'ประยุทธ์' ไม่ลาออก-ม็อบ 3 นิ้วไม่ยอมจบ 'กก.สมานฉันท์' แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์


เพิ่มเพื่อน    

        การชุมนุมของกลุ่มนิตินักศึกษาในนาม คณะราษฎร 2563-ชู 3 นิ้ว ยื้ดเยื้อมานับเดือน ภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

        โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประเด็นที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทย ที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนไทย ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายมาก่อน

        แต่การชุมนุมครั้งนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กล่าวโจมตีพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง ทำให้กลุ่มมวลชนที่รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์สุดจะทนได้ ออกมาเคลื่อนไหวออกมาปกป้องสถาบันพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง จนหลายฝ่ายหวั่นว่าจะเกิดการเผชิญหน้านำไปสู่การนองเลือดซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้งหรือไม่

        และเมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกจากวิกฤติประเทศ ช่วงวันที่ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ยังยืนอยู่ในชุดความคิดเดิมของตนเอง และโจมตีฝ่ายตรงข้าม และก็ยังหาทางออกไม่ได้   

        แม้ตัวแทนฝ่ายค้านจะยืนกรานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันจะทำหน้าที่จนกว่าไม่มีโอกาสได้ทำ โดยอ้างว่า จำเป็นจะต้องนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในทุกเรื่อง

       พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า "ผมในนามรัฐบาลรู้ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของโลก แต่ต้องยอมรับคนไทยหลายสิบล้านคนไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวาย สับสนอลหม่าน ทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง แต่เราต้องมีความสมดุลในความต้องการของแต่ละคน"

        สำหรับข้อเสนอตั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์ โดยดึงตัวแทนจากทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ชุมนุมมาพูดคุยหาทางออก ฝ่ายรัฐบาลพร้อมสนับสนุนแนวทางนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับที่ประชุม ​ครม.เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้เร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด

        แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกให้กับประเทศเพื่อซื้อเวลา จึงเหลือแค่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศ

        เช่นเดียวกับ นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ต้องไม่ใช่การตั้งเพื่อยืดอายุและซื้อเวลาให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ต้องเป็นไปเพื่อปลดล็อกความขัดแย้งในสังคม ขั้นตอนแรกจำเป็นต้องปลดล็อก พล.อ.ประยุทธ์ออกจากการเป็นนายกฯ  

ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพื่อให้ไปศึกษาและกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์

        โดย นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างคิดค้นโครงสร้างที่เหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการปรองดองในอดีต และข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายหาทางออกร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อประธานรัฐสภาอย่างเร็วสุดในวันที่ 2 พ.ย.นี้   

        ทั้งนี้ ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายชุด ล่าสุดหลัง คสช.ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ได้ตั้ง ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองโดยตรงเพื่อรับฟังปัญหาจากพรรคการเมืองและแกนนำผู้ชุมนุม รวมทั้งภาคประชาชนทุกฝ่าย

        นอกจากนี้ยังมี คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้ศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างความปรองดองไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาลแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการ 

        ต่อมาในปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจ ตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ

        แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีข้อสรุปและทางออกจากวิกฤติแต่อย่างใด

       นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า "บทเรียนตั้ง คกก.สมานฉันท์นั้น ตลอดเวลากว่า 10 ปีมานี้ คำว่าสมานฉันท์เป็นคำล้มละลาย คำว่าปรองดอง แปลความว่าเป็นเรื่องหลอกลวงกัน เพราะไม่เคยมีอยู่จริง ปัญหาของชาติที่ผ่านมา การตั้ง คกก.สมานฉันท์กี่ยุคสมัยนั้น ไม่เคยนำมาแก้ไขปัญหาชาติได้แม้แต่เพียงครั้งเดียว...ถ้ารื้อค้นการศึกษาในอดีตแล้ว พบว่าทำได้ครบถ้วน และไม่ต้องศึกษาใหม่อีก สิ่งที่เหลืออยู่มีอย่างเดียวคือ การปฏิบัติเท่านั้น"

        ทางด้านกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังเคลื่อนไหวยกระดับแรงขึ้น โดยเฉพาะการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์

        โดยล่าสุด กลุ่มศิลปะราษฎร จัดกิจกรรม "ประชาชนปูพรมแดงแสดงงานศิลปะ" ที่หน้าวัดแขก ถนนสีสม เมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งได้จัดเดินแฟชั่นโชว์ชุดต่างๆ โดยมีการแสดงล้อเลียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

        ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่อาจรับได้ ถือเป็นการเหยียดหยาม ย่ำยีหัวใจชาวไทยมากเกินไป และเป็นการเอาศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อสถาบันมาล้อเลียนจาบจ้วง

        ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่อาจดำเนินคดีเอาผิดตาม ม.112 ได้ เพราะเป็นนโยบายจากเบื้องบนที่ไม่ต้องการให้มีการใช้ ม.112 กับประชาชน

        เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงหันไปใช้ความผิด ตาม ป.อาญา มาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ แทน โดยออกหมายจับผู้ชุมนุมไปหลายคน

        แต่ผู้ชุมนุมมองว่าเป็นการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งคนเห็นต่าง ล่าสุดศาลอาญายกคำร้องการออกหมายจับผู้ชุมนุม 1 ราย โดยให้ไปออกหมายเรียกแทน

         ด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บอกว่า "โจทย์ที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าพวกเราอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของนักศึกษา พวกเราเป็นคนยุยงปลุกปั่นนักศึกษา พอตั้งโจทย์แบบนี้ วิธีการแก้ปัญหาก็เป็นแบบนี้ ก็คือเอาคนที่อยู่เบื้องหลัง เอาคนที่เป็นแกนนำข้างหลังออกไปให้หมด จับเข้าคุกให้หมด ทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม โจทย์มันผิด"

        เช่นเดียวกับกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ทั้ง 16 คน จากการกู้เงิน 191.2 ล้านบาท โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ มองว่า "8 เดือนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไฟลามทุ่งจริงๆ ถ้าเราต้องการให้กระบวนการนิติสงครามหยุดสักทีก็ต้องสู้ ทั้งๆ ที่รู้กฎหมายไม่เป็นคุณแก่เรา หากไม่สู้กฎหมายก็จะบดขยี้กันต่อไป การสู้เท่านั้นถึงจะยุตินิติสงครามได้ หากผู้กำกับภาพยนตร์ยุบพรรคยังคิดเหมือนเดิมว่าทุกอย่างจะจบนั้น ท่านคิดผิดและไฟจะลามทุ่งกว่าเดิม"

        เมื่อแต่ละฝ่ายตีโจทย์ต่างกัน จึงหาทางยุติได้ยากว่าจะถอดสลักจากวิกฤติอย่างไร?

        นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวที นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 13 “จากรุ่นอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร" ตอนหนึ่งว่า “เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออกผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นมันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว"

       "เด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว ท่านนายกฯ ถามว่าผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์กล่าว

        ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบ นายอานันท์ ว่า ตนเองรับฟังข้อเสนอมาโดยตลอด ทั้งนี้ต้องยึดหลักการกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่ถึงปัจจุบัน ส่วนวันหน้าจะแก้ไขอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง

        แสดงว่านายกฯ ไม่ได้เข้าใจว่าตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็เป็นปัญหาในเรื่อง ความอยุติธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจมีอิทธิพลใช้กฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามและเอื้อประโยชน์ฝ่ายตัวเอง กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และตั้งคณะกรรมการมาหลายชุดก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เช่นเดียวกับการตั้งกรรมการปรองดอง

        ส่วนที่ องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่ ออกมาตอบโต้ว่า ผู้ชุมนุมไม่เป็นไปตามกฎกติกา ข้อเรียกร้องทะลุเพดานต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่เหนือนายกฯ ก็มองแต่ปรากฏการณ์ที่เป็นปลายเหตุ ไม่ได้ทำความเข้าใจกับต้นเหตุที่เป็นเงื่อนไขให้การชุมนุมทะลุเพดานได้อย่างไร การกล่าวโทษแต่ว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ยิ่งทำให้ห่างไกลจากรากเหง้าปัญหา

        ซึ่งความจริงแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อ้างเสมอว่าตนเองจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่กลับปล่อยให้สถาบันถูกจาบจ้วงมากที่สุดในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศ

        สรุปแล้ว ความยุติธรรม จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549, 22 พ.ค.2557 จนถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ปลุกเร้าคนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมได้มากขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องแก้โจทย์ให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่าย 

        สถาบันพระปกเกล้าฯ ก็ต้องออกแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ให้เป็นที่เชื่อมั่นจากทุกฝ่าย แม้บางส่วนยังไม่ยอมรับ แต่ก็ยังเป็น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่พอจะช่วยกันหาทางดับไฟการเมืองในครั้งนี้ได้บ้าง ก่อนจะวิกฤติหนักกว่าเดิมและสายเกินแก้!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"