ปรับแผนใช้กม.ปกติคุมม็อบ


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ออกประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงแล้ว “วิษณุ” ชี้ถ้าจำเป็นก็งัดขึ้นมาใหม่ได้ “กอร.ฉ.” เผยเตรียมปรับแผนใช้กฎหมายปกติจัดการ ลั่นคดีที่ค้างอยู่และการจับกุมยังมีต่อเพราะความผิดสำเร็จแล้ว ทำเนียบฯ ซักซ้อมอุดช่องโหว่หวังไม่ให้ซ้ำรอยเมื่อวันที่ 21 ต.ค. “กัญญ์ณาณัฏฐ์” เปิดคลิปแจงที่มาที่ไปม็อบเทิดทูนปะทะราษฎร 2563 แนะให้ถอยคนละก้าวเหมือนที่ “ลุงตู่” ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศเรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้องลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 248 ง แล้ว
โดยเนื้อหาของประกาศดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค.2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค.2563 เพื่อใช้มาตรการเร่งด่วนตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เข้าระงับยับยั้งการกระทำอันกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ควบคุมและแก้ไขความปั่นป่วนวุ่นวายซึ่งนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย ในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จนถึงวันที่ 13 พ.ย.2563 นั้น
โดยที่ปรากฏว่าปัจจุบันเหตุการณ์ร้ายแรงอันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้คลี่คลายความรุนแรงและยุติลง โดยอยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสาม และมาตรา 11 วรรคสาม แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกฯ จึงออกประกาศไว้ ดังนี้ 1.ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค. และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค. และ 2.บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องจากได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. เวลา 12.00 นาฬิกา เป็นต้นไป
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 11 วรรคสุดท้าย บัญญัติไว้ว่า การยกเลิกเป็นอำนาจของนายกฯ ไม่ใช่ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งแม้ยกเลิกไปแล้วแต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีอยู่ ซึ่งครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ห้ามเรื่องการชุมนุมอะไรทั้งสิ้น ถ้าหากจำเป็นก็ใส่เรื่องการห้ามชุมนุมเข้าไป เป็นข้อกำหนดสามารถทำได้
     ที่กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงเรื่องนี้ว่า กอร.ฉ.ที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่งดังกล่าวก็จำเป็นต้องยุติการทำหน้าที่ด้วย แต่จะปรับไปเป็นรูปแบบอื่น และหลังจากนี้ตำรวจจะกลับไปใช้กฎหมายปกติดูแลการชุมนุม เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญาทั่วไป
พร้อมตรวจเสื้อเหลือง
    พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า จะมีการตรวจสอบกลุ่มคนสวมเสื้อเหลืองในทุกมิติเช่นเดียวกับกลุ่มเราคือราษฎร ว่ามีการชักชวนให้ชุมนุม รวมถึงมีท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตร.ต้องทบทวนและปรับการดำเนินการให้เหมาะสม และเป็นไปตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ ส่วนการจัดกำลังดูแลการชุมนุมยังคงให้กองร้อยควบคุมฝูงชนปฏิบัติหน้าที่ดูแล ซึ่งเชื่อว่าหากถอยคนละก้าว โดยใช้กลไกรัฐสภา สถานการณ์จะดีขึ้น
    น.ส.กัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล โฆษก กอร.ฉ. แถลงภาพรวมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ว่า มีจุดสำคัญ 2 จุด คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และลานพ่อขุน ม.รามคำแหง พร้อมทั้งเปิดคลิปเหตุการณ์ปะทะของกลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบัน และกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่ ม.รามคำแหงก่อน พร้อมบรรยายว่า ก่อนที่กลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบันจะกระทำการรุนแรง กลุ่มคณะราษฎรมีการใช้วาจายั่วยุ หยาบคาย สิ่งที่กำลังจะบอกทุกท่านคือ เราไม่ได้มาเพื่อบอกว่าฝั่งใดผิดมากกว่ากัน ในเหตุการณ์นี้ถ้าไม่เกิดการยั่วยุด้วยวาจาถ้อยคำที่รุนแรงก็คงไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องไปจนทำให้มีอารมณ์โมโหกันขึ้นมา แล้วนำมาซึ่งการทะเลาะวิวาท จุดเริ่มต้นมันอยู่ตรงนี้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลในตัวมันเอง จึงอยากให้ทุกท่านนำเสนอให้ครบทั้งสองด้าน
    “วันนี้สองฝั่ง ความผิดมากหน่อยคงเป็นกลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบันที่เข้าไปทำร้ายร่างกาย ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่เราแค่อยากเตือนสติว่า ให้รับข้อมูลข่าวสารทั้งสองฝั่ง ถ้าเราถอยกันมาคนละก้าว เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ยั่วยุ ตามที่นายกฯ แถลงการณ์เมื่อวานนี้ เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน” น.ส.กัญญ์ณาณัฏฐ์กล่าว และว่า กอร.ฉ.อยากฝากไปถึงผู้ชุมนุมทุกกลุ่มที่ออกมาแสดงจุดยืนต่างๆ วันนี้หากท่านพูดคุยกันและแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานความสร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคำสร้างความแตกแยก เกลียดชัง ทิศทางของการหาข้อสรุปแก้ปัญหาประเทศมันจะง่ายกว่านี้
    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการวิจารณ์กลุ่มแนวร่วมเทิดทูนสถาบันที่ ม.รามคำแหง มีความใกล้ชิด ว่ายังไม่รู้จักเลยว่าคนที่อ้างว่าสนิทชื่ออะไร ที่เห็นว่ามีคนมาแสดงความยินดีมอบดอกไม้ในวันใดวันหนึ่ง แล้วมีภาพปรากฏออกไป เขาก็อาจไม่ใช่คนที่สนิทจริงๆ อย่างที่มีอาจารย์บางคนไปอ้างให้เชื่อมโยง เป็นการดิสเครดิตบิดเบือนสร้างความแตกแยก ก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ส่วนจะดำเนินคดีกับผู้ที่บิดเบือนข้อมูลหรือไม่ จะขอปรึกษากับทนายก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร
น.ส.ฐิติมา บุตรดี หรือแบม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิธีกรที่อยู่ในเหตุการณ์กลุ่มปะทะที่ลานพ่อขุน พร้อมทนายความแจ้งความที่ สน.หัวหมาก โดยมี ส.ส.พรรคก้าวไกลเดินทางมาร่วมเป็นพยาน โดยระบุว่า เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะมากเท่าผู้ใหญ่ อะไรที่พอจะพูดตักเตือนกันได้ก็ต้องใช้สติจัดการที่ดีกว่านี้ การที่บอกว่าถูกเด็กยั่วยุชู 3 นิ้วใส่แล้วไปไล่ทุบตี มองว่าไม่ใช่ เบื้องต้นมีคนเจ็บ 3 ราย หากมีคนอื่นก็ขอให้รวมตัวแจ้งความด้วย
“ผู้ที่ควรมีวุฒิภาวะมากที่สุดควรเป็น กอร.ฉ. ขอประณามการแถลงข่าวที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากการทำร้ายร่างกาย เป็นเรื่องผิดกฎหมายไม่ว่าจะมีต้นเหตุจากอะไร” น.ส.ฐิติมากล่าว
และในเวลาประมาณ 16.00 น. มีนักศึกษา ประชาชนผลัดกันปราศรัยในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ในเวลา 16.20 น. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ได้มาร่วมปราศรัยว่า วันนี้ประชาชนเหลืออดแล้ว เราไม่ใช่ม็อบมีเส้น ไม่เข้าใจว่าทำไมเวลาประชาชนชุมนุม ทำท่าทีขึงขัง มีรถเตรียมฉีดน้ำ แต่กับกลุ่มเสื้อเหลืองกลับอ่อนปวกเปียก ขอให้ สน.หัวหมากแสดงความจริงใจ แสดงศักยภาพในการพิทักษ์สันติราษฎร์
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวถึงการเข้าจับกุมตัว น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่บริเวณคาเฟ่ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อคืนวันที่ 21 ต.ค. ว่า เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ส่วนที่มายด์กล่าวอ้างเรื่องขอเลขบัญชีนั้น อาจเป็นเรื่องของการประกันตัว ซึ่งการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ยังมี เนื่องจากเป็นการกระทำผิดไปแล้วไม่สามารถยกเลิกได้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบผู้ต้องหาก็ต้องจับกุม มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะมีความผิดละเว้นหน้าที่ตามมาตรา 157
    เมื่อถามถึงกรณีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่อาจมาเผชิญหน้ากัน พล.ต.ต.ปิยะยอมรับว่า ตำรวจค่อนข้างมีความหวั่นเกรง แต่จะถือกฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าฝ่ายไหนกระทำความผิดก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
    ทั้งนี้ ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี นำตัว น.ส.ภัสราวลีมาผัดฟ้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 6 วัน ซึ่งผู้ต้องหาได้ยื่นประกันตัว และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข ให้ทำสัญญาประกันไว้ 20,000 บาท ไม่ต้องวางหลักทรัพย์
ศาลรับฟ้องคดี
    ขณะเดียวกัน ศาลแพ่งได้เผยแพร่เอกสารข่าวสรุปการสั่งคดีฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. รวม 3 สำนวน ประกอบด้วย คดีหมายเลขดำที่ พ 5323/2563 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับนายเกษม ศุภสิทธิ์ อดีตผู้พิพากษายื่นฟ้อง, คดีหมายเลขดำที่ พ 5327/2563 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 4 คนยื่นฟ้อง และคดีหมายเลขดำที่ พ 5363/2563 น.ส.ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ กับพวกรวม 6 คนยื่นฟ้อง  
    โดยทั้ง 3 ฉบับ สรุปเหตุผลในการรับฟ้องคดีไว้พิจารณาระบุทำนองเดียวกัน ซึ่งศาลให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ส่วนกรณีนายวัชระยื่นร้องเพิ่มเติมขอให้ศาลแพ่งส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ศาลพิจารณาแล้วไม่จำต้องส่งประเด็นตามคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ส่วนคดีที่ น.ส.ศุกรียาไต่สวนและให้คุ้มครองชั่วคราวนั้น ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากเหตุแห่งการขอคุ้มครองชั่วคราวสิ้นสุดลงแล้ว
    สำหรับวันนัดพิจารณาต่อไปของทั้ง 3 สำนวน ในคดีของนายวัชระกับพวก และคดีของ นพ.ชลน่านกับพวก ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งกรณีที่ขอคุ้มครองชั่วคราว ในวันที่ 28 ต.ค.2563 เวลา 13.30 น. โดยศาลกำหนดนัดชี้สองสถานในเนื้อหาคดีหลักวันที่ 21 ธ.ค.2563 เช่นเดียวกัน ส่วนคดีของ น.ส.ศุกรียา ศาลกำหนดนัดชี้สองสถานในเนื้อหาคดีหลักวันที่ 19 ม.ค.2564 เวลา 09.00 น.
    น.ส.ศุกรียากล่าวว่า แม้จะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ขอเรียกร้องให้มีผลย้อนหลังให้ยกเลิกการดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ และอยากให้นายกฯ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยยืนยันเดินหน้าฟ้องร้องนายกฯ และพวกที่ประกาศใช้คำสั่งโดยมิชอบ
    ส่วนที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำคณะราษฎร 2563 กับ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นจำเลย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กรณีร่วมกันจัดแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562 ซึ่ง น.ส.ณัฏฐาปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จึงกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 15 ธ.ค.2563 เวลา 10.00 น. ส่วนนายพริษฐ์นั้น ศาลมีคำสั่งให้สอบคำให้การผ่านการประชุมทางจอภาพ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) ในวันที่ 26 ต.ค.2563 ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือได้ขอเลื่อนเนื่องจากติดภารกิจ อัยการจึงนัดมารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 29 ต.ค.2563 เวลา 10.00 น.
    นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กล่าวว่า ช่วงเช้าได้ยื่นคำอุทธรณ์ขอปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ได้ยื่นประกันตัวชั้นฝากขังแล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยการยื่นคำอุทธรณ์ขอประกันตัวยังไม่ได้มีการระบุหลักทรัพย์และมูลค่า ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องรอดูว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำอุทธรณ์ขอประกันตัวทั้งสองได้หรือไม่
ทำเนียบฯ ซ้อมเสมือนจริง
    สำหรับบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการซักซ้อมเสมือนจริงรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม โดยนำความบกพร่องแนวป้องกันเมื่อคืนวันที่ 21 ต.ค. มาปรับปรุงให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นมาได้ โดยมีการนำรถโดยสาร ขสมก.มาจอดขวางปิดถนนพิษณุโลก มีการวางแผงเหล็ก ลวดหนามแบบประชิดไม่มีช่องว่างให้สามารถข้ามสะพานชมัยมรุเชฐมาฝั่งด้านหน้าทำเนียบฯ ได้
    มีรายงานว่า แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะประกาศให้เวลานายกฯ ตัดสินใจ 3 วัน แต่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา จึงต้องมีความพร้อมไว้ ซึ่งระหว่างซักซ้อมได้มีนักเรียนจากโรงเรียนบริเวณ ถ.พิษณุโลก เยื้องกับทำเนียบฯ ที่อยู่บนอาคารเรียน ตะโกนด่าทอและขับไล่นายกฯ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
    วันเดียวกัน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านนายสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน เพื่อขอให้สั่งการไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบสวนและเอาผิดวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันการศึกษา 716 คน ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องมายังนายกฯ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมประกอบข้อบังคับของสถาบันการศึกษาต่างๆ ว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากร
    ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณยังเรียกร้องให้ดำเนินการ 3 ข้อกับ 716 นักวิชาการ ประกอบด้วย 1.สั่งการไปยัง รมว.การอุดมศึกษาฯ ตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดวินัย 2.สั่งการให้สถาบันการศึกษาของรัฐทุกแห่งติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดในทุกชั้นเรียน เพื่อตรวจสอบการเรียนการสอนของคณาจารย์ต่างๆ ว่ามีการเข้าร่วมต่อต้านสถาบันในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ 3.สั่งการให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานราชการต่างๆ ขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์บุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวมิให้แต่งตั้งมาเป็นกรรมการ อนุกรรมการ หรือตำแหน่งทางการบริหารหรือทางราชการอื่นใดของหน่วยงานของรัฐ ส่วนชาวต่างชาติบางท่าน ขอให้ตรวจสอบว่าเข้ามาอยู่ในไทยมีสถานะถูกต้องตามกฎหมายคนเข้าเมืองหรือไม่ หากพำนักอยู่ในต่างประเทศให้ขึ้นบัญชีห้ามเข้าไทยต่อไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"