ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่: ‘สาดกระสุนไม่แม่นยำอาจมีผลลบ...’


เพิ่มเพื่อน    

 

       คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ มีประสบการณ์แก้วิกฤติจากเหตุการณ์ "ต้มยำกุ้ง" ปี 2540 มาแล้ว

            มาเจอกับวิกฤติโควิด-19 มีอะไรที่เป็นบทเรียนจากครั้งนั้นนำมาใช้ได้บ้างหรือไม่

            แต่บทสรุปที่ชัดเจนสำหรับคุณเศรษฐพุฒิ จากที่ให้สัมภาษณ์นิตยสาร "BOT พระสยาม" ของแบงก์ชาติเองนั้น อย่างน้อยก็มีหนึ่งเรื่องคือ

            "...บทเรียนที่ผมได้เรียนรู้จากปี 40 คือ การแก้ปัญหาจากภาครัฐ เราจะทำมากเกินไปไม่ได้ เพราะภาครัฐมีความสามารถในการจัดการที่จำกัดและลดลงด้วยในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายที่มีต้นทุนและผลข้างเคียง หากสาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำอาจกลายเป็นผลลบ เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นแล้วอาจไม่เหลือกระสุนให้ใช้ ซึ่งหากสังคมขาดความเชื่อมั่น ก็จะทำให้องค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลและออกนโยบายทำงานยากขึ้นหลายเท่าเช่นกัน..."

            การทำรับหน้าที่เป็นเบอร์หนึ่งของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเขา

            ประสบการณ์ที่ McKinsey และธนาคารโลกน่าจะช่วยให้ ดร.เศรษฐพุฒิต่อยอดงานที่แบงก์ชาติได้

            อีกทั้งที่เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และเคยอยู่ในคณะกรรมการ ธปท.ด้วย

            ย่อมทำให้ผู้ว่าการท่านใหม่เข้าใจถึงความท้าทายในการทำงานของคนแบงก์ชาติได้ดีพอสมควร

            เขาบอกว่า

            "ลักษณะโดดเด่นที่เหมือนกันของคนแบงก์ชาติและธนาคารโลก คือมีความเป็น technocrat หมายถึงละเอียด เชี่ยวชาญ ลงลึกรู้จริง แต่เพราะเรามีเวลาและข้อมูลที่จำกัด โดยเฉพาะในยามที่เราต้องเร่งเยียวยาแก้ไข จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์เต็ม 100% ได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างสมัยผมทำงานที่ธนาคารโลก รายงานบางอย่างก็รู้สึกเหมือนเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ทำเพื่อเก็บไว้มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

            ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่า การทำสิ่งที่ถูกต้องและให้ถูกเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

            "ผมเรียกว่า getting the right things right หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคนแบงก์ชาติไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่ในห้องแล็บ แต่ผมมองว่าเราคือหมอที่มีคนไข้ที่รอการรักษาและเราจะต้องทำอะไรบางอย่าง เราเป็นหน่วยงานที่ต้องผลิตนโยบายที่ work และใช้ได้จริง แต่ไม่ได้ผลิต work of art"

            เขาบอกด้วยว่า

            "วิกฤติปี 40 อาจจะเป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของคนแบงก์ชาติมากกว่า เพราะเกิดกับสิ่งที่อยู่ในความดูแล เช่น สถาบันการเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งครั้งนั้นยังพอมีตำรา มีเครื่องมือที่ช่วยแก้ไข แต่ครั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันหมดทั้งโลก ในครั้งนี้จึงหนักกว่าปี 40 ซึ่งแก้ได้ยากกว่า เพราะผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างและลงลึกไปถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งความคาดหวังจากภายนอกต่อแบงก์ชาติสูงขึ้นและบางอย่างก็อยู่นอกเหนือความสามารถของเราเองด้วยซ้ำ ครั้งนี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ใดทางแก้หนึ่งเป็นสูตรสำเร็จ ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งเราต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าความท้าทายนี้หนัก ยาก  ยาวนาน แต่แก้ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา..."

            มีคำถามว่าทำไมจึงตัดสินใจเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบปริญญาเอก?

            ดร.เศรษฐพุฒิจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมสูงสุด) จาก Swarthmore College  สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Yale University สหรัฐอเมริกา สามารถพูดได้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส

            "ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะตอนเด็กๆ ผมไม่ใช่เด็กเรียนและดูจะสนใจกีฬามากกว่าด้วยซ้ำ วิชาที่ชอบในตอนนั้นจะเป็นแนววิทยาศาสตร์ ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ จนกระทั่งตอนที่ย้ายไปเรียนที่ฝรั่งเศสในวิชาประวัติศาสตร์ยุโรป ยอมรับเลยว่าอาจารย์สอนเก่งมาก เขาไม่ได้สอนให้เราท่องจำแต่เป็นการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเริ่มสนใจวิชาที่เป็นแนวสังคมศาสตร์ ประกอบกับความชอบคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐาน จึงทำให้ตัดสินใจเรียนเศรษฐศาสตร์ในที่สุด"

            หลังจากจบการศึกษาก็เริ่มทำงานที่ต่างประเทศ

            "ผมเริ่มต้นการทำงานที่ McKinsey ที่ New York ซึ่งช่วยหล่อหลอมทัศนคติและวิธีการทำงานให้ผมจนกระทั่งทุกวันนี้ เรื่องแรกคือวัฒนธรรมการ debate คือหากต้องการจะระดมความคิดกัน ไม่สำคัญว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หน้าที่ของเราคือการถกเถียงกันเพื่อปิดช่องว่าง และให้แน่ใจว่าเราได้ผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้กับลูกค้า

            เรื่องที่สองคือ โครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถเลือกใช้คนจากทุกทีมได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์กับงานมากที่สุด ไม่ต้องยึดติดกับโครงสร้างหรือสายงาน ภาษาที่  McKinsey ใช้คือ 'one firm concept' 

            ซึ่งหมายถึงรูปแบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เราไม่หลงทาง มีแนวทางที่ชัดเจน  และไม่ว่าจะทำงานที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือสาขาใด เราก็สามารถต่องานกันได้เหมือนพูดเข้าใจในภาษาเดียวกัน"

            พอรับตำแหน่งใหม่ได้ไม่ถึงเดือน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็แถลงเปิดแนวคิดและทิศทางของการทำงาน

            จะได้ว่าต่อในสัปดาห์หน้าครับ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"