมายถึงว่าระบอบประชาธิปไตยไทยด้อยพัฒนาและล้าหลัง ดังนั้นการที่คนพูดซึ่งพูดอยู่ตลอดเวลาว่าจะปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง มาพูดในลักษณะที่สร้างความชอบธรรมแก่การดูดย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และทำให้น้ำหนักของการปฏิรูปประเทศหายไปจนแทบจะหมดสิ้น หากคิดจะปฏิรูปการเมืองและประเทศ จะต้องไม่ทำตามแบบแผนการเมืองเดิมที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แต่จะต้องทำในสิ่งที่สอดคล้องกับวิถีที่ถูกต้องชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือหากคิดจะจัดตั้งพรรคการเมืองก็ต้องเริ่มจากอุดมการณ์และหลักการเชิงคุณธรรมทางการเมือง และมีกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลอย่างแท้จริง ให้คนเข้ามาร่วมพรรคด้วยการที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน และเป็นไปโดยสมัครใจ มากกว่าหยิบยื่นผลประโยชน์และตำแหน่งต่างตอบแทน เพื่อดูดอดีต ส.ส.ให้มาเข้าพรรคที่ตนเองหรือผู้สนับสนุนจัดตั้ง
    "หากทำไม่ได้ ก็ควรเลิกอ้างเรื่องการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศเสียเถอะ เพราะสิ่งที่พูดออกมากับสิ่งที่คิด เชื่อ และทำจริงๆ นั้นมันคนละอย่างกันอย่างสิ้นเชิง และยิ่งอ้างไปก็ยิ่งทำให้ดูไม่จริงใจมากยิ่งขึ้น" รศ.ดร.พิชายระบุ 
     ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การดูด ส.ส.คงไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตยของไทยตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง และให้คนในรัฐบาล เพราะการดูด ส.ส.ของคนในรัฐบาลที่กำลังทำอยู่ขณะนี้มีการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหวังให้คนเหล่านี้มาอยู่กับพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งขึ้นในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้มีโอกาสเป็นนายกฯ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป
ดูดย้อนยุคเผด็จการ
    "การที่คนในรัฐบาลกำลังเคลื่อนไหวใช้อำนาจหน้าที่ของการเป็นรัฐบาล และใช้ผลประโยชน์ต่างๆ มอบให้ในการเจรจา ต่อรอง ดูด ส.ส.มาเข้าพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังการเลือกตั้ง น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้า คสช. รัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกต้องพ้นจากตำแหน่ง คสช. รัฐมนตรี และ สนช. ภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้"
    รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเช่นนี้ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ คสช. รัฐมนตรี และ สนช. ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่ท่านนายกฯ และคนในรัฐบาลกำลังทำอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่การเมืองแบบใหม่ แต่เป็นการเมืองแบบเก่าย้อนยุค เหมือนในอดีตที่ทหารยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติรัฐประหารแล้วต้องการสืบทอดอำนาจก่อตั้งพรรคการเมืองดูด ส.ส.มาหนุนตนเองให้เป็นใหญ่ต่อไป เหมือนกับยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีพรรคเสรีมนังคศิลา, ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ก็มีพรรคสหประชาไทย, ยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็มีพรรคสามัคคีธรรม วันนี้มาถึง พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหาร ก็ยังทำการเมืองแบบเก่าเพื่อสืบทอดอำนาจ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการเมืองไทย จะกลายเป็นปมปัญหาต่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตย และขยายปัญหาให้เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตอีกด้วย
    นพ.เหวง โตจิราการ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ได้ยกประวัติศาสตร์อธิบายถึงการดูด ส.ส.ว่า การเมืองน้ำเน่า ไม่ว่าจะเป็นการดูด การใช้เงินซื้อมือที่จะลงคะแนน การใช้เงินซื้อเสียง ล้วนมีต้นตอจากคณะยึดอำนาจรัฐประหารต้องการสืบทอดอำนาจของตนทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะจอมพลผิน ชุณหะวัณ ที่โค่นล้มรัฐบาลคณะราษฎรลงไป เป็นการเริ่มต้นศักราชที่คณะทหารเผด็จการใช้กองทัพเข้ามารัฐประหารยึดอำนาจเพื่อสนองตอบต่อตัณหาอุปาทานทางอำนาจ, การเมือง และผลประโยชน์ของตนและพวกซ้ำๆ ซากๆ จนถึงปัจจุบันและอาจสืบทอดยาวต่อไปในอนาคต เมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากจอมพล ป. ต่อมาจัดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 15 ธ.ค.2500 ปรากฏว่าพรรคทหาร (สหภูมิ) ได้เพียง 44 ไม่พอตั้งรัฐบาล จึงตั้งพรรคใหม่ชาติสังคม แล้วไปดูดเอาสารพัด ส.ส.จนได้เสียง 202 ใช้มุกเดิมคือไม่ต้องการอำนาจปล่อยให้จอมพลถนอม เป็น ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ก็มายึดอำนาจรัฐประหารอีกเมื่อ 20 ต.ค.2501 คราวนี้เป็นนายกรัฐมนตรี ยาวไปจนอสัญกรรม 9 ธ.ค.2506
     แกนนำคนเสื้อแดงกล่าวต่อว่า จอมพลถนอมมาครองอำนาจต่อจน จัดให้มีการเลือกตั้ง 10 ก.พ.2512โดยคณะรัฐประหารตั้งพรรคสหประชาไทยขึ้นก่อนในวันที่ 24 ต.ค.2511 แต่เลือกตั้งได้เพียง 76 ก็ใช้พลังดูดสารพัด ส.ส.อีก 71 เพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ มีเรืองกระฉ่อนจ่ายเงินเพื่อซื้อมือ ส.ส.ให้โหวตสนับสนุนในสภา มีหลักฐานเรื่องการจ่ายเงินในห้องน้ำจอมพลถนอมไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่น ก็ยึดอำนาจตนเอง จนเป็นเรื่องขำขันระดับตำนานโลก ต่อมาก็เกิดการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาประชาชนทั่วประเทศโค่นล้มระบอบ “ทรราช สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” ลงไป ภายหลังจากกรณี 6 ตุลา ก็มีการยึดอำนาจรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า
      "ปี 34 เกิดการยึดอำนาจรัฐประหาร รสช. หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งเพื่อให้ รสช.กลับมามีอำนาจอีกเกิดพรรคสามัคคีธรรม ในที่สุดก็จบด้วยพฤษภาทมิฬ ไปดูซิครับว่าแกนนำและ ส.ส.ของพรรคสามัคคีธรรมมีใครบ้าง ชื่อตรงกับกลุ่ม ก๊วน นักการเมือง พรรคการเมืองที่ คสช.ส่งเทียบเชิญ ส่งขนมจีบ ทอดสะพานไปให้หรือไม่ ดังนั้นที่นายกฯ กล่าวว่าการดูดเป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทยจึงไม่เป็นความจริง แต่เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองชั่วร้ายอันเกิดขึ้นเนื่องจากคณะทหารยึดอำนาจต้องการสืบทอดอำนาจของตนเองให้ยาวนานที่สุด ขอให้กลับไปพิจารณาระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส หรือระบอบ รสช.นายพลเสื้อคับกันดูก็แล้วกัน ฤาคณะรัฐประหารชุดปัจจุบันอาจจะเป็นข้อยกเว้นของคณะรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาในอดีตก็อาจเป็นได้" นพ.เหวงระบุ 
นักการเมืองน้ำดีไม่ไปร่วม
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดูด ส.ส.ไม่ใช่ครรลองของประชาธิปไตยแบบไทย แต่อาจเป็นการใช้ทุกสรรพกำลังอำนาจที่มีอยู่แต่เพียงผู้เดียว กดดัน บีบบังคับ ให้นักการเมืองยอมศิโรราบเข้าให้การสนับสนุนด้วยสารพัดข้อต่อรองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามาโดย กปปส.และเครือข่าย สร้างเงื่อนไขหาเหตุต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ผ่านไป 4 ปี ปฏิรูปยังไง ย้อนยุคกลับไปเป็นการเมืองโบราณ ไม่สร้างสรรค์ แม้ประชาชนพยายามจะเชื่อ แต่ก็ไม่รู้จะเลือกเชื่อท่อนไหน การรับสภาพว่าไม่มีทางเลือกต้องกลับไปดูดนั้น แปลว่าการปฏิรูปไม่มีอะไรที่เป็นความก้าวหน้าหรือไม่ หรือเหตุผลที่ใช้อ้างเพื่อยึดอำนาจ แท้จริงแล้วเป็นเพียงข้ออ้างที่จะเข้าสู่อำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง และเมื่อเข้ามาแล้ว ก็กระทำการทุกวิถีทางเพื่อการสืบทอดอำนาจเอาไว้ให้นานที่สุดหรือไม่ 
    "คสช.มีเครื่องมือ มีองคาพยพ มีงบประมาณ ทำอะไรได้ทุกอย่าง และไม่เคยกลัวใคร แต่กลัวอย่างเดียวคือกลัวการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่แปลกใจเลยที่นักการเมืองน้ำดีมีมาก แต่ที่ไปดูดมาแต่ละกลุ่ม แต่ละคนสภาพก็อย่างที่เห็น มันก็สะท้อนกฎของแรงดึงดูด สิ่งที่เหมือนกันจะมีแรงดึงดูดเข้าหากัน ท่านต้องตั้งคำถามทำไมนักการเมืองคุณภาพ นักการเมืองน้ำดีไม่ไปอยู่กับท่าน เพราะนักการเมืองน้ำดีเขาคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือข้อต่อรองเฉพาะหน้าที่ไม่ยั่งยืน" นายอนุสรณ์กล่าว
     นายพิชัย นริพทะพันธุ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีต รมว.พลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับการติดต่อจากบางบุคคลชักชวนให้ไปร่วมงานการเมืองกับบางฝ่ายจริง คนที่มาชักชวนระบุเหตุผล เพื่อต้องการคนมาช่วยทำงานเพื่อบ้านเมือง ในการพูดคุย บุคคลคนดังกล่าวยังอ้างไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ด้วยว่ามีความชื่นชมในตัวตน ที่มีความรู้ความชำนาญ กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ ตนเองยังงงๆ จึงบอกกลับไปเท่าที่จำความได้ว่าจะไปร่วมได้อย่างไร ผมเองเคยว่าเกี่ยวกับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลตั้งหลายครั้ง  ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปร่วม ต้องดูเรื่องแนวคิด เรื่องอะไรต่างๆ ด้วย และตอบปฏิเสธไป 
    "แต่มีการระบุกลับมาอีกว่า เหตุที่ท่านต้องด่า เพราะคุณมีแฟนคลับเยอะ มีเครดิต เอาจริงแล้วลึกๆ ท่านชื่นชมคุณอยู่ รู้ว่าทำงานได้ เพียงขอให้มาช่วยงานกัน อย่างไรก็ดี ในการพูดคุยครั้งนั้น หากตกลงมาร่วมงานกัน ยังระบุไปถึงเงื่อนไขต่างๆ มีการใช้คำว่า ‘บอกมาเลยจะเอาเงื่อนไขอะไร ให้ทุกเงื่อนไข’ ด้วย"
    นายพิชัยกล่าวอีกว่า นับแต่มีข่าวการดูด คงไม่ใช่ตนคนเดียวที่ถูกทาบทาม ไม่รู้ว่าอดีต ส.ส.พื้นที่อื่นจะโดนทาบทามด้วยหรือไม่ แต่ถึงอย่างไร มั่นใจว่าคงไม่มีใครออกจากพรรคเพื่อไทย เพราะมีบทเรียนจากการเลือกตั้งสมัยพรรคพลังประชาชน หลายคนที่ออกไปสุดท้ายไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็น ส.ส.อีก
    ส่วนนายซูการ์โน มะทา หนึ่งในแกนนำผู้ขอจดจัดตั้งพรรคประชาชาติ ของกลุ่มวาดะห์ กล่าวถึงกระแสดูดเข้าร่วมกับพรรค คสช. ว่ากลุ่มวาดะห์ถูกกดดันก่อนใครเพื่อนเสียอีก มีการนำจุดตรวจจุดสกัดมาตั้งหน้าบ้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่ แต่จากการทำแบบสำรวจความคิดเห็นในทุกๆ ด้าน ประชาชนในพื้นที่เห็นว่า กลุ่มวาดะห์ควรรวมตัวกันเพื่อตั้งพรรคตามที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสไว้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งกลุ่มวาดะห์และคนภาคใต้ต่างก็สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ เชื่อมั่นระบอบรัฐสภาในการแก้ปัญหา
ลูกแม้วร่วมเหน็บด้วย
    นายซูการ์โนกล่าวว่า ส่วนการประชุมครั้งแรกของพรรคประชาชาติ ยังต้องรอ คสช.อนุมัติ โดยกลุ่มวาดะห์ทุกคนจะมาอยู่กับพรรคประชาชาติ เช่นเดียวกับนายวันมูหะมัดนอร์ ที่จะเป็นคีย์แมนของพรรคเรา นอกจากนี้ ก็จะมีการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นด้วย ส่วนยุทธศาสตร์การส่งผู้สมัคร ส.ส.นั้น เนื่องจากข้อจำกัดที่เป็นพรรคเล็ก คงจะส่งไม่ครบ 350 เขต แต่ก็จะพยายามส่งให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ หรือพื้นที่ที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่ เพราะประชาชาติ หมายถึงมวลมนุษยชาติ รวมถึงคนทุกศาสนิก ใครที่มีแนวคิดหรือประสบปัญหาเดียวกันสามารถมารวมกันได้หมด
    ขณะเดียวกัน นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรม เป็นภาพนายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะที่ถือถ้วยกาแฟ ที่มีใบหน้าของตัวเอง พร้อมกับบรรยายว่า พ่อกับอานั่งว่างๆ ระหว่างรอเครื่องบิน กาแฟร้อน ต้องใช้หลอดดูด ยังไงหน้าก็ไม่หาย สวยหล่อเหมือนเดิม สภากาแฟ เรียกกำลังเสริมแพรบ แก้วนี้ก็ไม่กล้าดื่ม มิน่ารอดูดอย่างเดียว
    ส่วน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ โพสต์ภาพเดียวกันลงในเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความว่า พ่อส่งรูปมาดูตื่นเต้นกับรูปถ่ายบนกาแฟ  สมัยที่พ่อเป็นเด็กขายกาแฟที่สันกำแพงมีแต่เป็นแบบถุงๆ นะคะ อุ๊ยมี 2 ถ้วย
     นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ "พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องต่อต้าน คสช.สืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ" ระบุว่า อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับว่าประชาชนจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.หรือไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอกหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ประชาชนจะถามจากพรรคการเมือง คือจะมีนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศอย่างไร จะทำให้ประชาชนพ้นจากความเดือดร้อนได้อย่างไร จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือไม่ หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ขึ้นมา พรรคของท่านจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยควรจะประกาศให้ชัดเจนว่าจะหยุดวงจรการสืบทอดอำนาจเผด็จการของ คสช. จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ก็จะไม่เข้าร่วมรัฐบาล เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร ทำให้ประเทศถอย เศรษฐกิจเสียหาย 
    "หากปล่อยให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งและสืบทอดอำนาจต่อไปยาวนาน ปัญหาต่างๆ ที่พลเอกประยุทธ์กับพวกได้สร้างไว้ ย่อมไม่ได้รับการแก้ไขและจะยิ่งเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล" นายจาตุรนต์ระบุ 
     นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา กล่าวถึงกรณีมีข่าวจะไม่ร่วมงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย และจะไม่ไปยืนยันความเป็นสมาชิก อยู่ระหว่างการหาพรรคใหม่ว่า ไม่ทราบว่าสื่อบางแห่งเอาเรื่องนี้มาจากไหน ตอนนี้ยังอยากอยู่เงียบๆ และไม่อยากมีประเด็นทะเลาะหรือหมางใจ เป็นประเด็นต่อยอดให้ใครโจมตี เวลานี้ยังมีภารกิจอื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะต้องทำ ยังเชื่อว่าการเลือกตั้งจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ จึงยังไม่ได้คิดว่าว่าจะไปสังกัดพรรคใด และหากมีข้อสรุปเกิดขึ้น กลุ่มมัชฌิมาจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
    นายชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส.พรรค ปชป. ลูกชายนายชัชวาลย์ คงอุดม หรือ “ชัช เตาปูน” ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยถึงเหตุผลการออกจากพรรคปชป.ว่า ต้องการไปทำงานกับพรรคพลังท้องถิ่นไท ซึ่งพ่อของตนเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค หลังตัดสินใจไม่ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ปชป.ตนได้พูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เพื่อชี้แจงเหตุผลทั้งหมด เป็นการจากกันด้วยดี ไม่มีปัญหาหรือรอยร้าวใดๆ และยังสามารถร่วมงานกันได้ในอนาคต เพราะมีนโยบายเหมือนกัน คือทำเพื่อประเทศชาติและไม่เอาเผด็จการ
    “ช่วงที่มีกระแส คสช.ดูดนักการเมือง อยากให้มองว่าการตัดสินใจของตนเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับเรื่องดูดนักการเมืองของ คสช. และก็ไม่มีพรรคอื่นมาทาบทาม ซึ่งก็ไม่สนใจ เพราะมีแนวทางชัดเจน พรรคพลังท้องถิ่นไทเป็นพรรคทางออก ไม่ใช่ทางเลือก ไม่ต้องรอจับมือใครเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล”นายชื่นชอบกล่าว
สูตรเลือกข้างสร้างแตกแยก
    ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคพลังพลเมืองไทย (พพพ.) นำโดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,  นายโสภณ เพชรสว่าง อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ อดีตสภาผู้แทนราษฎร, นายเกรียงชัย ชัยเชาวรัตน์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย, นายเอกพร รักความสุข เป็นอดีต รมช.แรงงานและสวัสดิการสังคม จัดประชุมพรรคครั้งแรก เพื่อรับรองข้อบังคับ นโยบายของพรรค และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค โดยที่ประชุมได้รับรองระเบียบข้อบังคับของพรรค และนโยบายของพรรค 
    ส่วนตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 35 ตำแหน่งนั้น ที่ประชุมได้ทำการเสนอชื่อและลงมติ ผลออกมาว่า 1.นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค 2.นายกริช กงเพชร 3.นายโสภณ เพชรสว่าง 4.นายแพทย์วิชัย ชัยกิจวณิชกุล 5.นายสุชาติ บรรดาศักดิ์ 6.นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค 7.นายเอกพร รักความสุข เลขาธิการพรรค  8.นางสาวศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ 9.นายดนัยฤทธิ์ วัชราภรณ์ 10.นายไผท สุขสมหมาย 11.นายจิรศักดิ์ จิยะจันทน์ 12.นายภูคะตา ชัยเชาวรัตน์ เป็นรองเลขาธิการพรรค 13.นายพิพัฒน์ ธรรมสิทธิ์ เป็นเหรัญญิกพรรค 14.นายธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ เป็นนายทะเบียน เป็นต้น
    นายสัมพันธ์กล่าวว่า ขอบคุณเพื่อสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งทุกท่านที่ทำให้วันนี้เหรัญญิกรวบรวมแล้วเรามีเงินทุกก่อตั้งพรรคเกินกว่า 1 ล้านบาทแล้ว ขอบคุณด้วยความจริงใจที่ไว้วางในให้ตนนำขบวนพาพวกเราไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ทุกคนคือความสำคัญของบ้านเมืองที่จะนำพาบ้านเมืองไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ เราต้องก้าวพ้นกับดักทางการเมืองให้ได้ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2549 อีกทั้งเมื่อมีการยึดอำนาจก็จะตกไปอยู่กับคนที่มีกำลัง ซึ่งความไม่สงบสุขก็ยังมีอยู่บ้าง และยังมีคุณภาพชีวิตที่ยังไม่ค่อยดี 
    "เราอยากสร้างความเข้มแข็งในรัฐสภาให้ได้ เมื่อผ่านการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ต้องเลือกผู้บริหารที่มาจากรัฐสภา มาทำหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งเมื่อระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง ทุกส่วนในประเทศจะเข้มแข็งตามมาเอง" นายสัมพันธ์กล่าว 
    ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่โพลหลายสำนักสะท้อนคล้ายๆ กันว่าแม้จะเห็นด้วยที่จะมีการเลือกตั้งตามโรดแมป แต่ก็ไม่เชื่อมั่นว่าหลังเลือกตั้งสถานการณ์บ้านเมืองจะดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดระเบียบจัดขั้วของกลุ่มก้อนและพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ในขณะนี้ ถูกมองว่าเป็นครรลองที่สร้างปัญหาและทำให้การเมืองล้มเหลวซ้ำซาก ประชาชนยังไม่เห็นนวัตกรรมใหม่ ยังพบการดูด กวาดต้อน ย้ายข้างสลับขั้ว เปลี่ยนพรรคกันไปมา กลุ่มการเมืองใหม่ๆก็ยังถูกมองว่าเป็นแค่นอมินี หรือลับลวงพรางอำนาจเก่า 
    "ยิ่งบางพรรคเสนอสูตรให้ประชาชนเลือกพรรคเอาทหารกับไม่เอาทหาร หรือเอาพรรคประชาธิปไตย หรือฝ่ายเผด็จการ ยิ่งเป็นสูตรการเมืองที่ซ้ำเติมความแตกแยก ใช้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นแค่เหยื่อหรือตัวประกันของนักเลือกตั้งเท่านั้น แพ้ชนะก็ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศอย่างแท้จริง ถ้าวาระการเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นสภาวะที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเลือกระหว่างพรรคที่เลวน้อยที่สุดกับพรรคที่เลวมากที่สุด การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้".
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"