แรงงานเรียกร้องแก้10ปัญหา


เพิ่มเพื่อน    

 

     ผู้นำแรงงานยื่นข้อเสนอนายกฯ 10 ข้อ ด้าน "บิ๊กตู่" รับทำได้ 6 อย่าง ที่เหลือต้องหารือกัน หวั่นระบบแรงงานอันตรายล้มเหลว หยอดคำหวานรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาขึ้นค่าแรงแล้ว 5% อีกสักระยะทุกอย่างจะดีขึ้น เผยมีร้องเรียนบางกิจการบีบแรงงานไทยออกจ้างต่างด้าว สั่งสำรวจแล้ววอนอย่าเชื่อตกงานเพราะไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองถูกทารุณข่มขู่ขืนใจ 
     เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ในช่วงเช้า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท., นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. พร้อมด้วยมวลชน ร่วมจัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล ปี 2561 โดยได้นัดรวมพลตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเดินทางเพื่อมาทวงถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถึงข้อเรียกร้องที่เคยเสนอเดิม 10 ข้อ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
     ระหว่างการจัดกิจกรรมได้มีการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานกลุ่ม โดยเฉพาะประเด็นการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ เช่น ถูกปลดออก ถูกเลิกจ้าง ไม่ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขึ้นค่าจ้างแรงงานรายวันขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ จากนั้นนายสาวิทย์ประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันกรรมกรสากล ก่อนที่จะแยกย้ายกลับ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด 
    ขณะเดียวกัน กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และกลุ่มแรงงานนอกระบบ รวม 17 องค์กร นำโดย นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ได้รวมตัวกันเคลื่อนขบวนออกจากสนามม้านางเลิ้ง ผ่านทำเนียบรัฐบาล และเคลื่อนไปบนถนนราชดำเนิน ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ กับนายกฯ 
     โดยระหว่างจัดกิจกรรมชุมนุมของ คสรท.และ สรส.นั้น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคอนาคตใหม่, นายสิริวิญช์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว), นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนวิน) ได้ร่วมเดินขบวนด้วย     
    ต่อมาเวลา 14.30 น. ที่ลานคนเมืองฯ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ พ.ศ.2561 โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับ โดยมีผู้ใช้แรงงานกว่า 1,000 คนเข้าร่วม
    จากนั้น นายพนัส ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงาน ได้ยื่นข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อต่อนายกฯ ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี ในกรณีที่ลูกจ้างอายุครบ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาต และให้ลาออกโดยได้รับสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุทุกประการ 2.ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยมีอัตราเริ่มต้นที่ 500 บาท 3.ผู้ประกันตนเมื่อพ้นสภาพการเป็น มาตรา 33 และรับบำนาญ ให้มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้โดยไม่ตัดสิทธิ์การรับบำนาญ 4.ในกรณีที่ลูกจ้างพ้นจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ สปส.ใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา 33 เดิม คำนวณเป็นฐานรับบำนาญ 
นายกฯ รับทำได้ 6 ข้อ
    5.ให้รัฐบาลกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้น และกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง 6.เร่งรัดการออกกฎหมายที่สนับสนุนการสร้างระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ ให้กลายเป็นองค์กรมหาชน หรืออื่นๆ ที่เป็นการแบ่งผลกำไรจากรัฐไปให้เอกชน 7.ออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรได้ 8.ให้มีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87, 98 9.แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ให้เป็นภาคบังคับและมีโทษอาญา ในกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตาม และ 10.สั่งให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัด โดยให้นายจ้างและรัฐบาลต้องร่วมกันดำเนินการตัดสินใจ โดยเฉพาะในระบบแรงงานสัมพันธ์
    จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การพบปะวันนี้มีเจตนาอันบริสุทธิ์ร่วมกัน และเป็นเวทีรับฟังความเห็นหารือร่วมกันในการเข้าถึงทุกปัญหา แรงงานทุกคนเป็นพลังงานสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่เนื่องจากเรามีรายได้น้อย เราก็ต้องไปแก้ปัญหาค่าแรงที่ได้มีการปรับไปแล้ว รัฐบาลนี้จริงจัง จริงใจแก้ไขปัญหาให้กับคนทุกระดับ เพราะทุกคนมีความเป็นคนเท่ากับตน สิ่งที่คาดหวังคือลูกหลาน องค์กรของเราจะอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร โดยไม่มีความขัดแย้งในสังคม ข้อเสนอที่ยื่นมา 10 อย่าง ทำได้ 6 อย่าง เหลือ 4 อย่าง ต้องหารือกันต่อไป ถ้าดึงดันทำทั้งหมดก็ทำไม่ได้ ถ้าเราตามข้อเรียกร้องอย่างเดียว ระบบแรงงานจะอันตรายและล้มเหลว 
    นายกฯ กล่าวต่อว่า เรื่องที่อยากให้รัฐบาลเน้นความคุ้มครองทางสังคม ความมั่นคงในอาชีพ ค่าตอบแทนและรายได้ที่ต้องสูงขึ้นตามสัดส่วนที่เหมาะสม ความปลอดภัยและมาตรการทางสังคม สิทธิตามกฎหมาย รัฐบาลยินดีทุกเรื่อง และจะทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งแรงงานต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย สิ่งที่รัฐบาลทำมาได้เยอะพอสมควร แต่ไม่ได้บอกว่าดีที่สุดหรือดีแล้ว แต่จะทำให้ได้มากที่สุดกว่าห้วงที่ผ่านมา สำหรับแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทย 5 ปี เราเน้นสหภาพแรงงาน ความมั่นคง ความเข้มแข็ง เกียรติยศ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความสมดุลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการยอมรับจากสากล ชมแรงงานไทยยอดเยี่ยม 
    "ได้รับการร้องเรียนว่ามีหลายกิจการบีบให้คนไทยออก และรับแรงงานต่างด้าวแทน เพราะค้าจ้างถูกกว่า ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใจร้ายกันแบบนี้ เดี๋ยวจะให้ไปสำรวจทั้งหมด ถ้ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย ขอให้แจ้งมาทุกช่องทาง วันนี้ไม่ต้องกลัวตกงานกันหมด เพราะเป็นไทยแลนด์ 4.0 รายได้แพง ใช้คนน้อย โดยใช้เครื่องจักร แต่ที่ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือยังอยู่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ก่อนหน้านั้นที่ทำเนียบฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงวันแรงงานประจำปี 2561 ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำไปมาก โดยได้แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แม้ตัวเลขจะน้อย แต่ก็ขึ้นได้อัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงสุดในช่วงที่ผ่านมาที่ขึ้นได้ไม่เกิน 1-2 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าอีกสักระยะทุกอย่างจะดีขึ้น ทุกภาคส่วนจะสามารถหาเงินเข้าระบบได้มากขึ้น รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายแรงงาน ให้เกษียณอายุ 60 ปี จาก 55 ปี ทั้งยังมีเรื่องการให้สิทธิ์ผู้ประกันตนที่คืนสิทธิ์ไปแล้ว กลับมาใช้สิทธิ์ได้อีก โดยมีแรงงาน 770,000 คน ได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ยังให้บำนาญไว้ใช้จ่าย 5 ปี หลังเกษียณอายุ
    "ผมเข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อน แต่ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราไม่มีงบมากมายที่จะทำทุกอย่างในเวลาเดียว เพราะต้องคำนึงถึงการลงทุน เศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ เนื่องจากวันนี้หลายประเทศต่างชักจูงนักลงทุนเข้าประเทศตัวเอง โดยเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ และหลายประเทศค่าแรงก็ต่ำกว่าไทย ซึ่งทำให้เราเกิดปัญหาพอสมควร รัฐบาลต้องหาวิธีคุ้มครองแรงงานให้มีหลักประกันสุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ" นายกฯ กล่าว
ผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
     ด้าน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ เนื่องจากประเทศไทยจะต้องดำเนินการให้สัตยาบันพิธีสาร ค.ศ.2014 ว่าด้วยแรงงานบังคับภายในเดือน มิ.ย.นี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดลักษณะความผิดฐานใช้แรงงานบังคับ ได้แก่ การข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานโดยไม่ได้สมัครใจ มีการข่มขู่ ขู่เข็ญว่าจะลงโทษโดยมิชอบ ใช้กำลังทำร้าย ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ นำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือบุคคลอื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ หรือด้วยวิธีอื่นใดโดยมิชอบที่ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถขัดขืนได้ หรือไม่ได้สมัครใจที่จะทำเอง ถ้าการกระทำแบบนั้นไม่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานใช้แรงงานบังคับ
    นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดจัดตั้งกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับมาช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ขณะเดียวกันยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ 1.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการป้องกันและปราบปราม 2.คณะกรรมการกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ จะกำหนดมาตรการช่วยเหลือ คุ้มครองสวัสดิการของผู้เสียหาย รวมถึงกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด โดยจะคุ้มครองผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้พิการ ผู้ที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และกรณีที่มีการกระทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส เป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
    วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความในใจของแรงงานไทย 4.0” โดยเก็บข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,045 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 308- 330 บาท ตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2561 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 35.7 ยังไม่ทราบ เมื่อถามต่อว่า ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ได้รับแล้ว ขณะที่ร้อยละ 40.4 ยังไม่ได้รับ
    เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.7 รู้สึกมีความสุข อยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆ ปี ส่วนร้อยละ 35.7 รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 11.6 รู้สึกแย่ คิดว่าน่าจะขึ้นมากกว่านี้
    ทั้งนี้ เมื่อถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.9 ระบุว่า ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม ส่วนร้อยละ 29.2 ระบุว่า พอดีกับค่าใช้จ่าย จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม สำหรับเรื่องที่กังวลหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 กังวลว่าข้าวของจะราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนผู้ประกอบการสูงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 25.1 กังวลว่าค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี และร้อยละ 19.8 กังวลว่าแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงาน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"