22 ผู้เฒ่าไร้สัญชาติสุดปลื้ม จังหวัดเชียงรายเห็นชอบแปลงสัญชาติ-ทำบัตรประชาชน


เพิ่มเพื่อน    

22 ต.ค.63 - ที่ห้องประชุมพระยาพิทักษ์ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ได้มีการประชุมคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบความรู้ภาษาไทย แก่ผู้ยื่นคำร้องขอถือสัญชาติไทยตามสามีของหญิงต่างด้าว ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีนายชูสวัสดิ์ สวัสดี จ่าจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน ซึ่งมีการพิจารณาคำร้องทั้งสิ้น 32 ราย โดย 22 รายเป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติอาข่า จากบ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง ที่ได้ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2560 ถือว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้เฒ่าไร้สัญชาติกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ได้รับการพิจารณาในระดับจังหวัด

ทั้งนี้ผู้เฒ่าชาวอาข่าทั้ง 22 ได้เดินทางออกจากบ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก  อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ตั้งแต่เวลา 09.00 น.โดยเดินทางมาถึงศาลากลางเชียงรายราว 11.00 น.ซึ่งทั้งหมดได้แต่งชุดประจำเผ่า ระหว่างเดินขึ้นห้องประชุมได้สร้างความในใจให้กับข้าราชการเป็นอย่างมาก บางคนขอถ่ายภาพด้วย ขณะที่ผู้เฒ่าบางรายมีท่าทางตื่นเต้นเนื่องจากเป็นการเดินทางมายังศาลากลางเชียงรายเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามในจำนวน 22 ราย มีผู้เฒ่าบางรายที่มีโรคชรา และปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางมาสอบสัมภาษณ์ที่จังหวัดด้วยตนเองได้ และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง และนายทะเบียนอำเภอ ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านป่าคาสุขใจ เพื่อสัมภาษณ์ผู้เฒ่า คือนายอาชอง หมอโปกู่ อายุ 72 ปี

นายชูสวัสดิ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามคำร้องในการพิจารณาแปลงสัญชาติให้กับผู้เฒ่าทั้ง 22 รายโดยหลังจากนี้จะสรุปเรื่องส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อส่งต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเชื่อว่าขั้นตอนไม่น่าจะยืดยาวนัก หลังจากนั้นจะต้องมีการส่งเรื่องมายังสำนักงานทะเบียนราษฎรเพื่อขอเลขทำบัตรประชาชน

“ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ควรได้รับการทำบัตรประชาชนเร่งด่วนเพื่อให้เป็นคนไทยสมบูรณ์ เพราะทุกคนต่างสูงวัย และการได้บัตรประชาชนมีผลต่อการดำรงชีวิตของพวกท่าน ทั้งในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพ หรือเรื่องรักษาพยาบาล แถมยังส่งผลไปยังลูกหลานของพวกท่านที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ”นายชูสวัสดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังจากทราบว่าคณะทำงานฯเห็นชอบ บรรดาผู้เฒ่าที่เดินทางมาแสดงตัวและสัมภาษณ์ครั้งนี้ต่างแสดงความดีใจ และร่วมถ่ายรูปกับคณะทำงานฯท่ามกลางบรรยากาศอันชื่นมื่น

แม่เฒ่าบูซือ เยชอกู่  อายุ 76 ปี กล่าวว่าเดินทางมาจากดอยแม่สลองตั้งแต่เช้าและรู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่เคยเข้าเมืองเชียงรายมาก่อนโดยอยู่แต่ในหมู่บ้าน ตนอยากได้บัตรประชาชนเพราะลูกๆหลานๆต่างมีบัตรประชาชนหมดแล้ว แต่ตนซึ่งอยู่ประเทศไทยมาอย่างน้อย 45 ปียังไม่ได้บัตรทั้งๆที่อยากเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์เพราะเวลาตายก็จะได้รู้สึกภูมิใจ

ขณะที่พ่อเฒ่าอาทู่ เบียงแลกู่ อายุ 72 ปีและแม่เฒ่าพิซุง เบียงแลกู่ อายุ 73 ปีคู่สามีภรรยา กล่าวว่าพวกตนอยู่ประเทศไทยมา 45 ปี แต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่อยากได้เพราะต้องการสิทธิในการรักษาพยาบาล เพราะหากไม่มีบัตรต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

“แม่ไม่รู้หรอกว่าหากได้บัตรประชาชนแล้วจะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ไม่รู้ด้วยว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรีเพราะไม่เคยป่วย แต่อยากได้บัตรเพราะเป็นความภูมิใจในชีวิตจะได้นอนตายตาหลับ”แม่เฒ่าบูซือ กล่าว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ) กล่าวว่าผู้เฒ่าชาวอาข่ากลุ่มนี้ ได้ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง 27 ราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 อำเภอ ส่งคำร้องให้จังหวัดเชียงราย และจังหวัดส่งให้หน่วยงานตรวจสอบประวัติด้าน ยาเสพติด อาชญากรรม ด้านความมั่นคงของชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 แห่ง ต่อมามูลนิธิ พชภ. ได้ทำหนังสือไปขอทราบความคืบหน้า ได้รับคำตอบว่าอยู่ในช่วงรอผลการตรวจสอบประวัติ  ระหว่างนั้น ผู้เฒ่าเสียชีวิตแล้ว 2 ราย และขอถอนคำร้อง 2 ราย จึงเหลือเพียง 23 ราย

นางเตือนใจกล่าวว่า ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  เห็นชอบให้ปรับเกณฑ์ในการอนุมัติแปลงสัญชาติของผู้สูงอายุ 4 ด้าน ตามหนังสือเวียนของปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญคือ 1. การตรวจสอบประวัติ ให้ใช้พยานบุคคล 3 ราย แทนการตรวจสอบโดยหน่วยงาน 2 การมีภูมิลำเนาในประเทศไทยเกิน 5 ปี ให้ใช้หลักฐานหนังสือสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวรและหนังสือประจำตัวคนต่างด้าว 3 ความรู้ภาษาไทย ให้ยกเว้นการร้องเพลงชาติไทย และใช้ภาษาท้องถิ่นได้  4 การมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้ยกเว้นเกณฑ์รายได้ และใบรับรองการประกอบอาชีพ โดยนายอำเภอเป็นผู้รับรอง เมื่อผ่านการพิจารณาระดับจังหวัดในวันนี้แล้ว อนุกรรมการของกรมการปกครอง จะตรวจสอบความถูกต้องของคำร้องและข้อมูลประกอบคำร้อง แล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติตามมาตรา 25 ของพรบ.สัญชาติ จากนั้นจึงนำเสนอรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการแปลงสัญชาติ แล้วนำเสนอพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

“ความยากของกระบวนการแปลงสัญชาติคือคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับชาติ  ประกอบด้วยผู้แทนหลายหน่วยงานเช่นฝ่ายความมั่นคง อัยการ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีภารกิจหลักประจำอยู่แล้ว การจัดประชุมบ่อยๆ จึงทำได้ยาก คณะเลขาผู้จัดเตรียมเอกสารคำร้อง มีกำลังคนและงบประมาณจำกัด การประชุมแต่ละครั้งพิจารณาได้ราว 50 คำร้อง เมื่อเทียบกับปริมาณผู้ที่เข้าเกณฑ์ขอแปลงสัญชาติได้ ไม่เห็นโอกาสที่จะสำเร็จได้ เช่น อำเภอแม่ฟ้าหลวงมีผู้อายุ 61 ปีขึ้นไป 3,080 คน ต้องประชุม 60 ครั้ง จึงจะเสร็จ แต่จำนวนผู้สูงอายุที่จะเข้าเกณฑ์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมมือกันปฏิรูปกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติให้มีประสิทธิภาพจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ พร้อมทั้งเพิ่มกำลังบุคลากรและงบประมาณที่เพียงพอตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับชาติเพื่อให้คำมั่นทั้ง 7 ข้อในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ผู้แทนรัฐไทยได้แถลงในที่ประชุมผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)ณนครเจนีวา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม2562 ตามมติครม.1 ตุลาคม 2562 บรรลุเป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะข้อ5 การแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด”นางเตือนใจ กล่าว

นางเตือนใจ กล่าวว่า 23 รายนี้เป็นกรณีศึกษา เพราะการแปลงสัญชาติมีข้อจำกัดและขั้นตอนที่ยาวนานมาก ซึ่งต้องมีการทบทวน ซึ่งตัวอย่างของผู้เฒ่าเหล่านี้ที่อยู่มา 45 ปีแต่กลับยังไม่ได้รับการรังรอง ทั้งๆที่มีลูกหลานเป็นคนไทยหมดแล้ว เราจะได้ร่วมกันแก้ไขข้อจำกัดนี้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"