ชี้ประมูลปิโตรฯอืดลดศรัทธารัฐกระทบทุกภาคส่วน ห่วงอีอีซีไม่บูม


เพิ่มเพื่อน    

เอกชนมองประมูลปิโตรล่าช้า หวั่นศรัทธารัฐบาลหด กระทบอุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่ รายได้ภาครัฐและค่าไฟเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบ ลดศักยภาพการแข่งขันของเอกชนพร้อมห่วงอีอีซีไม่พร้อมรับการลงทุน แนะรัฐมองถึงเป้าหมายไม่ใช่รายได้จากต้นทาง

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายในงานเสวนา “บงกช เอราวัณ ล่าช้า ตัดโอกาส ลดศักยภาพ!!! เศรษฐกิจไทย” ที่จัดโดยกลุ่มฅนน้ำมัน ว่าความล่าช้าของการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้งเอราวัณ และบงกชที่เดิมเคยกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาภายในปี 2559  แต่ได้เลื่อนมาจนถึงปี 2561 นี้ ซึ่งต้องยอมรับทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดน้อยลงไป หากในรอบนี้ยังไม่สามารถเปิดได้ตามกรอบที่ตั้งไว้ว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนธ.ค. 6 และเซ็นสัญญาในเดือนก.พ.62 จะยิ่งทำให้ประเทศไทยเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมารวมถึงความศรัทธาของรัฐบาลก็อาจจะเรียกคืนกลับมาได้ยาก

ทั้งนี้หากการประมูลเกิดล่าช้าและต้องเลื่อนไปอีกจากการประเมินของภาครัฐเองอย่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.)ว่าจะกระทบต่อค่าภาคหลวง อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต รวมถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ คิดเป็นเงินกว่า 450,000 ล้านบาทต่อปี หรืออาจจะมากกว่านั้น เนื่องจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่จะเพิ่มขึ้น ในแหล่งอื่น ๆ ที่มีราคาแพงมาก และส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าไฟฟ้าในอนาคต เมื่อเทียบกับการนำเข้าก๊าซธรรมชิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ส่งผลต่อเนื่องถึงค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 18 สตางค์ต่อหน่วย

“หากไม่มีการผลิตก๊าซในประเทศไทย ก็ต้องมีการนำเข้าแน่นอนและจะต้องกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เตรียมพัฒนาก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดเลยการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเอสเคิร์ฟ จะกระทบต่อเนื่อง หากค่าไฟฟ้าแพงขึ้นภาคอุตสาหกรรมก็ต้องรับภาระมากขึ้น ขณะเดียวกันวัตถุดิบที่ได้มาจากการขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศก็จะไม่มีใช้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลาสติก และเคมีชีวภาพ ต้องยอมรับว่าเป็นการกระทบกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ใหญ่มากซึ่งยังไม่รวมถึงเรื่องการจ้างงาน และการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาดังกล่าวที่จะไม่มีที่ทำงานรองรับ”นายบวร กล่าว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธากลับมาโดยเร่งให้การดำเนินงานด้านเปิดประมูลครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งมั่นใจอย่างมากว่า หลังจากเปิดทีโออาร์การประมูลแล้วจะไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน หากเปิดรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบแล้วอาจจะมีการประท้วงขึ้นอีก ส่งผลให้ล่าช้าไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องปกติของการทำงานภาครัฐ ที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือหายไป และ ก.พ. ปี 62 ก็อาจจะไม่ได้ความชัดเจนเรื่องของการประมูลครั้งนี้

นายฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ที่จะต้องนำเข้าไม่มีวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างเช่นสารตั้งต้นการผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกเข้ามาด้วย จะเป็นเพียงก๊าซที่นำมาผลิตไฟเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบดังกล่าวก็ต้องนำเข้ามาอีก ซึ่งอยากให้หลายฝ่ายมองว่าการเปิดประมูลครั้งใหม่นี้ประเทศต้องการอะไร เพราะนักลงทุนต้องการความชัดเจน หากยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดได้ก็จะเป็นปัญหาต่อไป

“อยากให้หลาย ๆ คนมองถึงเป้าหมายในการเปิดประมูลมากกว่ารายละเอียดปลีกย่อย ต้องมองว่าประเทศไทยอยากได้อะไร เราอยากได้วัตถุดิบมาใช้ เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สร้างความสามารถในการแข่งขัน แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่าเราต้องได้ส่วนแบ่งในการผลิตเยอะ ๆ เพราะนี่คือทรัพยากรของประเทศแต่ไม่ได้มองถึงการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่าง ๆ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งผมมีความเห็นว่ารัฐควรจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างวัตถุดิบ มากกว่าจะมองถึงผลกำไรจากเงินของผู้ลงทุน”นายฐิติศักดิ์ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"